Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 


 


เหตุการณ์การปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเห็นใจทุกฝ่าย และก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ คือเป็นปัญหาที่เราเห็นแต่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมีรากฐานปัญหาที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีรากลึก


 


ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ของสื่อโดยเสนอข่าวว่า การไปร่วมชุมนุมของพลพรรคเสื้อแดงชาวเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 51 ที่สนามราชมังคลา หัวหมาก เป็นไปเพราะได้รับการว่าจ้าง ขณะที่อีกฝ่ายไม่พอใจเข้าทำการปิดล้อม และก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างการตรวจสอบกับการคุกคามสื่อ


 


น่าเห็นใจ เพราะขณะที่สื่อมวลชนมองและขับเคลื่อนทิศทางสื่อด้วยข้อสันนิษฐานภายใต้วาทกรรมเดิมๆ ดุจเดียวกับสูตรสำเร็จว่าด้วยเรื่องปัญหาประชาธิปไตยที่มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง และทำหน้าที่ของตนในการเสนอข่าวอย่างที่เห็นอย่างที่ตนสัมผัสไปตามสิทธิเสรีภาพของสื่อ


 


ขณะที่อีกฝ่ายก็เชื่อโดยสนิทใจว่า ตนเองเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเจตจำนงเสรี และยืนยันเสรีภาพนั้นด้วยการตรวจสอบสื่อ ซึ่งรูปแบบการตรวจสอบสื่อก็กระทำด้วยมาตรการพื้นฐานคือการชุมนุม เพียงแต่มาตรการพื้นฐานนั้นถูกขยับและเลียนแบบการยึดเอ็นบีทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพ


 


ปัญหาสำหรับสื่อมวลชนก็คือ สิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองสัมผัส และเชื่อโดยสนิทใจว่ามีการจ้างวานเพื่อเข้าร่วมชุมนุม เป็นความจริงหรือไม่เมื่อลองได้วิเคราะห์ให้ลึกว่าที่เห็น ลึกกว่าที่สัมผัส


 


เงิน หรืออามิสสินจ้าง คือเป้าประสงค์ของการไปร่วมชุมนุม จริงหรือ


 


หากไม่ใช่ การเสนอข่าวเช่นนั้นแต่เพียงแบบเดียวย่อมเป็นปัญหา เพราะย่อมถูกทำให้กลายเป็นความลำเอียง ดิสเครดิตการชุมนุม เลือกปฏิบัติ และส่งผลต่อความชอบธรรมของคู่ขัดแย้งทางการเมือง (ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ในสภาพแบ่งฝักฝ่าย)


 


ปัญหาสำหรับผู้ชุมนุม "กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" ก็คือ การใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน พํนธมิตรทำได้ เราก็ทำได้ ซึ่งทำให้การตรวจสอบสื่อ หรือถามหาความรับผิดชอบของสื่อมวลชนซึ่งควรจะทำได้ด้วยการชุมนุม บานปลายการเป็นการเข้ายึดและคุกคามเสรีภาพของสื่อ


 


น่าดีใจที่แถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น มีท่วงทำนองที่ไม่ได้ปกป้องฐานันดรของตนเอง และให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรวิชาชีพ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ คำถามถึงสาเหตุว่า ทำไม มวลชนจึงต้องมารวมกันร่วมชุมนุมเพื่อตรวจสอบสื่อด้วยตัวเอง


 


กรณีที่เกิดขึ้นกับเอ็นบีทีก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับไทยพีบีเอสก็ดี เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะเป็นคำถามที่พุ่งตรงไปที่องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนมากกว่าใคร


 


จะมีช่องทางไหนที่ให้ความเป็นธรรมกับคนหรือกลุ่มคนที่รู้สึกว่าถูกกระทำ ลำพังการทำหน้าที่ของสื่อภายใต้จริยธรรม ความรับผิดชอบ และความเป็นมืออาชีพ เช่นการเปิดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้ชี้แจงเพียงพอหรือไม่ อย่างมากเขาก็เป็นแค่คนเล็กๆ ที่ได้รับเชิญไปออกรายการเพื่อโชว์ความเป็นมืออาชีพของสื่อที่เสนอข่าวสองด้าน


 


จะให้เขาฟ้อง เขาจะฟ้องด้วยข้อหาอะไร เพราะความไม่เป็นธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นได้โดยที่กฎหมายหรือระเบียบใดๆ ยากจะไปควบคุม


 


กรณีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ ไม่ยืนเคารพ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อนายโชติศักดิ์ ถูกเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ถูกเอเอสทีวี นำไปเป็นเงื่อนไขคุกคาม เมื่อเขายื่นฟ้องสมาคมฯวิชาชีพ ก็ถูกบอกปัดว่า สมาคมไม่มีอำนาจวินิจฉัย ครั้นไปดำเนินการต่อสภาการหนังสือพิมพ์ ก็จำกัดอำนาจตัวเองไว้เฉพาะในกิจการที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ สำหรับกรณีของโชติศักดิ์นี้ แม้แต่เสียงของเขาก็ยังไม่มีใครยอมถ่ายทอดด้วยเหตุผลที่น่าเห็นใจ


 


สำหรับประชาชนคนไร้เสียง มีอะไรที่ใหญ่พอซึ่งสมน้ำสมเนื้อเพื่อคัดง้างกับสื่อ ให้เขากลายเป็นเสียงที่ต้องฟัง ไม่ใช่ตัวประดับองค์ประกอบข่าวให้ครบความเป็นมืออาชีพ


 


การควบคุมตรวจสอบกันเองของสื่ออยู่ในสภาพมีปัญหาแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความเกรงใจของบุลคากรในทุกระดับในแวดวงสื่อ หรือข้ออ้างการเคารพในขอบเขตพื้นที่ของกันและกัน กระทั่งปัจจุบัน คำเปรยประเภท "แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน" ซึ่งควรจะเป็นคำประชดเสียดสีนั้นก็ได้พัฒนากลายมาเป็น "กฏ" ที่รู้กันเอง และทำให้สื่อไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ประการสำคัญที่สุดของวิชาชีพ นั่นก็คือ หน้าที่ของการตรวจสอบ "ผู้มีอำนาจ"


 


และ "สื่อ" นั่นเองคือ ผู้มีอำนาจ


 


องค์กรวิชาชีพสื่อ จึงควรจะได้ตื่นตัวและมองปรากฏการณ์นี้อย่างพินิจพิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์ระบบ และทำให้องค์กรวิชาชีพได้มีชีวิตฟื้นตื่นมาทำหน้าที่ของมัน เป็นองค์กรวิชาชีพเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนโดยไม่เลือกฝักฝ่าย ไม่ใช่เพียงแค่องค์กรวิชาชีพที่คุ้มครองเสรีภาพของคนทำสื่อหรือก็คือฐานันดรของตนเองเพียงเท่านั้น


 


เพราะหากสื่อไม่ตรวจสอบกันเอง ประชาชนก็จะลงมาที่ถนน เมื่อประชาชนลงมาที่ถนน ความเสี่ยงที่จะเกินความควบคุมย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนที่เราเห็นและจะได้เห็นอีกมากต่อจากนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net