Skip to main content
sharethis



21 ธ.ค.51 ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 8 ข้อ


 


รายละเอียด มีดังนี้


 


 








ข้อเสนอศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชน


ต่อรัฐบาลใหม่


 


ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD) ในฐานะองค์กรคนหนุ่มสาวที่มีบทบาทในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศไทยมาโดยตลอด มีข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้


 


1 รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคลี่คลายความยุติธรรมและสืบสวนเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อนำผู้กระทำผิดที่ลอยนวลมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามยาเสพติด  ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  การเผาทำลายหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน สมัชชาคนจน  มาจนถึงกรณีการสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและการปะทะกันของมวลชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551  ด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าฝ่ายใด เพื่อเยียวยาสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา


 


2. รัฐบาลต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล  ไม่แทรกแซงสื่อและเลือกปฏิบัติต่อฝ่ายที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาล รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานรอยร้าวในสังคมโดยไม่เป็นผู้สร้างความแตกแยกเสียเอง  ทั้งนี้ รัฐบาลต้องตระหนักว่า การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลก็ตามซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลจะแพ้ภัยตัวเอง ดังตัวอย่างในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ หรือยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็ตาม เมื่อรัฐบาลพยายามปิดกั้นพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามสูงมากเพียงใด  กระแสการต่อต้านยิ่งสูงขึ้นเท่านั้นเป็นปฏิกริยาต่อกัน  


 


3. รัฐบาลจะต้องดำเนินการทบทวนแก้ไขหรือยับยั้งนโยบาย  กฎหมาย ที่กระทบต่อสภาพสิทธิและสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมาทั้งหมด  ที่ส่งผลต่อความขัดแย้ง กระบวนการไม่ชอบธรรม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนหรือชุมชน    หรือมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และผลประโยชน์ทับซ้อน 


4. รัฐบาลจะต้องแสดงความโปร่งใส พร้อมกับการถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระและภาคประชาชน ในการบริหารราชการแผ่นดินและการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจเป็นข้อครหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยรัฐบาลจะต้องผลักดันให้เกิด "กฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่น" เพื่อเอาผิดต่อนักการเมืองและข้าราชการกังฉินอย่างเด็ดขาด เช่นประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมีการเอาผิดการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทย


5. รัฐบาลต้องจัดให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยดำเนินการจัดตั้ง สภาเพื่อการปฏิรูปการเมือง จากภาคประชาชนทุกกลุ่มสาขา เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปการเมือง ออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างมีส่วนร่วม ออกแบบระบบเศรษฐกิจ สังคมที่เป็นธรรม  สร้างรัฐสวัสดิการ การกระจายโอกาสที่เป็นธรรมกับประชาชน  และสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทุกระดับ  เพื่อเป็นพื้นฐานของสังคมที่จะป้องกันวิกฤตความขัดแย้งอันเกิดจากความไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรมในสังคมต่อไป


6. รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายสังคม-ประชาธิปไตย(Social Democracy) เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมแก่ภาคแรงงานและเกษตรกร สร้างโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมปราศจากการผูกขาด  ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงสินค้าและการบริการที่เป็นธรรม  ส่งเสริมให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม  จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน - มรดกอัตราก้าวหน้า  ปฏิรูปที่ดินโดยการกระจายโอกาสให้แก่คนยากจน  สร้างการกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่เป็นธรรม  รวมถึงการสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน  โดยแนวนโยบายสาธารณะต่างๆต้องดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน  และต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์มากไปกว่าแนวทางเสรีนิยม


 7. รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้า "ปฏิรูปการศึกษา" เป็นนโยบายหลัก  โดยมุ่งเน้นเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้เป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงได้โดยไม่เป็นภาระ    เน้นการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพที่หลากหลายของผู้คน  สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้(Knowledge Base Society)ผ่านสื่อสารมวลชนและสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่เด็ก เยาวชน ครอบครัวสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ยามว่าง สนับสนุนภาคประชาชนในการจัดการศึกษาการเมืองภาคพลเมือง(Civic Education)   และสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต่างๆ อย่างเต็มที่


8. ในการผลักดันร่างกฎหมายหรือดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน จะต้องดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในทุกกระบวนการ  ตั้งแต่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจนถึงการมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในชุดคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีส่วนรวม   รวมถึงการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ ทั้งระบบให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้แทนเด็กและเยาวชนได้อย่างชอบธรรม  และสามารถผลักดันกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยได้อย่างแท้จริง เพื่อรองรับวิกฤติปัญหาสังคมในอนาคตในโลกโลกาภิวัตน์ได้อย่างเท่าทัน


 


 


วรภัทร วีรพัฒนคุปต์
เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(
YPD)
21 ธันวาคม 2551


 


 



 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net