Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุภัตรา ภูมิประภาส


หมายเหตุจากผู้เขียน: เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ และในวาระครบรอบ 15 ปีที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ ผู้เขียนขอร่วมรณรงค์ด้วยการ เปิดบันทึก "บนเส้นทางการเดินทางหนึ่งทศวรรษ" เพื่อนำเรื่องราวความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงที่ผู้เขียนได้พบตัวตนจริงมาเล่าต่อ ด้วยหวังให้สังคมได้ตระหนักถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ปะปนมากับอุดมการณ์ทางการเมือง และนำไปสู่ชะตากรรมของผู้หญิงนับร้อยนับพันนับหมื่นคนในประเทศต่างๆรวมทั้งในประเทศไทย ที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งกำลังตกเป็น "เหยื่อ"ของความรุนแรงทางการเมืองหลากหลายรูปแบบในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน


 


000


ติมอร์ตะวันออก แผ่นดินแห่งความขมขื่น [1]


มิถุนายน 2542 - ดิฉันเดินทางไปติมอร์ตะวันออกในคณะของ Women"s Solidarity Tour to East Timor


ในเวลานั้น ติมอร์ตะวันออกยังอยู่ภายใต้การครอบครองของอินโดนิเซีย  มีคนไทยไม่มากนักที่ได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกองกำลังติดอาวุธของติมอร์ที่นำโดยซานานา กุสเมา กับ กองทัพของรัฐบาลอินโดนิเซีย


            ในประชาคมนานาชาติ ความรุนแรงทางการเมืองในติมอร์ตะวันออกถูกเล่าผ่านเรื่องราวการสู้รบระหว่างกองกำลังฟรีติลิน (Fretilin)  กับกองทัพอินโดนิเซีย แทบไม่มีใครได้ยินเรื่องราวชะตากรรมของผู้หญิงในติมอร์ตะวันออกที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง


            เป้าหมายการเดินทางของดิฉัน คือการไปพบกับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของการข่มขืน อันเนื่องมาจากความรุนแรงทางการเมือง


            ต่อไปนี้ คือเรื่องเล่าจากพวกเธอที่อยู่ในบันทึกการเดินทางของดิฉัน


 


24 มิถุนายน 2542


"เรื่องของการข่มขืนยังคงเกิดขึ้นทุกวัน เป็นชะตากรรมปกติของผู้หญิงในติมอร์ตะวันออก       เรื่องที่สะเทือนใจพวกเรามากเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น


หญิงท้องแก่ที่นั่งตรงหน้าเราดูแก่เกินวัย 22 ปี เธอชื่อ ฟิโลมินา เหยื่อของการข่มขืนเมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม ฟิโลมินาเล่าว่าบ้านของเธออยู่ในเมือง Emera ทางด้านตะวันตกของเมืองดิลี  สามีวัย 28 ปีของเธอตัดสินใจขึ้นเขาไปร่วมจับอาวุธสู้กับผู้รุกราน  ส่วนเธอต้องอยู่เลี้ยงดูลูกๆ 4 คน ความจริงที่โหดร้ายถูกยัดเยียดให้เธอโดยชาย 15 คนที่มีทั้งทหารอินโดนิเซียและผู้สนับสนุนรัฐบาลอินโดนิเซีย


"พวกเขาบุกมาที่บ้าน บังคับพาฉันไปที่หน่วยงานของพวกเขา เอาปืนยัดใส่ปากฉันเพื่อไม่ให้ฉันร้อง แล้วก็ข่มขืนฉัน" ฟิโลมินาเล่าเป็นภาษาเตตุม ดวงตาเธอดูสงบนิ่งเหมือนยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น


พวกเราสบตากัน อ้ำอึ้ง รับไม่ได้กับเรื่องราวที่ได้ยิน ชาย 15 คนข่มขืนหญิงท้อง 6 เดือน เป็นเรื่องที่โหดร้ายเหลือเกิน แต่ความโหดร้ายนั้นยังไม่จบแค่เรื่องราวของฟิโลมินา...           


