ชงรื้อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ สกัดเลิกจ้างแกนนำตั้งสหภาพ

17 .. 51 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ย. กระทรวงแรงงานจะเสนอขอความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เนื่องจากกระทรวงแรงงานเห็นว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์และสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้นเหตุให้มีการเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปี 2550 ต่อรัฐบาล โดยสภาองค์การลูกจ้างจำนวน 11 แห่ง จึงเห็นควรแก้ไขในบทบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการเจรจาต่อรองและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมการแก้ไขข้อขัดแย้งและการยุติข้อพิพาทด้วยระบบบทวิภาคี โดยกำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์การแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้แจ้งข้อเรียกร้องภายใน 60 วันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง เมื่อได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ให้ฝ่ายที่รับข้อเรียกร้องแจ้งชื่อผู้เข้าร่วมเจรจาเป็นหนังสือแจ้งให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทราบโดยไม่ชักช้า และให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาหาทางตกลงกันภายใน  5 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง โดยให้นับระยะเวลาเป็นชั่วโมง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีที่ไม่มีการเจรจากันภายในกำหนดเวลาหรือเจรจาแล้วตกลงกันไม่ได้ถือว่า เกิดข้อพิพาทแรงงานขึ้นแล้ว ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดระยะเวลาหรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานต้องเริ่มดำเนินการไกล่เกลี่ยภายใน 5 วัน เพื่อให้ฝ่ายแจ้งและฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันภายใน 15 วัน และกำหนดให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องสามารถร่วมกันทำเป็นหนังสือแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานให้ยุติการไกล่เกลี่ยเพื่อกลับไปเจรจาหาทางตกลงกันเองได้ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจโดยตรงในการจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ เป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกค้าอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ยังกำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือใช้สิทธิปิดงานในส่วนของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางคน อันเป็นการเลือกปฏิบัติ และกำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องมีผลบังคับ และยังแก้ไขบทลงโทษให้เหมาะสมขึ้น ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดของข้อพิพาทแรงงานนั้นมีผลใช้บังคับต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ก.แรงงานของบฯ กว่า 1,500 ล้าน แก้ปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงานเสนอของบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งระบบ ขณะที่ตัวเลขคนตกงานในปีนี้เกือบ 150,000 คน

 

นางอุไรวรรณ  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้างภายหลังร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีลูกจ้างทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง เกือบ 130,000 คน จากสถานประกอบการ 11,598 แห่ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 15,509 คน ขณะที่ตัวเลขของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า ลูกจ้างในสถานประกอบการ 137 แห่ง ตกงานจำนวน 15,152 คน และมีแนวโน้มที่จะถูกเลิกจ้างอีก 15 แห่ง รวมกว่า 5,500 คน

 

ดังนั้น จึงได้เสนอของบประมาณ จำนวน 1,536 ล้านบาท เพื่อป้องกันการเลิกจ้างทั้งระบบในปีหน้า เพื่อไม่ให้แรงงานที่เป็นบัณฑิตตกงานอีก 60,000 คน และเห็นชอบตามข้อเสนอขององค์การแรงงานแห่งประเทศไทยที่จะให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือป้องกันปัญหาการตกงานอีก 1,000 ล้านบาท

 

 

ที่มา: ไทยรัฐ, สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท