Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 51 คณะกรรมการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเวียนแสดงผลการตัดสินใจยกเลิกอย่างไม่มีเงื่อนไขในกรณีออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ในหัวข้อ "เรื่อง ความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน" ซึ่งได้ออกเป็นภาษาไทยเท่านั้น โดยคณะกรรมการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุเหตุผลที่ต้องยกเลิกว่า

"การเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักการไม่ทำงานในประเทศของตน (Work on Own Country) อีกทั้งไม่ได้รักษามาตรฐานหลักความเป็นกลาง (impartiality) ซึ่งหลักการทั้งสองนี้เป็นหลักการทำงานขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล"


ทั้งนี้ คำแถลง ฉบับที่ 2/2551 เรื่อง "ความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน" เกิดขึ้นภายหลังจากเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวาน และทำเนียบรัฐบาล ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ลงนามท้ายคำแถลงโดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว


 


คำแถลง ฉบับที่ 2/2551


เรื่อง ความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง



องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย


 


องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์ทางสังคมการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา และรู้สึกห่วงใยต่อความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มประชาชนในนามพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจนำมาสู่การสูญเสีย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางดังที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้ง เล่าในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยและประเทศอื่น ๆ

ท่าทีของรัฐบาล ที่ไม่ลดละในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ด้วย มาตรการต่าง ๆ ทั้งทางกฎหมาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนของรัฐ และด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่คุกคามข่มขู่ประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล และการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบที เหยียบย่ำ และทำร้ายร่างกายประชาชนไม่เว้นแม้แต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุที่มีเพียงสองมือเปล่า เป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่งต่อสายตาสาธารณชนและประชาคมโลก เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และละเมิดต่อพันธกรณีที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539

เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามขยายตัวไปไกล กว่าที่เป็นอยู่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอแสดงจุดยืน และมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. ขอประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยทางวาจา หรือการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นจากภาครัฐในการจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างแข็ง กร้าว ขอให้ยุติการใช้กำลังในการปราบปรามการชุมนุม สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิมนุษยชนสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

2. ในขณะที่นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ได้แถลงเมื่อวานนี้ว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถนนราชดำเนิน จะให้ผู้รักความเป็นธรรมทั่วประเทศและทั่วโลกเข้าใจได้อย่างไร มีหลักประกันเพียงใดที่จะไม่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่อีก นายกรัฐมนตรี และผู้สั่งการจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น ประชาชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการฟ้องร้องเอาผิด และเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองจะต้องสรุปทบทวนพฤติกรรมของตนว่ามีส่วนในการก่อ ปัญหาและทวีความรุนแรงของปัญหาอย่างไร

3. กระบวนการยุติธรรม: เป็นที่กังขาว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง และให้มีการบังคับคดี ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทุบตีประชาชน โดยเฉพาะสตรีและผู้สูงอายุ มีการรื้อข้าวของ ยึดและทำลายทรัพย์สิน รวมถึงการเอาอาวุธปืนจ่อศีรษะประชาชนด้วยหรืออย่างไร หรือว่าเป็นการแอบอ้างคำสั่งศาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการคุก คามประชาชนหรือไม่ ในขณะเดียวกันผู้ต้องหาก็ย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้รับการประกันตัว และปฏิบัติด้วยดีเฉกเช่นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา

4. บทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ถูกต้อง และเหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไร บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดี จะต้องยึดมั่นในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความเที่ยงธรรม และสุจริตธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สมกับการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล มีความเป็นมืออาชีพ มิใช่เป็นเพียง "กลไก" หรือ "มือเท้า" ของรัฐในการเถลิงและจรรโลงอำนาจที่ไม่ชอบธรรม อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและตกต่ำของสถาบันตำรวจ

5. บทบาทของสื่อมวลชน มีความสำคัญยิ่ง จะต้องแสดงบทบาทที่เป็นกลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสถานการณ์ ในขณะที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพในสิทธิเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของ สื่อมวลชนเช่น เอ็นบีที เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ แต่การแสดงบทบาทที่มีลักษณะยั่วยุ ขาดความเป็นกลาง เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ ขาดความเป็นมืออาชีพ จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มประชาชน นำมาสู่กรณีการบุกรุกสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น ถือเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญของทุกฝ่าย เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมโดยรวม จึงขอให้ทุกฝ่ายให้โอกาสสื่อมวลชนในการดำเนินการโดยอิสระ ปราศจากอคติ และยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด

6. บทบาทของกองทัพ สมควรที่จะอยู่ในที่ตั้งจนถึงที่สุด ไม่เข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วยวิธีการใด ๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนก่อวิกฤตอันส่งผลให้ประชาธิปไตยถดถอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าในอดีต

7. ปฏิบัติการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมสมรรถนะด้าน สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประชาชน หากยึดมั่นในหลักการสันติวิธีอย่างเคร่งครัด

8. ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติในการดำเนินภารกิจของตน โดยยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี มีเหตุมีผล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ หรือ โทษะ และโมหะจริต เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยแห่งสังคมที่อภิวัฒน์ เป็นธรรม และการพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอย้ำว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการกำหนดเจตจำนงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ และหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนสากล กระบวนการยุติธรรมจึงต้องเอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิ ให้ความคุ้มครองสิทธิ และยืนยันสิทธิของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเคารพ และตอบสนองต่อการเข้าถึงสิทธิของประชาชน และรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง


 


ยุติความรุนแรง ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน
ยุติการแทรกแซงและครอบงำสื่อมวลชน เพื่อสันติสุขแห่งสังคม

ขอให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มุ่งหวังในการสร้างความดีงาม และผาสุกให้แก่มวลมนุษยชาติ

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
ผู้อำนวยการ องค์การ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

29 สิงหาคม 2551


 


อนึ่ง ด้านองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 โดยมีหัวข้อว่า"ประเทศไทย: การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน" มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจำกัดการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมถึงเรียกร้องให้ผู้นำการเมือง รวมทั้งแกนนำพันธมิตรฯ เคารพในสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net