 


            ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงในติมอร์ตะวันออกนั้นเกิดขึ้นซ้ำซ้อนต่อเนื่อง


ผู้ข่มขืน คือ ทหารในกองทัพอินโดนิเซียที่ถูกส่งเข้าไปควบคุมติมอร์ตะวันออก และการข่มขืนถูกใช้เป็นเป้าหมายหนึ่งทางการเมืองด้วย


            มีเด็กมากมายที่พวกเธอให้กำเนิด เด็กเหล่านี้กลายเป็นสิ่งแปลกแยกของสังคมติมอร์ ตะวันออก เพราะพวกเขามีเลือดของทหารอินโดฯ อยู่ครึ่งหนึ่ง


            ความรุนแรงที่ต่อเนื่องซ้ำซ้อน เหยื่อที่ถูกข่มขืน แม้จะขมขื่นเพียงใดกับการต้องอุ้มท้อง พวกเธอไม่มีสิทธิลิขิตชีวิตตัวเอง เนื่องด้วยสังคมติมอร์ตะวันออกเป็นสังคมที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้ง ร้อยละ 85 ของประชากร 8 แสนคนในติมอร์ตะวันออกเป็นคาทอลิก


            ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงอีกด้านหนึ่ง คือนโยบายทางสังคมของรัฐบาลอินโดนิเซียต่อปัญหาในติมอร์ตะวันออก คือ การบังคับฉีดยาคุมกำเนิดให้ผู้หญิงชาวติมอร์ตะวันออก เพื่อควบคุมเผ่าพันธ์ประชากรในติมอร์ตะวันออกไม่ให้เพิ่มขึ้น


            เดือนพฤษภาคม 2545 ติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราช เปลี่ยนสถานะจากจังหวัดหนึ่งของอินโดนิเซีย เป็นประเทศติมอร์ตะวันออก 


สงครามจบสิ้นแล้ว แต่บาดแผลจากความรุนแรงทางการเมืองฝังรากลึกที่กายและใจของผู้หญิงติมอร์ตะวันออกนับร้อยนับพันคน


 


000


พม่า : ออง ซาน ซูจี: อิสรภาพ และ ความหวัง [2]


มกราคม 2543 - ดิฉันเดินทางไปพม่าเพื่อพบกับนางออง ซาน ซูจี 


ขณะนั้นเป็นช่วงที่เธอไม่ได้ถูกกักบริเวณ


ออง ซาน ซูจี เป็นสตรีที่ถูกความรุนแรงทางการเมืองกระทำนับตั้งแต่เธอประกาศตัวเข้าสู่


สนามการเมือง ในฐานะหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy- NLD) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู่กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า


ปี 2533 เธอชนะการเลือกตั้ง แต่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าปล้นชัยชนะไป และยัง


จำกัดสิทธิทางการเมืองหลายประการของเธอ ด้วยเหตุผลว่า "เธอมีสามีเป็นชาวต่างชาติ"


เธอถูกรัฐบาลทหารพม่าและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลฯที่ต้องการจำกัดเธอออกไปจากเส้นทางทางการเมือง โจมตีว่าละทิ้งสามีและลูก ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่สังคมบางส่วนเห็นด้วย


            ดิฉันนั่งสนทนากับเธอภายในสำนักงานใหญ่ของพรรคเอ็นแอลดี  ที่เมืองร่างกุ้ง


และนี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ดิฉันบันทึกไว้


"หลายคนสงสัยว่าคุณสามารถดำรงบทบาทของความเป็นแม่อย่างไรในขณะที่อยู่คนละซีกโลกกับลูกของคุณมานานกว่าสิบปี"


"ขอโทษ ดิฉันไม่เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นส่วนตัว" เธอตอบทันทีด้วยท่าทีสุภาพ


ฉันกล่าวขอโทษบ้าง แล้วถามเธอในประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในทัศนะของเธอ


เธอยิ้ม ตอบว่า "ดิฉันคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ผู้หญิงมักถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองในหลายๆ สังคมในโลกนี้ รวมทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทยของคุณ จึงเป็นความชอบธรรมที่ผู้หญิงจะเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียม แต่ดิฉันก็ยังอยากให้ผู้หญิงต่อสู้ด้วยความเยือกเย็น ดิฉันไม่อยากเห็นผู้หญิงใช้ความก้าวร้าวรุนแรงในการเรียกร้องใดๆ ดิฉันอยากเห็นผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น แต่ขอให้เป็นความเข้มแข็งที่เยือกเย็น ไม่ก้าวร้าว"


 


ออง ซาน ซูจี เป็นตัวอย่างชัดเจนของความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิง


 


แม้ว่าในช่วงที่ไม่ได้ถูกกักบริเวณ แต่เธอถูกติดตามทุกฝีก้าวราวกับเป็นนักโทษ


นอกจากนางออง ซาน ซูจีแล้ว มีผู้หญิงพม่าอีกจำนวนมากที่ตกเป็นนักโทษทางการเมือง พวกเธอถูกจับกุมไปคุมขังเพราะสามีของพวกเธอร่วมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า


            ออง ซาน ซูจี เคยเขียนไว้ในหนังสือ "จดหมายจากพม่า" ว่า


            "ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังมีสตรีจำนวนมากที่ถูกจำขังเนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ..."


           


แปดปีผ่านไปนับจากเรานั่งสนทนากันวันนั้น ดิฉันเฝ้าติดตามข่าวของเธอ ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวร้าย เธอถูกลอบทำร้าย ถูกใส่ร้ายป้ายสีเรื่องชีวิตส่วนตัว และถูกควบคุมตัวโดยปราศจากความผิดครั้งแล้วครั้งเล่า


            นอกจากนี้ เธอยังถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า  เพียงเพราะเธอมีสามีเป็นชาวต่างชาติ เธอไม่มีสิทธิเป็นผู้นำทางการเมืองของพม่าได้        


ณ วันนี้ นางออง ซาน ซูจี ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารฯจำขังอยู่ในบ้านพักของเธอเอง


นับเวลาที่เธอตกเป็นนักโทษการเมืองรวม 13 ปีแล้ว


เธอเป็นนักโทษการเมืองหญิงที่ถูกจำกัดอิสรภาพยาวนานที่สุดในโลก


 


000


ใบอนุญาตข่มขืน (Licence To Rape) [3]


ปี พ.ศ. 2545 ดิฉันแปลหนังสือ "ใบอนุญาตข่มขืน" - บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน


บันทึกชะตากรรมของผู้หญิงและเด็กหญิงชาวไทยใหญ่ 625 คนที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและการทารุณกรรมทางเพศที่กระทำโดยทหารพม่า


บันทึกนี้ เป็นหลักฐานชัดเจนถึงความรุนแรงการการเมืองที่ส่งผลต่อชะตากรรมของผู้หญิง  การข่มขืนถูกใช้เป็น "อาวุธสงคราม"


เหตุการณ์ต่างๆ ถูกบันทึกไว้โดยคำบอกเล่าของเหยื่อผู้รอดชีวิตในระหว่างปี พ.ศ.2539-2544


            ปัจจุบัน ดิฉันยังคงได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องการทารุณกรรมทางเพศแบบนี้อยู่ตลอดจากเครือข่ายสตรีไทยใหญ่ที่เป็นผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้


หกปีผ่านไป ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงในรัฐฉานไม่ได้ลดลงเลย


            เพื่อนๆ ชาวไทยใหญ่ของดิฉัน - แสงน้อง จ๋ามตอง และ เตเต ยังคงต้องเสี่ยงภัยและเหน็ดเหนื่อยกับการรณรงค์ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงในบ้านเกิดของพวกเธอ


 


000


นากาแลนด์ ผู้คน และแผ่นดิน [4]


มิถุนายน 2546 ดิฉันเดินทางไปนากาแลนด์ เพื่อเรียนรู้เรื่องราว ชะตากรรมของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สงครามเพื่ออิสรภาพของชาวนากาแลนด์


