Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เวลาประมาณ 13.30 น. กลุ่มนักศึกษาประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ ประมาณ 30 คน ได้เดินทางเข้าพบ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ห้องวรรณไวทยากร ตึกโดม มธ. ท่าพระจันทร์ เพื่อยื่นพวงหรีดไว้อาลัยความคิดเห็นทางการเมืองของอธิการบดี มธ.


โดยนายรักนิรันดร์ ชูสกุล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 3 มธ. เป็นตัวแทนกล่าวว่า เหตุที่มายื่นพวงหรีดให้กับอธิการบดี ไม่ได้ต้องการดิสเครดิต หากแต่ขอเข้าพบด้วยความรู้สึกเป็นประชาคมธรรมศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมานั้น การแสดงความเห็นของอธิการบดีในฐานะส่วนตัวเป็นเรื่องยอมรับได้ แต่หลายอย่างที่อธิการบดีได้เสนอต่อสังคมนั้น ทางนักศึกษาเข้าใจว่าอธิการบดีไม่ได้เสนอความคิดเห็นตามแนวทางเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจุดประสงค์ให้การศึกษาประชาชนเพื่อเป็นรากฐานของประชาธิปไตย


นายสุรพลกล่าวว่า มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับนักศึกษาในประเด็นที่เป็นประชาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามเชิญอาจารย์ที่มีความคิดเห็นแตกต่างได้พูดคุยกันซึ่งในวันนี้ก็ได้เชิญอาจารย์กลุ่มสันติประชาธรรมมาพูดคุยด้วย แต่ไม่เห็นอาจารย์กลุ่มดังกล่าวมาร่วมประชุม


"ผมเรียนว่าธรรมศาสตร์เป็นสถาบันเปิด เราไม่พบบรรยากาศอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยอื่น เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองสูง มีนักศึกษาไปอยู่กับมวลชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อาจารย์ก็ออกมาแสดงความเห็นหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก" นายสุรพลกล่าวและว่า มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายห้ามปรามความคิดเห็นที่แตกต่าง และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาและอาจารย์ที่ความตื่นตัวทางการเมือง


ทั้งนี้ นายสุรพลกล่าวชี้แจงข้อหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียกร้องขอมาตรา 7 ว่า หากย้อนไปวันที่ 2 มี.ค. 2549 จะพบว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้นมี 5 ประเด็น แต่สังคมกลับจับตาเพียงประเด็นเดียว โดยในครั้งนั้น เขาได้เรียกร้องไปยังทุกฝ่ายในบ้านเมือง เรื่องการขอนายกฯ พระราชทาน ดำเนินการ 5 ข้อ คือ 1. ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ขอพึ่งพระบารมีพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธยยุบสภา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่


2. ขอให้รักษาการนายกฯ กราบบังคมทูล แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ภายใน 60 วัน ให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทุกพรรค 3. ให้พรรคการเมืองทั้งหลายเข้ารับการเลือกตั้ง 4. ขอให้รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของรักษาการฯ ติดตามการเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ต้องมีการจัดให้มีองค์กรตรวจสอบและติดตามการเลือกตั้งจะช่วยทำให้ประชาชนยอมรับในความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และ 5. ให้พรรคการเมืองทุกพรรค ประกาศเป็นสัญญาประชาคม เพื่อช่วยแก้ไขการเมืองของประเทศ


ทั้งนี้ ในครั้งนั้น เขาขอให้นายกฯ ยุติบทบาท แต่ไม่ได้ขอนายกฯ พระราชทาน (อ่าน - จดหมายเปิดผนึกจากอธิการบดี มธ.ถึงนายกฯ และหัวหน้าพรรคการเมือง)


ประเด็นที่ 2 คือ เมื่อนักศึกษาบอกว่าเขาไปร่วมกับคณะทหารนั้น เขาได้ชี้แจงว่า เขาก็ถูกเชิญไปประชุมเช่นเดียวกับอธิบดีกรมการต่างๆ และผู้แทนจากหน่วยงานเอกชนอีกกว่า 200 คน และที่ประชุมนั้นมีมติว่า เพื่อให้การประชุมวันนั้นมีความชัดเจน ก็มอบให้มี 4 ฝ่าย ตัวแทน คือ ผบ.ทบ. ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายธุรกิจ และตัวเขาเอง ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายวิชาการ และมีมติในที่ประชุมให้ ผบ.ทบ. แถลงคนเดียว ตกลงวันนี้ ผบ.ทบ. แถลงคนเดียว แล้วโยนมาให้เขาตอบ 2 คำถาม


"ภาพที่เห็นคือมีคนนั่ง 4 คน มีตัวแทนฝ่ายเอกชน ฝ่ายวิชาการ และ ผบ.ทบ. วันนั้นมีการประชุมกันสองร้อยกว่าคน และจนกระทั่งไม่มีใครเพิ่มเติม วันนั้นมีอธิการบดี 4 มหาวิทยาลัย และในเชิงเนื้อหาเราจะได้เข้าใจว่า มันไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องการไปร่วมกับทหาร ผมได้รับเชิญไปร่วม เป็นคำสั่ง ในสถานการณ์ที่ช่วงประเทศต้องมีการแก้ไข ส่วนเนื้อหา มติที่ประชุม 1.เราจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นความดีความชอบใหญ่หลวง ที่ได้คำยืนยันจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ


2. เรียกร้องว่าเราไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงในชาติบ้านเมือง ไม่ต้องการใช้กำลัง


3. การเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินปัญหาทางการเมือง


4. ซึ่งมักไม่ได้ยิน เรียกร้องให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยุติการชุมนุมทั้งหมดทันที ผมเองไม่ค่อยชัดเจนว่ามีข้อไหนที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน ผมนึกไม่ออกว่าการที่ผมแถลงข่าวโดยนั่งข้าง ผบ.ทบ. ผมเสนอผมก็แถลงไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และคิดว่านี่เป็นหนทางเดียวที่เรียกร้องไป และไม่ได้เรียกร้องในฐานะนักวิชาการ ผมนึกไม่ออก และไม่เข้าใจจนบัดนี้ และนี่เป็นเหตุผลที่ผมเชิญอาจารย์หลายท่าน มาพูดคุย ผมไม่เสนอลอยๆ เสนอแล้วยินดีที่จะเข้าไปทำ ผมพยายามหลายด้าน ถ้ายังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ก็ถึงคราวที่ประเทศล่มสลายแล้ว นี่คือท่าทีของผม ผมรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองนี้ด้วย"


ภายหลังจากนายสุรพลกล่าวชี้แจง ได้มีนักศึกษาตั้งคำถามหลายประเด็น โดยนายรักนิรันดร์ กล่าวว่าในแถลงการณ์ของนักศึกษานั้น ระบุถึงประเด็นที่ทำให้เข้าใจว่าอธิการฯ อยู่ฝ่ายทหารเพราะว่า ภายหลังรัฐประหาร (19 ก.ย. 2549) นายสุรพลก็ไม่มีท่าทีคัดค้าน และยังให้ความร่วมมืออย่างดี รวมถึงยังรับตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย


นายสุรพลกล่าวว่า ยังไม่เห็นแถลงการณ์ของนักศึกษา และอธิบายว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ และไม่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น "และเมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ผมไม่ได้ออกมาประณาม ผมไม่ได้พูดอย่างนักวิชาการทั้งหลาย แต่ผมเป็นผู้บริหารด้วย ผมไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่เมื่อเกิดขึ้น เราจะเปลี่ยนปฏิทินกลับไปเป็น 18 ก.ย. ได้ไหม มี 2 ทาง ซึ่งทางแรก คนในประชาคมเราทำมา คือประณาม กล่าวอย่างรุนแรง และอย่างที่ 2 คือทำอย่างไรให้ประเทศกลับคืนสู่ปกติได้เร็วที่สุด ผมเรียนว่าข้อกฎหมายหลายข้อ ผมได้มีส่วน เช่นขอให้ตัดมาตรา 17 รัฐธรรมนูญชั่วคราวออก ผมเสนอให้ลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนอให้กำหนดกรอบเวลา ผมคิดว่านี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ ที่จะทำให้เหตุการณ์กลับมาโดยเร็ว ส่วนการประณามก็ถูกต้องและควรจะทำ ผมไม่เคยปฏิเสธว่าสิ่งที่พูดนี้ถูกต้องและอยู่ในกรอบที่ควรจะทำ"


นายสุรพลกล่าวต่อไปว่าการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารครั้งแรกเกิดที่ มธ. แล้วมีพลเอกคนหนึ่งขอส่งกำลังทหารเข้ามา "ผมบอกว่า ขอให้เป็นสิทธิในการแสดงสิทธิเสรีภาพ อยู่ในกรอบของมหาวิทยาลัย ถึงแม้ผมจะไปช่วยดูรัฐธรรมนูญให้เขา ผมก็ขอให้สิทธิเสรีภาพในกรอบของมหาวิทยาลัย จากนั้นก็มีเวทีที่ธรรมศาสตร์ 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน ผมยินดีที่จะมีการปกป้องเวทีนี้ หลายๆ เรื่องผมไปแก้กติกาบางอย่างที่ไม่สอดคล้อง แต่ถ้าผมมีช่องทางอื่นในการที่จะทำให้ประเทศกลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่ก็เป็นคำอธิบายที่พวกเราจะเชื่อ"


นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ใช้สิทธิในฐานะศิษย์เก่า กล่าวว่า ไม่อยากให้อธิการบดีตัดประเด็นเหลือเพียงเป็นแค่การพูดคุยของประชาคมธรรมศาสตร์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นส่งผลกระทบต่อประเทศด้วย โดยนายสุรพล ชี้แจงว่า ที่กล่าวว่าการพูดคุยในวันนี้ให้เป็นเรื่องของประชาคมธรรมศาสตร์ เพราะว่า ระหว่างประชาคมธรรมศาสตร์ซึ่งน่าจะเข้าใจกันง่าย ส่วนเวทีอื่นเขาไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลสาธารณะที่จะตอบคำถาม


นายโชติศักดิ์กล่าวว่า ที่อธิการพูดเรื่องการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์และมีทหารโทรมา เป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก เพราะการชุมนุมต้านรัฐประหารครั้งแรกเกิดขึ้นที่สยามเซ็นเตอร์ วันที่ 22 ก.ย.ไม่มีการปราบ ประเด็นถัดไปคือ ความสงสัยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการที่เรียกร้องให้มีการยุบสภา ขณะเดียวกันก็เรียกร้องพันธมิตรฯ ให้ยุติการชุมนุม ฟังดูเหมือนเป็นกลาง แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อเรียกร้องนี้ เรียกร้องให้ยุบสภาก่อน แล้ว พธม. ยุติการชุมนุม ทำไมไม่เรียกร้อง พธม. ก่อน และอีกหลักฐานหนึ่งคือสิ่งทีเราเรียกว่าเป็นการให้ท้าย พธม. และอีกประการหนึ่ง อธิการบดีกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่สามารถดูแลประเทศได้ ข้าราชการก็ควรอารยะขัดขืน ซึ่งขณะนี้หลังจากฝ่าย คตร. ออกมาเสนอแนวทางหลายวันผ่านไป รัฐบาลก็ไม่มีทีท่าจะปฏิบัติตาม จึงอยากเรียกร้องให้ท่านอธิการบดียุติการทำงานตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


นายสุรพลกล่าวว่า "ผมเองไม่มีสติปัญญาจะไปวินิจฉัยว่าจะทำให้ทุกฝ่าย win-win กันหมด นี่คือสิ่งที่ผมพยายามอธิบาย มันอาจจะไม่ดี ไม่ถูก แต่เป็นข้อเสนอที่ผมวิเคราะห์แล้ว และถกเถียงกันแล้ว เป็นข้อเรียกร้อง ณ เวลานี้"


เมื่อนักศึกษาคนหนึ่งถามว่าในฐานะที่เป็นอาจารย์ ไม่ใช่ผู้บริหาร ถ้าเกิดรัฐบาลทำตามข้อเสนอแล้ว แล้ว นปช. ไม่ยอมยุติ หรือ พธม. ไม่ยอมยุติ ถ้าเกิดความรุนแรง ต้องมีนายกฯ รักษาการ เราจะทำอย่างไร เพราะคนจะไม่พอใจ เราต้องทูลขอฯ นายกฯ พระราชทานหรือเปล่า


"ผมเรียนว่าบางทีสติปัญญาของผมก็คิดอะไรไม่ได้ ในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้นมาก ตลอดชีวิตการเป็นอธิการบดีผมพยายามเสนอสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ผมเรียนว่าคนธรรมศาสตร์มีอีกมากและมีมุมมองที่ต่างกันไป ขออนุญาตว่าผมยังไม่สามารถตอบได้ ว่าไปข้างหน้าหากมีรักษาการ แล้วคนไม่พอใจ และถ้าไม่คิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อเนื่องมา แล้วเสนอไป 3 ข้อแล้วยังไม่ได้ผลจะทำอย่างไร ผมเรียนว่าทำอย่างไรเราจะไม่ตกเหว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศอยู่ดีมีสุข ปัญหามันลึกมาก เรายังอยู่ไม่ไกลจากปากเหว ผมก็คิดว่าต่ออีกเดือนหนึ่ง สถานการณ์ขณะนั้นคงทำให้คิดได้ ทำอย่างไรให้ถอยไปมากกว่านั้น คงมองตามที่เกิดขึ้นจริง ถามว่าถ้า พธม. ไม่ยึดสนามบิน จะมีการประชุม คตร. หรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่ เพราะถ้าปัญหามันไม่เกิด คนที่รับผิดชอบก็มีไม่กี่คน ผู้เล่นก็ไม่มาก"


นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาสำคัญมาก ก็คือ พธม. ใช้กระบวนการแบล็กเมล์ทางการเมืองเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการและบีบให้สังคมหลีกเลี่ยงความรุนแรง และจำนนต่อเงื่อนไข และผมอึดอัดมาก และผมวิตกอย่างมาก และส่วนหนึ่งคือผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการประชุม คตร. และครั้งก่อนก็มีกระบวนการเลือกตั้ง 23 ธันวา แต่ พธม. ก็มาขับไล่ต่อต้าน โดยเริ่มจากบอกว่าคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วเป็นการวางแผนมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตราบเท่าที่ยุบสภาแล้ว แต่ถ้ายังได้รัฐบาลที่ตัวเองไม่พอใจ ก็จะยังคงดำเนินการต่อไป


นายสุรพลกล่าวว่า หากย้อนไปดู 5 เดือนแรกของรัฐบาลสมัคร จะพบว่าไม่มีการชุมนุมคัดค้านต่อต้านหรือออกแถลงการณ์ ซึ่งก็คงตอบไม่ได้ว่าคราวนี้จะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่


เมื่อถูกถามว่า นายสุรพลจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หรือไม่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากนี้ นายสุรพลตอบว่า "จะเกิดอะไรล่วงหน้าต่อจากนี้ ผมไม่รู้ คราว สนช. ก็มีคนมาบอกว่า ผมจะเป็นประธาน สนช. ซึ่งก็ไม่จริง ไม่มีชื่อผมหรอก มีคำถามต่อว่าทำไมไม่ลาออก ผมมีความเชื่อว่าจะทำอะไรได้บ้าง และผมคิดว่าผมอยู่ในวิสัยที่จะผลักดันให้กระบวนการต่างๆ กลับมา และเป็นการผลักดันให้หลายๆ อย่างอยู่ในกรอบเวลาที่ควรจะเป็น ผมได้ใช้ความพยายามเยอะมาก ซึ่งก็ไม่ได้ต้องการให้เรคคอร์ดว่าต้องทำอะไร แต่ว่ารัฐบาลต้องมีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุด ที่ผมไปเมืองนอกก็ไปพูดกับคนที่ถืออำนาจรัฐต่างๆ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุด แต่ระหว่างทางมีอุปสรรคปัจจัยอะไรมากมาย มีการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม มีคนจำนวนมากที่เข้าใจการเลือกตั้งบนความเชื่อของตัวเอง และคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะรับอะไรบางอย่าง


ผมคิดว่า การพูดเมื่อวันพุธ (26 พ.ย.) (แถลงของคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) ไม่มีใครชอบ และรัฐบาลก็รังเกียจ ผมคิดว่าทั้งหมด ที่ผมเสนอ ผมพร้อมรับผิดชอบ และถูกด่าเยอะมาก ทั้งในเว็บบอร์ดของประชาไท และเว็บบอร์ดของผู้จัดการ และถ้าสงสัยว่าผมให้ท้ายพันธมิตรฯ ไหมผมก็ดูอยู่ทุกวัน แต่ทำอย่างนี้ก็ถูกด่า"


เมื่อนักศึกษาถามว่า หากการแถลงของ คตร. เมื่อบ่ายวันพุธที่ผ่านมา เป็นมติของที่ประชุม เหตุใดวันถัดมา จึงมีปลัดกระทรวงหลายๆ กระทรวงออกมาแถลงว่าที่ทำไปไม่เกี่ยวข้องกับที่ประชุม


นายสุรพลตอบว่า ต้องไปถามท่านปลัดกระทรวงเหล่านั้น ซึ่งการประชุมก็มีสองร้อยกว่าคน และก็ยืนยันว่ารัฐบาลที่บริหารจัดการประเทศไมได้ ก็ไม่ควรเป็นรัฐบาลที่อภิบาลประเทศได้ต่อไป


ศิษย์เก่าคนหนึ่งได้กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าอธิการบดีให้ท้าย พธม. เพราะเห็นว่าตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. ทุกครั้งที่บรรยากาศการเมืองเปลี่ยนขั้ว จะมีราษฎรอาวุโส นักวิชาการ ออกมาแสดงความเห็นไปในทางหนุนเสริมพันธมิตรฯ ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้ท้ายก็ได้ ก็อยากให้อธิการบดีระวังมากกว่านี้ วางตัวเป็นกลางมากกว่านี้ อย่างที่อาจารย์นิติศาสตร์ 5 คนได้ออกแถลงการณ์กล่าวว่าเป็นรัฐประหารเงียบ ทำไมอธิการบดีจึงไม่เข้าใจประเด็นนี้ทั้งที่เป็นนิติศาสตร์เหมือนกัน รวมทั้งขณะนี้ พันธมิตรฯ ก็กลายเป็นขบวนการฟาสซิสต์ไปแล้ว


นายสุรพลกล่าวว่า การที่ได้เสนอความเห็นให้ ผบ.ทบ.เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย ก็เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีคนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ทำรัฐประหาร "ผมก็คิดว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ผมไม่สนใจที่จะนั่งข้างใคร ผมเสนอความคิดของผมที่ผมคิดว่าถูกต้อง ผมก็ไม่กลัว เวลาที่ท่านกล่าวถึงอาจารย์นิติศาสตร์ 5 ท่าน ผมก็เคารพ แต่ก็มีอาจารย์นิติศาสตร์ด้วยกันเองหลายท่านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


"ทุนนิยมสามานย์ หรือผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญจริงๆ ที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ เราไม่ได้พูดก็แปลว่าเราเลือกที่จะเชื่อว่าในวาทกรรมของเราเองก็มีอะไรอยู่ คือเชื่อว่ามีข้าง แต่มันมีคนอีกข้างที่คิดอีกอย่าง ถ้าท่านจะดูตัวผม ก็ให้ดูเรคคอร์ดของผม คนบอกผมเป็นประชาธิปัตย์ ไม่มีใครดูเรคคอร์ดว่าสมัยรัฐบาลอานันท์ หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ผมก็วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเหตุผลก็เป็นเรื่องต้องฟังกัน อย่าไปตำหนิว่าคนพวกนี้มันเลวว่าคิดไม่ตรงกับเรา อาจารย์หลายคนก็เปิดตัวว่าอยู่กับพันธมิตรฯ ตลอด"


นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ผู้หนึ่งได้กล่าวถามว่าในฐานะที่อาจารย์เป็นนักกฎหมายด้วย เคยมีหลักอะไรที่เป็นหลักการ และประชาธิปไตยของอาจารย์คืออะไร "ถ้าผมพูดในนามของผม ผมไม่รู้ดีพอหรอกว่า ประชาธิปไตยคืออะไร แต่มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่คนทั่วประเทศมันมีความเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ และหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเอาอาวุธมาปิดปากประชาชน แต่อาจารย์กลับไปช่วยร่างกฎหมายหาทางสนับสนุนให้คนเหล่านั้นหาทางลงโดยสะดวก"


"ขอโทษนะครับ อาจารย์เป็น สนช. ใครเลือก และนิติรัฐมันไม่มีอยู่แล้ว มันหายไปแล้ว" นักศึกษารัฐศาสตร์ผู้หนึ่งถาม


ทั้งนี้ นายสุรพลกล่าวว่าสิ่งที่นักศึกษากล่าวเป็นทัศนะทางการเมือง ทั้งนี้ เขาไม่มีสติปัญญาจะตอบทุกๆ เรื่อง


ทั้งนี้ ในระหว่างการถาม-ตอบ นักศึกษาได้มอบพวงหรีดให้กับนายสุรพล ซึ่งนายสุรพลก็รับมอบด้วยท่าทียิ้มแย้ม โดยยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


นายรักนิรันดร์ ชูสกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปี 3 ตัวแทนกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ กล่าวว่า การมอบพวงหรีดวันนี้ เป็นการไว้อาลัยต่ออุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ตายไปแล้วของผู้บริหารคนดังกล่าว


 


เขายังรู้สึกผิดหวังกับคำชี้แจงของอธิการบดีที่ยืนยันว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย โดยนายรักนิรันดร์เห็นว่าชาวธรรมศาสตร์จะให้อภัยถ้าผู้บริหารขอโทษหรือรับผิดชอบต่อความเห็นต่างๆ ที่ผ่านมา แต่แล้วคำยืนยันจากเขาที่ว่า "ไม่รู้สึกว่าผมเคยทำอะไรนอกกรอบเลย" สะท้อนว่าการออกมาวางพวงหรีดเพื่อไว้อาลัยในวันนี้ พวกเราตัดสินใจไม่ผิดเลย


 


เขายังเปิดเผยว่าจะมีกลุ่มนักศึกษากลุ่มอื่นๆ รวมตัวเพื่อเผาหุ่นอธิการบดี เพื่อเรียกร้องให้เคารพจุดยืนตามระบอบประชาธิปไตยด้วย


 






แถลงการณ์กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ
เรื่อง ขอไว้อาลัยแด่ความคิดทางการเมืองของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


            เมื่อครั้ง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้น ต่างฝ่ายล้วนคาดหวังว่า จะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านการบริหารงานมหาวิทยาลัย รวมทั้งการแสดงออกซึ่งทัศนคติที่ดี ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และกล้าที่จะชี้นำสังคมให้ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้ แต่ปรากฏว่าตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา การแสดงออกซึ่งทัศนคติและความคิดทางการเมืองที่อธิการบดีคนนี้ได้นำเสนอต่อสังคมนั้น ล้วนถูกตั้งข้อสงสัยน่าเคลือบแคลงจากสังคมโดยกว้างขวางถึงความยึดมั่นในอุดมการณ์และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย


            เพราะนับตั้งแต่การเสนอทางออกเรื่อง มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมถึงพฤติกรรมการแสดงออกถึงความคิดทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยของอธิการบดี การเสนอวิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยนั้นเองทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกสร้างให้อยู่เคียงข้างกับประชาธิปไตยถูกทำลายลงไป


            และภายหลังที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าอธิการบดีจะแสดงท่าทีคัดค้านรัฐประหารแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งที่ยังคงดำรงตำแหน่งอธิการบดี แม้การกระทำนี้จะได้รับการรับรองด้วยรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จก็ตาม แต่ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเสียหายยิ่งขึ้น


            จะเห็นได้ชัดจากกรณีล่าสุด การที่อธิการบดีไปร่วมประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม (คตร.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังจากการบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น การให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น กลับเห็นพ้องต้องกันกับคณะทหารที่ใช้การรัฐประหารเงียบเพื่อกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา ทั้งที่จริงแล้วสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง และสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายที่สุดคือ การเสนอให้ข้าราชการกดดันรัฐบาลโดยการทำ "อารยะขัดขืน" ซึ่งเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง และไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงในการจะคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


            กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนธรรมศาสตร์ที่เห็นถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของบทบาทและแนวคิดทางการเมืองของอธิการบดี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เพราะจากเหตุข้างต้นที่กล่าวมาทำให้เชื่อได้ว่า อธิการบดีคนปัจจุบันนี้ไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยหากแต่มีพฤติกรรม ที่ชวนให้น่าเคลือบแคลงสงสัยได้ว่านิยมชมชอบใน "อำนาจนอกระบบ" ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกก่อตั้งมาด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการผลิตบุคลากรเพื่อมารองรับกับระบอบการปกครองแบบใหม่ ซึ่งก็คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยส่วนตัวเป็นสิ่งที่ย่อมกระทำได้ตามหลักสิทธิเสรีภาพ แต่การแสดงความคิดเห็นในขณะที่อยู่ในฐานะของอธิการบดีย่อมอาจถูกเข้าใจได้ว่าเป็นการกระทำในนามของมหาวิทยาลัย และการดำรงสถานะการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ภาระหน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การสืบสานจิตวิญญาณประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของผู้ประสาสน์การ


แถลงการณ์ไว้อาลัยฉบับนี้ของกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ มุ่งหวังที่จะสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ว่าวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นทางออกทีดีที่สุดสำหรับสังคมการเมืองไทย เพราะประชาธิปไตยมิใช่เป็นเพียงรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนร่วมเท่านั้น หากแต่เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้ปกครองอย่างสันติวิธีอีกด้วย การไว้อาลัยครั้งนี้จึงเป็นการแสดงออกถึงความหมดศรัทธาในตัวของอธิการบดีคนปัจจุบันเพราะจากพฤติการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าสังคมไทยจะยืนหยัดในวิถีทางประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง เพราะขนาดผู้ที่เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่กล่าวอ้างว่าปลูกฝังจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้กับนักศึกษาทุกคนนั้น แต่แท้จริงแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตัวของอธิการบดีกลับไม่ได้ประพฤติตนเป็นตัวอย่างดังที่กล่าวอ้าง


ดังนั้นกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบจึงมุ่งหวังให้อธิการบดี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้ทบทวนบาททางและการนำเสนอความคิดของตนในที่สาธารณะ และจะต้องตระหนักให้ดีว่าตนเองมีสถานะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การจะเสนอแนะแนวคิดที่ฝักใฝ่ "อำนาจนอกระบบ" หรืออำนาจอื่นใด นอกวิถีทางของกติกาประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราแล้ว ยังเป็นซ้ำเติมและการสร้างปัญหาให้กับสังคมการเมืองไทยในอนาคตสืบไป


ด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง
กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net