ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในการประชุมวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่นั้น

 

ในช่วงเช้าของการประชุมวันแรก ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์คนสำคัญ ได้เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำ โดยมีเนื้อหาของการปาฐกถาดังนี้

 

000

 

สมัยก่อนนั้น รัฐจารีตของไทยตั้งแต่โบราณ จะเป็นอยุธยา จะเป็นต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตามแต่ ถือว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของข้าราษฎรเป็นเกียรติยศของแผ่นดิน ฉะนั้นในวรรณกรรมจะพบว่ามีสิ่งที่เรียกว่าการออก 12 ภาษา คือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของข้าราษฎร มีทั้งมอญ เขมร ฝรั่ง จีน หรือญวน ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการแสดงเกียรติยศของแผ่นดินทั้งสิ้น ในการออก 12 ในวรรณกรรมโบราณนั้นบางทีอาจมีการตลกกับบางชาติพันธุ์บ้าง แต่เรื่องตลกจะเน้นไปในด้านความแปลกมากกว่าการเหยียดว่าต่ำกว่า

 

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยซึ่งเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นก็รับเอามรดกจากรัฐจารีตของโบราณมา กล่าวคือ รับว่าการที่มีความหลากหลายของราษฎรนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เป็นเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกันบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีเงื่อนไขของจักรวรรดินิยมแวดล้อมอยู่ ฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินหรือรัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็อาจจะเกรงว่าข้าราษฎรบางส่วนอาจไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์ไทย ก็อาจหนีไปอยู่ใต้ร่มธงมหาอำนาจตะวันตกได้ ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างชาติพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนจีน เพราะว่าคนจีนมีจำนวนมาก และอยู่ใกล้ชิดกับอำนาจอื่น และอยู่ใกล้ชิดกับเมืองหลวง ถ้าหากทำให้คนจีนไม่พอใจคนจีนก็อาจจะไปอยู่ใต้ร่มธงฝรั่ง บรรยากาศจึงค่อนข้างดีที่รัฐยอมรับชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เพราะว่ารับมรดกมาจากรัฐจารีต รวมถึงบรรยากาศของจักรวรรดินิยมที่แวดล้อมอยู่ด้วย

 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวบางอย่างในด้านความคิดของผู้ปกครองด้วย เพราะว่าตัวรัฐไทยในช่วงนั้นก็เกรงหรืออ่อนไหวต่อการรุกของจักรวรรดินิยม ฉะนั้นในระยะแรกเมื่อแบ่งประเทศหรือราชอาณาจักรออกเป็นมณฑลต่างๆ ทีแรกสุดก็ยังใช้ชื่อมณฑลนั้นตามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ลาวเฉียง ลาวกาว หรืออะไรต่างๆ และภายหลังแม้แต่ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเองก็ได้มีการเริ่มเปลี่ยนชื่อมณฑลต่างๆ เป็นชื่อทิศแทน เช่น มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และอื่นๆ แทนการใช้ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ กลายเป็นใช้ในทิศทางภูมิศาสตร์แทน

 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ค่อยแน่ชัดว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักรสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ผมเดาว่าน่าจะอยู่ที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือทุกคนในแผ่นดินเป็นข้าแผ่นดินเหมือนกันหมด แล้วมณฑลต่างๆ ก็วางไว้ตามทิศของพระราชอำนาจ คือพระราชอำนาจอยู่ตรงกลาง แล้วมณฑลที่อยู่ทางเหนือของพระราชอำนาจก็เป็นมณฑลพายัพเป็นต้น

 

น่าสังเกตว่า การเน้นทิศ ไม่มีการพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีการเหยียด ไม่มีการส่งเสริมทั้งสองอย่าง ก็เหมือนกับการที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยนั้นรับเอามรดกไปอยู่แบบรัฐจารีตที่ไม่เน้นเรื่องชาติพันธุ์

 

พอมาถึงรัชกาลที่ 6 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ถูกคุกคามจากการปฏิวัติไปสู่ระบอบสาธารณรัฐในประเทศจีนค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันความคิดประชาธิปไตยจากตะวันตกก็หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงใช้นโยบายส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยม อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของชาตินิยมไทยก็ได้

 