นากาแลนด์ เป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย มีที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกได้ว่าเป็นภาคอิสานของอินเดีย พรมแดนด้านหนึ่งติดกับพม่า


นากาแลนด์ เป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอินเดีย และรัฐบาลแห่งนากาแลนด์ มีทั้งพื้นที่ที่ยังเป็นเขตสู้รบ และพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตหยุดยิง  คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยถูกเลือกให้เป็นสถานที่สำหรับ "การเจรจาสันติภาพ" (Peace Talk) ระหว่างรัฐบาลอินเดีย และนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นของรัฐบาลแห่งนากาแลนด์ อยู่หลายครั้ง


ปัญหาความขัดแย้งทางทางการเมืองและการสู้รบในนากาแลนด์ที่ดิฉันรับรู้ในช่วงแรกๆนั้น เป็นเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนนากาแลนด์ ที่มีทั้งการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ และการเจรจาสันติภาพไปพร้อมๆกัน และประชาชนทุกครอบครัวในนากาแลนด์ยอมจ่ายเงินภาษี (ด้วยความเต็มใจ)ให้รัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อใช้ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ  


ดิฉันรับรู้ว่า ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายจากความรุนแรงทางการเมืองที่แปรรูปเป็นสงคราม แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่นากาแลนด์เลย จนกระทั่งได้เดินทางไปที่นั่น ก็ยังไม่ได้ยินเรื่องราวของผู้หญิงนากาแลนด์จากการเล่าเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่รวมศูนย์ไปที่การสู้รบ การปะทะกันด้วยอาวุธของทหารทั้งสองฝ่าย


ดูเหมือนว่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงจะไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นนำเสนอในเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอินเดีย และรัฐบาลพลัดถิ่นของชาวนากาแลนด์


ดิฉันมีโอกาสรับรู้ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงในนากาแลนด์ในระหว่างการพูดคุยกับผู้หญิงนากาแลนด์ ชื่อ "เคโกะ" 


ดิฉันนำมาบทสนทนากับ เคโกะ มาเรียบเรียงไว้ในบันทึกการเดินทางสู่นากาแลนด์ ครั้งนั้น ว่า :


 


ผู้หญิงนากา...เหยื่อของความรุนแรง


เมื่อต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน ฉันจึงใช้เวลาคืนนั้นนั่งสนทนากับ เคโกะ สาวนากาที่ถูกส่งมาช่วยดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆให้คณะของเรา เคโกะ เป็นชนเผ่าซูมี่ (Sumi) เธอเพิ่งจบปริญญาโทด้านศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสต์ เบงกอล (West Bengal University) ที่น่าสนใจคือ เธอทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ผู้หญิงนากา..เหยื่อของความรุนแรง" เปรียบเทียบสถานะผู้หญิงในสังคมนากา ครั้งอดีตที่ยังมีการล่าหัวมนุษย์ กับ ปัจจุบันที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงครามการเมืองระหว่างนักรบนากากับทหารของรัฐบาลอินเดีย


เคโกะ เล่าว่า ประเพณีการล่าหัวมนุษย์ในอดีตนั้น มิใช่เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างผู้ชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงได้ถูกนับรวมเข้าไปเป็น "เป้าหมาย"ของการไล่ล่าด้วย "เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า การตัดหัวผู้หญิงของศัตรู เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ชาย ที่ไม่อาจปกป้องผู้หญิงของตัวเองไว้ได้"


ถึงปัจจุบัน เคโกะ บอกว่าผู้หญิงนากายังคงตกเป็นเหยื่อในระหว่างความขัดแย้งของผู้ชาย เพียงแต่รูปแบบของความรุนแรงเปลี่ยนไปจากการฆ่าตัดหัว มาเป็นการข่มขืน ทิ้งบาดแผลขมขื่นไว้ให้


"การข่มขืนไม่ใช่เป็นเรื่องตัณหาของผู้ชายอย่างเดียว แต่มันได้ถูกใช้เป็นอาวุธสงครามด้วย ผู้หญิงนากาจำนวนมากถูกข่มขืนในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตสู้รบ เพราะพวกเธอเป็นคนนากา พวกที่ข่มขืนเธอต้องการเย้ยหยันให้ผู้ชายนากาได้อายที่ไม่สามารถปกป้องผู้หญิงได้ "


