4 เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้า บุก กฟผ.จี้เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนรายใหญ่


 

วานนี้ (10 พ.ย.51) เมื่อเวลาประมาณ 10.00น.กลุ่มชาวบ้าน "เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่" จำนวนกว่า 500 คน จากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยอง เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ได้ชุมนุมปิดถนนบริเวณทางเข้า-ออก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สำนักงานใหญ่บางกรวย เรียกร้องให้เปิดเผยสัญญา ที่กฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)

 

โดยโครงการที่ กฟผ.ได้ทำการเซ็นต์สัญญา กับบริษัทเอกชนไปแล้วมี 3 โครงการ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่-วัน ของ บ.โกลว์-เหมราช ในพื้นที่นิคมมาบตาพุฒิ จ.ระยอง 2.โรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บ.สยามเอนเนอร์ยีจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของ บ.กัลฟ์เจพี ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.โรงไฟฟ้าหนองแซง ของ บ.เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ.กัลฟ์เจพี ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ของ บ.ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่มีการเซ็นสัญญา

 

ในการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านได้ปิดกันเส้นทางการจราจรบริเวณ หน้า กฟผ.และมีการปราศรัยเรียกร้องขอให้เปิดเผยรายละเอียดการลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนทั้ง 3 ราย นอกจากนี้ยังมีการแจกแถลงการณ์จากเจ้าของพื้นที่ "กฟผ.ต้องเปิดสัญญาทาส สัญญาโรงไฟฟ้าเอกชน เปิดตัวเลขในสัญญาปล้นประชาชนไปให้นายทุนไทยและต่างชาติ" ระบุว่า โครงการทั้ง 3 โครงการมีมูลค่าการลงทุนถึง 7 แสนล้านบาท โดยมีการเซ็นต์สัญญาที่ไม่โปร่งใส

 

ทั้งที่ทุกวันนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการถึงร้อยละ 39 แต่ กฟผ.กลับเร่งรีบเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้ากับบริษัทเอกชน ทำให้การเดินทางมาของชาวบ้านในครั้งนี้เพื่อต้องการเห็นสัญญาและอยากรู้ว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนไว้ ทั้งจำนวนปีของอายุสัญญา ผลกำไรของเอกชนและความเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ กฟผ.ไม่เคยให้ข้อมูล

 

"ประชาชนต้องการรู้ ประชาชนคือเจ้าของ กฟผ.ไม่ใช่ของผู้บริหารหรือรัฐบาล กฟผ.ต้องเปิดเผยสัญญาโดยด่วน กฟผ.ต้องเปิดเผยสัญญามูลค่ามากกว่า 7 แสนล้าน โดยด่วน" แถลงการณ์ระบุ

 

หลังการชุมนุมกว่า 3 ชั่วโมง เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้เดินเท้าจากถนนด้านนอกเข้าใกล้เขตสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนของ กฟผ.ออกมารับหนังสือและชี้แจงข้อเรียกร้องของชาวบ้าน โดยมีการปราศรัยอยู่ภายนอกรั้ว ในเวลาต่อมาไม่นานนายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.และคณะจึงได้เดินทางออกพบชาวบ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ

 

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องซึ่งระบุในจดหมายที่มอบให้แก่ทาง กฟผ.ว่า ผู้บริหารของ กฟผ.จะต้องเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.และบริษัทเอกชนทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้รับรู้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทาส ที่ทำให้ กฟผ.ต้องเอาเงินภาษีหรือเงินค่าไฟฟ้าที่ประชาชนเป็นผู้จ่าย ไปจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่ประกันกำไรให้เอกชน ในตลอด 25 ปีตามสัญญา ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ในส่วนชาวบ้านในพื้นที่ต้องเสียสุขภาพ ต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อมที่ดี ถูกแย่งน้ำเพื่อการเกษตรและถูกแย่งน้ำกินน้ำใช้ในหน้าแล้งเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความต้องการ

 