แต่เป้าหมายของชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจโดยทั่วๆ ไปว่าเป็นชาตินิยมในปัจจุบันนี้ เป้าหมายสำคัญคือเพื่อระดมความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ แต่ใช้มันในนามของชาตินิยม เพราะว่าชาติในความหมายของท่านคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของทั้งชาติและทั้งของศาสนา ในขณะเดียวกันไม่เน้นชาติพันธุ์ ด้วยเพราะรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนิพนธ์บทความไว้เยอะแยะที่พูดถึงว่าแม้แต่คนจีนจะเป็นคนจีนหรือไม่ก็ได้ ขอเพียงแต่ว่าต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก็ถือว่าเป็นคนไทย ถ้านับถือศาสนาพุทธได้ก็ดี แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ขณะเดียวกันในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง ก็เริ่มมีงานทางวิชาการที่พูดถึงชนเผ่าไทหรือไต ที่อยู่นอกประเทศไทย เริ่มพูดถึงชาติพันธุ์หนึ่งที่เรียกตัวเองว่าไทหรือไต ว่ามีประวัติศาสตร์เก่าแก่เนิ่นนาน และพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสืบเนื่องของคนที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ หรือคนที่ใช้ภาษาไทยในปัจจุบันนี้ กับคนที่เรียกตัวเองว่าไต/ไท ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์และยังตกค้างภายนอกประเทศว่ามีความสัมพันธ์กัน ทำให้เริ่มเกิดความคิดว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยในช่วงนั้นและใช้ภาษาไทเป็นภาษาแม่ ภาษาน้ำนม ล้วนสังกัดชาติพันธุ์ไทยหรือไตที่ว่านี้ทั้งสิ้น

 

หลังการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 ไปแล้ว สิ่งที่น่าประหลาดในการปฏิวัติ 2475 ก็คือว่า หลายอย่างที่เรียกตัวเองว่าเป็นการปฏิบัติ ที่เรียกกันภายหลัง หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดี พบว่าไม่ค่อยได้สร้างอะไรในเชิงที่เป็นวัฒนธรรมของตนเองมากนัก ส่วนใหญ่ก็รับเอามาจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงรับเอาแนวคิดชาตินิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 มาใช้เป็นอุดมการณ์สำคัญของรัฐหลัง 2475 ด้วย แต่แทนที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของชาตินิยม ได้กลายเป็นของ ชาติพันธุ์ หรือ ความเหมือนกันทางชาติพันธุ์ ของประเทศไทยแทน

 

เพราะฉะนั้นชาตินิยมของไทยในช่วงหลังปี พ.ศ. 2475 นั้นได้เปลี่ยนเป็นความเหมือนกันทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ไม่มีที่เหลือให้กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ในความเป็นชาติของไทยเลย

 

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าผู้นำในช่วงนั้นอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นต้องการใช้ความเป็นชาตินิยมในรูปแบบนี้เป็นฐานในการหาความนิยมทางการเมือง และอ้างความเป็นชนชาติไตหรือไทในการขยายดินแดน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นทางยุโรปก็มีการใช้เรื่องเชื้อชาติเป็นฐานในการขยายแสนยานุภาพในบางรัฐของยุโรปด้วย

 

อีกส่วนหนึ่งที่การใช้ชาตินิยมในรูปแบบนี้ก็เพราะว่าต้องการกีดกันคนจีนให้ออกจากอำนาจทางการเมือง คือปล่อยให้มีอำนาจทางเศรษฐกิจได้ แต่กันเอาไว้ไม่ให้มีสิทธิในทางการเมืองที่จะเข้ามายุ่มย่ามได้ กันให้การเมืองเป็นเวทีสำหรับกลุ่มคนที่สามารถสร้างหรือรักษาหรือว่าปลอมตัวให้มีความเป็นไทยได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้เป็นต้นจะมีการกดขี่ในทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และภาษา และบางครั้งก็มีความพยายามขยายการกดขี่นี้ไปสู่เศรษฐกิจด้วยแต่ว่าไม่สำเร็จ เป็นต้นว่า ในช่วงสงครามที่พยายามขยายการเลือกปฏิบัติ การกีดกันในทางเศรษฐกิจไปในหมู่คนจนซึ่งกระทำไม่สำเร็จด้วยเหตุผลต่างๆ

