บทเรียนประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) กับการเลือกหัวหน้าห้อง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณัฐกร วิทิตานนท์

 

ภาพข่าวพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อาจนำมาซึ่งความยินดีปรีดาให้แก่ใครหลายคน เฉพาะกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พูดตามจริง สำหรับผมแล้ว มันมาพร้อมกับความกังขาห่าใหญ่ เหตุไฉนสังคมไทยโดยรวมถึงยอมรับได้กับเส้นทางสู่อำนาจทำนองนี้อย่างง่ายดายนัก [1]

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจ (ซึ่งโดยหลักถือว่าทัดเทียมกัน แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว เฉพาะอำนาจบริหารเท่านั้นที่ใครๆ ต่างหมายปอง) แล้ว ในบรรดา นายกรัฐมนตรีของไทยทั้งหมด 27 ท่านนั้น มี 11 ท่านด้วยกัน "ที่มา" เพราะการที่เป็น หัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมาก (มากที่สุด กว่าพรรคอื่นๆ) ในสภาฯ โดยที่เบื้องต้นยังมิคำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตยของกระบวนการดังกล่าวเลย ดังตารางนี้ [2]

 


















นายกรัฐมนตรี


หัวหน้าพรรค


จากผลการเลือกตั้งเมื่อ


ก่อนหน้าปี 2498 ที่การลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคการเมืองยังไม่นิยมแพร่หลาย

และสภาฯ ยังคงประกอบด้วยสมาชิกอีกประเภทที่มาจากการแต่งตั้งอยู่


(1) พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์


แนวรัฐธรรมนูญ


5 สิงหาคม 2489 [3]


(2) พ.ต.ควง อภัยวงศ์


ประชาธิปัตย์


29 มกราคม 2491


ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498

ซึ่งถือเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของไทย


(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม


เสรีมนังคศิลา


26 กุมภาพันธ์ 2500


(4) จอมพลถนอม กิตติขจร


สหประชาไทย


10 กุมภาพันธ์ 2512


(5) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช


ประชาธิปัตย์


26 มกราคม 2518 /

4 เมษายน 2519


(6) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ


ชาติไทย


24 กรกฎาคม 2531


(7) นายชวน หลีกภัย


ประชาธิปัตย์


13 กันยายน 2535


(8) นายบรรหาร ศิลปะอาชา


ชาติไทย


2 กรกฎาคม 2538


(9) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ


ความหวังใหม่


17 พฤศจิกายน 2539


(10) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


ไทยรักไทย


6 มกราคม 2544 /

6 กุมภาพันธ์ 2548


(11) นายสมัคร สุนทรเวช


พลังประชาชน


23 ธันวาคม 2550

           

หากถามต่ออีกว่าแล้วใน 11 ท่านนี้ สักกี่ท่านเชียวที่มาตามวิถีทางที่ควรจะเป็น เฉกเช่นประเทศประชาธิปไตยทั่วไปยึดถือปฏิบัติ คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ 7 ท่านเพียงเท่านั้น โดยตัดชื่อท่านที่เชื่อได้ว่ามาจากการเลือกตั้งแบบ "จัดฉาก / สร้างภาพ" เพื่อเรียกความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจเผด็จการทิ้งไป และเริ่มนับตั้งแต่เมื่อพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายบ้านเมืองขึ้นมา

 

สรุปคือ "ที่มา" ของตำแหน่งนายกฯ ประเทศไทยนั้น หลายหลาก และแตกต่างกันไป สุดแท้แต่บริบทสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ทว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น บ้างมาเพราะ "ยึดอำนาจ" เอามาใช้เสียเอง บ้างอาจมาจาก "ฟ้าประทาน" หรือไม่ก็เป็น "คนนอก" ซึ่ง "ทหาร" จำต้องหยิบยื่นให้ เป็นต้น

 

ถึงกระนั้น ในส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง กลับพบว่า มีแค่ 3 ครั้งเท่านั้นที่ หัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย (กว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้ง) ในสภาฯ สามารถ "พลิกขั้ว" ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

 

ครั้งแรก คือ กรณีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (หัวหน้าพรรคกิจสังคม / มี ส.ส. เพียง 18 คน) ในปี 2518

ครั้งต่อมา คือ กรณีของนายชวน หลีกภัย (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ในปี 2540

ครั้งล่าสุด คือ กรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ในปีนี้นี่เอง

 

เรื่องที่ดูราวกับว่าจะเป็นเกมการเมือง "ปกติ" ในสายตาของสื่อบ้านเรายามนี้ เอาเข้าจริง ผมกลับเห็นว่า เป็นเรื่อง "ผิดปกติ" มิใช่น้อย แน่ละ การได้มาซึ่งนายกฯ "คนนอก" หรือได้ "ทหาร" มาเป็นนายกฯ ยังเกิดบ่อยเสียยิ่งกว่า ฤานี่อาจถือเป็นเอกลักษณะของการเมืองแบบไทยๆ ที่ "ผลการเลือกตั้ง" หาใช่เป็นตัวชี้ขาดในเก้าอี้ "นายกฯ" ว่าสมควรเป็นของใครกันแน่ ? หรือเพราะ "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" อันลงตัวต่างหากที่สำคัญกว่าเสียงส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ชนิดมิต้องสงสัย!

 

กรณีคุณอภิสิทธิ์ข้างต้น ทำให้ผมหวนนึกถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเข้าทำนองเดียวกัน แต่มาจากจุดที่เล็กกว่ามาก แน่นอน เป็นประสบการณ์ตรงซึ่งเกิดขึ้นกับตัวผมเอง ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ผมจำได้แม่น วันนั้นครูประจำชั้นจัดให้มีการเลือกหัวหน้าห้อง เพื่อนคนหนึ่งเสนอชื่อผม (หวังให้เพื่อนๆ เฮฮาตามประสา) และเมื่อถึงเวลา ครูก็ให้เพื่อนๆ ในห้องยกมือรับรอง การณ์กลับเป็นว่า เพื่อนส่วนใหญ่พากันยกมือให้ผม แต่ครูไม่เห็นด้วย และตัดสินให้เพื่อนอีกคนหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อมาเหมือนกัน แต่ได้เสียงสนับสนุนน้อยกว่า (แต่เกรดดี และเป็นคนเรียบร้อยกว่าผม) เป็นหัวหน้าห้องแทน ครูไม่บอกเหตุผลใดๆ แก่ทั้งผม และเพื่อนๆ ที่ตัดสินใจเลือกผม (ผมคิดไปเองว่า อาจเป็นเพราะความเป็น "เด็กหลังห้อง" ของผมเป็นแน่) ทว่าทุกคนก็แสดงท่าทียอมรับในสิ่งที่ครูกำหนดให้เป็น

 

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ซึ่งผมเชื่อว่า ถึงวันนี้แล้วคงเปลี่ยนไปมากโข

 

แต่สิ่งที่ผมคิดก็ผิดถนัด !!!

 

อย่างที่เด็กชายชั้นประถมคนหนึ่งเพิ่งเล่าให้ผมฟังว่า "เขาไม่ชอบหัวหน้าห้องของเขาเลย หัวหน้าห้องของเขาชื่อ บัญชา... บัญชาชอบแกล้งเพื่อน" "แล้วใครเป็นคนเลือก?" ผมถาม "ครูเป็นคนเลือก" เขาตอบ และทิ้งท้ายอีกว่า "ถ้าเลือกได้เอง จะขอเลือกดรีม... เพราะดรีมใจดี เคยให้ยืมดินสอ เคยให้ยืมยางลบ"

 