"เราไม่ใช่ทาสที่พวกท่านจะมากำหนดชะตาชีวิตของเราได้ เราเป็นเจ้าของพื้นที่เป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าและเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าทุกบ้านด้วย เราจะเสียหาย 2 ต่อ ถ้าโรงไฟฟ้าก่อสร้างได้ คือเสียสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นด้วย เราขอให้ท่านเปิดเผยสัญญาโดยถ่ายสำเนาสัญญาภาษาไทยให้เราโดยด่วน" นายตี๋กล่าว

 

นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.ได้กล่าวต่อผู้ชุมนุมว่า ในส่วนการขอดูเอกสารนั้น สามารถทำได้ตามระเบียบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 และการที่ประชาชนยื่นเรื่องมาก็จะพยายามให้คำตอบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปดูเงื่อนไขต่างๆ ของข้อกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาในการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนได้ในขณะนี้

 

"พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารมีลำดับขั้นตอนชัดเจน เมื่อท่านยื่นหนังสือมาแล้ว เราก็บิดพลิ้วไม่ได้" รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว

 

นอกจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ตั้งคำถามถึงธรรมมาภิบาลของ กฟผ.ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐที่น่าจะทำให้เป็นแบบอย่างสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วไป ไม่ใช่ว่าจะมีการสร้างแล้วไม่เปิดเผยข้อมูลแก่ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านคือบุคคลที่ 3 จะได้รับผลกระทบจากการตกลงกันระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งไม่สามารถใช้เค้าว่าเจ้ากันได้ และยังได้มีการกำหนดระยะเวลา 30 วันเพื่อที่จะมารอเอาคำตอบจาก กฟผ.อีกครั้ง ก่อนที่จะสลายตัวและแยกย้ายกันเดินทางกลับ

 

กฟผ.ยันโปร่งใส ทำสัญญาตามติ กพช.

 

หลังจากรับมอบหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม นายอภิชาตได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายในอาคาร กฟผ.โดยกล่าวยื่นยันว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผ่านมาเป็นไปตามนโยบายกระทรวงพลังงานที่ให้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ 4,400 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2555-2557 ตามแผนพีดีพี หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่คำนวณแผนการจัดหาไฟฟ้า โดยขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่งมีผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดจะทำหน้าที่ตรวจสอบร่างสัญญา แล้วมอบให้ กฟผ.เป็นผู้ลงนามในสัญญา

 

ต่อคำถามถึงเงื่อนไขการประมูลไอพีพีที่กำหนดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อไฟกับบริษัทที่ชนะการประมูลก็ต่อเมื่อศึกษาอีไอเอผ่านทันเวลาที่กำหนด นายอภิชาต กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการในการลงนามในสัญญาได้มีการผ่านการตรวจสอบแล้ว โดยคิดว่าทางคณะอนุกรรมการฯ และอัยการสูงสุดได้พิจารณาในเรื่องนี้มาอย่างถี่ถ้วน กฟผ.เป็นเพียงผู้ลงนาม อย่างไรก็ตามสัญญาที่ลงนามนั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะผ่านอีไอเอ และในช่วงรอกระบวนการทำอีไอเอบริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างใดๆ ทั้งนี้หากหมดอายุสัญญาทั้งที่อีไอเอยังไม่ผ่านรัฐก็ไม่ต้องทำการชดใช้ค่าเสียหายใดๆ แก่ทางบริษัท

 

"กฟผ.และภาคเอกชนได้มีสัญญาต่อกัน หากไม่ผ่านการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมสัญญาที่ทำไว้กับ กฟผ.ต้องยกเลิกไปและถ้าภาคเอกชนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทันตามสัญญาก็ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ตามสัญญาเช่นกัน ขณะเดียวกันหากบริษัทใดผ่านการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมแล้วก็ต้องรีบดำเนินการก่อสร้างภายใน 2 ปี ไม่เช่นนั้นต้องดำเนินการขอไออีเอใหม่ตามกฎระเบียบของอีไอเอ" รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว

 

ในส่วนที่ความเห็นที่ว่าการลงนามไปก่อนจะมีผลผูกพันให้จะต้องมีการผ่านอีไอเอตามมาหรือไม่นั้น นายอภิชาตแสดงความเห็นว่า การดำเนินการที่ผ่านมามีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเป็นไปตามกระบวนการแล้ว ไม่นาจะมีผลกระทบ

 

ส่วนการที่บริษัทเอกชนซื้อและจะดำเนินการปรับแต่งพื้นที่นั้นเป็นสิทธิที่เจ้าของที่ดินจะกระทำได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำอีไอเอ อีกทั้งในการยื่นเสนอก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า บริษัทผู้ยื่นฯ เองจะเป็นผู้เลือกพื้นที่ เพราะจะมีผลต่อการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลงเพื่อต่อรองในการประมูล นอกจากนี้การซื้อที่ดินเพื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บุคคลทั่วไปสามารถทำได้

 

ต่อคำถามเกี่ยวกับการปรับแผนการพีดีพีใหม่ที่อาจมีผลกระทบต่อการการชะลอการก่อสร้าง และการรับซื้อไฟฟ้าใหม่จากไอพีพีเข้าสู่ระบบ นายอภิชาตกล่าวว่า การก่อสร้าง รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามพีดีพีของกระทรวงพลังงาน ซึ่งการปรับลดพีดีพีขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็สังเกตได้ว่ามีการแกว่งตัวที่สูง ทั้งนี้ กฟผ.มีหน้าที่ดูแลให้ไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งประเทศ การก่อสร้างดรงไฟฟ้าแต่ละแห่งต้องใช้ระยะเวลานาน ในอนาคตหากกิจกรรมทุกย่างยังคงเป็นไปตามเดิมแต่ไม่มีไฟฟ้าเข้ามาในระบบเพราะมีการปรับลด ก็อาจะมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอได้

 

อย่างไรก็ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนขณะนี้ระบุว่า กฟผ.ได้ปรับแผนพีดีพีใหม่ จากอัตราการชะลอตัวของการใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าคาดการณ์ โดยพยายามจะลดสำรองไฟฟ้าที่สูงประมาณ ร้อยละ 25-26 ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ร้อยละ 15 โดยแนวทางการปรับแผนใหม่ จะมีทั้งการชะลอการก่อสร้าง การรับซื้อไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ และการลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทีมีประสิทธิภาพต่ำ

 

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.51 นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ร่วมลงนามสัญญาซื้อชายไฟฟ้ากับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้อำนวยการ บ.สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บ.เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย บ.กัลฟ์ เจพี เป็นโครงการลำดับ 2 และ 3 ของไอพีพี รอบปี 2555-2557 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ก.ย.51 กฟผ.ได้ลงนามกับ บ.เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่งเป็นโครงการแรกของไอพีพีรอบใหม่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 660 เมกะวัตต์

 

อนึ่ง โรงไฟฟ้าของ บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีกำหนดจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม และกันยายน 2555 ส่วนโรงไฟฟ้าของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี มีกำหนดจำหน่ายไฟฟ้าเดือนมิถุนายนและธันวาคม 2557 ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าของทั้งสองบริษัทจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. โครงการละจำนวน 1,600 เมกะวัตต์ มีอายุสัญญาละ 25 ปี

 

 


 

 

เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่: เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยอง เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ. สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา

 

10 พฤศจิกายน 2551

 

เรื่อง ขอให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับ บ.เก็คโค่-วัน และ กฟผ.กับ บ.กัลฟ์-เจพี

เรียน ประธานกรรมการ กฟผ., กรรมการ กฟผ.ทุกท่าน, ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ประธานสหภาพแรงงาน กฟผ.

 

พวกเราทั้ง สี่พื้นที่ เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน 4 พื้นที่ 4โรงไฟฟ้าซึ่งประมูลได้เมื่อต้นปี2551 นี้ ขณะนี้เรา-องค์กรประชาชนทั้ง 4 พื้นที่กำลังดำเนินการคัดค้านโครงการ ไอพีพี ทั้ง 4 พื้นที่ไม่ให้ก่อสร้าง คือ 1.คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่-วัน ของ บ.โกลว์ - เหมราช (กู้เงินจากธนาคารเยอรมัน) ในพื้นที่นิคมมาบตาพุฒิ จ.ระยอง 660 เมกกะวัตต์

 

2.คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้าของ บ.สยามเอนเนอร์ยีจำกัด ซึ่งเป็นบ.ลูก ของ บ.กัลฟ์เจพี (ญี่ปุ่นถือหุ้น ครึ่งหนึ่ง) ในพื้นที่ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 1,650 เมกกะวัตต์

 

3.คัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซหนองแซง ของ บ.เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด เป็นบ.ลูกของบ.กัลฟ์เจพี ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา 1,650 เมกกะวัตต์

 

4.คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ของบ. ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ. ฉะเชิงเทรา 600 เมกกะวัตต์

 

วันนี้ เราประชาชนในชุมชนที่อยู่ล้อมรอบโรงไฟฟ้าทั้ง 4 พื้นที่ เป็นผู้ได้รับผลเสียโดยตรงจากโครงการทั้ง 4 เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้า แต่ กฟผ. ไม่ได้เปิดให้เรามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเซ็นต์สัญญาหรือไม่ ทั้งๆ ที่ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านการเซ็นต์สัญญาระหว่าง กฟผ.และ บ.กัลฟ์เจพี หรือ บ.เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัด เมื่อวันที่ 1 ตค. 51 (จดหมายคัดค้านการเซ็นต์สัญญาของเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี) เราเรียกร้องให้ผู้บริหารของ กฟผ.เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.และ บ.เอกชน ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้รับรู้ว่าสัญญานี้เป็นสัญญาทาส ที่ทำให้ กฟผ.ต้องเอาเงินภาษี หรือ เงินค่าไฟฟ้าที่ประชาชนเป็นผู้จ่าย ไปจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่ประกันกำไรให้เอกชน โดยจ่ายตลอด 25 ปีตามสัญญา ซึ่งทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเสียสุขภาพ, ต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อมที่ดี ถูกแย่งน้ำเพื่อการเกษตรและถูกแย่งน้ำกินน้ำใช้ในหน้าแล้งเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความต้องการ

 

เราไม่ใช่ทาสที่พวกท่านจะมากำหนดชะตาชีวิตของเราได้ เราเป็นเจ้าของพื้นที่เป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าและเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าทุกบ้านด้วย เราจะเสียหาย 2 ต่อ ถ้าโรงไฟฟ้าก่อสร้างได้ คือเสียสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นด้วย เราขอให้ท่านเปิดเผยสัญญาโดยถ่ายสำเนาสัญญาภาษาไทยให้เราโดยด่วน

 

ขอแสดงความนับถือ

 

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว เครือข่ายติดตามฯ รฟ.ถ่านหินเขาหินซ้อน

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

-ชาวบ้าน 4 พื้นที่เตรียมสร้างโรงไฟฟ้า เข้ากรุงเดินสายค้านการลงทุนร่วมของบริษัทต่างชาติ

-ผนึกกำลังที่ระยอง ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่-วัน

-นักข่าวพลเมืองรายงาน: ชาวบ้านฝ่าฝนร่วมรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน

-โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพี สระบุรี- อยุธยา ระอุชาวบ้านรวมตัวไล่บริษัทเจาะเก็บตัวอย่างดินออกจากพื้นที่

-ชาวฉะเชิงเทรา 3,000 คนปิดถนนบางส่วน ค้านโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ

-รายงาน : สำรวจว่าที่โรงไฟฟ้าใหม่ทั่วประเทศ และแรงต้านดาวกระจาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท