Skip to main content
sharethis


 


"โอ้ ลูกจ๊ะ....ได้เวลาละหมาดแล้ว"


            "ขอดูทีวีก่อนครับพ่อ"


            "เร็วสิลูก เสื่อละหมาดพร้อมแล้ว มาเป็นมะมูมให้พ่อหน่อย"


"เสื่อละหมาดมันพร้อมแล้ว พ่อก็ให้มันเป็นมะมูมสิครับ"


 


เจอไม้เด็ดจากลูกรักประมาณนี้ต้องได้ยินเสียงเบสกระตุกดังแป๋วๆ ทุกรายล่ะครับสำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นมุขแบบมุสลิม ประมาณมุข OTOP พี่น้องชาวพุทธคงยากเข้าใจ เป็นอันว่าเดี๋ยวค่อยไปถามคนข้างๆ ที่เป็นมุสลิมก็แล้วกัน


 


นี่เป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนชื่อ "โรตีมังก้า" ที่แจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา มีทั้งหมด 8 เล่ม ผมได้มาเพียง 2 เล่ม คือเล่ม 3 กับ 4 เล่ม 1 - 2 หมด ส่วนเล่ม 5-8 ยังไม่ออกครับ แต่อีกไม่กี่วันคงออกได้และจะทยอยแจกเรื่อยๆ ประมาณว่าเดือนละเล่ม ในปกรองเขาเขียนว่าแจกฟรี (มิน่าถึงหมดไว) ใครสนใจติดต่อได้ที่กองประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.โทร.0-7327-4469 อ่านแล้วเป็นไงบ้างบก.เขาบอกว่าแมวไปแสดงความคิดเห็นได้ที่ rotimanga@yahoo.com      


 


ที่มาที่ไปคือศอ.บต.ร่วมจัดทำกับสำนักพิมพ์โรตีมะตะบะที่มีดาวุด (ชุมพล) ลาวัง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป้าหมายน่าจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือสานสัมพันธ์กับพื้นที่อื่นๆ เป็นสื่อในรูปแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องปีนบันไดเสพ แน่นอนว่าจัดทำเพื่อให้เด็กๆ อ่านโดยเฉพาะ ยังไงก็ตาม ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็อ่านได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องรักเด็กด้วย (ฮา) ถึงจะรู้เรื่อง  


 


แล้วดาวุดคือใคร ?! ผู้เขียนพอเลาๆ ได้ว่าเขาคือเด็กมุสลิมที่สนใจในงานขีดๆ เขียนๆ จบจาก"มหาลัยดังแล้วไม่อยากทำงานตามที่ตัวเองเรียนมา ประเภทขัดใจแม่ ออกเดินตามหาฝัน ระดมพรรคพวกมุสลิมที่สนใจงานด้านศิลปะซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นนิสิตทำหนังสือชื่อโรตีมะตะบะ เข้าใจว่าแรกๆ แจกฟรีพอเป็นกระสาย ต่อมาขาย เป็นหนังสือแนวมุสลิมชนิดไส้เดือนยังไม้รู้จัก คือแบบใต้ดินน่ะครับ แต่น่าจะลึกกว่าหนังสือใต้ดินธรรมดา เข้าใจว่าอีกไม่นานน่าจะโผล่มาหายใจบนดิน ราคาเพียงเล่มละ 20 บาท ตามร้านหนังสือ 3 จังหวัดชายแดนจะพอเห็นบ้าง ได้ยินคร่าวๆ ว่ายอดขายประมาณ 3,000/ฉบับ นอกจากนี้ยังทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางการส่งเสริมศิลปะสำหรับเยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้    


 


ดาวุดเป็นคนทำหนังสือที่คิดนอกกรอบ คนบ้านเราอาจเรียกเขาว่า "ไม่ค่อยบาย" ประเภทหนึ่งบวกหนึ่งอาจได้หนึ่งหรือสามสี่ก็ได้ เช่นเดียวกับสมจุ้ย เจตนาน่าสนุก (ศุ บุญเลี้ยง) ที่ปั้นหนังสือ "ไปยาลใหญ่" จนโด่งดังแล้วจากไปด้วยเหตุผล "ไม่หนุก" หรือวงศ์ทนง ชัยณรงสิงค์ ในฐานะศิษย์เก่ามอ.ตานีที่ปลุกปั้น a day จนโด่งดังในหมู่วัยรุ่นจนเล่มเก่าๆ หายาก ราคาขึ้นไป 2-3 เท่า ขนาดใครที่ขึ้น (สัน) ปกหนังสือเล่มนี้ต้องภูมิในไปตลอดชาติ       


 


สำหรับดาวุดน่าสนใจสำหรับเขาและทีมงาน แนวคิดน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง  


 


ว่าไปในเรื่องโรตีมังก้าดีกว่า เขาโฆษณาว่าเป็นการ์ตูนมุสลิมเล่มแรกของเมืองไทย น่าจะจริงครับเพราะผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน จะเห็นบ้างก็เป็นเพียงการ์ตูนสั้นๆ หรือการ์ตูนสามช่องคั่นเรื่อง มุสลิมประเภทกอดเสาหลักหรือยึดติดคงทำใจรับลำบากสักหน่อย แต่สำหรับมุสลิมรุ่นใหม่ๆ น่าจะเข้าใจไม่ยาก ออกไปทางสนับสนุนด้วยซ้ำ ดูที่เจตนาและเนื้อหาสาระดีกว่าครับ   


 


