Skip to main content
sharethis

ธุรกิจกู้เงินนอกระบบกลับมาเฟื่องฟู หลังมีสัญญาณเงินตึงตัว ธปท.แนะรัฐฉีดเงินเข้าระบบด่วน


นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งในส่วนกลาง รวมทั้งสำนักงานที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบว่า ขณะนี้ธุรกิจสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อิออน อีซี่บาย และเฟิร์สชอยส์ มีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ดีในระดับหนึ่ง ขณะที่การติดตามหนี้ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้


 


อย่างไรก็ตาม Non-Bank เหล่านี้ก็มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 2.47% ทำให้ ธปท. ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสัญญาณว่าประชาชนมีสภาพคล่องตึงตัว ซึ่งถ้าหากภาครัฐไม่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือ Non-Bank ได้ หันไปกู้เงินนอกระบบที่ผิดกฎหมาย (เจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้) แทน


 


สำหรับเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย เนื่องจากมีเครือข่ายที่ค่อนข้างถาวร และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นด้วย ซึ่ง ธปท. เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบได้ ดังนั้น ธปท.จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ ดังนี้


 


1. กรมสรรพากร โดยหลังจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) เข้าจับกุมแล้ว ธปท.จะแจ้งให้กรมสรรพากรเข้ามาเรียกเก็บภาษีทันที


 


2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่ดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ว่ามีโฆษณากู้เงินด่วนหรือไม่ ถ้ามี ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สคบ.


 


3. กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้จัดการกับใบปลิวโฆษณาเงินกู้ที่ติดตามเสาไฟฟ้าและตู้โทรศัพท์แล้ว


 


นอกจากนี้ ธปท. กำลังพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม หลังจากที่มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เปิดช่องให้ทำได้ โดย ธปท.จะนำจุดอ่อนที่พบจากการดำเนินคดีมากำหนดเป็นข้อกฎหมายด้วย เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 มีการระบุโทษไว้น้อยมาก นอกจากนี้ ธปท. ยังเตรียมที่จะหารือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายฟอกเงิน โดยจะขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเงินกู้รายงานการทำธุรกรรมให้ ปปง. รับทราบด้วย เพื่อเป็นช่องทางในการตรวจสอบว่ามีผู้ทำผิดกฎหมายหรือไม่


 


พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) บอกว่า ปศท. แบ่งการปล่อยเงินกู้นอกระบบออกเป็น 2 ส่วน คือ


 


1. Non-Bank เป็นผู้ปล่อยกู้ ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเงินในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับบุคคลหลายฝ่าย ทั้งผู้กู้ ผู้ให้กู้ พนักงาน และผู้ถือหุ้น


 


2. เจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ ส่วนนี้อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากหากผู้กู้ไม่มีเงินมาชำระหนี้ ความเสียหายก็จะเกิดกับผู้ให้กู้เท่านั้น


 


พ.ต.อ.ศรายุทธยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินคดีกับเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากผู้กู้ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับตำรวจ เพราะผู้กู้มีความเต็มใจที่จะไปกู้เงินกับเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้เอง ทำให้ตำรวจต้องใช้วิธีการติดต่อไปตามข้อมูลในป้ายโฆษณาที่ติดตามเสาไฟฟ้าและตู้โทรศัพท์ เพื่อดำเนินการจับกุมแทน อย่างไรก็ตามตำรวจคงไม่สามารถปราบปรามได้ทั้งหมด เพราะยังมีประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนอยู่ ส่วนผู้ให้กู้ก็จะได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 30% ของวงเงินกู้ต่อครั้งด้วย


 


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบของประชาชนกำลังปรับเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส.ค.- ต.ค.2551 มีประชาชนถึง 64.2% ประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และมีถึง 47% ต้องดึงเงินออมมาใช้ อีก 35.8% ต้องกู้ยืม และ 17% ขอความช่วยเหลือจากญาติหรือขายทรัพย์สิน เนื่องจากขณะนี้มีค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยสูง ราคาน้ำมันแพงแต่รายได้ลดลง ทำให้คาดว่าต่อจากนี้แนวโน้มประชาชนจะหันไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายมีมากขึ้น เพราะการกู้เงินจากสถาบันการเงินจะทำได้ยากหลังจากสภาพคล่องในระบบการเงินกำลังตรึงตัว


