Skip to main content
sharethis

 


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงเรียกร้องต่อสังคมไทย เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนปี 2551 ร่วมกันคัดค้านระบอบอำมาตยาธิปไตย สร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า


 


รายละเอียดดังนี้


 


 


แถลงการณ์ถึงสังคมไทย


วันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชน ปี 2551


"คัดค้านระบอบอำมาตยาธิปไตย สร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า"


 


            นับตั้งแต่มีการปฏิวัติ ปี 2475 จาก"ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์" มีสู่ "ระบอบประชาธิปไตย" รัฐไทยได้กำหนดใหเวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายการปกครองสูงสุดของประเทศและกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังต่างๆในสังคมไทย แต่อย่างใดก็ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย


           


            ขณะเดียวกันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ตระหนักว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพแลความเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลก จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เพื่อเป็นองค์การโลกที่จะคุ้มครองมนุษยชาติให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันสิทธิมนุษยชน" (Human Rights Day)


           


            อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤตทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบันซึ่งเริ่มจากประเทศทุนนิยมศูนย์กลางอเมริกาได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะภาวะของคนตกงานนับสองล้านคนในปีหน้า สินค้าด้านการเกษตรกรจะตกต่ำมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างที่เห็นและเป็นอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย


 


นอกจากนี้แล้ว สังคมไทยไม่เพียงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ปัจจัยภายในประเทศของความขัดแย้งระหว่าง"ขั้วอำนาจอำมาตยาธิปไตย" กับ "ขั้วพลังประชาธิปไตย" ก็ยังไม่จบสิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะ ปัญหารากเหง้าของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจาก "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" โดย "อำมาตยาธิปไตย"และเพื่อ"อำมาตยาธิปไตย"


 


ภายหลังจากการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่จบสิ้น เนื่องด้วยมีการเคลื่อนไหวของ"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวก็ได้สร้างความบอบช้ำซ้ำเติมให้กับสังคมไทยมากยิ่งขึ้นในหลายๆด้านด้วยกัน ที่สำคัญโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจย่ำแย่มากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนถูกประณามไปทั่วโลก


 


ขณะที่ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏขึ้นมาจากการที่สังคมไทย ที่มีการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาคและไม่มีความเป็นธรรม และรากเหง้าส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการขาดอำนาจต่อรองของพลังชนชั้นล่าง ตลอดทั้งสังคมไทยที่ไม่เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น และหรือการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยมักหยุดชะงักจากอำนาจอำมาตยาธิปไตยโดยคณะรัฐประหารทั้งเปิดเผยและซ่อนรูปอยู่เสมอด้วยเช่นกัน


 


ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชน เรามีความคิดเห็นและข้อเสนอดังนี้


 


1. ขอเรียกร้องให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 โดยใช้กระบวนการมีส่วนของภาคประชาสังคมลักษณะเดียวกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 โดยมีหลักการสำคัญของ"ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา"และ"ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม"ควบคู่กัน คือ ลดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเฉพาะอำนาจของกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมและสร้างเงื่อนไขให้สถาบันพรรคการเมืองพัฒนาให้ ก้าวหน้าขึ้น ที่สำคัญต้องส่งเสริมสถาบันของภาคประชาชนต่างๆ เช่น สหภาพแรงงานองค์กรเกษตรกร และอื่นๆ ด้วยเช่นกัน


 


2. ในสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น เราขอประณามอำนาจนอกระบบที่แทรกแซงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดทั้งนักการเมืองที่ไม่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากว่าเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต่อเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยและผู้ให้ท้ายพันธมิตรทั้งหลาย


 


3.เราขอเรียกร้องให้สังคมไทย กระทำการตรวจสอบองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรมีส่วนในการเคลื่อนไหวให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือบุคคลที่ได้รับการยอมรับสร้างภาพให้สังคมไทยว่าเป็น"ราษฎรอาวุโส" "นักวิชาการ" "เอ็นจีโอ" "สื่อมวลชน" "องค์กรนักศึกษา" และอื่นๆ ทั้งหลาย แต่กลับสนับสนุนวิธีการแบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน


 


4. ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้เราขอเรียกร้องให้สังคมไทย ผลักดันให้เกิดมี"รัฐสวัสดิการ"ขึ้น โดยมีมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างหลักประกันสังคมพื้นฐานเบื้องต้นให้กับประชาชนในสังคมไทย จาก"ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมไทย


 


5. ท้ายสุด เรามีความคิดเห็นว่า การแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อศักดิ์ศรี สิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อต้องสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญแยกไม่ออกจากการที่สังคมการเมืองต้องมีพื้นที่ประชาธิปไตยมิใช่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยหรืออำนาจนิยม ดังนั้น ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนตรวจสอบถ่วงดุล ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมด้านต่างๆและวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net