Skip to main content
sharethis


21 ธ.ค.51  ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีการจัดแถลงข่าว "ข้อเสนอการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าต่อรัฐบาลใหม่ ในยุคเศรษฐกิจแย่ สังคมเสื่อม" โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ 4 แห่งที่กำลังจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า (รายละเอียดในล้อมกรอบ) และตัวแทนจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ได้ออกมายอมรับว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ต้องผลิตไฟฟ้า หรือมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองถึง กว่า 20% และได้สั่งให้มีการเลื่อนการก่อสร้างของโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ออกไปแล้ว 1 ปีขึ้นไป รวมทั้งเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)ที่ชนะการประมูลทั้งหมดให้เลื่อนโครงการออกไป 1 ปีโดยไม่เพิ่มค่าไฟฟ้าให้ แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจของไอพีพี


 


ทั้งนี้ ข้อเสนอโดยรวมของการแถลงข่าวครั้งนี้คือ 1.ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกพีดีพี 2007 และให้ทำฉบับใหม่เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่พีดีพีของผู้ผลิตไฟฟ้า 2.ยกเลิกโครงการของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (ไอพีพี) ที่มีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้า 4 แห่ง รวม 4,400 เมกกะวัตต์ 3.ยกเลิกระบบค่าไฟฟ้าจากไฟฟ้าสำรอง over ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยตัวแทนชาวบ้านในหลายพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องดังกล่าวต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้


 


ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จากกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งกำลังคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซในพื้นที่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน กฟผ.ได้มีการเร่งรัดเซ็นสัญญาซื้อไฟกับไอพีพีไปแล้ว และขณะนี้ปลัดกระทรวงพลังงานกลับออกมาขอร้องเอกชนให้เลื่อนออกไป 1 ปี สะท้อนให้เห็นถึงการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ผิดพลาด หากว่าไอพีพียังยืนยันจะก่อสร้างและส่งไฟเข้าระบบตามกำหนดเดิม นั่นเท่ากับคนไทยทั้งหมดต้องยอมรับสภาพการสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกิน และภาระค่าไฟที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีหน้าเศรษฐกิจจะยิ่งย่ำแย่ ปริมาณการใช้ไฟก็จะต้องลดลงไปอีกจากการประมาณการ นอกจากนี้นายตี๋ยังได้แสดงตารางการสำรองไฟที่ล้นเกินของไทยในปีนี้ ซึ่งเฉลี่ยราว 40% ขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 15% ด้วย


 


ตารางแสดงกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศ ปี 2008


 
























2008


MONTH


PEAK


 (MW)


GENERATION


(GWh)


LOAD  FACTOR


(%)


RESERVE MARGIN


ปริมาณไฟฟ้าสำรอง(%)


JAN


FEB


MAR


APR


MAY


JUN


JUL


AUG


SEP


OCT


NOV


DEC


20,733


20,708


22,122


22,568


21,610


21,396


21,489


21,590


21,014


20,711


11,881


11,531


13,288


12,592


13,058


12,785


13,071


13,070


12,832


12,718


77.2


80.0


80.7


77.5


81.2


83.0


81.7


81.3


82.2


82.5


35.5


35.2


33.0


29.8


35.4


39.9


43.0


38.1


41.8


42.1


 


TOTAL


 


22,568


 


126,378


 


63.8


 


29.8*


*Minimum Reserve Margin


ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน www.eppo.go.th/info/stat/T05_02_05.xls


 


ตี๋กล่าวอีกว่า ในปีหน้า (2552) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าจะมีการติดตามขุดคุ้ยข้อมูลผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมือง กับบริษัทเอกชน รวมถึง กฟผ.เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการเซ็นสัญญารับซื้อไฟจากไอพีพี ที่กระทรวงพลังงานและ กฟผ.เอื้อประโยชน์ให้ไอพีพีนำไปกู้เงินลงทุน นอกจากนี้ ทาง กฟผ.ยังไม่มีการเปิดเผยสัญญาแก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตเอกชนก่อน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขาดความโปร่งใสและเอาเปรียบประชาชนในพื้นที่


 


นันทวัน หาญดี จากเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สิ่งที่ตัวแทนชาวบ้านจาก 4 พื้นที่ต้องการคือให้ภาครัฐทบทวนแผนพีดีพี2007 ซึ่งมีการใช้ฐานข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าของไอพีพี ไม่ใช่แค่ปรับเลื่อนระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีความจำเป็น ทั้งยังทำให้คนในพื้นที่ต้องแบกรับผลกระทบมลพิษในด้านต่างๆ รวมทั้งทำลายวิถีการเกษตร ซึ่งพื้นที่ที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในฉะเชิงเทราและสระบุรี เป็นพื้นที่ไข่แดงที่ทำการเกษตรเป็นหลักและได้ผลดี รัฐบาลจึงควรศึกษาและจัดสมดุลระหว่างวิกฤตอาหารและวิกฤตพลังงาน


 


ธนิกา  บุญธรรมหนัก เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว คัดค้านโรงไฟฟ้าเสม็ดเหนือ เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า  โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จะก่อสร้างเป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า แต่กลับมาใช้พื้นที่การเกษต ทรัพยากรน้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างโรงไฟฟ้ากับชาวบ้าน สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในชุมชน รัฐบาลควรจะลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ความรู้และงบประมาณกับการพัฒนาพลังงานสะอด รวมทั้งเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดในแผนพีดีพีด้วย


 


สายรุ้ง ทองปลอน จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐมนตรีและส.ส.หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์เคยทำงาน ศึกษาเรื่องพลังงาน และสนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, อลงกรณ์ พลบุตร หรือแม้แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความจริงใจและทบทวนเรื่องนี้ โดยสายรุ้งได้นำเสนอข้อมูลความผิดพลาดของโครงสร้างไฟฟ้าในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ในส่วนของค่าเอฟที ระบบประกันผลกำไรของผู้ลงทุน การสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกิน  พร้อมทั้งนำเสนอให้ยกเลิกแผนพีดีพี 2007ซึ่งมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนสูง โดยเฉพาะปัญหาการสำรองไฟฟ้าล้นเกิน ยกเลิกโครงการของไอพีพีทั้ง 4 แห่งเนื่องจากเมื่อคำนวณให้ดีจะพบว่าไม่จำเป็น และยังไม่มีเอกชนรายใดที่ลงทุนไปแล้ว ยกเลิกแผนการก่อสร้างไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า แล้วสร้างกลไกการจัดทำแผนพีดีพีใหม่ ให้เป็นระบบ IRP ซึ่งเปิดให้ทุกภาคส่วนได้นำเสนอแผนของตนเอง และเปรียบเทียบข้อมูลกันอย่างบูรณาการทุกมิติ


 


สำหรับในประเด็นรายละเอียดเรื่องค่าเอฟทีนั้น สายรุ้งระบุว่า 1.เร็วๆ นี้จะมีการขึ้นค่าเอฟทีครั้งใหญ่ซึ่งควรได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากยังคงอิงตัวเลขราคาน้ำมันในช่วง 6 เดือนก่อนที่ราคาพุ่งสูงสุดในประวัติการ แต่ควรคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริง 2.ทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบ ROIC ซึ่งเป็นการประกันกำไรที่แน่นอนให้กับผู้ลงทุน ระบบนี้เป็นระบบที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีของ กฟผ.ก่อนที่จะแปรรูป แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มีการแปรรูปแล้วก็ควรจะเลิกระบบดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างไม่ต้องแบกรับภาระการลงทุนล้นเกิน ไม่ต้องสนใจประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพราะสามารถผลักภาระทั้งหมดไปไว้ในค่าไฟของประชาชนได้ ส่วนเรื่องการสำรองไฟฟ้าล้นเกินนั้น จากตัวเลขที่ได้แสดงไปแล้ว เมื่อคำนวณออกมาจะเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายในระบบไฟฟ้ามากเกินไปเกือบ 200,000 ล้านบาท ที่กลายเป็นภาระของผู้บริโภคในรูปค่าไฟ


 


ส่วนเหตุผลที่ต้องมีการจัดทำพีดีพีใหม่นั้น สายรุ้งได้หยิบยกข้อมูลเมื่อวันที่ 1-17 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า กฟผ.มีความต้องการไฟฟ้าลดลงถึง -11.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งลดลงยิ่งกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ดังนั้นการพยากรณ์ในระยะยาวจะยิ่งต้องลดลง หากไม่ปรับลดลง หรือไม่มีการจัดทำแผนพีดีพีใหม่ จะทำให้ตัวเลขสูงเกินจริงไปมาก แผนการสร้างโรงไฟฟ้าดำเนินต่อไปโดยไม่มีความจำเป็น ขณะที่ตัวเลขของคณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาก็ระบุชัดเจนว่าค่าพยากรณ์ไฟฟ้ากรณีฐาน ปี 2564 อยู่ที่ 38,444 เมกกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในแผนพีดีพีซึ่งระบุไว้เกือบ 50,000 เมกกะวัตต์ ทำให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในกาประชุมครั้งต่อๆ มาได้มีการพยายามปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงจากที่ระบุในแผนพีดีพีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าสงสัยและควรต้องได้รับคำตอบ เพราะความต้องการใช้ไฟลดลง เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ลง


 


 


 






 


ล้อมกรอบ: ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ที่กำลังดำเนินการใน 4 พื้นที่


 


 


ไอพีพีที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ.ไปแล้วมี 3 โครงการคือ


 


1.โรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่วัน ขนาด 660 เมกกะวัตต์ ของบริษัทโกลว์เหมราชฯ ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง อีไอเอผ่านแล้ว


 


2.โรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง ในพื้นที่เชื่อมต่อ อ.หนองแซง จ.สระบุรี กับ จ.อยุธยา ขนาด 1,600 เมกกะวัตต์ ของบริษัทเพาเวอร์เจอเนอเรชั่นซัพพลายฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำอีไอเอ


 


3. โรงไฟฟ้าก๊าซเสม็ดเหนือ-เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 1,600 เมกกะวัตต์ ของบริษัทสยามเอนเนอร์ยี่ฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำอีไอเอ


 


โรงไฟฟ้าในข้อ 2 และ 3 เป็นบริษัทในเครือ กัลฟ์เจพีฯ ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นถือหุ้นครึ่งหนึ่ง แม้อยู่ระหว่างทำอีไอเอ แต่ กฟผ.ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับทั้ง 2 บริษัทไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551


 


4.โครงการนี้ยังไมได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ.คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ขนาด 600 เมกกะวัตต์ ของบริษัทเนชั่นแนลพาวเวอร์ซัพพลายฯ ในเครือของเกษตรรุ่งเรืองพืชผล ขณะนี้อยู่ระหว่างทำอีไอเอ


 


 


ที่มา : เอกสารประกอบการแถลงข่าวข้อเสนอการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าต่อรัฐบาลใหม่ฯ 21 ธ.ค.51


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net