 


"คนส่วนมากเริ่มเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้คนต้องหันไปกู้เงิน ก่อหนี้บัตรเครดิต หรือนำสินค้าเข้าโรงจำนำเพิ่ม ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจไม่ดี มีการปลดคนงาน อาจทำให้ประชาชนมีเงินไม่พอผ่อนชำระ และต้องหันไปกู้เงินนอกระบบมาใช้หนี้แทน หากเป็นเช่นนี้จะกลายเป็นสัญญาณอันตรายต่อการบริโภคภาคประชาชนทันที ดังนั้น รัฐบาลต้องหาเงินอัดฉีดเงินเข้าระบบ ช่วยเหลือสินเชื่อภาคประชาชนด้วย เพราะเวลานี้จะหวังพึ่งการกู้ผ่านสถาบันการเงินทำได้ยาก และแต่ละธนาคารก็เพิ่มเข้มงวดปล่อยสินเชื่อบุคคลมากขึ้น"


 


นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้นอกระบบจะเป็นสัดส่วน 20% ของหนี้ทั้งระบบประมาณ 8 ล้านล้านบาท หากอัตราเพิ่มรวดเร็วถึง 30% ถือว่าน่าวิตก อาจเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมและภัยสังคมตามมา


 


โครงการเอสเอ็มอีเพาเวอร์


จากการปรับโครงสร้างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียและเพื่อให้การขับเคลื่อนกิจการเอสเอ็มอี แบงก์เดินไปข้างหน้าได้ว่า ได้อนุมัติให้มีการควบรวมกิจการระหว่างเอสเอ็มอี แบงก์ กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าด้วยกัน เพราะการควบรวมจะทำให้ บสย.ซึ่งแต่เดิมทำหน้าที่ช่วยเหลือกิจการเอสเอ็มอีเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละองค์กร จะช่วยทำให้การปล่อยสินเชื่อครบวงจรหรือบูรณาการมากขึ้น เพราะทั้ง 2 หน่วยงานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง 


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทั้งเอสเอ็มอีแบงก์และ บสย.ได้ของบประมาณจากภาครัฐเพิ่มทุนจำนวน 2,100 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อการเพิ่มทุนทั้ง 2 หน่วยงานนี้ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเห็นว่าการบริหารจัดการของแบงก์เองมีความผิดพลาดทำให้รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก การเพิ่มทุนจึงไม่มีประโยชน์และไม่ได้แก้ไขปัญหาการบริหารองค์กรจึงไม่อนุมัติให้ 


 


และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าได้อย่างมั่นคง จึงได้มีการเปิดตัวโครงการ "เอสเอ็มอีเพาเวอร์ (smePOWER)" ขึ้น เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เผชิญอยู่ทำให้เงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่อย่างจำกัด ยากที่จะเอาตัวรอดจากสภาวะเศรษฐกิจขาลงได้ ซึ่งจะมีจัดสรรงบประมาณเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเป็นการลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบ


 


โดยโครงการนี้ได้เริ่มให้บริการในวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งจะครอบคลุมความช่วยเหลือ 3 ด้าน คือด้านสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยต่ำ, การให้บริการเงินร่วมลงทุน และการค้ำประกันสินเชื่อ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านความรู้แก่ผู้ประกอบการ


 


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 2.3 ล้ายราย หรือคิดเป็น 40% ของจีดีพี และสร้างรายได้จากการส่งออกถึงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 30% ของยอดการส่งออกทั้งหมด และก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 80% ของการจ้างแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมากกว่า 70% เป็นเอสเอ็มอีที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด


 


รัฐเร่งอัดฉีดเงินรากหญ้า


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง แนวทางการจัดสรรงบกลางปี 2552 ที่เพิ่มวงเงิน 1 แสนล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า หลักการการจัดสรรงบดังกล่าว จะต้องเบิกจ่ายให้หมดภายในปี 2552 และต้องถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่การตัดสินใจว่าจะใช้งบจำนวนเท่าใด และดำเนินโครงการใด รัฐบาลจะให้ตำบลและชุมชนเป็นผู้คัดเลือกว่า ต้องการโครงการใดบ้าง ภายใต้กรอบโครงการตัวอย่างที่รัฐบาลเสนอ จากนั้นเสนอโครงการกลับมาให้รัฐบาลกลั่นกรองอีกครั้ง


 


ทั้ง 10 โครงการที่เสนอให้ ครม.ก่อนหน้านี้ และจะโครงการที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก 2-3 โครงการ อาทิเช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และปรับปรุงด้านสาธารณสุขนั้น เป็นเพียงกรอบโครงการตัวอย่างที่รัฐบาล จะเสนอให้ประชาชนเลือกว่าต้องการทำโครงการใดบ้าง และจะขอใช้งบเท่าใด ซึ่งโครงการตรงนี้เปรียบเหมือนกับเมนูอาหาร ที่มีทั้งอาหารจีน อาหารฝรั่ง และอาหารแขก ส่วนตำบลจะเป็นคนกินว่าจะกินอะไรบ้าง ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 18 พ.ย.นี้" ดร.โอฬารกล่าว


 


การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่ม 1 แสนล้านบาท รัฐบาลดำเนินการ 10 โครงการ ประกอบด้วย


 


1.โครงการยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท (ถนนปลอดฝุ่น) 34,000 ล้านบาท


 


2.ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ 24,000 ล้านบาท


 


3.เพิ่มค่าใช้จ่ายโครงการเอสเอ็มแอล 15,000 ล้านบาท


 


4.การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร 9,000 ล้านบาท


 



5.เพิ่มทุนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 7,000 ล้านบาท


 


6.เพิ่มทุนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 2,000 ล้านบาท


 


7.เงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนชรา 6,000 ล้านบาท


 


8.ค่าใช้จ่ายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 1,000 ล้านบาท


 


9.โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด "โครงการบ้านมั่นคง" 1,000 ล้านบาท และ


 


10.โครงการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา 1,000 ล้านบาท


 



ทั้งนี้ดร.โอฬาร ยกตัวอย่างว่าจากตัวอย่างโครงการที่เสนอก่อนหน้านี้นั้น มีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับตำบล อาทิเช่น โครงการถนนปลอดฝุ่น การเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการ โครงการเอสเอ็มแอล และการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น รัฐบาลจะมีการส่งข้อมูลโครงการไปให้ตำบลทั้ง 8 พันแห่งทั่วประเทศทราบ อาทิเช่น กรณีโครงการถนนปลอดฝุ่น จะให้ข้อมูลกับว่าตำบลนั้นๆ มีถนนที่ต้องลาดยางกี่กิโลเมตร และตำบลจะบอกว่าต้องการทำถนนลาดยางกี่กิโลเมตร หรือในกรณีการเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการ ตำบลจะต้องไปสำรวจว่ามีข้าราชการในตำบลมีเท่าไร และเป็นคนบอกกับรัฐว่าจะเพิ่มเงินให้ข้าราชการคนละเท่าไร หรือแม้แต่การพัฒนาแหล่งน้ำ ตำบลก็จะต้องเป็นคนบอกว่าจะพัฒนาแหล่งน้ำตรงไหนบ้าง และใช้งบเท่าไร แต่ต้องขอย้ำว่าทุกกิจกรรมที่ตำบลเสนอมานั้น จะทำให้เสร็จภายใน 9 เดือน และเมื่อผสมกันทุกโครงการแล้ว แต่ละตำบลจะได้งบประมาณไม่เกิน 12 ล้านบาท


 


สำหรับการเบิกจ่ายงบดังกล่าวนั้น คาดว่าจะเบิกจ่ายได้หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมผ่านสภา ซึ่งน่าจะเป็นเดือน เม.ย. และกำหนดระยะเวลาการเบิกจ่ายว่าต้องเบิกจ่ายให้หมดภายในเดือน ธ.ค. 2552 และหากตำบลใดจ่ายเงินไม่หมด จะต้องคืนงบให้ส่วนกลางทันที




…….


ที่มา:


รายการ Hard Topic ทาง Money Channel วันที่ (13-11-2008)


รัฐบาลหว่านงบแสนล.8 พันตำบล, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (8-11-2008)


วิกฤตลามคนไทยหนี้นอกระบบปูด, ผู้จัดการรายวัน (7-11-2008)


"ประดิษฐ์" โชว์กึ๋นผนึก 2 องค์กรรวมเป็นหนึ่ง เข็น "เอสเอ็มอีเพาเวอร์" กู้ชาติ, ไทยรัฐ (28-10-2008)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net