Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กอแก้ว วงศ์พันธุ์ นักวิจัยอิสระ


โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันจังหวัดพังงา


มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป


 


 


ในโบสถ์คริสตจักรวันอาทิตย์ เด็กหญิงสองคนถือถุงพลาสติกใบเขื่องเดินผ่านประตูเข้ามา เมื่อเธอยกถุงพลาสติกขึ้น ขนาดมันเกือบจะถึงหน้าอกของเธอ มีเด็กชายตัวเล็กสูงเกือบจะเท่าเอวของเธอ ประมาณอายุน่าจะไม่เกิน 4 ขวบเดินตามต้อยๆ ในมือถือขนมปังก้อนกลมๆ ที่ขายในร้านชำทั่วไปป้อนเข้าปากอย่างเอร็ดอร่อย สองเด็กหญิงประมาณจากสายตาอายุพวกเธอคงไม่เกิน 10 ขวบ ทั้งสามเดินตรงรี่เข้าไปหาหญิงสูงวัยที่นั่งใต้ร่มไม้บนโต๊ะหินอ่อนที่กำลังคุยอย่างออกรสชาติกับเพื่อนวัยเดียวกัน เมื่อเดินไปตรงหน้าหญิงสูงวัย เธอคนหนึ่งยกมือไหว้ และยืนรออยู่สักครู่ เป้าหมายของเธอโบกมือคล้ายเป็นสัญลักษณ์ว่า "ไม่ให้"  หรือ "ไม่มี"  ขณะที่เผชิญกับการปฏิเสธ หญิงชราเพื่อนของเป้าหมายก็ล้วงอะไรบางอย่างในกระเป๋าและยื่นส่งให้เธอ เธอไหว้หล่อน แล้วก็เดินจากไป กลุ่มของหญิงสูงวัยหันกลับมาสนใจเรื่องที่อยู่ตรงหน้าของพวกเธอต่อ โดยไม่มองไปยังเด็กทั้งสามอีก


 


ถุงพลาสติกใบเขื่องที่แบกมานั้น เป็นภารกิจของพวกเธอนั่นเอง เมื่อสองสาวละจากกลุ่มหญิงสูงวัย พวกเธอก็เดินเก็บขวดพลาสติก ขวดแก้วที่ทิ้งไว้ตามโต๊ะนั่งหินอ่อน ตามโคนต้นไม้ เป้าหมายหลักคือถังขยะ พวกเธอค้นจนได้ขวดพลาสติกนับสิบขวด การเลือกมาโบสถ์วันอาทิตย์เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง เพราะหลังจากผู้คนเสร็จภารกิจจากในโบสถ์แล้ว พวกเธออาจจะได้ขนมอร่อยๆ หรือสิ่งของติดมือกลับไปบ้านบ้าง และที่นี่มักมีการแจกของอยู่เสมอ หลังจากภารกิจของโบสถ์สิ้นสุดลง จนแน่ใจแล้ว พวกเธอเดินทางต่อไปยังที่ไหนสักแห่งที่ทำให้ถุงใบเขื่องนั้นเต็มไปด้วยขวดแก้วและขวดพลาสติกที่พอจะทำรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเธอและครอบครัว


 


พวกเธอสองคนเป็นจำนวนหนึ่งในเด็กน้อยชาวพม่าหลายร้อยคนที่ต้องหารายได้ช่วยเหลือพ่อแม่และครอบครัว งานเก็บเศษขยะเป็นงานที่ทำให้พอมีรายได้จุนเจือเป็นค่าข้าวสารสักกิโล น้ำปลา น้ำมันได้บ้างหรือแม้แต่จะเป็นค่าขนมของพวกเขา เก็บขยะวันละไม่เกิน 50 บาท อาจคิดกันได้ว่าเป็นภารกิจเกินบ่าน้อยๆ ของพวกเขา แต่อาจคาดผิด เด็กน้อยชาวพม่า บางคนติดตามพ่อแม่มาเมืองไทยตั้งแต่ยังเป็นทารก บางคนเดินทางมาตั้งแต่อายุสองสามขวบ และหลายร้อยคนเกิดในเมืองไทย


 


เด็กที่โชคดีคือ เด็กที่มีโอกาสเรียนหนังสือ อาจเรียนในโรงเรียนที่องค์กรพัฒนาเอกชนจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเข้าถึงการศึกษาของพวกเขา การเก็บค่าเล่าเรียนหรือค่าอุปกรณ์การเรียนไม่แพง เป็นการบริการทางสังคมขององค์กรพัฒนาเอกชน จึงมีเด็กเกินกว่าครึ่งที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือตามระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่อีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เก็บค่าเล่าเรียนหรือเก็บค่าอาหารเพียงน้อยนิด ก็ไม่สามารถทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ พ่อแม่รายได้น้อย ค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าดำรงชีพประจำวัน ประกอบกับจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาก เด็กหลายคนจึงไม่มีโอกาสเข้าเรียน


 


นอกจากไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาแล้ว พวกเขายังต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว ภาพเด็กน้อยชาวพม่าเก็บขยะตามท้องถนนจึงมีอยู่ไม่น้อย แต่ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาทำงานประเภทเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น ทำปลากุ้ง (แร่ปลา แกะกุ้ง) ขายแรงงานเป็นคนงานในโรงงานขนม ขับมอเตอร์ไซค์ส่งขนม ทำงานในโรงงานน้ำแข็ง เป็นคนงานในสวนยางพารา เป็นคนงานในแพปลา เป็นพนักงานขายของในร้านค้า ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้อายุตั้งแต่ 7 ขวบถึง 12 ขวบ บางคนทำงานเพราะอยากช่วยเหลือพ่อแม่ บางคนทำงานเพราะพ่อแม่หางานให้ทำ และมีบางคนพ่อแม่บังคับให้ทำงานช่วยเหลือครอบครัว บางคนอายุเพียง 9 ขวบต้องเผชิญกับคำว่า "ตกงาน" และถูกกดดันจากพ่อแม่ ว่าอยู่บ้านเฉยๆ ได้อย่างไร ไม่หาเงินช่วยเหลือครอบครัว ฉะนั้นเด็กเหล่านี้จึงไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในระบบโรงเรียนตามปกติ หากไม่มีการเปิดการเรียนการสอนแบบภาคค่ำไว้บริการพวกเขา


 


จา ซิน (นามสมมติ) เด็กชายวัย 12 ปี พ่อแม่เป็นชาวร่างกุ้ง การแต่งตัวของเขาบ่งบอกถึงความเป็นหนุ่มเกินวัย เราพบความเป็นหนุ่มน้อยเจ้าสำอางที่เรียนรู้ว่า แต่งกายอย่างไรให้เตะตา ผมที่ตกแต่งด้วยเยลแต่งผม หวีให้ตั้งขึ้นได้รูป จับปอยผมลงมาข้างหน้าได้อารมณ์เด็กแนวเล็กน้อย เสื้อแขนยาวสีดำพับขึ้นมาเลยศอก กางเกงยีนขาสั้นลายสีดำช่วยให้เขาดูจ๊าบขึ้น ที่ข้อมือมีสร้อยแนวศิลป์ๆ สองเส้น เขามักแต่งตัวดูดีอยู่เสมอเมื่อต้องมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนของ ดอ วิน (นามสมมติ) ที่เปิดสอนภาคค่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่ต้องทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ในช่วงกลางวันได้เรียนหนังสือในตอนกลางคืน ที่นี่เปิดสอนตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม เขาเรียนหนังสือที่นี่ตั้งแต่อายุ 9 ปี แต่ช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่อายุ 7 ปี ก่อนหน้านั้นพูดภาษาไทยไม่ได้เลย เพราะอยู่บ้านและที่ทำงานคุยกันเฉพาะภาษาพม่า แต่เมื่อมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน เขาพูดไทยได้คล่องแคล่วมาก เขาบอกเราว่า ที่ต้องมาเรียนที่นี่เพราะต้องทำงานช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แม่ไม่มีเงินส่งเรียนในระบบโรงเรียน ที่นี่เรียนฟรี พ่อมีอาชีพเป็นคนงานในโรงน้ำแข็ง เงินเดือนเพียง 1,500 บาท แม่ทำงานเป็นคนงานแร่ปลา แกะกุ้งให้กับเถ้าแก่แต่ไม่มีงานทุกวัน พี่สาววัย 15 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือ ช่วยแม่ทำงานที่สะพานปลาอีกแรงหนึ่ง


 


ส่วนเขาตื่นนอนตั้งแต่หัวรุ่ง เพราะ 7 โมงเช้าเขาต้องพร้อมที่สะพานปลา เพื่อลำเลียงลังปลา(น้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม) ขึ้นรถห้องเย็นเพื่อส่งต่อไปยังตลาด ที่นั่นมีคนงานจำนวนมาก จับคู่กับคนวัยเดียวกัน รูปร่างเท่ากันเพื่อความมีประสิทธิภาพของงาน คู่หูในการทำงานของเขาอายุ 10 ปี ต้องทำงานประสานกันอย่างดี เพราะลังปลามันหนักไม่ใช่ย่อย หากน้ำหนักข้างใดข้างหนึ่งเพลี่ยงพล้ำขาดความสมดุล หากปลาหล่นลงมา อาจจะถูกไล่ออกหรือด่าทอโดยนายจ้างได้ เวลาและความเร็วเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ประมาณ 9 โมงเช้าทุกอย่างต้องพร้อมออกเดินทาง ด้วยแรงของพวกเขาวันหนึ่งๆ เขาลำเรียงลังปลาได้ 10 ลัง นั่นหมายถึงรายได้วันละ 200 บาทที่ต้องแบ่งกันกับคู่หูคนละครึ่ง เขารำลึกวันแรกของการทำงานแบกลังปลาตอนเขาอายุ 8 ปีให้ฟังว่า เมื่อกลับถึงบ้าน ร่างกายแบบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ แขนร้าวระบม มือเจ็บจนกำไม่แน่น ยาที่มีอยู่ขนานเดียวในบ้านคือ ยาหม่องที่เขาพึ่งมันจนกระทั่งเกิดความเคยชิน ทุกวันนี้งานแบกลักปลา จึงไม่ใช่เรื่องหนักหนาสำหรับเขาอีกต่อไป แต่ความฝันของเขาทำให้หนุ่มน้อยเจ้าสำอางดูช่างเป็นเด็กที่รื่นรมย์ เมื่อบอกว่าอยากจะเป็นนักร้อง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่


 


ในห้องเรียนโรงเรียนภาคค่ำของเด็กน้อยๆ พวกเขาเป็นเด็กหัวอกเดียวกัน สรพงษ์ (นามสมมติ) เด็กน้อยวัย 9 ปี พ่อแม่เป็นคนทวาย เขามีน้องชาย 1 คนวัย 7 ปี ที่ต้องมาเรียนที่นี่เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียนในโรงเรียนระบบปกติและต้องทำงานในช่วงกลางวัน จึงต้องมาเรียนภาคค่ำ พ่อของเขาทำงานเป็นคนงานในเรือประมง ได้เงินเดือนเพียง 2,500 บาท ส่วนแม่เป็นคนงานในโรงงานน้ำปลา มีรายได้ 1,000-1,500 บาทต่อ 15 วัน เขาบอกว่าค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสี่คนพ่อแม่ลูก เขาอายุเพียง 9 ขวบแต่สามารถบอกภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างแม่นยำ เหมือนคนที่ต้องรับทราบว่า มีภาระอะไรบ้างที่เขาสามารถช่วยได้ เพราะเขาบอกว่าที่เลือกทำงานเพราะอยากช่วยเหลือพ่อแม่


 


สรพงษ์ ดูเคร่งขรึมและแววตาเศร้าในบางครั้ง เขาทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่ง โดยทำหน้าที่บรรจุสินค้าใส่ถุง มีเพื่อนร่วมงานเป็นเด็กพม่าด้วยกันอีกหลายคน เริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ตอนเที่ยงนายจ้างเลี้ยงข้าว บ่ายทำงานอีกรอบ จากนั้นบ่ายแก่ๆ เขาต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งสินค้าตามร้านค้าในย่านนั้น (เป็นย่านแรงงานพม่าเกือบทั้งหมด) เพราะเถ้าแก่ไว้วางใจ แต่เขากลับกลัวการขับรถมอเตอร์ไซค์ทุกครั้งที่ต้องทำหน้าที่ แต่ไม่สามารถปริปากบ่น เขาเคยเป็นลมเพราะยืนทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงประกอบกับอากาศในโรงงานร้อน เมื่อได้รับการปฐมพยาบาลจนฟื้นก็ต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ เวลาเลิกงานคือ 6 โมงเย็น หลังเลิกจากงานยังโชคดีที่เถ้าแก่เลี้ยงข้าวเย็นแก่คนงาน เขาทำงานงานที่นี่มาประมาณ 1 ปี ได้เงินเดือนๆ ละ 1,500 บาท


 


เขาเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนภาคค่ำตั้งแต่อายุ 7 ปี จนกระทั่งพูดไทยได้คล่อง อ่านเขียน ภาษาไทยและพม่าได้ดี เขาอยากเรียนต่อในชั้นสูงๆ ขึ้นไป และโตขึ้นอยากเป็นครู


 


มะ พิว ตู ซา (นามสมมติ) เด็กหญิงที่โตที่สุดในชั้นเรียน วัย 11 ปี พ่อแม่เป็นคนทวาย เธอเกิดที่เมืองไทย ครอบครัวมีพี่น้องถึง 9 คน เธอเป็นคนที่ 4 นั่นหมายถึงมีมีน้องเล็กๆ ให้ดูแลอีก 5 คน เธอถูกส่งตัวไปทำงานกับเถ้าแก่ร้านขายของชำในต่างตำบลตั้งแต่อายุ 7 ปี ทำหน้าที่เป็นเด็กขายของหน้าร้านที่เด็กสุดในละแวกนั้น มีเพื่อนร่วมงานเป็นหญิงวัยวุ่นชาวพม่าอีกสองคน สาเหตุที่เถ้าแก่เลือกเธอเพราะเขามีลูกสาววัยไล่เลี่ยกับเธอตอนนั้นเด็กน้อยอายุเพียง 3-4 ขวบ เธอจึงเป็นเพื่อนเล่นและเป็นพี่เลี้ยงไปด้วยในยามที่น้องไม่หลับ ส่วนภารกิจขายของหน้าร้านต้องทำตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 โมงเย็น จากนั้นเธอได้อภิสิทธิจากนายจ้างอนุญาตให้เธอได้นอนพักถึงสองชั่วโมง จึงเปลี่ยนหน้าที่มาช่วยดูแลลูกสาวเจ้าของร้าน เด็กหญิงทำงานอยู่ที่นั่น 2 ปีได้เงินเดือนปีแรกเดือนละ 1,500 บาท ขึ้นปีที่สองได้เงินเดือน 1,700 บาท


 


เธอต่อรองกับแม่ขอออกจากงานขายของหน้าร้าน เพราะอยู่ไกลบ้านทั้งยังต้องอยู่บ้านเถ้าแก่ตลอด 24 ชั่วโมง เธอคิดถึงบ้าน คิดถึงพี่น้อง แม้ที่บ้านเถ้าแก่จะสุขสบายมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่เธออยากจะมาอยู่กับครอบครัวมากกว่า เมื่อเธอกลับมาอยู่บ้าน พ่อกับแม่ไม่สามารถให้เธออยู่บ้านเฉยๆ ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงสมาชิกนับสิบคน ช่วงไหนที่เธอไม่มีงาน เป็นความทุกข์ของเธอมากกว่าสุข "ข้าวกระสอบละ 800-900 บาทแล้ว บ้านก็เช่าเดือนละ 1,500 บาท ที่บ้านหนูคนเยอะ กินข้าวกันเดือนละกระสอบกว่าๆ" เธอกล่าวถึงภาระของครอบครัวที่มีส่วนช่วยแบ่งเบา


 


ปัจจุบัน เธอทำงานเป็นคนงานทำปลาและแกะกุ้งในแพปลา มีงานให้ทำตั้งแต่ตีห้าถึงสองทุ่มในช่วงที่ได้ปลาจำนวนมาก เธอจึงแบ่งเวลากับแม่ เธอทำงานในช่วงเช้าถึงบ่ายสองโมง และแม่ก็เข้าไปรับช่วงต่อจากเธอ เธอจึงได้มีเวลามาเรียนหนังสือตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม หลังจากเลิกเรียน หากยังมีงานเหลือให้ทำอีกมาก เธอก็จะกลับไปทำงานต่อ กระทั่งปลาหมด เพราะจำนวนเงินมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนของปลาที่สามารถทำได้


 


ในขณะที่เด็กๆ หลายคนมีความสุขกับของเล่นนานาชนิด มีโอกาสท่องเที่ยวไปในโลกกว้างตามที่ต่างๆ มีโอกาสฉลองวันเกิด วันพ่อ วันแม่ วันคริสต์มาส และนับถอยหลังวันปีใหม่ แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีเด็กอย่าง จา ซิน, สรพงษ์ และมะ พิว ตู ซา อาจจะไม่มีโอกาสทำเหมือนเด็กทั่วไป ยังคงทำงานหนัก และยังสงสัยในอนาคตของตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net