Skip to main content
sharethis

รายงานโดย สันติ ธรรมประชา


 


"วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่กล่าวขานกันในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าจะนำไปสู่การปิดโรงงาน คนจะตกงานนับล้านคน ภาพลักษณ์ที่ออกมาจากสื่อกระแสหลักมักให้น้ำหนักข่าวไปที่แนวทางการแก้ไขช่วยเหลือนายทุนของรัฐ น่าเห็นใจเจ้าของกิจการที่จะประสบกับภาวะขาดทุนมากกว่าจะมองเห็นความหมายความสำคัญของผู้ใช้แรงงานและการฉวยโอกาสอ้างวิกฤตเศรษฐกิจของนายทุนที่เมินเฉยต่อความรับผิดชอบสวัสดิการต่างๆ ของคนงาน และมีกลยุทธ์ลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในช่วงได้ "กำไร" แต่ไม่ยินดีที่จะ "แบ่งปันกำไร" อยู่เช่นเดิม


นายวิสุทธิ์ มโนวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายแรงงาน ประจำนิคมอุตสาหกรรมลำพูน มูลนิธิเพื่อนหญิง มีความคิดเห็นว่า ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงทางแรงงานคงต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น แต่การฉกฉวยโอกาสบางกรณีของบางบริษัทที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ และอาจมีแผนการที่จะลดต้นทุนอยู่แล้วว่าจะแอบอ้างช่วงวิกฤตินี้เพื่อเอาพนักงานเก่าออก เนื่องจากพนักงานเก่าที่มีสวัสดิการและค่าจ้างสูงขึ้นตามอายุงาน และจะตกเป็นผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมจากวิกฤตเศรษฐกิจจอมปลอมนี้ บางแห่งมีความพยายามที่จะนำพนักงานรับเหมาช่วงเข้ามา


ถ้าบริษัทไหนที่มีวิกฤตเศรษฐกิจจริงก็สามารถสังเกตได้ทางบริษัทจะรักษาพนักงานเก่าที่มีความชำนาญไว้ โดยที่บริษัทจะเอาพนักงานชั่วคราวหรือพนักงานรับเหมาช่วงออกก่อนเพราะพนักงานชั่วคราวไม่มีทักษะ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสูงเนื่องจากมีอายุงานสั้นและต้องพยายามที่จะลดต้นทุนอย่างอื่นผสมกันไป ถ้าบริษัทไหนเอาพนักงานที่มีอายุงานมากออกก่อน สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นแผนการที่บริษัทกำลังจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปลอม ถ้าบริษัทเกิดวิกฤตจริงจะต้องออกมาพูดกับคนงานเลยว่าตอนนี้ 0rder เป็นอย่างไร ยอดสั่งซื้อมีขนาดไหนถึงวันไหน


นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า สภาอุตสาหกรรมไทยได้ออกมาพูดว่ายอดการสั่งซื้อในไตรมาสหน้าจะลดลง เป็นวิกฤตที่ชัดเจนอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณี ใน จ.ลำพูน ก็มีการเลิกจ้างพนักงานแล้ว 200 คน แต่โชคดีที่เลิกจ้างแล้วลูกจ้างได้รับค่าชดเชย ดังนั้นคนงานจึงต้องติดตามความเป็นไปของบริษัทของตนเองอย่างใกล้ชิด ว่ามีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไหม การเลิกจ้าง พนักงานจำนวน 200 คนที่ลำพูน ยังโชคดีที่มีการตรวจสอบจากองค์กรของลูกค้าต่างประเทศว่า คุณกำลังจะละเมิดสิทธิของคนงานหรือเปล่า ถ้าทางบริษัทลูกค้าทำผิดลูกค้าก็จะไม่ซื้อสินค้า


นายวิสุทธิ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของรัฐว่า เมื่อคนงานจะมีรายได้ลดลงมีปัญหาเรื่องการหางาน คนที่ตกงานจะไปที่ไหน แหล่งพักพิง คือ ภาคเกษตรกรรม แต่ภาคเกษตรก็มีปัญหาเรื่องพืชผลตกต่ำ ทำแล้วขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน รัฐก็ไม่มีการปฏิรูปที่ดิน จะเอาที่ดินที่ไหนมาทำการเกษตร สำหรับตำแหน่งที่จะหายไปคาดการณ์เบื้องต้นประมาณ 1,000,000 คน รวมกับนักศึกษาที่จบใหม่อีก 700,000 คน ไม่รู้ว่ารัฐบาลหามาตรการรับมืออย่างไร และยังมีวิกฤตการเมืองในประเทศอีก


นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ทางฝ่ายนายจ้างนั้น รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลืออยู่แล้วไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ลูกจ้าง ที่รัฐบาลคงยังไม่มีมาตรการที่แน่นอน ในการรักษาสถานะของบริษัทไว้ บริษัทจะต้องชี้แจงในเรื่องของงบประมาณ สถานะทางการเงิน การสั่งซื้อจากลูกค้า มาอธิบายให้พนักงานเข้าใจ ใช้ข้อมูลที่แท้จริงอย่าบิดเบือน พนักงานเองก็ควรตั้งข้อสังเกต ว่าข้อมูลเป็นจริงหรือไม่? ทางออกที่ดีคือทางบริษัทหรือสถานประกอบการควรรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพไว้ โดยมีการปรับค่าจ้างให้ตามสมควร และควรจะมีการจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้กับพนักงานด้วย ไม่ควรยกเลิกการจ่ายเงินโบนัสเพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น


ด้าน นายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้ยกตัวอย่างรูปธรรม ถึงการฉวยโอกาสของบริษัทบางแห่งว่า กรณีการเลิกจ้างของบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง เป็นการฉกฉวยโอกาสของนายจ้าง เนื่องจากยอดการผลิตปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่นายจ้างกลับอ้างเศรษฐกิจโลก และในขณะเดียวกันในบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งนั้นเองก็ขยายโรงงานในส่วนประกอบเครื่องยนต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้าน แต่ตอนนี้หยุดการผลิตเนื่องจากสต็อกพอแล้ว นายจ้างเลยอ้างเหตุเลิกจ้าง ตอนนี้เลิกจ้างเหมาค่าแรงทั้งหมดแล้วประมาณ 250 คน ในส่วนของพนักงานประจำนั้น บริษัทฯ มีนโยบายจะเลิกจ้างอีก 200 คน ตอนนี้อยู่ระหว่างการประกาศสมัครเข้าโครงการลาออก โดยได้จะรับเงินช่วยเหลือตามกฎหมาย แต่ทราบมาว่ามีผู้แจ้งความจำนงลาออกประมาณ 20 คน ซึ่งมาตรการต่อไปน่าจะเป็นการคัดออกโดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่สหภาพแรงงานอยู่ระหว่างการเจรจาที่จะให้คงสภาพการจ้างพนักงานไว้ โดยอาจต้องนำข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานมาแลกเปลี่ยน


นายบุญยืน กล่าวว่า กรณีข้างต้นเป็นการแอบอ้างสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่เห็นแก่ตัวของนายจ้าง เพราะปกติในรอบปีที่ผ่านมายอดการผลิตรถยนต์ในช่วงปลายปีก็มีการชะลอตัวทุกปีอยู่แล้ว นี่แหละคือนิสัยของทุน เพราะเป้าหมายต่อไปของเขาคือ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือหลังกลางปีหน้าซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น นายจ้างก็เปิดรับพนักงานใหม่โดยจ้างแต่พนักงานเหมาค่าแรงเข้ามา เป็นวิธีการล้มสหภาพแรงงานอีกแบบหนึ่งโดยใช้สถานการณ์และกฏหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือ


ดังนั้น วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรหาแนวทางแก้ไขหาทางออกที่เหมาะสม แต่อย่าลืมว่าผู้ได้รับผลกระทบที่สำคัญคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งภาครัฐควรคำนึงถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยให้คนงานเข้ามามีส่วนร่วมทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย มิฉะนั้น นายทุนก็จะฉวยโอกาสอ้างวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่เห็นและเป็นอยู่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net