สืบพยานวันสุดท้ายคดี "ปธ.สร.ไทรอัมพ์" ศาลนัดตัดสิน 27 พ.ย.นี้

ความคืบหน้าการพิจารณาคดีเลิกจ้างระหว่างบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในเครื่องหมายการค้าไทรอัมพ์ กับนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งบริษัท บอดี้แฟชั่น กล่าวหาว่า การที่ น.ส.จิตรา สวมเสื้อที่พิมพ์ข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรมออกรายการ "กรองสถานการณ์ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง

 

วันที่19 พ.ย.ที่ศาลแรงงานกลาง จ.สมุทรปราการ ศาลสืบพยานผู้คัดค้าน 6 ปาก ได้แก่ นายชัช กิตติพงศ์ ทนายผู้คัดค้าน นางสาวศรีไพร นนทรีย์ เจ้าหน้าที่เลขานุการกลุ่มงานเยาวชนคนงานแห่งประเทศไทย นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสุริชัย หวันแก้ว รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวจิตรา คชเดช ผู้คัดค้าน และนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร นักวิจัยด้านสื่อสารมวลชน โดยมีสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวมถึงนักกิจกรรมด้านแรงงาน เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนด้วย รวมประมาณ 35 คน ใช้เวลาตั้งแต่ 9.30-15.00น.

 

สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า ได้ติดตามประเด็นของจิตราบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. โดยเนื้อหาที่พันธมิตรฯ กล่าวถึง นั้นบ่งชี้ว่าจิตราอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อร่วมกันดูหมิ่นสถาบันฯ และให้คว่ำบาตรสินค้าไทรอัมพ์ ซึ่งเขาเห็นว่า สังคมได้แตกเป็นสองขั้วและสุดโต่ง จนถึงขนาดเชื้อเชิญให้ใช้ความรุนแรง การใช้อารมณ์เช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม แม้ว่าบริษัทจะมีสิทธิรักษาชื่อเสียง แต่การเลิกจ้างด้วยเหตุนี้เป็นการด่วนสรุปเกินไป ก่อนการเลิกจ้างควรสอบให้กระจ่างและทำด้วยความรอบคอบ หากเห็นว่าสื่อใดทำถูกหรือไม่ถูก ก็น่าจะเรียกร้องให้สื่อนั้นๆ นำเสนอให้ถูกต้อง เพราะสื่อที่ดีก็มี ไม่ดีก็มี บริษัทควรทำให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อรักษากำลังใจของพนักงานด้วย

 

สุริชัย กล่าวว่า รู้จักกับผู้คัดค้านมาเป็นเวลา 2 เดือน โดยได้พานักวิชาการไปให้กำลังใจในการชุมนุม เนื่องจากไม่อยากเห็นคนเล็กคนน้อย ถูกดึงเข้าไปในขั้วการเมืองแบบสุดโต่ง

 

ทนายโจทก์ได้ซักค้านว่า ทราบความหมายของข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ว่าอย่างไร นายสุริชัย กล่าวว่า วรรคแรกนั้นต้องพิจารณาว่าถูกหรือไม่ ส่วนวรรคที่สอง เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมประชาธิปไตย

 

ศาลได้ถามว่า การใส่เสื้อตัวดังกล่าวออกทีวีเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ นายสุริชัยตอบว่า เป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ

 

จิตรา คชเดช ผู้คัดค้าน เบิกความว่า การออกรายการกรองสถานการณ์ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นั้น ได้รับเชิญจากนายอดิศักดิ์ ศรีสม ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทเป็นผู้แนะนำให้สัมภาษณ์ตนซึ่งสนใจในประเด็นปัญหาของสิทธิสตรี ทั้งนี้ระหว่างออกรายการไม่มีการแจ้งว่ามีคนโทรมาต่อว่าแต่อย่างใด

 

ส่วนเสื้อตัวดังกล่าวได้ซื้อจากนายเทวฤทธิ์ นักศึกษาซึ่งสนใจประเด็นเรื่องแรงงาน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.โดยเทวฤทธิ์ได้ให้ข้อมูลว่า กำไรจากการขายเสื้อ นำไปช่วยจ้างทนายความและประกันตัวนักศึกษาที่ถูกทำร้ายร่างกายในโรงหนัง และถูกแจ้งความจับ

 

จิตรา ได้เบิกความว่า ไม่เคยมีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นที่พยานโจทก์ได้เบิกความไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งยังกล่าวว่า พนักงาน 4 คนที่มาเบิกความนั้นอยู่ในฝ่ายบริหาร ซึ่งให้คุณให้โทษตนเองซึ่งอยู่ฝ่ายผลิตได้ อีกทั้งยังไม่ใช่วิสัยของตนที่จะพูดคุยกับฝ่ายบริหารด้วย

 

ส่วนสาเหตุที่พยานทั้ง 4 ปากเบิกความเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมา ตนเองและสหภาพฯ มีความขัดแย้งกับพยานทั้ง 4 คนซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหารมาตลอด โดยการเรียกร้องของสหภาพฯ ทั้งเรื่องการเรียกร้องให้รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน การร้องเรียนเรื่องคุณภาพของรถรับส่ง การให้นาทีคูปองพนักงาน นั้นล้วนแต่ประสบความสำเร็จ ทำให้พยานแต่ละคนไม่พอใจ

 

ทั้งนี้ จิตรายังเปิดเผยด้วยว่า ในการชุมนุมของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสหภาพฯ ซึ่งจัดในบริเวณบริษัท โดยมีพยานทั้ง 4 เป็นแกนนำนั้น มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ระหว่างที่สหภาพฯ ผละงานชุมนุมหน้าบริษัท ยังมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีตลอดทั้งวัน เพื่อให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้นยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนดู ซึ่งเป็นการพยายามดึงสถาบันฯ มาเกี่ยวข้อง

 

ศาลได้ถามถึงช่วงที่มีการรณรงค์ให้ใส่เสื้อ (ก่อนหน้านี้พยานฝ่ายโจทก์เบิกความ เกี่ยวกับการที่บริษัทรณรงค์ให้พนักงานใส่เสื้อเหลืองและดำ - ประชาไท) เหตุใดจึงไม่ใส่ จิตรา ตอบว่าใส่เป็นประจำ เมื่อศาลถามว่ามีการบันทึกภาพไว้หรือไม่ จิตราตอบว่า ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เพราะในโรงงานห้ามถ่ายและไม่มีกล้อง

 

จิตรา เบิกความว่า ที่บริษัทบอกว่าเสียหายนั้น หากเสียหายจริง ต้องมีหลักฐานเอกสารมายืนยัน ด้านทนายโจทก์ซักค้านว่า หากยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เสียหาย ก็ควรมีหลักฐานมาแสดง น.ส.จิตรา ตอบว่า ไม่ได้อยู่ฝ่ายการเงินจึงไม่สามารถหาหลักฐานได้ อย่างไรก็ตาม เคยสอบถามพนักงานขายซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพฯ จำนวน 200 คนว่ามีใครมาต่อว่าหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี

 

ด้านนวลน้อย ธรรมเสถียร นักวิจัยด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ทำสื่อและปัจจุบันก็ยังทำอยู่ จะไม่วิเคราะห์ว่า จิตราเป็นส่วนหนึ่ี่่งของขบวนการล้มล้างสถาบันฯ และให้ต่อต้านการใช้สินค้าไทรอัมพ์ เนื่องจากการเขียนข่าวต้องมีข้อมูลหนุนชัด อย่างน้อยที่สุดต้องสอบถามผู้คัดค้านก่อน ว่ามีความเห็นอย่างไรจึงใส่เสื้อ และเกี่ยวข้องกับคนอื่นที่ระบุไหม ทั้งนี้เห็นว่าผู้ที่เขียนไม่มีหลักฐานนอกจากการใส่เสื้อดำหนึ่งตัว ซึ่งเรื่องนี้สื่อต้องรับผิดชอบที่การสร้างความเกลียดชังที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามมา และถูกเอามาใช้ทางการเมือง

 

ทนายโจทก์ถามว่า หากให้ใส่เสื้อตัวดังกล่าวออกทีวีจะใส่หรือไม่ นวลน้อยกล่าวว่า ในฐานะสื่อสารมวลชน ตนเองจะไม่ใส่เสื้อในการรณรงค์ใดๆ ทั้งสิ้น

 

ศาลถามว่า ในฐานะสื่อเห็นด้วยหรือไม่หากมีผู้ัใส่เสื้อดังกล่าวออกทีวีและคิดว่าประชาชนจะเห็นอย่างไร นวลน้อยตอบว่า ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

 

อนึ่ง ศาลได้นัดฟังคำตัดสินวันที่ 27 พ.ย. เวลา 9.00น. ที่ศาลแรงงานกลาง จ.สมุทรปราการ

 

 

 

.................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไต่สวนพยาน คดีเลิกจ้าง ปธ.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เหตุใส่เสื้อไม่ยืนฯ ทำ บริษัทเสียชื่อ

ไต่สวนต่อ คดีปธ.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ พนง.สอบสวนให้การความคืบหน้าคดีไม่ยืนในโรงหนัง - 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท