Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 13.30 น. สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับ กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จัดงานมอบรางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน เพื่อส่งเสริมการทำวิทยานิพนธ์ที่มีเนื้อหาสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความยากจนหรือข้อเสนอแนวทางนโยบายใหม่ในมิติต่างๆ ณ ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุลและ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้มอบรางวัล และมีการกล่าวปาฐกถา โดยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ


 


โดยสำหรับปีนี้ ไม่มีวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ส่วนรางวัลที่ 2 ได้แก่ น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น วิทยานิพนธ์เรื่อง พลวัตรของยุทธวิธีการต่อสู้ของขบวนการทางสังคม : ศึกษากรณีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน รางวัลที่ 3 ได้แก่ นายขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ วิทยานิพนธ์เรื่อง ภาพตัวแทนคนจนในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์


 


รางวัลชมเชย ได้แก่ นายเอกพล เสียงดัง วิทยานิพนธ์เรื่อง ผลสะเทือนจากการต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยอำนาจในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2531-2549 และ น.ส.กมลวรรณ ชื่นชูใจ วิทยานิพนธ์เรื่อง การจับกุมชนกลุ่มน้อยบ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


 


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอผลการศึกษาโดยผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ นางสาวกิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง พลวัตรของยุทธวิธีการต่อสู้ของขบวนการสังคม : ศึกษากรณีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน โดยผลการศึกษาพบว่า พลวัตรของยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน จากการประท้วงมาสู่การเคลื่อนไหวขัดขวางท้าทายระบบ โดยใช้ยุทธวิธีบุกยึดที่ดิน โดยมีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ และการจัดตั้งสหพันธ์เกษตรกรภาคหนือและความสำเร็จของการบุกยึดที่ดินของชาวบ้านศรีเตี้ย เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การบุกยึดที่ดินของนายทุนถูกกำหนดให้ป็นยุทธวิธีของขบวนการในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาล


 


นางสาวกมลวรรณ ชื่นชูใจ นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง การจับกุมชนกลุ่มน้อยบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดในกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและดำเนินคดีกับ "ชาวเขา" บ้านปางแดง และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่เคลื่อนไหวเพื่อยืนยันสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรนูญ มาตรา 4 ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กฎหมายคือการเมือง กฎหมายมีความรุนแรงเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ดำเนินไปภายใต้หลักนิติธรรม การตีความกฎหมายที่ไม่ต้องรับรองสิทธิทางการเมืองที่ก้าวหน้า และการตีความที่ละเลยหลักนิติธรรมหรือไม่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานในการตีความคือการฉุดรั้งพัฒนาการประชาธิปไตย กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจในการแสดงผลงานทางการเมือง ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันถึงสภาพการเมืองในกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ปลอดจากการเมืองอย่างที่กล่าวอ้าง


 


นายเอกพล เสียงดัง นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลสะเทือนจากการต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยโอกาสในรหัสสังคมไทย โดยกล่าวว่า การต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองของคนจนและคนด้อยอำนาจในระบบการเมือง ที่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดผลสะเทือนซึ่งกันและกันระหว่างขบวนการคนจน ในรูปของการใช้กรอบการกระทำร่วม การติดต่อสื่อสารระหว่างนักเคลื่อนไหวของขบวนการคนจนและโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่ดำรงอยู่


 


นายขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง ภาพตัวแทนคนจนในรายการเกมส์โชว์ทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการศึกษาการสร้างหรือเข้ารหัสความหมาย "คนจน" และกลยุทธ์การติดตั้งความหมายในรายการเกมปลดหนี้ โดยผลการวิจัยพบว่า การสร้างความหมาย "คนจน" ของผู้ผลิตรายการเกมปลดหนี้ พบว่ารายการโทรทัศน์ดังกล่าวได้ติดตั้งกรอบวิธีคิด ว่าคนจนคือผู้ที่ล้มเหลวในการลงทุน ประกอบอาชีพ เป็นผู้มีกรรม ผลกระทบคือคนจนเป็นผู้ที่มีอาชีพใช้แรงงานและขาดโอกาสทางการศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net