Skip to main content
sharethis


ปาฐกถานำ ในหัวข้อ "การพัฒนาแม่น้ำโขงในแง่มุมสิทธิมนุษยชน" โดย ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ในเวทีสาธารณะแม่น้ำโขง การประชุมนานาชาติ เรื่อง "เขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก-เสียงประชาชนข้ามพรมแดน" ร่วมจัดโดยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแม่น้ำโขงทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขงและนานาชาติ ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ย.51

 


ศ.เสน่ห์กล่าวเสนอเป็นข้อคิดเพื่อการวางแนวทางในการดำเนินการวางแผนเพื่อการต่อสู่ต่อสู้ในอนาคตว่า


 


จะขอลำดับการเสนอออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดในประเด็นย่อยๆ โดยประการแรกก็จะเสนอข้อคิดเบื้องต้นในการที่จะทำความเข้าใจกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บางที่เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชน มักจะพูดหรือคิดกันเสมือนหนึ่งว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องของสากล ไม่มีปัญหา ไม่มีการเมือง ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มีอยู่เต็มไปหมด และในสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสถานะที่เป็นจริงของบรรดาองค์การ สถาบัน ด้านเศรษฐกิจการเมืองต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ


 


ประเด็นที่สองจะชวนพิจารณากรณีการพัฒนาแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นประเด็นหลักสืบต่อมา และประเด็นที่สามขอหยิบยกประเด็นที่น่าเป็นการอภิปราย ประกอบการที่จะร่วมกันวางแนวทางที่จะได้ปฏิบัติต่อไป


 


 


ข้อคิดเบื้องต้นในการที่จะทำความเข้าใจกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน


ประเด็นแรก มีข้อสังเกตเบื้องต้น อันแรกเป็นเรื่องของสัจธรรมความเป็นจริงว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่บัญญัติโดยตัวบทกฎหมายหรือว่าอะไรต่างๆ แต่ความจริงแล้วเป็นผลของการต่อสู้ของกลุ่มผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีกติกา สัญญา หรืออะไรก็ตาม แต่จริงๆ แล้วความจำเป็นในการต่อสู้ยังต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อให้บรรดากติกา สัญญาต่างๆ เหล่านี้ได้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง


 


ในประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตลอดหกเจ็ดที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญที่สวยสดงดงามเมื่อปี 2540 หลังพฤษภาทมิฬ มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิไว้อย่างมากมาย ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ว่าเกือบจะไม่มีมาตราใดเลยที่ผลบังคับในทางปฏิบัติ นี่เป็นคำถามที่จะต้องมาคิดกันเวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการต่อสู้ก็เป็นการกระบวนการที่อาจจะต้องคงอยู่ตลอดไป นอกจากจะเป็นการต่อสู่เพื่อให้เกิดการรับรู้รับรองสิทธิแล้ว ก็ยังเป็นการต่อสู้เพื่อจะต้องให้เกิดผลบังคับในชีวิตที่เป็นจริงด้วย ในขณะเดียวกัน


 


อันที่สอง คือ สิทธิมนุษยชนในกรอบ ต้องเข้าใจว่าในขณะนี้เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องที่ยอมรับรู้รับรองโดยทั่วไป แต่ความจริงแล้ว ระบบสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันมันอยู่ภายใต้กรอบจำกัดของที่สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบรัฐประชาชาติ" ระบบสิทธิอธิปไตยเด็ดขาดของชาติ ของรัฐ สืบเนื่องจากนั้นก็มีระบบกฎหมายที่บังคับใช้โดยเด็ดขาดจากศูนย์อำนาจรัฐด้วย และนอกจากนั้นในกรอบของรัฐประชาชาติก็ยังอยู่ภายใต้ของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ลัทธิอุดมการณ์โลกในเรื่องของระบบรัฐซึ่งตกอยู่ภายใต้ของระบบของทุนนิยม ซึ่งยึดถือหลักเศรษฐกิจเสรี ตลาดเสรี แล้วการค้าเสรี


