Skip to main content
sharethis

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อภิปรายในหัวข้อ "วิกฤตเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย สู่วิกฤตคนงาน" ในงานสัมมนา เรื่อง "ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ ต่อสถานการณ์การเลิกจ้าง" จัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ณ ห้องประชุม มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 20 พ.ย.


00000


สิ่งที่แรกที่เราต้องเข้าใจก็คือว่าเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนี้ถูกลากพาโดยเศรษฐกิจของอเมริกาในสองลักษณะ ในลักษณะแรก อเมริกาเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก ลักษณะที่สอง อเมริกาเป็นประเทศที่ชอบกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับโลกเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันการที่คนอเมริกาเป็นคนที่ชอบฟุ่มเฟือย บริโภคมากและก็มีนิสัยประเภทฟุ้งเฟ้อมาตลอด จึงทำให้ประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่เป็นหนี้มากที่สุดในโลก การที่เขาขาดดุลการค้ามากที่สุดในโลกและเป็นหนี้มากที่สุดในโลก จึงทำให้อเมริกาต้องหาทางที่จะหาเงินชดเชย


โดยในการหาเงินชดเชยของอเมริกานั้น เขาทำในสองลักษณะ ลักษณะแรกคือ การค้าเงินหรือการค้าเงินตรา จะเห็นได้ว่าอเมริกามีบริษัทค้าเงินใหญ่ๆ มากมาย ที่เที่ยวไปซื้อเงินขายเงินทั่วโลก ลักษณะที่สอง นอกจากจะค้าเงินแล้ว อเมริกาค้ากระดาษที่มีค่าเป็นเงิน นั่นคือ สัญญา เวลาเราไปสัญญา เวลาเราไปกู้เงินธนาคาร สมมติคุณซื้อบ้านหลังหนึ่ง ซื้อรถคันหนึ่ง คุณต้องไปกู้เงินที่ธนาคาร สัญญาที่เราทำไว้ที่ธนาคาร ธนาคารจะนำไปขายต่อ โดยเรียกว่า การขายสัญญากู้เงิน คราวนี้ปรากฏว่าสัญญาที่คนไปกู้เงินขายดี พอขายดีอเมริกาก็เลยพยายามให้คนกู้มากๆ กู้ไปซื้อบ้านโดยเฉพาะ พอกู้มากๆ ปรากฏว่าคนบางคนมันไม่มีปัญญาที่จะกู้หรอก แต่ถูกชักจูงให้กู้ เพราะอะไร เพราะต้องการทำสัญญามากๆ จะได้นำสัญญาไปขาย ทีนี้พอไม่มีปัญญาจะกู้ ในที่สุดแล้วคนกู้พวกนี้ก็ไม่สามารถที่จะจ่ายเงินชำระคืนได้


คุณไปกู้เงินซื้อบ้านผ่อนไป 5 ปี ปรากฏไม่มีเงินผ่อนแล้ว ซื้อรถคันหนึ่งกะจะผ่อน 3 ปีพอได้ปีเดียวก็ไม่มีปัญญาผ่อนแล้ว สัญญาพวกนี้ก็เลยเป็นสัญญาเน่า พอเป็นสัญญาเน่าธนาคารก็จะไม่มีเงิน แต่สัญญานั้นถูกขายไปแล้วมีคนซื้อต่อไปแล้ว คนต่อไปก็ยังคงถือสัญญาอยู่ พอสัญญาเน่าก็แปลว่าไม่ได้เงิน ก็เลยเกิดปัญหาธนาคารเงินเพราะสัญญาเน่าพวกนี้ เจ๊งไปหลายธนาคารจนกระทั่งธนาคารต้องเอาเงินไปอุ้ม เอาเงินไปให้ธนาคาร แล้วธนาคารพวกนี้ก็ดิ้นรนไปกู้เงินจากที่ต่างๆ ธนาคารเหล่านี้มักจะไปหาจีน ซาอุฯ สิงคโปร์ ดูไบ พวกนี้ให้ช่วยมาซื้อหุ้นธนาคาร เพราะธนาคารกำลังจะเจ๊งขายหุ้น แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ช่วยพยุงไว้บ้าง แต่ช่วยไม่ได้มาก


ดังนั้นสิ่งที่ตามคืออะไร ธนาคารนี้ก็ปลดออก เมื่อวานนี้ซิตี้คอบ บ้านเรามีซิตี้แบงก์ เมื่อวานนี้ก็ปลดไปห้าหมื่นหก หมื่นกว่าพันคน พอธนาคารพวกนี้มันมีปัญหา สิ่งที่ตามมาคืออะไร พวกธนาคารเหล่านี้ก็ไม่ยินดีที่ปล่อยเงินกู้ประเภทเงินตัวเองก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นพวกอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มันอยู่ได้ด้วยการกู้เงินแบงก์มาหมุนมันก็ขาดเงินจะหมุน บริษัทใหญ่ๆ เช่น จีเอ็มรถยนต์ ตอนนี้ลูกผีลูกคนเพราะขาดเงินจะหมุน จะไปกู้ธนาคาร ธนาคารก็ไม่ได้อยากจะให้กู้ เพราะตัวเองก็เจอปัญหาหนี้เสียเยอะ หนี้เสียจากสัญญาเน่าที่ว่านี้ จีเอ็มกับฟอร์ดก็เริ่มปลดคนออก แล้ววันนี้ก็มาข่าวว่าฟอร์ดบ้านเราก็จะหยุด ก็จะปลดคนแล้ว มันจะลามไปอุตสาหกรรมต่างๆ ทีนี้สัญญาเน่านี้มันไม่เฉพาะอยู่แต่ในอเมริกา เพราะธนาคารอเมริกาพอมันได้สัญญามาแล้วมันไม่ได้เอาสัญญานี้ไปขายในอเมริกาเท่านั้น แต่มันขายทั่วโลก เอาไปขายยุโรปบ้าง ไปขายเอเชียบ้าง เอาไปขายจีน เพราะฉะนั้นใครถือสัญญานี้มันก็ถือสัญญาเน่าด้วยกันทั้งนั้น


กลับมาบ้านเรา ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งการส่งออกมากเกินไป พูดง่ายๆ ว่าเราต้องพึ่ง ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านรายได้ของชาติของเราต้องพึ่งการส่งออก 76 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทีนี้ตลาดใหญ่ 2 ตลาดของเราคือ ตลาดยุโรปกับอเมริกา สองตลาดใหญ่นี้รวมๆ กันแล้วประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการส่งออก สมมติเราส่งออก100 บาทก็แปลว่าเราส่งออกไปยุโรปและอเมริการวมๆ กันเป็น 30 กว่าบาทตอนนี้ คราวนี้พอสองประเทศนี้มีปัญหาก็ทำปัญหาการส่งออกของเราเกิดขึ้นคือตลาดยุโรปอเมริกามันหดตัวส่งออกได้น้อยลง


ยิ่งกว่านั้นเวลาเรามาดูบริษัทส่งออกของบ้านเราบริษัทบ้านเรามีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเราเรียกพวกรับจ้างทำการผลิตส่งออก 100% โรงงานพวกนี้เราเรียกโรงงานรับจ้างการผลิต อย่างนี้เขาเรียกว่าพวกเอาท์ซอร์ส ซึ่งอยู่ได้โดยบริษัททางอเมริกาทางยุโรปสั่งมาบอกว่าผลิตรองเท้านี้เท่านี้คู่ ผลิตเสื้อตัวนี้เท่านี้ตัว แล้วผู้ผลิตจะส่งให้ผู้จ่ายทั้งหมด ไม่ได้ขายเอง แม้แต่คุณสั่งให้ขายที่ไหนคุณก็ต้องส่งให้เขาไป บริษัทพวกนี้จะเป็นบริษัทที่อันตรายที่สุดในบ้านเรา มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในย่านอยุธยานั้นเป็นย่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็บอกอยู่แล้วว่าในย่านอยุธยานั้นอาจจะมีการปลดพนักงานออก 10% และส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับจ้างการผลิต พวกนี้ไม่มียี่ห้อตัวเอง ไม่มีตลาดตัวเอง บริษัททางโน่นเขาสั่งมาให้ผลิตเท่าไรก็ผลิตเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบในบ้านเราก็เหมือนกับพวกเย็บเสื้อโหลห้องแถว โรงงานสั่งมาเท่านี้ก็เย็บเท่านี้ ไม่มีตลาดของตัวเอง ไม่เย็บขาย เย็บส่งโรงงานอย่างเดียว ระหว่างประเทศก็แปลว่าเราเย็บส่งโรงงานต่างประเทศเขาอยู่


ดังนั้นเมื่อผู้ส่งมีปัญหา คือขายไม่ออก ขายได้น้อยลง มีปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน สิ่งที่บริษัทที่มันทำก็คือว่าลดการจ้าง พอลดการจ้างก็แปลว่าทางนี้โรงงานก็น้อยลง พอโรงงานน้อยลงทางนี้ก็จะกระทบ ที่หนักกว่านั้นก็คือว่าโรงงานเล็กๆ บางแห่งเมื่อรับออเดอร์มาจากต่างประเทศ เขาไม่ได้มีคนงานของตัวเองเพียงพอ สมมุติว่ามีคนงาน 100 คน หรือ 200 คน ได้ออเดอร์มาก พวกนี้ก็จะไปจ้างห้องแถวทำ คราวนี้พอออเดอร์มันลดลง สิ่งที่บริษัททำคือตัดห้องแถวก่อน เพราะฉะนั้นคนทำงานในห้องแถวแล้วว่างงานไม่มีตัวเลข ไม่มีใครรู้ว่าห้องแถวปิดไปคนว่างงานกี่คน ที่เราดูตัวเลขกันมักจะเป็นโรงงานที่ปิดแผนกหรือคนงานโวยวายขึ้นมาว่าทำไมปิดแผนกของฉัน แต่คนงานห้องแถว 10 คน 20 คน ถูกปลดทุกวันไม่มีใครรู้


ทีนี้ในอุตสาหกรรมส่งออกประเภทที่สองพวกนี้ไม่ได้รับจ้างผลิต เป็นผู้ส่งออกธรรมดาเช่น บริษัทส่งกุ้งแช่เย็น บริษัทส่งออกเสื้อผ้า หรือส่งออกอัญมณี พวกนี้เขามียอดตัวเอง มีตลาดตัวเอง แต่ว่าตลาด เช่นตลาดอัญมณีมีตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรปกับอเมริกา คราวนี้พอคนยุโรปอเมริกามันว่างงานมากขึ้น รายได้เขาก็ลดลง เมื่อรายได้ลดลงเขาซื้อของน้อยลง เมื่อซื้อของน้อยลง ของที่เราส่งไปขายมันขายยากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ได้ด้วยการส่งออกเกือบทุกบริษัทจะเจอปัญหานี้หมด ที่เจอปัญหาน้อยก็จะเป็นเรื่องพวกอาหาร พวกพืชเกษตร พวกนี้จะเจอปัญหาน้อยหน่อยเพราะว่ามันก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นข้าวยังไงๆ ก็กินกันอยู่ก็อาจจะเจอปัญหาน้อย แต่พวกของอุตสาหกรรมต่างๆ ของเราก็การส่งออกมีปัญหา แม้แต่รถยนต์เอง เรามีการคาดหวังว่าเราจะผลิตรถยนต์ส่งออก ยกตัวอย่างเช่น ดีแมกซ์ของอีซูซุ ตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรปทั้งหมด ดีแมกซ์ร้อยละ 80 ขายต่างประเทศ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ารายต่อไปจะเป็นอีซูซุ ตอนนี้ฟอร์ดเจอไปแล้ว ฟอร์ดมันมีบริษัทแม่อยู่ที่ยุโรป มาสด้าของเราด้วย พวกรถยนต์จะเจอเพราะว่าพอกำลังซื้อลดลง คนว่างงานมากขึ้น


คือระบบของอเมริกาและยุโรป คนพอคุณเริ่มทำงานปีแรกคุณจะซื้อมือสองก่อน ผ่อนไป 5 ปี 6 ปี คุณซื้อรถใหม่พอมันครบ 10 ปี คุณขายรถเก่าซื้อรถใหม่ต่อมันจะเป็นอย่างนี้บ้านก็เหมือนกัน คนพอทำงานใหม่ๆ ซื้อบ้านเก่า พอสักพักซื้อบ้านใหม่แล้วก็ขายบ้านเก่าทิ้ง เพราะมันจะหมุน พอมีเงินขึ้นซื้อรถใหม่รถเก่าทิ้ง แต่พอคนตกงานมันจะไม่ซื้อรถใหม่แล้วมันใช้รถเก่าไปเรื่อยๆ บ้านก็เหมือนกัน ไม่ซื้อบ้านใหม่แล้ว การขายบ้านก็ยากขึ้น แล้วบ้านและรถของอเมริกาและยุโรปมันเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าสองตัวนี้ทรุดเศรษฐกิจเขาทรุดตามไปด้วย พอทรุดตามไปด้วยมันกระทบกับที่เราส่งออก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอุตสาหกรรมไทยทุกตัวที่อยู่กับการส่งออกมันจะต้องหนีไม่พ้นต้องกระทบ


ทีนี้สิ่งที่มันกระทบจะเริ่มจากเบาเป็นหนัก ยกตัวอย่างว่าบริษัทส่งออกบางบริษัทเริ่มลดการทำล่วงเวลา โดยเฉพาะพวกบริษัทรับจ้างทั้งหลาย คุณจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ออเดอร์มากทำนอกเวลาถูกไหม ทำนอกเวลาไม่พอให้ห้องแถวทำต่อด้วย เพราะฉะนั้นห้องแถวถูกตัดไปได้เลย ห้องแถวถูกตัดเงียบๆ ไปเยอะแล้วตั้งแต่ปลายปีมาตั้งแต่ตุลามา แต่เราไม่รู้ไง 5 คน 10 คน 20 คน ถูกตัดไปเยอะ พอถึงโรงงานใหญ่ก็เริ่มลดค่าล่วงเวลา เช่นว่าเคยสั่งทำโอที 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง อาจจะเหลือ 2 ชั่วโมง ชั่วโมงเดียวแล้วก็ตัดไปเลย คราวนี้สิ่งที่ตามมาคืออะไร คนงานพื้นฐานอยู่ได้ด้วยโอที คราวนี้พอเขาตัดโอทีทำไงต่อ ก็จะเริ่มลดวันทำงาน เช่น ทำงาน 7 วันอาจจะเหลือ 6 วัน คนทำ 6 วันเหลือ 5 วัน ลดวันทำงานแล้วยังไม่รอดอีกก็อาจจะปิดบางแผนก แต่สำหรับพวกเอาท์ซอร์สบางแห่งถือโอกาสเลย คือกูปิดอยู่แล้ว ก็หาเรื่องปิดเลย


ทีนี้สถานการณ์บวกการฉวยโอกาสผมห่วงสุดแรงงานหญิงอายุ 55 ผมนั่งดูตัวเลขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจในฉบับที่ 2 ที่เริ่มตั้งแต่ พ.. 2510 - 2515 แผนนี้เป็นแผนที่ขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอมากที่สุด ตั้งแต่ปี 10-15 เป็นช่วงที่โรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอขยายตัวเร็วมา 5 ปีนี้ แล้วก็ได้มีแรงงานหญิงเข้ามาทำงานมาก ซึ่งคนมารุ่นนั้นอายุจะครบ 55 ปีนี้ แล้วประเพณีของเอกชนเขาจะปลดเกษียณสิ้นเดือนธันวา เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะไม่ครบ 55 อาจถือโอกาส 55 ไปเลยจะพูดอย่างนี้ ที่น่าห่วงอีกว่าคนที่ปลดเกษียณ 55 ปีในปีนี้บางคนจ่ายเบี้ยประกันสังคมยังไม่ครบ 15 ปี เพราะฉะนั้นเขาอาจจะได้แค่บำเหน็จแล้วก็ว่างงาน เพราะว่ากำลังแรงงานคนที่เขาถือว่าเป็นกำลังแรงงานคือคนที่อายุ 15 ถึง 60 ดังนั้นเขาถูกปลดในวัย 55 วัยกำลังแรงงานเขายังไม่หมดแต่ก็ว่างงานแล้ว การว่างงานโดยการปลดเกษียณอายุ 55 เป็นตัวเลขที่ไม่มีใครคิดถึงเลย ไม่ว่ากระทรวงแรงงาน ไม่มีใครคิดถึงเลย เราคิดอยู่อย่างเดียวว่าปีนี้เศรษฐกิจมีปัญหามีปรากฏการณ์คิดอยู่แค่นั้น แต่ว่าสถานการณ์ของอายุบวกกับเหตุการณ์วิกฤตและบวกกับการฉวยโอกาส คนอายุ 55 อายุ 54 53 อายุสามช่วงนี้จะเดือนร้อนที่สุดเลย เพราะบางแห่งฉวยโอกาส พออายุ 55 ยังไม่ครบ 55 เต็มก็โดนแล้วปลดไปก่อนพวกนี้ถูกปลดก่อน


แล้วแรงงานหญิงของเราในการจ้างงาน 100 คน จะมีแรงงานหญิงอย่างนี้ 48 คน ผมไปนั่งคำนวณดูคนที่ทำงานตั้งแต่ปี 12 - 13 หลายแสนคนที่ถูกปลด นี่เรายังไม่รวมที่ถูกปลดตามห้องแถว ยังไม่รวมคนที่ถูกปิดแผนก ยังไม่รวมโรงงานที่ปลดโรงงานละ 5 คน 6 คน ที่ไหนก็ตามที่ปลดที 5 คน 6 คน ไม่เป็นข่าวแล้วก็ไม่ถูกบันทึกว่าเป็นคนว่างงาน ไม่ถูกบันทึกว่าถูกปลดออก แต่ลองสังเกตดูในเขตอุตสาหกรรม โรงงานเล็กๆ ที่จ้างคน 50 คนบ้าง 100 คนบ้าง การปลดที 5 คน 10 คนเกือบไม่เป็นข่าวเลย


ประการต่อมากระทรวงแรงงานจะเอาเงิน 1 แสนล้านให้ครูกู้ คำถามของผมก็คือว่าเมื่อคุณมีความคิดนี้ให้ครูกู้ได้ เราไปขอบอกว่าประกันสังคม 5 แสนล้านตอนนี้ขอสัก 10% ได้ไหมมาทำโครงการเงินกู้ให้ลูกจ้าง ถือเป็นการลงทุนของประกันสังคม ผมมีความรู้สึกว่าประมาณเดือนเมษา พฤษภา จะเป็นเดือนที่น่ากลัวที่สุดของคนไทย เพราะอะไร เพราะว่าหนึ่งก็คือว่ามันสิ้นหน้าแล้ง มันสิ้นหน้านา คนว่างงานจากชนบทเป็นแสนๆ ประการที่สองคนจบการศึกษาก็หลายแสนหางานทำ ประการที่สาม คุณถูกปลดจากงาน ประการที่สี่อายุ 55 สี่ประการนี้รวมกันแล้วเกือบ 2 ล้านคน


ทีนี้ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้รัฐบาลจัดโครงการเงินกู้ให้กับลูกจ้างได้ไหม เอามาสัก 5 หมื่นล้านสัก 10% แล้วให้คนงานกู้ฉุกเฉิน ลูกเต้าพ่อแม่ คนละหมื่นสองหมื่น ดอกเบี้ย 10% ต่อปี แต่ที่อ้อมน้อยกู้กันดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน บัตรเครดิต 12% ต่อเดือนอย่างนี้บอกว่าทำไม่ได้กลัวหนี้สูญ แล้วจะเอาเงินแสนล้านให้ครูกู้ทำไมไม่กลัวหนี้สูญเพราะอะไร มันต่างกันตรงไหน ทำไมไว้ใจครูไม่ไว้ใจลูกจ้างเพราะอะไร ถ้าให้ครูกู้ได้ทำไมลูกจ้างกู้ไม่ได้ ทีนี้มันเป็นจังหวะที่ว่า มิฉะนั้นคุณจะเกิดในช่วงเดือนปีหน้าจะเกิดปัญหาวัฏจักรหนี้สิน ถ้าหากว่าล่วงเวลาคุณไม่มี ถูกตัดไปเยอะ ลูกเต้าก็เข้าโรงเรียน คุณไปกู้เขาร้อยละ 10 ต่อเดือน กู้มาสัก 5,000 บาทมันพอกแล้ว หนึ่งปีผ่านไปพอกไปถึงสองหมื่นสามหมื่น แม้ว่าเศรษฐกิจกลับมาคุณจะมีปัญญาผ่อนเหรอ ถ้าดอกมันทบอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีเงินกู้รองรับไว้ร้อยละ 10 ต่อปี ไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อเดือนอย่างนี้พอจะไปไหว


ผมบอกว่าคนงานอย่างที่เราวิจัยมาที่อ้อมน้อยครึ่งหนึ่งของแรงงานหญิงอ้อมน้อยกู้เงินมาแล้วส่วนหนึ่งส่งกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้าน แล้วตอนนี้ที่ตัวเองส่งไปได้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีล่วงเวลาเพราะว่ากู้เงินเขามา คราวนี้ล่วงเวลาก็ไม่มี และผมเชื่อเลยว่าดอกเบี้ยปีหน้าร้อยละ 60 ขึ้นทันที มันรับได้เหรอ หนึ่งช่วยกันออมตัวเองที่ยังมีกำลังอยู่วันละบาท สองต้องเรียกร้องว่าขอให้ประกันสังคมทำโครงการเงินกู้พิเศษ โครงการงานกู้พิเศษของลูกจ้างไม่ใช่เป็นสวัสดิการอย่างเดียวแต่มันเป็นการลงทุนของประกันสังคม เพราะว่าคุณไปฝากธนาคารได้ร้อยละ 5 อย่างมาก แต่ให้ลูกจ้างกู้ร้อยละ 10 ต่อปีสูงกว่าเยอะ มันมีระบบที่ให้มีหลักประกัน


ถ้าเราคิดว่าเงินนี้ให้ครูกู้ได้ สิ่งที่ต้องทำคือให้ลูกจ้างกู้ก่อนไม่ใช่ครู เพราะลูกจ้างมีเงินเดือนน้อยกว่าครู เท่าที่รู้ตอนนี้ภาครัฐไม่มีรูปธรรมใดๆ ที่มาช่วยลูกจ้าง นอกจากกระทรวงแรงงานจะขอสักพันล้านมาทำเรื่องการว่างงาน แต่ก็ไม่รู้ว่าการว่างงานคืออะไร ต้องไม่ลืมว่าระบบการว่างงานมันไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงแรงงานโดยตรง กระทรวงแรงงานอาจจะประกาศว่ามีตำแหน่งที่ตรงนี้ ที่ตรงนั้น แต่การสร้างงานขึ้นมา เช่นว่าการทำงานในโรงงานมันย่อมขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและกระทรวงอุตสาหกรรม การวางภาคเกษตรอยู่ที่กระทรวงเกษตร มันไม่ใช่กระทรวงแรงงาน เพราะฉะนั้นกระทรวงแรงงานช่วยอะไรเราไม่ได้


ทีนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเราเสนอไปแล้ว ถ้าเราต้องการตรึงไม่ให้คนชนบทไม่มาแย่งงานคนในเมือง หรือว่าอย่าให้เกิดปัญหาคนว่างงานในชนบท สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างงานในชนบท แต่การสร้างงานในชนบทจริงๆ แล้วไม่ต้องใช้เงินแสนล้านด้วยซ้ำไป เงินกองทุนหมู่บ้านประมาณแปดหมื่นล้านน่าจะนำไปสร้างงาน ไม่ใช้นำไปให้คนกู้ คือการสร้างงานที่ดีที่สุดคือการพัฒนาแม่น้ำลำคลอง เพราะการพัฒนาแม่น้ำลำคลองนอกจากจะทำให้แม่น้ำลำคลองมีน้ำเต็มแล้ว น้ำที่เต็มแล้วเป็นเกษตรก็ได้ เป็นประมงก็ได้ แล้วก็คงเป็นทางคมนาคมลดค่าใช้ได้อีก ไม่ใช่สร้างถนน แต่ควรจะเป็นแม่น้ำลำคลอง เงินแปดหมื่นล้านที่จะปล่อยเงินกู้ให้ใครคนใดคนหนึ่ง ควรจะสร้างงานไม่ดีกว่า ใครมาทำงานก็ได้ค่าจ้างไป


การปล่อยเงินกู้แบบนี้มันไม่เกิดผลเท่าที่ควรจะเป็น ในชนบทมีทั้งหมด 11 กองทุนที่ปล่อยอยู่ ผมมองได้ว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันพึ่งลูกจ้างเป็นหลักไม่ได้พึ่งเกษตรกร เพราะว่าร้อยละ 90 ของรายได้ที่เราผลิตขึ้นมามันมาจากภาคลูกจ้าง ส่งออกร้อยละ 89 ก็มาจากภาคลูกจ้าง แต่รัฐบาลไม่ได้สนใจภาคลูกจ้างเลย อีกส่วนหนึ่งก็คือว่าคนที่ตกงาน ซึ่งเกิดขึ้นแน่นอนปีหน้า มันต้องมีโครงการรองรับ ไม่ปล่อยให้เขาอยู่เฉยๆ แต่ควรจะมีสถาบันที่ retain รัฐควรเอาคนที่ตกงานมาฝึกเพื่อที่จะรองรับเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าสมมติว่าเราโครงการกู้พิเศษคนอายุ 55 ที่ถูกปลดเกษียณไปยังพอที่จะมีโอกาสว่าไปกู้เงินมาหมื่นสองหมื่นบาทมาทำโน่นทำนี่ที่บ้าน คำว่ามีงานทำมิได้หมายความว่าเป็นลูกจ้างอย่างเดียว การมีงานทำคุณจะขายอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ คุณไปทำเกษตรบ้างก็ได้ หรือคุณจะรวมตัวกันทำโน่นทำนี่ก็มีงานทำเหมือนกัน มันไม่จำเป็นที่การมีงานทำคือการเป็นลูกจ้าง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net