 

สิ่งที่ผมต้องการให้เข้าใจในเบื้องต้นด้วยก็คือ เวลาที่เราพูดถึงชาติพันธ์ วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ก็ตาม เรามักจะให้ความสำคัญกับความภาคภูมิใจที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองเด่นชัดและอื่นๆ ค่อนข้างมาก แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันผมอยากเตือนว่าอัตลักษณ์นั้นเป็นฐานของการผลิตทางเศรษฐกิจด้วย อัตลักษณ์ไม่ใช่เรื่องของความเป็นญวน ความเป็นมอญเฉยๆ

 

เช่น เกราะเกร็ดที่การปั้นเครื่องดินเผาขาย ซึ่งไม่ได้ขายแต่ตัวดินเผาอย่างเดียว แต่ขายความเป็นมอญด้วย ในกระบวนการผลิตความเป็นมอญถูกใช้เป็นเครื่องมือในการร่วมมือกันผลิตและการส่งออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก

 

ขณะเดียวกันอัตลักษณ์ก็เป็นอำนาจในการต่อรองทางการเมืองด้วย เวลาที่ชาวเขาที่ถูกสร้างว่าเป็นผู้ทำลายป่า อำนาจในการต่อรองทางการเมืองของชาวเขาในการที่จะใช้ทรัพยากรบนเขาก็ลดลงไปทันที เวลาพรากชาวเขาให้เขาทิ้งถิ่นที่อยู่ ทิ้งแหล่งผลิตของเขาลงมาอยู่บนพื้นราบนั้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการเบียดเบียนชาวเขา เหตุผลเพราะว่าอัตลักษณ์ของชาวเขานั้นถูกสร้างให้กลายเป็นตัวอันตรายต่อทรัพยากรสำคัญคือป่าไม้ของประเทศ

 

ในขณะเดียวกัน อัตลักษณ์ก็เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้วย หมายความว่า ถ้าคนที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ นั้นจะต้องต่อยอดความรู้ตนเองจากความรู้ฝรั่งโดยคนอื่นเป็นผู้ต่อให้ คุณก็จะหมดโอกาสและอำนาจที่จะกำหนดเศรษฐกิจและการเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ไปโดยสิ้นเชิง ผมหมายความว่าถ้ากะเหรี่ยงมีโอกาสต่อยอดความรู้กะเหรี่ยงที่ได้มาจากตะวันตก หรือความรู้ใหม่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก กะเหรี่ยงก็จะมีอำนาจทั้งในทางการเมือง มีโอกาสในทางเศรษฐกิจและอื่นๆ มากกว่าที่จะให้คนไทยต่อยอดความรู้แบบไทย แล้วเอาความรู้ที่ต่อยอดนั้นไปยัดให้กะเหรี่ยงอีกที

 

ฉะนั้นเรื่องของชาติพันธ์ อัตลักษณ์ หรือพหุวัฒนธรรม จึงมีความหมายมากกว่าเพียงว่าคนเหล่านั้นถูกปฏิบัติในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมหรือไม่ แต่หมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ อำนาจต่อรองทางการเมือง และอื่นๆ ตามมา

 

เมื่อเกิดการเบียดเบียน กดขี่ กีดกัน เลือกปฏิบัติ กับคนกลุ่มที่ไม่นับว่าเป็นชาติพันธุ์ไตหรือไทยได้ ทางรอดของคนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่คือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้กลายเป็นไทยเสีย แต่การทำแบบนั้นรอดได้ก็จริง แต่คนจำนวนน้อยมากในประเทศไทยที่สามารถทำแบบนั้นได้ ส่วนใหญ่ทำไม่ได้

 

อีกข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับ "ลักษณะไทย" คือ สิ่งที่รัฐถือว่าคือ "ลักษณะไทย" หรือ "อัตลักษณ์แบบไทย" นั้น ไม่ได้เกิดจาการศึกษารวบรวมเอาลักษณะที่หลากหลายต่างๆ มาจากประชาชน แม้แต่กลุ่มที่พูดภาษาไทยหรือกลุ่มที่ถือว่าเป็นชาติพันธุ์ไทย จริงๆ แล้วมันเกิดจากการสร้างขึ้นโดยรัฐเอง รัฐเป็นผู้บอกว่าคนไทยต้องเป็นอย่างนั้น คนไทยต้องเป็นอย่างนี้ ถามว่าเอามาจากไหน ก็มาจากการตั้งขึ้นโดยไม่ได้เอามาจากลักษณะที่เป็นจริงของสังคม

 

เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นคนไทยได้จริงๆ ตามที่รัฐมองเห็นนั้นจะต้องมีวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง และมีการศึกษาอย่างหนึ่ง มีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และอาจจะต้องมีฐานะทางสังคมอีกอย่างหนึ่งด้วย ถึงสามารถมีลักษณะไทยครบบริบูรณ์อย่างที่รัฐไทยต้องการได้

 

ฉะนั้นคนที่มีชาติพันธุ์ไทยเอง แต่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบนั้น ไม่ได้มีวีถีชีวิตแบบนั้น หรือไม่สามารถมีวิถีชีวิตแบบนั้นได้ ไม่สามารถมีการศึกษาแบบนั้นได้ ก็กลายเป็นพลเมืองชั้นสองโดยอัตโนมัติ คือไม่ได้ถูกกีดกันโดยชาติพันธุ์ แต่คุณมี "ลักษณะไทย" ไม่บริบูรณ์ เช่นคุณกินปลาร้าเป็นว่าเล่น ก็ทำให้ความเป็นไทยน้อยลงไปในสายตาของรัฐโดยปริยาย

 

ฉะนั้นจากกลุ่มทางชาติพันธุ์ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ มันขยายไปสู่ความเป็นชนชั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่ ความเป็นชาติไทยจึงมีความหมายเกินกว่าเรื่องชาติพันธุ์แต่มีความหมายรวมไปถึงความเป็นชนชั้นด้วย

 

เวลาเราพูดถึงกลุ่มวัฒนธรรมในไทยเราต้องคิดมากไปกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ อาจต้องคิดไปถึงเรื่องของอาชีพด้วย อาจต้องคิดถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งแน่นอนว่าต้องคำนึงถึงเรื่องชนชั้นด้วย เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

นโยบายพัฒนาหลังปี พ.ศ. 2500 นั้นนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรกัน และความไม่ไทยทั้งหลาย ความที่ไม่มีลักษณะไทยที่บริบูรณ์ก็เป็นช่องทางในการลิดรอนสิทธิและอำนาจทางการต่อสู้และต่อรองไปหมด ดังกรณีชาวเขาที่หมดสิทธิ หรือหมดอำนาจในการต่อรองในเรื่องการใช้ทรัพยากรของเขาโดยสิ้นเชิง เพราะว่าหลัง พ.ศ.2500 ไม่ใช่เรื่องของการมีอำนาจทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อกำหนดสิทธิการใช้ทรัพยากรลึกไปถึงระดับล่างมากขึ้นๆ ไปอีก โดยมีรัฐเป็นตัวแทนของคนบางกลุ่มในการแย่งชิงทรัพยากร และความเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย ถูกใช้ในการลิดรอนหรือกำหนดสิทธิในการต่อรองเรื่องของทรัพยากรของคนต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างหรือไม่ใช่ไทยอย่างเดียว แม้แต่พลเมืองไทยที่ไม่เต็มขั้นทั้งหลายก็ถูกลิดรอนสิทธิและอำนาจในการต่อรองในการใช้ทรัพยากรในยุคหลัง พ.ศ.2500 เช่นกัน

 

000

 

 

อย่างที่ อ.ชยันต์ (วรรธนะภูติ) พูดถึงตอนแรกว่า ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรมอาจไม่ใช้ขั้วตรงข้ามกันก็ได้ แต่สำหรับไทยแล้วการเป็นชาตินิยมกับกลุ่มวัฒนธรรมนั้นเป็นขั้วตรงข้าม ซึ่งเกิดจากข้อบกพร่องของชาตินิยมหรือความเป็นชาติของไทยเอง

 

ข้อบกพร่องของความเป็นชาติของไทยมีอะไรบ้าง เท่าที่ผมนึกออกมี 3-4 อย่างด้วยกัน

 

ประการแรก ชาตินิยมไทย หรือ ความเป็นชาติของไทย เป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาจากข้างบน โดยไม่ได้เกิดจากสำนึกอย่างกว้างขวางของประชาชนที่อยู่ภายในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือรัฐอะไรก็แล้วแต่ หรือรัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นจากสำนึกของประชาชนเหล่านี้ ว่าเรามีบางอย่างร่วมกัน เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน เรามีอนาคตร่วมกันที่จะอยู่ในชาติเดียวกันและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมต่อกัน แต่เป็นสิ่งที่ข้างบนเขายัดลงมาให้เกิดสำนึก ผ่านสื่อ ผ่านการศึกษา และอื่นๆ มากกว่า เหตุดังนั้นมันจึงไม่ใช่เกิดขึ้นโดยที่สำนึกนั้นยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่ต้น แต่เกิดจากข้างบนยัดลงมาว่าอะไรคือความเป็นชาติมากกว่า

 

ประการที่สอง ชาตินิยมไทย ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนข้างบนมาตั้งแต่ต้นคือรัชกาลที่ 6 ก็ใช้เพื่อเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เวลาต่อมาก็ใช้เพื่อกีดกันคนบางกลุ่มออกไปจากวงการเมือง วงอำนาจ เป็นต้น

 

สิ่งที่ยัดลงมาข้างล่างมันจึงไม่เอื้อต่อสำนึกความเป็นชาติ เพราะว่ามันไม่รองรับความหลากหลาย มันเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มคนข้างบนมากกว่าสำนึกความเป็นชาติที่แท้จริง มันจึงไม่รองรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น

 

ในขณะเดียว ที่น่าสังเกตมากๆ เราเป็นชาติโดยไม่นำไปสู่ความคิดเรื่องการเสมอภาค คือความเสมอภาคนี้เป็นหลักการพื้นฐานของความเป็นชาติว่าอย่างนั้นดีกว่า แต่เราทุกคนรักชาติมากเลย แต่ความรักชาติของเราไม่มีฐานอยู่บนความเสมอภาค เป็นสิ่งที่น่าประหลาด แน่นอนมันมีฐานความเสมอภาค ความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของชาติที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นเจ้าของชาติที่คนนี้เป็นเจ้าของมากกว่าคนนี้ ซึ่งโดยธรรมชาตินำจะไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยหลีกเลี่ยงได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าประหลาดก็คือว่า เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ยัดลงมาจากข้างบน ยัดลงมาในลักษณะที่หาประโยชน์ทางการเมือง มันจึงไม่นำมาสู่สำนึกเรื่องความเสมอภาคของพลเมือง

 

ประการต่อมา ชาตินิยมไทย หรือ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในชาติของไทย ขาดฐานของความรู้ในการให้คนเข้าใจความหลากหลายเหล่านี้ ฐานความรู้อันแรกคือ ระบบการศึกษาทั้งระบบไม่ได้ตั้งใจให้คนเรียนมีสำนึกว่าเรามีเพื่อนร่วมชาติเราที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากมาย แม้แต่การศึกษาในระดับที่สูงกว่านั้น ก็คือโรงเรียนทั่วๆ ไป การศึกษาทั่วๆ ไป ก็มีการศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ค่อนข้างน้อย

 

ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ของชาติที่จริงคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของภาคกลางเท่านั้นเอง และอ้างว่าคืออดีตของคนทั้งประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เข้าไม่ได้กับคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในสังคมไทย วัฒนธรรมแห่งชาติในช่วงหนึ่งก็ค่อนข้างผูกพันอย่างมากกับบางภาค สมัยหนึ่งค่อนข้างผูกพันอย่างมากทีเดียวกับภาคกลาง จนถึงปัจจุบันนี้ก็ผูกพันอย่างค่อนข้างมากกับวิถีชีวิตของคนบางกลุ่มโดยไม่ได้ผูกพันกับคนทุกๆ กลุ่ม

 