พลิกไปดูเข้าใจว่าการ์ตูนนิสต์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นมุสลิมเมืองกรุงมากกว่าคนบ้านเรา เด็กบ้านเราคงแซมๆ บ้าง ฟังว่าส่วนใหญ่ยังคงเรียนหนังสือเป็นหลักคละเคล้ากันไปหลายสถาบัน กรุณาอย่านำไปเปรียบเทียบกับการ์ตูนอะนิเมะของญี่ปุ่นน่ะครับ ของเขาเป็นระดับมืออาชีพ ของเราจะมีระดับอาชีพบ้างก็ต้องไปดูของสำนักพิมพ์อินเตอร์คอสมิก สากลทั้งลายเส้นและเนื้อหา ที่เหลือคงต้องย้อนไปถึงการ์ตูนเล่มละบาท (เดี๋ยวนี้ 2 บาท) ซึ่งเป็นการ์ตูนแบบไทยๆ ประเภทผีสางนางไม้   


 


แต่ก็ถือว่ามีอนาคตครับสำหรับทีมนี้ ไม่แน่อาจจะมีเตรียม ชาชุมพร จุก เบี้ยวสกุล (เจ้าชายผมทอง) สมศีล ทิวสมบุญ ที่โด่งดังจาก Aday (เจ้าถั่วงอกกับไอ้หัวหลอดไฟ) หรือเรณู ปัญญาดี (โด่งดังจากมติชน) คนที่สองสามตามก็ได้ ใครจะไปรู้  


 


เนื้อหาด้านในออกจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วไป หรือจินตนาการของคนวาด เช่น กล่าวถึงฮีโร่ "โรตีแมน" ที่คอยแก้ปัญหาของเด็กๆ  นิทานจากอาเยาะห์ ที่สั่งสอนถึงศีลธรรม, ประวัติศาสตร์ มีซีผจญภัย กำปงสันติสุข บิ๊กแม ที่ชอบเป็นการส่วนตัวน่าจะเป็นมุสลิมคนเก่งในเล่ม 3 ที่กล่าวถึงชีวิตของอาลีฟ เปาะจิ นักบอลฝีเท้าดีจากนราธิวาส แต่ไม่ยอมบอกว่าใครวาด (หรือผมหาไม่เจอ) ลายเส้นเฉียบขาดใช้ได้แม้จะติดเชื้อปลาดิบซาซิมิบ้างก็ตาม เนื้อหาเข้าใจง่าย


 


ส่วนด้อยหน่อยน่าจะเป็นแก๊กแทรกแบบสามช่อง ที่ผมเดาคนวาดน่าจะเป็นเด็กเมืองกรุงน่าจะเป็นจริง คือเป็นมุขแบบฮากลิ้งที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อมุขเดินทางมาปักษ์ใต้อาจจะแป๊กครับ รู้สึกหนืดๆ ยังไงไม่รู้ รู้ๆ อยู่ว่าคนใต้เป็นประเภทเสือยิ้มยาก หรือ "สูอย่ามาเหลียม" ฮากลิ้งที่เมืองกรุงแต่ที่นี่อาจแค่ยิ้มมุมปากเท่านั้น เพราะฉะนั้นมุขเมื่อมาใต้ต้องมาแบบหนังลุงถึงจะประสบผลสำเร็จ ยิ่งมุขเดินทางมานาทับแล้ว (จะนะ-สงขลา) อาจจะโดนต้อนเอาง่ายๆ หรืออาจจะทำแบบกลางๆ น่าจะเข้าใจง่ายกว่า ยกตัวอย่างการ์ตูนสามช่องของชัย ราชวัตร ที่ลงในไทยรัฐเมื่อครั้งผมยังเด็ก แต่ยังขำจนถึงทุกวัน เป็นการ์ตูนกระแนะกระแหนนักการเมือง


 


            "หัวหน้าครับผมจับคนมาได้ ต้มเลยมั๊ยครับ" คนป่าถามหัวหน้าเผ่า


            "เดี๋ยวก่อน แล้วมันเป็นคนที่ไหน" หัวหน้าถาม


            "เอ่อ...คนไทยครับ"


            "เฮ้ย...ไม่ต้อง" ก่อนว่าต่อ 


 "กินได้เลย พวกนี้โดนต้นจนเปื่อยแล้ว"


 


ส่วนอันนี้เป็นมุขหนังลุง


 


"ถ้าไม่แกรงใจจอ พ่อจะล่อคอไปแลพี่น้องแล้ว" บทขับของนายหนัง จอคือจอหนังตะลุง ล่อแปลว่าโผล่ครับ หรือบทสนทนาแบบบ้านๆ ระหว่างครูกับศิษย์ที่มาโรงเรียนสาย เข้มข้น รวบรัด ชัดเจนแบบใต้ๆ รู้เรื่องทั้งๆ ที่ใช้เวลาสนทนาไม่เกิน 2 วินาที (กรุณาอ่านเป็นภาษาใต้)    


 


"ไซ่แช" (ทำไมมาช้า)


            "ไก่สูญ" (ไก่หาย-สมัยก่อนเด็กๆ นิยมเลี้ยงไก่)


            "มูสังลัก" (มูสัง-สัตว์ชนิดหนึ่งคล้ายแมว ชอบขโมยไก่)


            "ม่าย...เยี่ยวเฉียว" (ไม่-เหยี่ยวมันโฉบ)


           


แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องให้กำลังใจและสนับสนุนสำหรับแนวคิดดีๆ อย่างนี้ หวังว่ากลุ่มคนพันธุ์นี้จะแตกกอต่อยอดไปเรื่อยๆ   

                                           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net