Skip to main content
sharethis

กรกมล  ขุนเพชร
สำนักประสานงานชุดโครงการ
"การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง"
สังกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
 
 
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่ว่า อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีการทำนามาแต่โบราณ มีการส่งออกข้าวไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน มาเลเซีย เป็นต้น แต่มาช่วงหลังเกิดการปฏิวัติขึ้น ที่เราเรียกว่าปฏิวัติเขียว คือ การเปลี่ยนแปลงมาสู่การทำนาข้าว กข.7 ข้าวพันธุ์เตี้ย ข้าวพื้นเมืองจึงหายไป ยิ่งหลัง ๆ มีการเปลี่ยนจากนาข้าวมาเป็นนายางอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลตอนนี้ในอำเภอบางแก้วเหลือพื้นที่นาข้าวเพียง 30 % เท่านั้น และส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของพื้นที่นาเดิมนั่นแหละ ที่เปลี่ยนนาข้าวของตัวเองให้เป็นนายาง ทำให้พื้นที่นาข้าวพันธุ์พื้นเมืองแทบจะหาไม่ได้เสียแล้วในอำเภอบางแก้วแห่งนี้ 


บ้านเรียนรู้เกษตรธรรมชาติบางแก้ว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง หรือปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเรียนรู้เกษตรธรรมชาติบางแก้ว จึงเกิดแรงบันดาลใจ รวบรวมแรงกาย แรงใจ พลิกฟื้นพื้นที่นาข้าวบางแก้วให้กลับคืนมา เพื่อหวังว่าลูกหลานจะได้อนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายไปไหน โดยการนำภูมิปัญญาจากผู้เฒ่าผู้แก่มาเป็นแรงหนุน  


นายจักรกฤษณ์  สามัคคี ประธานกลุ่มฯ ได้เล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีเรารวมตัวกันจากคนที่มีใจรักในการทำนาได้ 7 คน ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้ ชื่อโครงการ "การพัฒนาตลาดข้าวพันธุ์สังหยดแบบครบวงจร กรณีศึกษา "บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมบางแก้ว" อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ซึ่งก็พกพาใจมาอย่างเดียว โดยไม่มีเงินทุนเลย แต่ด้วยใจล้วน ๆ ที่อยากจะรื้อฟื้นข้าวบางแก้วให้หวนกลับคืนมา โดยการใช้องค์ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ ในการคัดแยกพันธุ์ข้าวต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้คัดแยกสายพันธุ์เก็บไว้ได้ 16 สายพันธุ์  


หากถามว่าปัจจุบันนี้ผู้ที่เข้ามาทำนาตรงนี้อยู่ในวัยใดกันบ้าง ตอบได้เลยว่า เป็นวันที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น นั่นก็หมายถึงว่าการสืบทอดที่ชาวบ้านหวังจะให้มีการโอนถ่ายการทำนาข้าวนั้นดูเลือนลางเต็มที เพราะคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่คิดที่จะทำนา เพราะคิดว่าการทำนาเป็นงานหนัก และยิ่งกระแสเศรษฐกิจตอนนี้จะหันไปทางสวนยาง เพราะผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงมีความคิดว่าทำนาแล้วได้ผลตอบแทนไม่คุ้ม อีกอย่างเด็กรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบแล้วน้อยคนนักที่จะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของตัวเอง ต่างคนต่างแยกย้ายออกไปทำงานที่อื่นแทบทั้งสิ้น กว่า 90% ของลูกหลานเกษตรกรไม่กลับมาทำเกษตร เพราะภาพพจน์ และผลตอบแทนที่สู้เข้าไปทำงานในเมืองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเพิ่มมูลค่าขึ้นมาให้ได้ว่าทำนาแล้วได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ก็คงต้องมีการทำการตลาดกันด้วย ตอนนี้สิ่งที่ทางกลุ่มคิดได้คือเอาคนที่มีใจอยากทำนานั่นแหละมาทำ ส่วนจะมีการสืบทอดต่อไปยังเด็กรุ่นใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่ทางกลุ่มก็ได้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้นักเรียน จากโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆเข้ามาศึกษาดูงาน  


คุณจักรกฤษณ์ ยังเล่าให้เราฟังต่ออีกถึงเรื่องของพิธีกรรมการทำขวัญข้าว ซึ่งเราเองก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่า มีผู้เฒ่าผู้แก่ฝันเห็นพระแม่โพสพนั่งร้องไห้เสียใจ เพราะชาวนาเก็บข้าวโดยใช้เครื่องตัด ซึ่งเวลาไม่นานในการตัด โดยเจ้าของนาไม่ได้ทำพิธีรวบข้าว ทำให้ข้าวร่วงหล่นอยู่บนพื้นนาเกือบครึ่งซึ่งทำให้ได้ข้าวไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หากชาวนาเก็บข้าวโดยใช้คนเก็บที่ละรวงๆ ข้าวก็จะตกหล่นไม่เยอะ ทำให้แม่โพสพไม่เสียใจ นี่ก็เป็นความเชื่อที่ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันมานมนาน แต่ดูเหมือนพิธีกรรมเหล่านี้จะเลือนหายไป ซึ่งทางกลุ่มฯก็ยังยึดพิธีกรรมตรงนี้เอาไว้ และเมื่อถึงเวลาที่ข้าวแตกกอ ก็จะมีพิธีไหว้เจ้าที่เจ้านา ก็จะมีการนำพวกขนมนมเนยมาเซ่นไหว้แม่โพสพ อาจทำพิธีเฉพาะที่ของตนเองคนเดียว หรือทำพิธีร่วมกันหลายๆแปลงนาก็ได้ โดยการให้เจ้าของที่นาขุดดินจากที่นาของตัวเองแล้วมาทำพิธีร่วมกันแต่ต้องจำให้ได้ว่าดินไหนเป็นของตัวเอง อาจจะเขียนชื่อติดไว้ก็ได้ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วก็เอาดินกลับไปไว้ที่เดิม เป็นอันเสร็จพิธี นี่ก็เป็นความเชื่อของชาวนาแห่งบางแก้ว  


อย่างไรก็ตามกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเรียนรู้เกษตรธรรมชาติบางแก้ว จะสามารถพลิกฟื้นคืนผืนนา กลับสู่ อ.บางแก้วได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องรอดูว่าในวันข้างหน้าจะมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์หรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องสร้างศรัทธาให้เกิดแก่เด็กยุคนี้เสียก่อน รวมถึงให้มีจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดของตัวเองด้วย ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันให้งานนี้สำเร็จได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net