และการศึกษาที่นำไปสู่ความรู้ในด้านนี้ในระดับที่ลึกขึ้นไปอีกก็เพิ่งเริ่มทำกันมาได้ไม่นานนัก และมีผลงานไม่สู้จะมากนัก สื่อเองก็ขาดความรู้ สังคมทั้งหมดก็ขาดความรู้ ยกตัวอย่าง พจนานุกรม มอญ- ไทย นั้นทุกเล่มที่มีในประเทศไทยหรือในโลกนั้นไม่ได้จัดทำจากมหาวิทยาลัยสักเล่มเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มอญ ซึ่งเป็นกลุ่มชน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสำคัญค่อนข้างมากโดยเฉพาะในภาคกลาง ที่จริงในภาคเหนือด้วย แต่พจนานุกรมไม่ได้ทำในสถาบันการศึกษา แต่ทำโดยผู้มีความรักในวัฒนธรรมของเขาเอง อาจเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นวัดนี้ เป็นคนที่สนใจ หรือนักวิชาการที่อยู่นอกมหาวิทยาลัยเสียมากกว่า

 

ประการสุดท้าย ของความบกพร่องของความเป็นชาติก็คือ เราพูดถึงพหุวัฒนธรรมท่ามกลางการรวมศูนย์ที่มากของประเทศไทย คือพหุวัฒนธรรม ต้องเปิดโอกาสให้มีศูนย์ที่หลากหลาย แต่ประเทศไทยเรารวมศูนย์ค่อนข้างมากไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะด้านการปกครอง ที่คงไม่ต้องพูดถึง ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว แต่มีการรวมศูนย์ด้านการศึกษา รวมศูนย์ด้านศาสนา และรวมศูนย์ในเรื่องระบบเกียรติยศด้วย คือระบบเกียรติยศที่เป็นของท้องถิ่นนั้นแทบจะไม่มีเลย

 

เช่น ในอีสานนั้นมีสมณศักดิ์ของเขาเองที่ไม่ได้ตรงกับภาคกลาง แต่วันหนึ่งมีการไปปฏิรูปศาสนาเขา เกียรติยศของพระสงฆ์ทั้งหมดต้องไปขึ้นกับระบบสมณศักดิ์ที่ภาคกลางเป็นผู้กำหนด ชาวบ้านไม่สามารถจะมีระบบเกียรติยศที่เป็นอิสระของเขาเองได้ เป็นระบบเกียรติยศที่รวมศูนย์

 

แม้แต่เศรษฐกิจเองก็รวมศูนย์ น่าประหลาด คนไทยผลิตอะไรไม่ได้ผลิตเพื่อคนที่อยู่ข้างๆ เรา เพราะตลาดในประเทศนั้นคิดเป็น 20% ของการผลิตทั้งหมดทั้งหมด ที่เหลือนั้นเป็นการผลิตเพี่อคนที่เราไม่เคยเห็นหน้า ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา 80% ของการผลิต ผลิตให้คนในอาณาบริเวณใกล้เคียงมากกว่าผลิตให้คนที่อยู่ไกลจนมองไม่เห็น ตัวเศรษฐกิจจึงรวมศูนย์ ทำให้เรามองไม่เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้น จริงๆ ในเชียงใหม่มีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์แต่เราไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวข้องกับเขาเลย เราทำเพื่อส่งไปกรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ก็ส่งไปไหนไม่รู้ เราจึงไม่ต้องสนใจเพื่อนบ้านด้วยประการต่างๆ

 

000

 

 

ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ลักษณะพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยมองเห็นได้เด่นชัดขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ ผมเข้าใจว่ามาจากงานวิชาการ ที่ทำให้เรามองเห็นความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่าง มองเห็นภาษาที่แตกต่าง แต่เมื่อเรามีสำนึกเรื่องนี้มากขึ้น อย่างน้อยในกลุ่มนักวิชาการว่าสังคมไทยจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นเนื้อเดียวกัน จริงๆ เป็นสังคมที่มีความหลากหลายมาก

 

ถามว่าชาตินิยมไทยมันได้คลี่คลายและได้เปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับสำนึกใหม่ของความหลากหลายอันนี้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่

 

โดยกรณีที่มองเห็นได้ชัดคือกรณีของเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้ ตอนที่เกิดเหตุนั้น สำนึกนั้นยังไม่ค่อยมี แต่ปัจจุบันมีมากขึ้นและยอมรับว่าเขากับเรายังต่างกัน

 

ถามว่าชาตินิยมของไทยได้พัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปสู่การยอมรับความหลากหลายแค่ไหนผมคิดว่ายังไม่มี

 

คือยังมีการพูดปลุกใจแบบบิดเบือนประวัติศาสตร์ เป็นต้นว่า ให้รักษาดินแดนส่วนนั้นไว้เหมือนกับที่บรรพบุรุษเราเป็นคนหลั่งเลือดมา โดยไม่ได้คิดว่าบรรพบุรุษมันเป็นคนละบรรพบุรุษกัน และเลือดนั้นต่างคนต่างหลั่งด้วยกันทั้งคู่

 

และถึงแม้งานวิจัยจะทำให้เกิดความสนใจในเรื่องมลายูมากขึ้น แต่จริงๆ ก็ยังไม่เพียงพอ จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่ได้พัฒนาแม้แต่ของง่ายๆ ว่า จะถ่ายเสียงภาษามลายูท้องถิ่น ออกมาเป็นอักษรอื่น แม้แต่อักษรลาตินได้อย่างไร ทุกวันนี้ถ่ายได้ด้วยเสียงยาวีอย่างเดียว แต่ไม่สามารถถ่ายออกมาเป็นภาษาไทย มีอาจารย์บางท่านในภาคใต้พยายามถ่ายออกมาเป็นอักษรไทยแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน จะใช้อักษรลาตินแบบที่ใช้ในมาเลเซียก็ไม่ได้ เพราะเสียงของมลายูภาคใต้ไม่ตรงกับเสียงในมาเลเซีย มีเสียงพิเศษบางอย่าง แค่นี้เราก็ยังไม่ได้ทำ เป็นต้น

 

และสักวันหนึ่งถ้าเหตุการณ์สงบแล้ว หรือได้แยกดินแดนไปแล้ว เรื่องมันไม่มีแล้ว คำถามคือ ความสนใจทางวิชาการจะยืนยงอยู่ต่อไปหรือไม่

 

ในด้านการศึกษาเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เลย คณะกรรมการสมานฉันท์เคยเสนอให้ใช้ภาษามาลายูท้องถิ่น เป็นภาษาในการสอนเด็กในระดับประถม เพื่อไม่ให้เด็กเผชิญทั้งความรู้ที่ต้องเรียนในโรงเรียนและปัญหาในการสื่อสาร ซึ่งไม่สำเร็จและทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารทำอย่างนั้นได้

 

เรารู้ว่าจำเป็นต้องมีการพัฒนาเข้าไปในสามจังหวัดภาคใต้มากขึ้น แต่การพัฒนาที่เราคิด เป็นการพัฒนาที่วางแผนจากส่วนกลาง มากกว่าลงไปฟังความเห็น หรือลงไปต่อยอดความสามารถคนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีอยู่ เช่น เวลาพูดถึงอาหารฮาลาล คุณกำลังนึกถึงอุตสาหกรรมอาหารในภาคกลางยื่นออกไปทำอาหารฮาลาลในภาคใต้ โดยรับวัตถุดิบจากเรือประมงซึ่งอาจมีฐานอยู่ในสมุทรสาครไม่ใช่ปัตตานี ไม่มีใครคิดถึงอาหารฮาลาลที่เชื่อมโยงกับการเลี้ยงแพะที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่มากมาย ไม่เชื่อมโยงกับการประมงชายฝั่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการซ้ำรอยชาตินิยมในแบบเก่าทุกอย่าง

 

--------------------------------

 

หมายเหตุ

เรียบเรียงโดย รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์

 

ข่าวจากการประชุม "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ที่เกี่ยวข้อง

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "ศรีศักร วัลลิโภดม" หวั่นชาตินิยมรวมศูนย์พ่นพิษ ไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็รอวันเจ๊ง, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: "หมอโกมาตร" ย้ำอคติชาติพันธุ์ในระบบสุขภาพ, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: 6 ปีหลักประกันสุขภาพ "ไม่" ถ้วนหน้า ลอยแพชาว "สยาม" ในดินแดนไทย, 23/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: เสนอไปให้ไกลกว่า "อคติชาติพันธุ์" ไม่ควรมองข้าม "อคติทางชนชั้น", 24/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: สายชล สัตยานุรักษ์อภิปราย "ชาตินิยม วัฒนธรรม และความขัดแย้ง", 25/12/51

ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม: ปาฐกถานำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, 28/12/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท