Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เวลา 13.00 น. ที่มูลนิธิ 14 ตุลา มีการแถลงข่าว "ภาพรวมและข้อเสนอต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย" เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี และโอกาสเฉลิมฉลอง 60 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วิทยากรประกอบด้วย นายสุณัย ผาสุข ผู้แทนประเทศไทยองค์กร Human Right Watch นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ส่วนนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และนายสมชาย หอมลออ ไม่ได้มาร่วมงานตามกำหนดการ


นายสุณัย กล่าวว่า ในเวลา 6 ปีที่ผ่านมาองค์กร Human Right Watch มีบทบาทอย่างมากในการติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย เริ่มจากการที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น นโยบายการปราบปรามยาเสพติด ที่ทำให้เกิดกรณีการฆ่าตัดตอน หรือสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และล่าสุดสถานการณ์ในประเทศไทยมีการรัฐประหาร ถึงแม้จะไม่ใช่การรัฐประหารที่นองเลือด แต่ก็มีความรุนแรงโดยตัวของมันเอง เพราะได้ใช้กำลังประหารรัฐ


นายสุณัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ แต่เป็นกลุ่มประชาชนที่สวมเสื้อเหลืองและประชาชนที่สวมเสื้อแดง ประหัประหารกัน แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะอ้างอหิงสา แต่หลักฐานจากภาพถ่ายและวดีโอก็ยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีอาวุธและตั้งใจใช้อาวุธทำร้ายฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก


นายสุณัยกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย บิดเบือนหลักการเรื่องอารยะขัดขืนอย่างกู่ไม่กลับ ตั้งแต่ภาพเหตุการณ์บุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งพันธมิตรฯ กลายเป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองไทยในสายตาต่างประเทศ นอกจากนั้นก็มีการใช้กำลังจากทั้ง 2 ฝ่าย เช่นกรณีฝ่ายเสื้อเหลืองทำร้ายฝ่ายเสื้อแดงที่หน้ากองบัญชาการ กองทัพบก (บก.ทบ.) และวิภาวดีซอย 3 ส่วนฝ่ายเสื้อแดง ก็ทำร้ายฝ่ายเสื้อเหลืองที่ จ.อุดรธานีและจ.เชียงใหม่ โดยการกระทำทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้กำลัง ใช้อาวุธและมีเจตนาฆ่าชีวิตผู้อื่น


นายสุณัย กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ย่อมต้องมีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกใช้สลายการชุมนุมนั้นทำไปเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่การตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยังสร้างความสงสัยโดยบางฝ่ายเชื่อว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีอคติ เพราะโจทย์ใหญ่ที่ยังไม่ได้ตอบคือพันธมิตรฯ ใช้ความรุนแรงระดับใด เนื่องจากการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน


"ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน เราเลือกไม่ได้ที่จะไม่คุ้มครองตำรวจ มิเช่นนั้น เราจะกลายเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่มี 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าว และหวังว่าปีนี้ นักสิทธิมนุษยชนไทยจะใช้กระจกส่องแวดวงนักสิทธิมนุษยชนด้วยกันเองว่าได้ทำตามหน้าที่มากน้อยเพียงใด" นายสุณัยกล่าว


นายสุณัย กล่าวด้วยว่า เมื่อนักสิทธิมนุษยชนสามารถวิพากษ์ตัวเองแล้ว ก็ควรผลักดันให้มีการรับผิดชอบด้วย เพราะที่ผ่านมามีบรรยากาศการของการให้ท้ายพันธมิตรฯ โดยการนิ่งเงียบไม่บอกว่า พันธมิตรฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชนข้อใดบ้าง ตั้งแต่การบุกสถานีโทรทัศน์ NBT การล้อมรัฐสภา การบุกทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบิน ส่วนการกระทำความรุนแรงโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. ก็มีการให้ท้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่ทำหน้าที่ห้ามปรามหรือป้องกันความรุนแรง เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีคนให้ท้ายก็ส่งผลให้ คิดว่าตัวเองไม่ต้องรับผิด และคิดว่าอยู่เหนือกฎหมายจะทำอะไรก็ได้


"เมื่อทางฝ่าย นปช. ทำความรุนแรงที่ จ.อุดรธานีและ จ.เชียงใหม่ ก็ไม่มีตำรวจเข้าไปทำหน้าที่ระงับเหตุ จึงเป็นการให้ท้าย นปช. จากความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง อย่างไรก็ตาม การให้ท้ายกันทั้งสีเหลืองและสีแดง ส่งผลต่อบรรยากาศในประเทศไทย แม้พันธมิตรฯ ได้สลายการชุมนุมแล้ว แต่บรรยากาศยังเป็นไปอย่างร้อนๆ หนาวๆ ว่าจะมีการชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาอีกเมื่อไหร่ เพราะต่างฝ่ายก็คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมายทั้งคู่" นายสุณัยกล่าว


ด้านนายเมธา ได้อ่านข้อเสนอของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) 5 ข้อ ต่อรัฐบาลและทุกฝ่าย ประกอบด้วย 1.รัฐบาลตั้ง "คณะกรรมการอิสระ" ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำผิดกฏหมายอาญาเป็นเหตุให้มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา จะต้องมีผู้รับผิดชอบ และหรือจับคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม รัฐไทยจะปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  


