Skip to main content
sharethis


พิชญ์ รัฐแฉล้ม ธวัชชัย ชำนาญ และ คิมไชย สุขประเสริฐ  รายงาน

 


 


 


 


รูปจากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต


 


 


ท่ามกลางความห่วงใยของกลุ่มผู้ติดตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ในประเด็นการผลักดันโครงการเขื่อนบนของแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้โดยรัฐบาลและนักสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเหตุผลความเป็นไปได้ที่โครงการเหล่านี้จะก่อผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นนับล้านคนในลุ่มแม่น้ำโขงถูกทำลาย อีกทั้งผลกระทบทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคมนี้ จะรุนแรงและมีขอบเขตผลกระทบที่กว้างขวางข้ามพรมแดน


 


ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง เมื่อวันที่ 25 - 27 ก.ย. คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดงานประชุมเรื่องการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก ณ กรุงเวียงจันทน์ ถือเป็นการประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้เปิดไฟเขียวให้บริษัทเอกชนสัญชาติไทย มาเลเซีย เวียดนาม รัสเซีย และจีน เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างเขื่อน 11 เขื่อนบนลำน้ำโขง โดย 7 เขื่อนอยู่ในประเทศลาว 2 เขื่อนบนพรมแดนไทย-ลาว และอีก 2 เขื่อนในประเทศกัมพูชา  


 


เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ และตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าว เวทีสาธารณะแม่น้ำโขง การประชุมนานาชาติ เรื่อง "เขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก-เสียงประชาชนข้ามพรมแดน" จึงถูกจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแม่น้ำโขงทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขงและนานาชาติ ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12-13 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีภาคประชาสังคม องค์กรประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่มีบทบาทในการเสนอโครงการสร้างเขื่อน เข้าร่วมกว่า 250 คน


 


ในเวทีสาธารณะนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรประชาสังคม ได้สรุปบทเรียนจากโครงการเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วในภูมิภาคแม่น้ำโขง เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเร่งรีบรวบรัดในระดับนโยบายเพื่อผลักดันโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก วิเคราะห์บทบาทของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีอิทธิพลและมีบทบาทต่อการตัดสินใจทางนโยบาย เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อได้นำเสนอข้อค้นพบของตนและร่วมกันเสนอทางออกทางเลือกทั้งต่อประเด็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และความต้องการพลังงานในภูมิภาค


 


ประเด็นสำคัญจากการประชุมนานาชาติฯ เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ระบุว่า 1.แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำที่งดงาม มีระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและสมบูรณ์ เป็นบ่อเกิดแหล่งวัฒนธรรมประเพณี และฐานทางเศรษฐกิจของประชาชนพื้นถิ่นในลุ่มน้ำโขง เป็นแหล่งอาหารโดยเฉพาะโปรตีนจากปลาที่ประชาชนในลุ่มน้ำได้พึ่งพาอาศัยมานาน จนเรียกได้ว่าเป็นสายน้ำที่มีจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของผู้คนอันโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


 


2.ในห้วงเวลาที่ผ่านมา แม่น้ำโขงถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่าจาก "โครงการเขื่อนในลำน้ำสาขา" และ "เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศจีน" ด้วยโลกทัศน์ที่ว่าลุ่มแม่น้ำโขงมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมหาศาล ก่อให้เกิดการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น กรณี "เขื่อนปากมูล" ในประเทศไทยที่สร้างผลกระทบต่อวิถีประมงและนำมาสู่ความขัดแย้งของชุมชน หรือ "เขื่อนน้ำตกยาลี" ในประเทศเวียดนามที่สร้างผลกระทบข้ามพรมแดนแห่งรัฐชาติไปยังประเทศกัมพูชา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นความรุนแรงของผลกระทบที่ยังดำรงอยู่ และเป็นบทเรียนที่คนในภูมิภาคต่างประจักษ์และจดจำ


 


3.การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อทรัพยากรประมง และผลกระทบนี้ไม่อาจเยียวยา ดังนั้น แม่น้ำโขงสายหลักจึงต้องเลือกระหว่าง "ปลา" หรือ "เขื่อน"


 


4.อย่างไรก็ตามวาทกรรมการสร้าง "เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน" เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของประชาชาติในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นวาทกรรมหลักที่กลุ่มทุนและรัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำใช้เพื่อผลักดันการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำโขงสายหลัก ด้วยการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ล้นเกิน แต่เป็นการค้าที่มุ่งสร้างตลาดซื้อขายพลังงานเพื่อค้ากำไรจากการขายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายไฟฟ้า ด้วยความร่วมมือของกลุ่มเอกชนและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ดังกรณีที่รัฐบาลไทยและเวียดนามลงนามในข้อตกลงการซื้อไฟฟ้าจากลาว กัมพูชา และพม่า


 


ทำให้เกิดการขยายตัวของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่โปร่งใส ขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ไม่ยึดถือมาตรฐานสากลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่สากลยอมรับ ละเลยการพิจารณาการพัฒนาระบบพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมอื่นๆ ซึ่งนับเป็นการทิ้งภาระทางสังคมละสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมและประชาชน


 


5.ปัจจุบันกลุ่มทุนภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยสัญญาสัมปทานแบบ BOT (build-operate- transfer: BOT) โดยผู้ลงทุนสร้าง บริหาร และจะถ่ายโอนโครงการให้แก่รัฐบาลหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ซึ่งนับเป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขงที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของลุ่มน้ำ


 


6.กระบวนการสร้างเขื่อนในปัจจุบันขาดการยอมรับสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากร การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ และแทบไม่มีการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการวางแผน


7.การใช้ประโยชน์ทรัพยากรลุ่มน้ำก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศต้นน้ำและปลายน้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนท้ายน้ำเกิดความวิตกคลางแคลงตลอดมานับตั้งแต่รัฐบาลจีนได้สร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบน (แม่น้ำหลางซาง) อีกทั้งบริหารจัดการน้ำโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประเทศท้ายน้ำ ในส่วนปัญหาน้ำท่วมฉับพลันที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงตลอดแนวลำน้ำโขง เมื่อ ส.ค.51ที่ผ่านมา ประชาชนท้ายน้ำเชื่อว่ามสาเหตุมาจากเขื่อนในประเทศจีน


 


แนวโน้มความขัดแย้งข้ามพรมแดน ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และผู้คนในลุ่มน้ำโขง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทำให้การบริหารจัดการเขื่อนมีความโปร่งใส ประชาชนท้ายน้ำสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อการก้าวไปข้างหน้าร่วมกันด้วยสันติภาพและความไว้วางใจกันระหว่างประชาชนที่แบ่งปันสายน้ำโขง


 


8.คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เป็นกลไกระดับภูมิภาคที่ยังขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะและไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงมีองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยาและการประมงจากการวิจัยมากมายแต่ประชาชนไม่อาจเข้าถึง และองค์ความรู้เหล่านั้นก็ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจและกระบวนการวางแผนในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


 


ทั้งนี้ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง นอกจากนั้นคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงและรัฐบาลต่างๆ ยังเพิกเฉยต่อปัญหาข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก


 


9.ปัจจุบันสาธารณชนตระหนักและมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องเขื่อน พื้นที่ทางการเมืองในประเทศต่างๆ เริ่มเปิดกว้าง ภาคประชาสังคมจึงมีโอกาสเสริมสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาความร่วมมือ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันมากขึ้น


 


10.รัฐบาลควรยอมรับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิประชาชาติท้องถิ่นดั้งเดิม แห่งสหประชาชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่มุ่งปกป้องชุมชนท้องถิ่น รัฐชาติไม่ควรมองเพียงการพัฒนาตัวเลขทางเศรษฐกิจในพรมแดนของตน แต่ควรตระหนักว่าเขื่อนจะทำลายความงดงามของสายน้ำ ความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยา ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรม ความมั่นคงของมนุษย์ และอัตลักษณ์ของประชาชน


 


 


"ปกป้องแม่น้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิต"


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net