ไต่สวนพยาน คดีเลิกจ้าง ปธ.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เหตุใส่เสื้อไม่ยืนฯ ทำ บริษัทเสียชื่อ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เวลา 9.30 น.ศาลแรงงานกลาง จ.สมุทรปราการ พิจารณาคดีนัดแรกในคดี เลิกจ้างระหว่าง บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กับนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

 

สืบเนื่องจากการที่ บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อาศัยอำนาจศาลแรงงานซึ่งอนุญาตเลิกจ้าง น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ด้วยเหตุผลที่ น.ส.จิตรา สวมเสื้อที่พิมพ์ข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรมออกรายการ "กรองสถานการณ์ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. โดยให้เหตุผลว่า ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ซึ่งต่อมา พนักงานบริษัทซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพฯ กว่า 3,000 คน ได้ผละงานชุมนุมหน้าโรงงาน เป็นเวลา 46 วันเพื่อเรียกร้องให้รับ น.ส.จิตรากลับเข้าทำงาน โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันว่า กรณีการรับ น.ส.จิตรากลับเข้าทำงานจะปฎิบัติตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงาน และยืนยันว่าจะเคารพและปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาล

 

โดยหลังจาก น.ส.จิตรา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง จ.สมุทรปราการ เพื่อขอให้มีการไต่สวนคดีที่นายจ้างขอคำสั่งศาลเลิกจ้างใหม่ ศาลได้สั่งให้มีการรื้อพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ผ่านมาไปยังที่อยู่เก่า ซึ่งได้ย้ายออกตั้งแต่ปี 2546 แล้ว ทำให้ผู้คัดค้านคือ น.ส.จิตราไม่ได้มีโอกาสรับทราบและต่อสู้คดี

 

โดยในวันที่ 17 และ 18 พฤศจิกายน 2551 เวลา 9.00 - 16.00 น ศาลให้นัดสืบพยานผู้ร้อง (นายจ้าง) ส่วนวันที่ 19และ 20 พฤศจิกายน 2551 ในเวลาเดียวกันให้นัดสืบพยานผู้คัดค้าน

       

การพิจารณาวานนี้ เป็นการสืบพยานนายจ้าง 5 ปาก โดยพยานมีตำแหน่งผู้จัดการแผนกบุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการจัดการ ผู้ช่วยฝ่ายปฎิบัติการและเลขานุการ ผู้จัดการฝ่ายผลิต และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล โดยพยานทั้ง 5 ให้การว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับ น.ส.จิตราเป็นการส่วนตัว รวมถึงไม่มีปัญหากับข้อเรียกร้องที่ผ่านมาของสหภาพฯ ที่พยานแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ในเรื่องให้รับพนักงานกลับเข้าทำงาน เรื่องรถรับส่งพนักงาน เรื่องชุดทำงาน เรื่องการก่อสร้างชั้นวางของให้แก่พนักงาน เรื่องการจัดงานพักและท่องเที่ยวประจำปี

 

ผู้จัดการแผนกบุคคล ซึ่งเบิกตัวเป็นพยานให้การว่า น.ส.จิตรา มีการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่างกรรมต่างวาระ รวมถึงเคยลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ จากการรับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ทราบว่า น.ส.จิตรา รู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ซึ่งถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ รวมถึงมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ด้วย โดยพยานได้อ้างอิงพยานเอกสารจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ อาทิ รายการยามเฝ้าแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 เม.ย.51 การตั้งกระทู้ถามในสภา โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.51 ทำให้เชื่อว่า น.ส.จิตราตั้งใจสวมเสื้อตัวดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการกระทำของนายโชติศักดิ์ ซึ่งทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยถูกประชาชนต่อว่าและกดดันให้ปลด น.ส.จิตรา โดยการขู่คว่ำบาตรสินค้า

 

นอกจากนี้ ได้มีการใช้พยานวัตถุซึ่งเป็นวิดีโอ ระบุว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของสหภาพฯ ในช่วงที่สหภาพแรงงานฯ ผละงาน กรณีเลิกจ้าง น.ส.จิตรานั้น มีการปราศรัยโจมตีศาลแรงงาน ที่หน้าบริษัท โดยนายใจ อึ๊งภากรณ์ซึ่งอาจเข้าหมิ่นอำนาจศาล ซึ่งกรณีนี้ ศาลกล่าวว่า อาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นศาล คงต้องปรึกษาอธิบดีก่อน

 

ต่อมาทนายจำเลยถามถึงผลกระทบจากการใส่เสื้อตัวดังกล่าว ผู้จัดการแผนกบุคคลให้การว่า บริษัทสูญเสียรายได้จากการขายสินค้าในประเทศ 20% ทั้งนี้รายได้ทั้งหมดของบริษัทมาจากการขายสินค้าต่างประเทศ 70% และรายได้จากการขายสินค้าภายในประเทศ 30%

 

ทนายจำเลยถามว่า เมื่อมีการโจมตีบริษัทผ่านสื่อเครือผู้จัดการและเวทีพันธมิตรฯ ทางบริษัทได้ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว หรือดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ดำเนินการอะไร และว่า เครือผู้จัดการเพียงแต่เอาข้อเท็จจริงมาลงเท่านั้น คนที่วิจารณ์ต่อคือประชาชน  

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการจัดการให้การว่า น.ส.จิตรา มีการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่างกรรมต่างวาระ นอกจากนี้ยังไม่สวมเสื้อสีเหลืองในวันจันทร์ตามที่บริษัทขอความร่วมมือ รวมถึงไม่แต่งดำ เมื่อมีการรณรงค์ไว้ทุกข์ 15 วัน เพื่อไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งจากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่า น.ส.จิตราตั้งใจสวมเสื้อตัวดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังทราบมาว่าเสื้อรณรงค์ดังกล่าวอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย

 

ต่อมา ทนายจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์ว่า คิดว่าการที่ใครไม่ใส่เสื้อสีเหลืองแปลว่าไม่จงรักภักดีใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาได้กล่าวว่า ไม่ต้องการความเห็น ต้องการเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น

 

สำหรับการสืบพยานนายจ้างนั้น สิ้นสุดในเวลาประมาณ 16.00น. โดยศาลได้นัดสืบพยานนายจ้างอีก 1 ปาก ในวันนี้ (18 พ.ย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท