Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: วันรัฐธรรมนูญ... ความมั่นคงของคนในพื้นที่คือความมั่นคงของรัฐ


 


อับดุชชะกูร บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ

Shukur2003@yahoo.co.uk


 


วันที่ 10 ธันวาคม ตรงกับ วันรัฐธรรมนูญ และวันสิทธิมนุษยชนสากล ขณะเดียวกันเป็นเทศกาล อีดิลอัฎฮา ของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นวันที่สังคมควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนและหลักธรรมคำสอนของศาสนา


        


แต่ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหลายฉบับที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บางคนจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างกว้างขวางในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เช่น การตรวจค้นเคหะสถาน กักตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงโดยไม่ต้องมีหมายศาล เป็นต้น พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เช่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขออนุญาตศาลในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลารวมกันแล้วไม่เกินสามสิบวันโดยไม่ตั้งข้อหาและการพิจารณาคดี และประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายเป็นต้น โดยทางราชการหวังที่จะใช้กฎหมายดังกล่าวควบคุมสถานการณ์ และแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นับแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา


             


ในการใช้กฎอัยการศึกฯ และพรก.ฉุกเฉินปรากฎว่าส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าได้ใช้ช่องว่างของกฎหมายดังกล่าว ในการใช้อำนาจเข้าตรวจค้นหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแหล่งซ่องสุมหรือสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ และได้จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ภายใต้สถานการณ์ของการใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น มีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนจำนวนอย่างน้อย 27 รายถูกบังคับให้สูญหาย ถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพว่ากระทำผิดจำนวนมาก และอย่างน้อย 4 รายเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ หรือมีการเชิญตัวบุคคลให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับทางราชการเป็นจำนวนรวมแล้วกว่า 3,000 คน อีกทั้งมีการสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนทรัพย์สินของทางภาครัฐและเอกชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก  


 


การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเท่าที่ควรในสายตาประชาชนในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลตรากฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของรัฐอีกฉบับหนึ่งในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเช่นกัน รวมทั้ง บทบัญญัติในมาตรา 21 ที่ให้ยุติการฟ้องคดีอาญาผู้ต้องหาที่มอบตัวหรือที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยผู้ต้องหาอาจต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน กระบวนการดังกล่าวผู้เขียนและบางส่วนจากผู้เข้าร่วมประชุมในเวที สัมมนาทางวิชาการเรื่อง "กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ทั้งสองครั้งจัด ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีความกังวลว่า เป็นการต่อรองให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อไม่ต้องฟ้องคดีดำเนินคดีอาญาผู้ต้องหา (Plea Bargaining) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย


 


เป็นที่ทราบกันดีในวงการสิทธิมนุษยชน ว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาของการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนที่มุ่งที่จะให้ได้ผลสัมฤทธิ์เฉพาะหน้าโดยเฉพาะการให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารจากผู้ต้องสงสัย โดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและตามครรลองของกฎหมาย และผลเสียหายต่อประเทศชาติในระยะยาว ดังนั้น (หากจะนำการบังคับใช้ พรบ.การรักษาความมั่นคงฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 21 มาใช้) ผู้เขียนขอเสนอว่า


1.        รัฐจะต้องตอบให้ได้ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการหรือมาตรการอย่างไร มีการชี้แจงให้สาธารณะทราบในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมแบบใหม่เหล่านี้


 


2.        การดำเนินการมีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งมีขั้นตอนที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายโดยมิชอบ ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ตรงแล้วจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก และ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งได้ส่งผลให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเป็นการยากต่อทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


3.        รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งจากบุคคลหลายฝ่าย ทั้งส่วนราชการ เช่น กระทรวงยุติธรรม องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การพัฒนาเอกชน เพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประเมนผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินนโยบายและกฎหมายดังกล่าว เพื่อหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบดังกล่าวต่อไปและเพื่อให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลสำเร็จที่ยั่งยืน


 


4.        ในส่วนองค์กรภาคประชาสังคมโดยเฉพาะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเร่งดำเนินการติดตามสืบสวน สอบสวนหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและการทำให้สูญหายของนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนในช่วง หลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากฝ่ายก่อการด้วย


 


5.         รัฐควรพิจารณาแยกแยะไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายเดียวกันต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของกลุ่มตนตามกรอบรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนเหล่านี้ถือเป็นผู้เสียหาย ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐบ้าง เป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของนักธุรกิจทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นบ้าง ตรงกันข้ามรัฐควรพิจารณาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


 


6.        รัฐควรพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลและปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือสนับสนุนให้มีการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ


 


7.        รัฐควรให้ความสนใจจัดตั้งสถาบันเพื่อการคุ้มครองของสิทธิของบุคคลในครอบครัวให้ปลอดจากการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรี โดยการมีส่วนร่วมของบุคคลและองค์กรทางสังคม เช่น การเร่งออกพระราชบัญญัติป้องกันความรุนแรงในครอบครัว


 


8.        รัฐและ ศอ.บต.ควรพิจารณาดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลกับการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากลของสิทธิมนุษยชนที่ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นองค์รวมที่แบ่งแยกจากกันไม่ได้ โดยต้องเคารพ ปกป้องและส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง


ผู้เขียนหวังว่า ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวจะทำให้ความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืนเพราะความเป็นจริงความมั่นคงของคนในพื้นที่คือความมั่นคงของรัฐ


 


 


.......................


หมายเหตุ


ที่มาส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ทั้งสองครั้ง ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ รับผิดชอบโครงการโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักกฎหมาย ทนายความ ผู้ปฏิบัติงานองค์กรสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 30 คน/ครั้ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net