และกับหลานชายของผมเองที่ก็เป็นหัวหน้าห้อง ย้ำว่าที่เขาได้เป็นหัวหน้าห้องนั้น เพราะ... ครูเป็นคนเลือก ด้วยน้ำหนักตัวที่มากถึง 59 กิโลกรัมของเขา ตัวโตผิดกับเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันลิบลับ ผมเลยไม่จำเป็นต้องถามต่อว่า ทำไมครูจึงให้เขาเป็นหัวหน้าห้อง

 

ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ข้างต้น สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติเด่นชัด ให้เห็นว่าในการเลือกผู้ปกครอง(หรือหัวหน้าห้อง) มีใครบางคน (เช่น ครูประจำชั้น ในกรณีนี้) เป็นคนกำหนดให้เสมอ อธิบายแบบหยาบๆ เช่นที่เคยถูกพร่ำสอนมานานแล้วว่า สังคมไทยเป็นสังคม อำนาจนิยม (หรือนิยมอำนาจ) โดยปราศการตั้งคำถามถึง "ที่มา" ของอำนาจเหล่านั้นว่า "ชอบธรรม" สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และมากน้อย เพียงใด ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา เราจึงยอมรับว่า อำนาจคือความถูกต้อง มาตลอด ไม่ว่าอำนาจนั้นจะได้มาอย่างไร แม้กระทั่งที่มาจากปลายปืนทหารก็ตามแต่...

 

เป็นต้นว่า เรายอมให้กฎหมายที่ออกโดยผู้นำคณะรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวใช้บังคับกินระยะเวลายาวนานมาก เช่น กฎหมายที่ห้ามขายเหล้าหรือบุหรี่ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 (ข้อ 20 (5)) สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ.2515 และก็เพิ่งจะมาถูกยกเลิก และบัญญัติห้ามใหม่ ตามมาตรา 26 (10) โดย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เมื่อปี 2546 เอานี่เอง ตลอดทั้งในสายตาของศาล / ตุลาการก็ตอกย้ำอีกว่านี่เป็นกฎหมายบ้านเมืองที่ต้องยึดถือปฏิบัติตาม เป็นอาทิ

 

เมื่อเป็นดังนี้ ผู้คนก็เลยรู้สึกว่าการมีผู้ปกครองที่ไม่ได้มาจากประชาชน (แม้นในสมัยปัจจุบัน) ถือเป็นเรื่องธรรมดา และเห็นว่าสิ่งตกค้างจากการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับให้คงมีผลต่อไปได้อีก

 

อย่างที่หลายคนว่าไว้ สังคมใดจะเป็นประชาธิปไตยได้ องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การมี วิถีชีวิต ตามแบบประชาธิปไตย (คือสังคมมีค่านิยม และพฤติกรรมต่างๆ แบบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ไม่มีนอกกติกา ฯลฯ) นอกเหนือจากการมี อุดมการณ์ กับ สถาบัน ที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว [4] แน่ละ มันคงต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน จากในชั้นเรียนนี่แหละ

 

เริ่มกันตั้งแต่สร้างแบบฝึกหัด เลือกตั้ง หัวหน้าห้องให้เขาได้เรียนรู้ฝึกฝนเมื่อครั้งยังเด็ก โดยที่ไม่มีครูประจำชั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หวังว่าสักวันหนึ่ง ในบริบทการเมืองระดับชาติ "อำนาจนอกระบบ" จะสำคัญน้อยกว่า "การตัดสินใจของผองประชาชน" และค่อยๆ หมดความสำคัญลงไปในที่สุด

 

อ้างอิง

[1] ควรอ่าน "พรรคประชาธิปัตย์ขุดหลุมฝังตัวเอง" โดย ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ ประกอบ ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/14785

[2] ประมวลจาก นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์ การเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2544) และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).

[3] เป็นการเลือกตั้งเฉพาะเพื่อแทน ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งถูกยกเลิกไป สืบเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

[4] ดังเช่นที่ปรากฏในบทความ "ประชาธิปไตยแบบอารยะ" ของ ธเนศวร์ เจริญเมือง ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/13704

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท