Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์


คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


 


Civil Disobedience (ปัจจุบันบ้านเราเรียกกันว่าอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการสร้างศัพท์ที่เป็นปัญหา ที่จริงcivil ในที่นี้มีความหมายถึงด้านพลเมือง แต่ในที่นี้จะขอข้ามไป เอาแค่นี้พอ ที่จริงเดิมเคยใช้กันว่าการดื้อแพ่ง จะมีความหมายใกล้เคียงกว่า) คือ การอ้างสิทธิพลเมืองที่จะต่อต้านกฎหมาย The Oxford Companion to Philosophy อธิบายไว้ว่า คือ


 


"พฤติกรรมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ที่ออกแบบมาเพื่ออุทธรณ์ต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย โดยไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองด้วยกฎหมายดังนั้น มีเจตนาที่จะไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) และไม่ปฏิวัติ (non-revolutionary) เช่นเดียวกับที่มีความตั้งใจที่จะยอมรับการลงโทษโดยกฎหมาย"


                                                                                              


โดยภาพรวม Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อประท้วงความอยุติธรรมพื้นฐาน โดยยึดถือการประสบความสำเร็จอย่างมีเหคุผล โดยไม่สร้างความสูญเสียแก่สังคม


 


(ส่วนอหิงสานั้น ตามมหาตมะ คานธี ผ้เป็นต้นคิด คือ ความกล้าเผชิญหน้ากับการใช้ความรุนแรงของอีกฝ่าย โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ และเมตตาแม้แต่ศัตรู)


 


Civil Disobedience จึงแตกต่างจาก การประท้วงที่ถูกกฎหมาย, การไม่เชื่อฟังกฎหมายโดยใช้ความรุนแรงที่ไม่ถูกกฎหมาย, การปฏิเสธอย่างมีมโนธรรม -Passive Obedience (คือ ตั้งใจยอมรับการลงโทษทางกฎหมาย ยิ่งกว่าจะทำตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย), การทดสอบตัวกฎหมายว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ (เช่น สงสัยว่ากฎหมายนั้นๆขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงฝ่าฝืนเพื่อให้เป็นประเด็นพิจารณาชี้ขาด)


 


โดยหลักการ Civil Disobedience มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพพลเมือง อันได้แก่ เสรีภาพในการพูด, การพิมพ์เผยแพร่, การชุมนุม และการนับถือศาสนาหรือความเชื่อของตน กล่าวคือปกป้องคุณค่าแบบเสรี (liberal virtue) [ถ้าเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ เป็นต้น ถือว่าไม่ใช่ Civil Disobedience]


 


Ronald Dworkin (ใน A Matter of Principle) นักนิติปรัชญาคนสำคัญในปัจจุบัน ได้ตั้งคำถามว่า เราจะแยก Civil Disobedience จากกิจกรรมทางอาชญากรรมธรรมดาที่ถูกผลักดันโดยความเห็นแก่ตัว ความโกรธแค้น ความหยาบช้า หรือความบ้าคลั่งอย่างไร


 


Dworkin อธิบายว่า Civil Disobedience เป็นเรื่องของผู้เคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่ได้ท้าทายผู้มีอำนาจในวิถีทางแบบพื้นฐาน เพราะนอกจากจะไม่ได้คิดเพื่อตัวพวกเขาเอง และไม่ได้ถามผู้อื่นให้คิดเพื่อตัวพวกเขา ยังต้องยอมรับความชอบธรรมพื้นฐานของทั้งการปกครองและของชุมชน และมุ่งปฏิบัติการเพื่อให้ได้ผล ในแง่ เกิดความเป็นธรรมในเรื่องที่เคลื่อนไหว แต่ยังคงกระทำหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองต่อไป (Dworkin ยังได้จัดประเภท Civil Disobedience ออกเป็น 3 แบบ จะขอข้ามไป แต่ผมจะเขียนไว้ในบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้)


 


โดยสรุป Civil Disobedience ไม่ปฏิเสธหลักการการปกครองโดยเสียงของคนส่วนใหญ่ (ไม่ปฏิวัติ) และด้วยเหตุนี้จึง "เป็น Democrat โดยหัวใจ" กล่าวคือ เคลื่อนไหวโดยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ เบื้องหน้ากฎหมายทุกคนเสมอภาคกัน (หลักนิติรัฐ) และรัฐมีไว้เพื่อปกป้องเสรีภาพและสิทธิพลเมือง


 


Civil Disobedience ใช้ยุทธวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในสองรูปแบบ



  1. แบบเชิญชวน โดยการบีบคนส่วนใหญ่ให้ฟังข้อถกเถียงแย้งกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ โดยคาดหวังให้พวกเขาเห็นด้วยและไม่ยอมรับกฎหมายหรือโครงการของรัฐนั้นๆ หรือมุ่งทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการสนับสนุนกฎหมายหรือโครงการนั้นๆ ผิด และไม่เป็นประโยชน์กับพวกเขาเอง
  2. แบบไม่เชิญชวน คือ ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนความคิดคนส่วนใหญ่ แต่ทำให้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในโครงการนั้นๆ โดยคาดหวังว่าคนส่วนใหญ่จะค้นพบว่าค่าใช้จ่ายของโครงการสูงเกินกว่าจะรับได้ หรือสร้างภาระให้คนส่วนใหญ่ต้องจ่าย หากจะยังคงสนับสนุนโครงการดังกล่าวต่อไป

 


ถ้าพันธมิตรจะเคลื่อนไหวแบบ Civil Disobedience จริง จะต้องทำอย่างไร?


 



  1. จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบไม่เลือกวิธีการ เพียงแค่ขอให้ได้ชัยชนะ (ซึ่งการเมืองแบบเน้นคุณธรรมไม่มีพื้นที่ให้กับแนวทางวิธีการอะไรก็ได้ขอให้ได้ชัยชนะ)
  2. จะต้องเคารพจิตใจและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถือว่าทุกคนเสมอภาคกันโดยศักดิ์ศรีและสิทธิ (ไม่ใช่การเมืองแบบเชิดชูเจ้า)
  3. จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยมีการพกพาอาวุธทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเอง หรือฝ่าด่านป้องกันของฝ่ายรัฐ
  4. จะต้องไม่เคลื่อนไหวในแนวทางแย้งสิทธิพลเมืองโดยพื้นฐาน เช่นไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์ความเห็นแย้ง หรือควบคุมการเผยแพร่ความคิดเห็นและข่าวสารของฝ่ายอื่น
  5. จะต้องไม่เคลื่อนไหวแบบใช้การเมืองแบบชี้นำฝูงชน โดยการโฆษณาชวนเชื่อแบบปลุกระดม แต่เน้นการคิดเป็น ความมีเหตุผลที่ดี
  6. จะต้องไม่เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนขั้วครอบครองอำนาจรัฐหรือแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ทำหน้าที่ในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ และเตือนภัยต่อสาธารณะ
  7. จะต้องไม่เคลื่อนไหวโดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หรือสร้างความเสียหายต่อสังคม
  8. ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมจะต้องยอมรับผลจากการเคลื่อนไหวที่ฝืนกฎหมาย โดยยอบถูกจับและหากถูกลงโทษตามกฎหมาย ก็ยอมรับผลเช่นนั้น โดยไม่ขัดขืน

 


ยกตัวอย่าง พันธมิตรจะต้องไม่เอาสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อกำจัดฝ่ายอื่น ไม่เรียกร้องให้เซ็นเซอร์เว็บไซต์ทางการเมือง ในการชุมนุมและการเคลื่อนขบวนต้องปลดอาวุธทุกชนิด รวมถึงไม้หรือเหล็กแท่งต่างๆ วิธีการเคลื่อนไหวจะต้องคำนึงว่าส่งผลกระทบส่วนรวมหรือไม่ (ไม่ตัดน้ำ ตัดไฟ หยุดเดินรถ ปิดสนามบิน เป็นต้น)


 


ตอนที่แกนนำถูกหมายจับข้อหากบฏ สิ่งที่ควรทำในตอนนั้นตามแนวทาง Civil Disobedience ก็คือเข้ามอบตัวทุกคน และไม่ขอประกันตัว และผู้ชุมนุมอื่นๆก็พากันเข้ามอบตัว รวมทั้งอาจพากันมาสมทบมอบตัวจากต่างจังหวัด เป็นต้น จนเจ้าหน้าที่ไม่รู้จะหาสถานที่มาคุมขังได้พียงพออย่างไร และเกิดปัญหากับลบประมาณที่จะเอามาใช้ดูแลผู้ต้องขัง


 


ตอนที่เคลื่อนไปชุมนุมหน้ารัฐสภา (เมื่อวันที่ 7 ตุลาที่ผ่านมา หรือในวันที่ 24 พฤศจิกานี้) ซึ่งผู้ชุมนุมทุกคนต้องไม่มีการพกสิ่งใดๆที่อาจใช้เป็นอาวุธติดไปด้วย อาจใช้การนั่งหรือนอนขวางที่ด้านนอกรัฐสภา แต่จะไม่ต่อต้านเมื่อเจ้าหน้าที่มาลากตัวหรืออุ้มตัวออกไปทีละคนจนหมด และหากมีการตั้งข้อหาก็พร้อมยอมถูกจับทุกคนและไม่ขอประกันตัว และพร้อมถูกขังคุก


 


ข้างต้นเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวในแนวทาง Civil Disobedience อย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการคิดแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่เคลื่อนไหวอะไรก็ได้ (และหากเป็นอหิงสา นอกจากต้องห้ามด่าฝ่ายอื่น หรือพูดหยาบคายใส่ ยังต้องกล่าวถึงฝ่ายอื่นอย่างให้เกียรติ โดยถือว่าต่างเป็นมนุษย์ที่มีมโนสำนึกทางคุณธรรมไม่ด้อยกว่าฝ่ายตนอีกด้วย ดังที่คานธีได้ปฏิบัติเป็นตัวแบบ) และที่สำคัญที่สุดคือการเคลื่อนไหวโดยตระหนักตลอดเวลาว่าจะเดินในกรอบประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่ใช่การมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบถดถอยจากประชาธิปไตย (ดังเช่น การเชื้อเชิญทหารมามีบทบาททางการเมืองเกินหน้าที่กองกำลังป้องกันประเทศ ซึ่งห้ามแทรกแซงทางการเมือง หรือพยายามผลักดันแนวทางการเมืองแบบถดถอยไปสู่ระบอบคัดสรรที่ให้อำนาจเฉพาะชนชั้นนำที่เรียกผิดๆ ว่าการเมืองใหม่)


 


แต่หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคิดว่าแนวทางแบบ Civil Disobedience (รวมทั้งอหิงสา) ตามหลักการนั้นรับไม่ได้ ก็สมควรเลิกประกาศว่าตนเองเคลื่อนไหวในแนวทางดังกล่าว


 


"ตอนนี้อารมณ์ของมวลชนขณะนี้เหมือน ทุบหม้อข้าวมา เหมือนยุทธการของพระเจ้าตาก แต่ไม่ใช่พระเจ้าตากที่สนามหลวง แต่ในวันที่ 23 นี้ เป็นอารยะขัดขืนขั้นสูงสุด ซึ่งเป็นการยกระดับจากการชุมนุมใหญ่แต่เป็นการลุกขึ้นสู้อย่างถึงที่สุด" (http://thaienews.blogspot.com) ตามที่สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรระบุ ไม่สามารถเข้าใจเป็นอื่นได้นอกจากเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดถึงการด้อยความเข้าใจในเรื่อง Civil Disobedience หากไม่ใช่การจงใจโกหกต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตร


 


นอกจากนี้ หากพันธมิตรจะยังห้อยชื่อกลุ่มด้วยคำว่าประชาธิปไตย ถ้าไม่ให้เป็นการโกหกประชาชน ก็จำเป็นต้องปรับหลักคิด แนวทาง และวัฒนธรรมพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนโดยรวมด้วย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net