 


ข้อสังเกตนี้ไม่ได้เป็นของใหม่เลย จิตร ภูมิศักดิ์ ได้พูดไว้หลายสิบปีแล้วว่า "รัฐประชาชาติ" ที่ก่อกำเนิดขึ้นมานี้ ก่อกำเนิดอยู่ภายใต้ของระบบทุนนิยม ภายใต้กรอบนี้จึงทำให้หลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งโดยหลักการแล้ว เป็นหลักการที่ว่าสิทธิหลายๆ ประเภท หลายๆ กลุ่ม มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และไม่อาจที่จะแตกแยกออกจากกันได้ แต่ภายระบบรัฐประชาชาติทุนนิยมสิทธิมนุษยชนถูกกลายเป็นหลักการที่ถูกแยกส่วน และในเรื่องกรณีของแม่น้ำโขงก็เช่นกัน เป็นหลักการที่สิทธิมนุษยชนนั้นอยู่ในฐานะที่ถูกแยกส่วน ไม่ใช่ความเป็นสากล หรือไม่ใช่เป็นเรื่องของหลักการที่เป็นองค์รวมอย่างแท้จริง


 


และสุดท้ายข้อสังเกตก็คือว่า ในช่วงพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ที่มี "ปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ในปี 1948 หรือ พ.. 2491 จนถึงบัดนี้ เป็นเวลา 60 ปีเศษ ได้มีพัฒนาการมากมาย เริ่มตั้งแต่ปฏิญาณสากล และจำแนกไปเป็นกติกา สัญญา อนุสัญญาต่างๆ จนมาถึงปัจจุบันที่มีการได้มาซึ่งปฏิญญาสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะนำออกมาพูดประกอบในการพิจารณาเรื่องแม่น้ำโขง คือ "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิประชาชาติท้องถิ่นดั้งเดิมแห่งสหประชาชาติ" (มีการจัดทำตัวบททั้ง ภาษาอังกฤษ และแปลภาษาไทยที่ไม่เป็นทางการ เป็นเอกสารประกอบการประชุม) เป็นเอกสารที่อยากจะให้พี่น้องโดยเฉพาะจากชุมชนรากหญ้าทั้งหลายได้นำเอาเอกสารฉบับนี้ซึ่งเป็นปฏิญญาเพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ หลังจากการต่อสู้ของกลุ่มภาคประชาสังคมที่ลาตินอเมริกา 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเพิ่งจะได้รับสัตตะยาบันโดยสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปีเศษมานี้เอง อยากให้เป็นคู่มือในการที่จะเดินเรื่องของกรณีการพัฒนาแม่น้ำโขงต่อไป


 


ถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ แต่ข้อสังเกตคือ เมื่อพูดถึง "เอกสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" ต้องแยกแยะ คือ เมื่อเป็นปฏิญญาแปลว่าไม่มีผลบังคับใช้ เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ การเข้าไปเป็นส่วนในการให้ความเห็นชอบต่อหลักการต่างๆ แต่เมื่อปฏิญญาที่ว่านี้จำแนกออกมาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เรียกว่าระดับของกติกาสัญญาระหว่างประเทศหรือเป็นอนุสัญญาก็ตาม กติกาสัญญานั้นจะมีผลบังคับต่อเมื่อประเทศสมาชิกนำเอากติกานั้นมาออกกฎหมายภายในให้เกิดผลบังคับ ใครก็ตามที่ลงนามเป็นสมาชิกก็มีพันธะในการออกกฎหมายภายในให้เป็นไปตามนั้น


 


ข้อสังเกตต่อมาคือ เมื่อปฏิญาณสากลฯ ปี 1948 แยกออกมาเป็น 2 ชุด คือกติกาสัญญาว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิทางการเมือง กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันไม่ให้การรับรู้รับรองกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันนี้เป็นตัวอย่าง ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นได้ว่า "สิทธิ" เป็นระบบที่ถูกแยกส่วนจากอำนาจรัฐาธิปัตย์ที่จะต้องให้ความยินยอมเข้าเป็นสมาชิกของกติกาสัญญาที่เกี่ยวข้อง


 


"จริงๆ แล้วสถานการณ์มนุษยชนไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะยอมรับ เข้าใจง่ายๆ แต่ว่ามันมีความสลับซับซ้อน ยอกย้อน เพื่อที่เราจะได้ดูปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง" ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าว


 


 


แง่มุมสิทธิมนุษยชนต่อกรณีการพัฒนาแม่น้ำโขง


ศ.เสน่ห์กล่าวประเด็นใหญ่ที่สองในข้อพิจารณาเรื่องกรณีพัฒนาแม่น้ำโขงว่า ความจริงการพัฒนาแม่น้ำโขงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นในอีกหลายกรณีด้วยกัน ที่เป็นการสะท้อนถึงโครงการที่ตกอยู่ภายใต้นโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งก่อผลกระทบ บั่นทอนทำลายทั้งชีวิต ระบบนิเวศ โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ในภูมิภาคอันเป็นฐานทรัพยากรป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้หยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในขณะนี้


 


เป็นแต่เพียงว่าในกรณีของแม่น้ำโขงนั้นเป็นกรณีที่ไม่ใช้เกิดภายในขอบข่ายของรัฐประชาชาติ แต่เป็นฐานทรัพยากรข้ามชาติ เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อประชาชนรากหญ้ากับนิเวศน์ จึงเป็นภาคประชาชนและระบบนิเวศน์ที่เป็นลักษณะข้ามชาติ นี่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญ และจะเห็นได้ว่าจากปฏิกิริยาของภาคประชาชนระดับรากหญ้าตรงนี้ ซึ่งในขณะนี้ช่วงเวลาของการต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเป็นเรื่องของประชาชาติ ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งสอดคล้องกับสถานการของเรื่องแม่น้ำโขงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้


 


เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาของชุมชนชาวบ้านจึงมีลักษณะที่ค่อนข้างมีการเรียนรู้ที่แลกเปลี่ยนและก็ประสานงานกันมากขึ้น ดังเช่นการเสวนาในวันนี้ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนามากมาย จากหลายๆ ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย พม่า เพราะฉะนั้นกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีชะตากรรมตรงกัน ที่จะต้องร่วมกันต่อต้านกรณีของการพัฒนาแม่น้ำโขง จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีลักษณะพิเศษ เป็นมิติใหม่ของปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน


 


จากที่พูดมาแล้วภายใต้กรอบของรัฐประชาชาติ ตรงนี้จึงเป็นปัญหาว่าแต่ละประเทศโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีหลักของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแม่น้ำโขง ก็จะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายก็ถือขีดเส้นแดนของใครของมัน ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา


 


ศ.เสน่ห์กล่าวถึงข้อเสนอของ อาจารย์วิทิต มัณตราภรณ์ ในการสัมมนากลุ่มย่อยในวันที่ 11 พ.ย.51 ว่า จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายระหว่างประเทศให้ใส่เรื่องของสิทธิของชุมชนชาวบ้านรวมเข้าไปด้วย การออกนโยบาย หรือการสร้างโครงการต่างๆ ที่กระทบอย่างนี้แล้วจะต้องกำหนดให้มีการรับทราบข้อมูล ความเห็นชอบของชุมชนชาวบ้าน ตรงนี้เป็นหลักการเดียวกับที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทั้งในฉบับปี 2540 และปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ อันนี้เป็นปัญหาช่องว่างในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิด


 


ประเด็นน่าสนใจที่มีการนำเสนอกันเมื่อวานนี้ ขอเอ่ยชื่อ คุณนิวัตน์ ร้อยแก้ว ที่ร่วมประชุมกลุ่มเสวนาได้เสนอว่า ในกรณีการต่อสู้ของชุมชนชาวบ้านจากรัฐต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีการจัดตั้ง "สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง" อันนี้น่าสนใจมาก หมายความว่าเริ่มมีความคิดที่จะให้บรรดาประชาชนจากประเทศต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้แต่ละคนอยู่ภายใต้แต่ละดินแดนของแต่ละประเทศ แต่ตอนนี้มีความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเราจะต้องปัญหาประเด็นข้ามชาติ โดยประสานผนึกกำลังของประชาชนจากประเทศต่างๆ รวมเป็น "สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง"


 


ศ.เสน่ห์กล่าวถึงภาพยนตร์ที่คุณสุภาพ พาสอ๋อง ทำให้ UNDP และนำมานำเสนอในเวทีประชุมว่า มีตอนหนึ่งน่าสนใจมาก โดยกล่าวว่า นอกจากประชาชนต้องรวมกันเป็นสภาประชาชนหรืออะไรต่างๆ แล้ว ก็ต้องให้ประชาชนนั้นได้มีการศึกษา แล้วก็จัดการทรัพยากรเอง ตรงนี้คิดว่าอยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมีตัวอย่างผลการวิจัยที่มาจากความพยายามของชาวบ้านปากมูล


 


ข้อเสนอในการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงก็ดี หรือให้ประชาชนมีการศึกษาหาความรู้ ศึกษาเอง วิจัยเอง แล้วก็พัฒนาความสามารถที่จะจัดการอะไรต่ออะไรเอง เป็นประเด็นที่คิดว่าอยากจะนำเสนอในที่นี้ เพื่อจะได้นำเอามาพิจารณาว่าถ้าเป็นอย่างนี้ คงจะมองเห็นเป้าหมาย จุดหมายปลายทางว่า การมาร่วมเสวนา การมาประสานความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ ยังควรจะต้องมีการประสานงานเพื่อให้เกิดปฏิบัติการ จึงขอเสนอในที่ประชุมเพื่อเป็นข้อพิจารณาในการประชุมต่อๆ ไป เพื่อก่อให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง และบังเกิดผลที่เป็นจริงขึ้น


 


"การที่เราจะมีกติกา สัญญา อะไรต่างๆ เหล่านี้มันจะไม่เกิดผลในทางชีวิตที่เป็นจริงเลยถ้าหากว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่เข้ามารวมตัวแล้วก็ปฏิบัติ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและสิทธิประโยชน์ของตัวเองอย่างแท้จริง" ศ.เสน่ห์กล่าว


 


สุดท้ายเป็นประเด็นที่อยากนำเสนอคือ ตลอดระยะเวลา 300 ปีเศษที่มีการก่อตั้ง "รัฐประชาชาติ" หรือ "Nation stage" ความจริงหากดูตามประวัติศาสตร์เหตุผลในการก่อตั้งรัฐประชาชาติ จะเห็นว่าเป็นเพื่อรวบรวมแค้วนต่างๆ ซึ่งรบราฆ่าฟันกันให้เกิดความเป็นปึกแผ่น แล้วก็มีทฤษฎีที่เป็นผลจากการก่อตั้งรัฐประชาชาติขึ้นมา คือว่าในทฤษฎีหรือเป้าหมายเพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า "ความมั่นคงของรัฐ" หรือ "Stage Security" แต่มาบัดนี้รัฐประชาชาติที่ได้ตั้งขึ้นเพื่อสนองตอบการแก้ไขปัญหาในอดีตสองสามร้อยปีที่ผ่านมานั้น ได้กลายเป็นองค์กร เป็นสถาบันรับที่เริ่มเข้าไปบั่นทอนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


เพราะฉะนั้นปัญหาในยุคปัจจุบันจึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของความมั่นคงของรัฐอีกต่อไป แต่ปัญหาความมั่นคงในอีกมิติหนึ่งกำลังเกิดขึ้นมา เป็นปัญหาที่เรียกว่า "ความมั่นคงของมนุษย์" หรือ "Human Security" ที่พูดกันมากในขณะนี้ ในขณะนี้ "Stage Security" และ "Human Security" กำลังขัดแย้งกัน


 


"ผมไม่ได้เสนอให้เลิกล้ม "Nation stage" หรือ "รัฐประชาชาติ" ผมไม่อาจเสนออย่างนั้นได้ เพราะมันเป็นเรื่องหนทางไกลเหลือเกิน แล้วก็ "รัฐประชาชาติ" ก็มีเหตุผลในตัวของมันเอง แต่ว่าในขณะนี้ความชอบธรรมของรัฐประชาชาติเริ่มเสื่อมไปเพราะเหตุที่กลายเป็นรัฐซึ่งไปบั่นทอนทำลายสิทธิและความสงบสุขของประชาชน ซึ่งรวมเรียกว่าความมั่นคงของมนุษย์" ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวถึงประเด็นที่อยากให้มีการนำมาเสวนากัน


 


เวลาพูดถึงเรื่องแม่น้ำโขงจะพบว่ามีประเด็นที่จะต้องพิจารณามากมาย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคอนเซ็ปท์หรือหลักคิดต่างๆ เวลาที่พูดถึงรัฐ ประเทศ หรือความมั่นคงของรัฐ มักจะถือว่านั่นเป็นสัจจะธรรมที่เป็นเหตุผลในตัวของมันเอง แต่ในความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ก่อตั้งด้วยผลในทางประวัติศาสตร์ และมาบัดนี้ด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ก็เริ่มส่งผลในเชิงลบกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ หรือของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีของการพัฒนาแม่น้ำโขง คือมีผลกระทบต่อประชาชนรากหญ้าในหลายๆ ประเทศรวมกัน


 


"ในการที่เราจะต่อสู่ในเรื่องนี้คงต้องมีการประเมิน คำถามก็คือจะทำอย่างไรจึงจะประสานในเรื่องความมั่นคงของรัฐซึ่งมันก็มีประโยชน์ มีเหตุผลในตัวของมันเอง ว่าจะทำให้อย่างไรให้ความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพ และความปกติสุข สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ" ศ.เสน่ห์กล่าวถึงประเด็นที่สอง ในข้อพิจารณาเรื่องการพัฒนาแม่น้ำโขง พร้อมกล่าวว่าในที่นี้คงจะไม่ได้เอาเรื่องแม่น้ำโขงขึ้นมานำเสนอโดยตรง แต่ในส่วนนี้จะเป็นปัจจัยประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องหาคำตอบ ซึ่งจะเป็นคำตอบที่นำไปสู่การวางแผนปฏิบัติการที่รอบคอบ และก็สนองต่อปัญหาที่กำลังที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง


 


 


ประเด็นที่นำเสนอเพื่อให้มีการอภิปรายต่อไป


ศ.เสน่ห์กล่าวในประเด็นสุดท้ายว่า ประเด็นที่น่าจะมีการอภิปราย คือ เรื่องของ "ระบบรัฐประชาชาติ" ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่นำเสนอในวันนี้ ซึ่งคงจะต้องนำมาประเมินถึงปัญหาความชอบธรรมของรัฐประชาชาติให้ถ่องแท้ขึ้น และมีคำถามว่า ทำอย่างไรที่จะเอาเรื่องของสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนที่จะถ่วงดุลเพื่อสร้างความชอบธรรมในมิติใหม่ ในยุคใหม่ของรัฐประชาชาติ พูดง่ายๆ คือว่า ในขณะที่รัฐประชาชาติเกิดมาในยุคของปัญหาความมั่นคง ปัญหาความเป็นปึกแผ่น มาบัดนี้ "รัฐประชาชาติ" กำลังเข้ามาสู่ยุคของ "สิทธิมนุษยชน"


 


ในประเด็นย่อยที่หนึ่ง ศ.เสน่ห์กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยชอบพูดถึงตัวอย่างของประชาธิปไตยที่นั้นที่นี่ ทั้งหลายนั้น แต่ในความจริงแล้วประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่จะต้องนำเอาเรื่องของสิทธิมนุษยชนมาประกอบกันด้วย ตัวอย่างเช่นในปัจจุบันที่สังคมไทยมีปัญหา มักจะเน้นเรื่องกลไกการเลือกตั้ง เสียงข้างมาก แต่ความจริงแล้วสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ คือ สิทธิมนุษยชนก็เป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะในรูปของรัฐประชาชาติ และจะทำอย่างไรเพื่อจะประสานทั้งสองสิ่งให้สอดคล้องกัน


 


ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือว่าประชาธิปไตยตะวันออกนั้นนำเอาลัทธิอุดมการณ์เศรษฐกิจ ตลาดเสรีเข้ามาขยาย แสวงประโยชน์ในประเทศโลกที่สาม ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และการบั่นทอนทำลายสิ่งที่เรียกว่า "บูรณภาพฐานทรัพยากร" ในภูมิภาคนี้


 


ประเด็นที่สองคือ ปัญหาเรื่อง "กระบวนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง" โดยสิ่งที่คุณนิวัตน์เสนอ "สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง" หรือเรื่องที่คุณสุภาพเสนอให้ประชาชนมีการศึกษาเองจัดการเองก็ดี เป็นประเด็นที่มีนัยยะสำคัญอย่างมากที่จะมีส่วนในกระบวนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยเอาฐานประชาชนรากหญ้าขึ้นมามีสิทธิมีเสียงในการกำหนด และการตัดสินใจต่างๆ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปอันนี้เป็นการปฏิรูปให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มาจากบทบาทของภาคประชาชน


 


ความจริงรัฐธรรมนูญพูดเสมอในเรื่องการมีส่วนร่วม ทั้งมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสาร ข้อมูล ฯลฯ แต่ว่าตรงนี้ เป็นกระบวนการปฏิรูปที่จะนำสู่การให้ภาคประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบาย โครงการที่จะเกิดขึ้นด้วย และตรงนี้เป็นการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรที่สภาประชาชนลุ่มน้ำโขงก็ดี อะไรก็ดี จะมีบทบาทในการที่จะเรียนรู้และมีส่วนในการตัดสินใจว่าการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงนั้นควรจะเป็นไปอย่างไร


 


ประการที่สาม คือ ในความสำคัญระหว่างปัญหาภาคประชาชนภาคประชาสังคมที่ร่วมกันเสวนาในขณะนี้ควรจะมีอย่างไร ในมิติของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง


 


และสุดท้ายประเด็นซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ได้พูดถึงบ่อยๆ และพยายามย้ำถึงความสำคัญของนิเวศน์ของทรัพยากรในภูมิภาคแห่งนี้ของโลก ความเป็นจริงก็คือทรัพยากรธรรมชาติ นิเวศน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิภาคฐานทรัพยากรป่าเขตร้อนของโลก"


 


ท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้คงจะทราบดีว่า เมื่อพูดถึงป่าเขตร้อนของโลกนั้นมีอยู่น้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 7 ของแผ่นดินโลก แต่เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากของทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวะภาพ และภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งแปลงมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในยุคปัจจุบัน การบั่นทอนทำลายระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติในเขตร้อนมีผลกระทบอย่างมากต่อเรื่องของวิกฤตโลกในปัจจุบัน คือ วิกฤตโลกร้อน


 


เวลามีการพูดถึงวิกฤตการณ์โลกร้อน มักจะพูดถึงบทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม ที่มีการใช้พลังงานมากและส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ว่าจริงๆ แล้วในอีกซีกหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก คือ การทำลายป่าเขตร้อนในภูมิภาคแถบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของวิกฤตโลกร้อนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


นี่เป็นทั้งหมดที่อยากจะได้นำเสนอให้ได้พิจารณา และมีประเด็นมากมายหลายประการที่อยากให้กรองและนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการร่วมพลังเพื่อการต่อสู้ในกรณีการพัฒนาแม่น้ำโขงต่อไป


 


 


หมายเหตุ: เรียบเรียงโดยพิชญ์ รัฐแฉล้ม และธวัชชัย ชำนาญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net