Skip to main content
sharethis


 






หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณาจารย์ ม.เที่ยงคืน ได้แถลง "คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน" เนื่องในวาระครบรอบ 76 ปีแห่งรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอต่อการเมืองภาคประชาชน ระบบสถาบันการเมือง สถาบันตุลาการ และสถาบันสื่อมวลชน เพื่อกอบกู้ความหมายและปฏิบัติการของ "การเมืองภาคประชาชน" คืนแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


 


 


คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


ในวาระครบรอบ 76 ปี แห่งรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย "การเมืองภาคประชาชน" ที่ก่อตัวเติบใหญ่มาตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516, 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 กำลังถูกชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในสังคมบิดเบือนฉวยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ ให้ผันแปรเป็นอะไรก็ได้ในทางปฏิบัติขอแต่ให้ได้ชัยชนะมา จนแปลกแยกหลุดลอยจากมืออันสั้นของประชาชนโดยเฉพาะคนจนชายขอบ แทบหมดความหมาย สิ้นความชอบธรรมและล้มละลายทางศีลธรรม


 


ถึงแม้คำว่า "การเมืองภาคประชาชน" จะถูกแย่งชิงไปตัดต่อพันธุกรรมจนกลายพันธุ์ แต่เราเชื่อว่าจิตวิญญาณและเจตนารมณ์หรือนัยหนึ่ง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน" ยังคงอยู่และชนชั้นนำไม่ว่ากลุ่มใดมิอาจยึดครองได้ เพราะมันขัดแย้งตรงข้ามกับผลประโยชน์มูลฐานของพวกเขา


 


เพื่อกอบกู้ความหมายและปฏิบัติการของ "การเมืองภาคประชาชน" คืนแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอนำเสนอหลักการและแนวทางปฏิบัติบางประการต่อสังคมไทย ดังนี้


 


1) การเมืองภาคประชาชน ควรยึดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเป้าหมาย, ถืออิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐและทุนเป็นทิศทางใหญ่, และรักษาเอกภาพทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการเป็นกฎกติกา


 


"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" แปลว่า ไม่ว่าใคร - ฝ่ายเรา, คู่กรณี, เพื่อนมิตร, คนทั่วไปในสังคม - ก็มีความเป็นคนเท่ากัน ควรได้การเคารพและปฏิบัติต่ออย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน


 


ก่อนอื่นคือความเสมอภาคทางการเมือง กล่าวคือ มีสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย, มีหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันในระบอบประชาธิปไตย


 


และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ไม่แตกต่างเหลื่อมล้ำทางรายได้ทรัพย์สินกันเกินไปจนต้องขายศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนแลกการอยู่รอด มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมพอสมควรที่จะทำให้ระเบียบสังคมส่วนรวมเป็นที่ยอมรับและรักหวงแหนร่วมกันได้


 


"อิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐและทุน" แปลว่า เคลื่อนไหวโดยยึดถือผลประโยชน์และทัศนะของประชาชนผู้ไร้รัฐและไร้ทุนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ของรัฐและทุน, อาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์ร่วมมือด้วยกับฝ่ายรัฐและทุน แต่ไม่ใช่ขึ้นต่อหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง, เข้าต่อรองขัดแย้งกับฝ่ายรัฐและทุนเพื่อสร้างระเบียบสังคมเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่ประชาชนโดยเฉพาะคนจนคนชายขอบมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งในอำนาจและทรัพยากรสาธารณะร่วมกับฝ่ายอื่นอย่างทัดเทียมและเป็นธรรม


 


"เอกภาพทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ" แปลว่าวิธีที่ใช้ในการรณรงค์ต่อสู้ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทิศทางความเป็นอิสระของการเมืองภาคประชาชน นั่นคือกระบวนการตัดสินใจเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเสรี, ความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำกับสมาชิกเป็นไปแบบล่างขึ้นบนเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่บนลงล่างถ่ายเดียว, ยึดมั่นแนวทางอารยะขัดขืนและสันติวิธีอย่างเด็ดเดี่ยว บริสุทธิ์ใจ จริงจังและถึงที่สุด โดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น


 


2) ระบบสถาบันการเมือง ที่ผ่านมากลายเป็นเพียงเครื่องมือใช้แล้วทิ้งของชนชั้นนำส่วนน้อย ทั้งยังถูกบิดเบือนบ่อนทำลายจนพิกลพิการ ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบถูกกีดกันออก เอื้อมไม่ถึงตัวแทนอำนาจ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน


 


กติการ่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงทำให้ระบบสถาบันการเมืองถูกยึดครองโดยชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ผ่านการแข่งขันเลือกตั้งและการสรรหา โดยอาศัยเงินทองและเครือข่ายอุปถัมภ์, หลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภากลับตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายบริหาร ระบบราชการและอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญอื่นๆ ในทางปฏิบัติหลังฉาก, พรรคการเมืองเป็นแค่พรรคของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลและกลุ่มทุนใหญ่ที่จำกัดบทบาทไว้ในสภา แทนที่จะเป็นพรรคของมวลชนที่สัมพันธ์แนบเนื่องกับกลุ่มจัดตั้งอิสระของมวลชนนอกสภา, และเมื่อใดกลุ่มชนชั้นนำแพ้เกมในระบบสถาบันการเมือง พวกเขาก็พร้อมเล่นนอกระบบ นอกกติกา หันมาบ่อนทำลายสถาบันการเมืองลงเองอย่างเลือดเย็นและไร้ยางอาย โดยยืมมือกลไกอำนาจอื่นๆ


 


มีแต่การเปิดกว้างกระบวนการการเมืองทุกขั้นตอนออก ต้อนรับการมีส่วนร่วมขององค์กรจัดตั้งอิสระของประชาชนสังคมจึงจะช่วยกันก่อรูปขัดเกลาหล่อหลอมระบบสถาบันการเมืองให้เติบใหญ่ควบคู่ไปกับการเมืองภาคประชาชนได้ เริ่มตั้งแต่การร่างกติการัฐธรรมนูญลงมา


 


3) สถาบันตุลาการ ในท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งข้างแยกขั้วของสังคมการเมือง สถาบันตุลาการมีบทบาทสำคัญยิ่งในอันที่จะแก้ไขความขัดแย้งให้ยุติตามกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดบนพื้นฐานหลักกฎหมายที่เข้มแข็ง เหตุผลที่หนักแน่นและการวินิจฉัยที่ชัดเจนโปร่งใสเท่านั้น จะยังความน่าเชื่อถือ ประสิทธิผลและแข็งแกร่งมั่นคงปลอดภัยให้สถาบันตุลาการในระบอบประชาธิปไตย


 


ในภาวะเช่นนี้ สถาบันตุลาการไม่อยู่ในสถานะที่จะทานรับแม้เพียงอาการเสมือนหนึ่งลำเอียงเลือกข้างได้ ทว่าสองสามปีที่ผ่านมา ปรากฏความสงสัยในหมู่สาธารณชนและวงการนักกฎหมายเกี่ยวกับคำตัดสินคดีความที่ส่งผลให้คุณให้โทษแก่คู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายหนึ่งหลายกรณี อาทิ กรณีมติคณะรัฐมนตรีชุดสมัคร สุนทรเวช เกี่ยวกับเขาพระวิหาร, กรณีสถานะความเป็นลูกจ้างของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช, กรณีความเร่งรีบรวบรัดในการวินิจฉัยคดีทุจริตเลือกตั้งอันนำไปสู่การยุบพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคเป็นต้น


 


ข้อความสงสัยเหล่านี้บั่นทอนประสิทธิภาพในการแสดงบทบาทยุติธรรมของสถาบันตุลาการ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยิ่งกว่าการชุมนุมคุกคามที่จะปิดศาลหรือระเบิดข่มขู่ใดๆ และทางเดียวที่จะแก้ไขให้ตกไปได้ก็แต่โดยผ่านการยึดมั่นหลักกฎหมาย เหตุผลและกระบวนการชัดเจนโปร่งใสให้เข้มงวดจริงจังจนเป็นที่ประจักษ์ของสังคมเท่านั้น


 


4) สถาบันสื่อมวลชน นับตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สื่อมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์หลากฉบับหลายสถานีทั้งของรัฐและของเอกชนกลายสภาพเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อกระจายความจริงผสมเท็จและความเกลียดความกลัวแบบเลือกข้างทางเดียวของกลุ่มพรรคฝักฝ่ายการเมืองเหมือนปัจจุบัน ในฐานะกลไกซึ่งทำหน้าที่สื่อแสดงทรรศนะ ข่าวสารข้อมูลและเสียงของมวลชนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าสื่อมวลชนหลายแหล่งกำลังแพร่พิษทำร้ายสังคมประชาธิปไตยไทยให้หูหนวกและตาบอดข้างเดียว พิกลพิการทางข้อมูลความรู้และความคิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


 


มีแต่ฟื้นฟูสถานะและบทบาทที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายได้สื่อแสดงข่าวสารข้อมูลความเห็นอย่างเสรีและเสมอภาคกันเท่านั้น สื่อมวลชนจึงจะกลับฟื้นคืนหน้าที่เป็นกลไกการเห็นและการได้ยินอย่างเที่ยงตรง เป็นกลาง รอบด้าน และครบถ้วนสมบูรณ์ของสังคมประชาธิปไตยไทย


 


ภายใต้วิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แม้ดูราวกับว่าจะได้ผ่านพ้นความยุ่งยากไป แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบชั่วคราว มักง่าย ละเลยต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและความเข้มแข็งของสังคมการเมือง การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคง เสมอภาค และยังความผาสุกให้กับทุกคนในสังคมไทย


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


10 ธันวาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net