2.ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งครั้งใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลจากขั้วพรรคใดก็นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่จบสิ้น ไม่ว่าพรรคไหนตั้งรัฐบาลได้ตามเสียงที่มีก็อาจเกินแรงต้านจากกองกำลังมวลชน ฝ่ายตรงข้าม หากรัฐไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้ อาจจะต้องยุบสภาเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อเริ่มต้นกระบวนการประชาธิปไตยใหม่ หากไม่สามารถเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่สมานฉันท์ความขัดแย้งทางการเมืองและดำเนินการปฏิรูปการเมืองได้ โดยระหว่างนี้ซึ่งกำลังจะมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ขอให้กลุ่มพลังการเมืองทุกกลุ่มอย่าสร้างสถานการณ์ความรุนแรงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขอให้ทุกฝ่ายเคารพกติกาประชาธิปไตย รวมถึงรัฐธรรมนูญที่รอการปฏิรูปซึ่งเป็นเครื่องมือชั่วคราวที่เหลืออยู่ในการอยู่ร่วมกันโดยสันติ  


3.การคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพลเมือง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ไม่สามารถเลือกข้างที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ตำรวจจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุคามรุนแรงและการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักกติกาสากลและวิธีการ เช่น กรณีการบุกยึดสถานที่ราชการ สนามบิน หรือที่อื่นๆ ของมวลชนกลุ่มการเมืองสีใดก็ตาม จะต้องเตรียมการป้องกันตามกฎหมายที่มีและกติกาสากลที่กำกับไว้ และฝ่ายรัฐบาลจะต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งและข้อเรียกร้องของ กลุ่มมวลชนจะต้องได้รับการเจรจา  


4.หากสถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายจนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจัดการหรือคลี่คลายสถานการณ์ได้ จนถึงขั้นที่ "รัฐบาล" ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ ก็ต้องถือว่าเป็น "รัฐที่ล้มเหลว" หรือ Failed State และหากเกิดจราจลถึงขั้นสงครามการเมืองที่รัฐกำกับควบคุมไม่ได้ ก็อาจทำให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนการจัดการความขัดแย้งตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และบทบาทของทหารจะไม่ต้องก้าวก่ายกิจการของพลเรือน นอกจากในกรณีออกมากำกับดูแลสถานการณ์ความรุนแรงตามคำสั่งของรัฐบาลและตามกฎหมาย โดยจะต้องไม่นำไปสู่แก้ไขสถานการณ์โดยการรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจรัฐ โดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองตามหลักกติกาสากลหรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนั้น พลเมืองไทยจะต้อง "ตั้งสติทางการเมือง" เนื่องในครบรอบ 60 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่นำเข้า "สงครามการเมือง" และการแทรกแซงจากนานาชาติในอนาคต ซึ่งรัฐไทยยังสามารถที่จะสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองดังกล่าวได้ โดยการเรียนรู้อย่างอดทนและพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไทยให้มีความเป็น "สังคม-ประชาธิปไตย" (Social-Democracy) มากขึ้น  


5.ขอให้มวลชนทุกฝ่ายปลดอาวุธและประกาศสัญญาประชาชน "เคารพสิทธิมนุษยชน งดใช้ความรุนแรง" นอกจากการแสดงออกทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น และหากมี ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย


นายเมธา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกิดการจาจลขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต ทหารก็มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทหารต้องไม่แทรกแซงทางการเมืองโดยขัดต่อปฏิญญาสิทธิมนุษยชน


ด้าน นางอังคณา กล่าวว่า ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ เกิดขึ้นมาหลายปี แต่เหตุการณ์วิกฤตการเมืองในกรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลหย่อนยานการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้น เช่น การขึ้นบัญชีดำประชาชนภายหลังการรายงานตัว โดยถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายตามมาทำร้าย ทั้งนี้ ยังมีรายงานการซ้อมทรมานประชาชนอย่างมาก และมีการนำตัวไปควบคุมสถานที่ที่ไม่ได้ระบุไว้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะใหรัฐบาลตั้งหน่วยงานดูแลความไม่สงบโดยตรง เพราะปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากความไม่ต่อเนื่องทำให้การวางระบบไม่ยั่งยืน ดังนั้น ควรมีหน่วยงานอิสระจากประชาชนทุกภาคส่วนตรวจสอบกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม


นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นส่วนสำคัญของการปลุกระดมประชาชนโดยผู้ไม่หวังดี ถ้าหากรัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะแก้ปัญหาในภาคใต้อย่างยั่งยืน


 


...........................


หมายเหตุ: ผู้ที่ใช้ชื่อว่า ครส. ได้ท้วงติงในความเห็นท้ายข่าว ดังนี้ "งานนี้เป็นการแถลงข่าว ไม่ใช่วิทยากรเสวนา และมาร่วมแถลงได้ 3 คน ซึ่งนอกจากเป็นกรรมการ ครส. ทั้งหมด แต่แถลงในนาม 3 องค์กรสิทธิ

แต่คุณบุญแทน และคุณสมชาย ไม่ว่างวันนี้ ที่ประชาไทบอกว่า "ไม่ได้มาตามกำหนดการ" จึงไม่ถูกต้อง เพราะงานนี้ ครส.นัดกันมาแถลงข่าวเหมือนทุกปี และกรรมการหลายคนติดงานของยูเอ็นและงานอื่นๆ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net