ฉันถามเคโกะ ถึงสถานภาพหญิงชายในนากาแลนด์ในปัจจุบัน เธอตอบว่า "ถ้ามองจากข้างนอก เทียบกับผู้หญิงอินเดียแล้ว เรามีอิสระมากกว่า ไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงที่จะออกไปพบปะสมาคมกับเพื่อนหญิงชาย และผู้หญิงนากาไม่ต้องดิ้นรนหาสินสอดทองหมั้นเพื่อที่จะได้แต่งงาน"


แต่ในสังคมนากาเอง เคโกะ เล่าว่าผู้หญิงยังคงไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะปักเจกบุคคล ตัวตนของพวกเธอถูกนับรวมเป็น 'ส่วนหนึ่ง'ของชายที่เป็นสามี เธอยกตัวอย่างเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของผู้หญิงว่า หญิงมีสามีเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และตราบเท่าที่เธอยังอยู่กับสามีเท่านั้น เมื่อไรที่สามีตายจากไป ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของครอบครัวเดิมของสามีทันที เคโกะบอกว่าเธออยากเห็นสังคมนากาเคารพความเป็นตัวตนของผู้หญิง ในฐานะที่พวกเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพราะมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน


"แต่ฉันศึกษาจากมุมมองของศาสนานะ" เธอออกตัว


เคโกะเป็นคริสเตียนเช่นเดียวกับชาวนากาส่วนใหญ่ คณะมิชชั่นนารีของอเมริกันแบบติสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมนากาประมาณปี พ.ศ.2394 ปัจจุบันชนเผ่าต่างๆในนากาแลนด์มากกว่า 90 เปอร์เซนต์หันมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์-แบบติสต์ คนรุ่นใหม่ของนากาแลนด์ได้รับโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนของมิชชั่นนารีที่มีอยู่หลายแห่งในนากาแลนด์ ทำให้พวกเขาใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว แต่พวกเขายังคงใช้ภาษาของเผ่าพันธุ์สื่อสารระหว่างคนที่มาจากเผ่าเดียวกัน และใช้ภาษานากา ซึ่งเป็นภาษากลางสำหรับคนต่างเผ่าพันธุ์


 


000


ข่มขืน ขื่นขมในความเงียบ (Shattering Silences) [5]


พ.ศ. 2548: ดิฉันแปลหนังสือ "ข่มขืน ขื่นขมในความเงียบ" - เรื่องเล่าของผู้หญิงกะเหรี่ยง กับเรื่องราวของทหารพม่า และสงครามประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง


เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้แทบไม่แตกต่างกันเลยกับเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ใน "ใบอนุญาตข่มขืน" 


เป็นบันทึกอีก 125 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2531-2547 ในรัฐกะเหรี่ยง


เป็นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง


องค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยง (The Karen Women"s Organisation -KWO) ซี่งเก็บข้อมูลและจัดทำหนังสือเล่มนี้ บันทึกไว้ในบทนำ ว่า:


"...การข่มขืนไม่ได้เป็นเพียงการกระทำที่ละเมิดศีลธรรมระหว่างปักเจกชนเท่านั้น รัฐบาลทหารพม่าใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อควบคุมประชาชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ..."       


 


เรื่องราวจากติมอร์ตะวันออก นากาแลนด์ รัฐฉาน ถึงรัฐกระเหรี่ยง สะท้อนภาพ "ความรุนแรงทางการเมือง" ที่กระทบและกระทำต่อเพศหญิง


ขณะที่สงคราม ความขัดแย้งทางการเมืองได้ลดทอนพื้นที่ของการดำเนินชีวิต การทำมาหากินตามปกติ และความสงบสุขของคนทุกเพศวัย  สงคราม และความขัดแย้งทางการเมืองได้ถ่างพื้นที่ความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำให้กว้างขึ้น


การข่มขืนผู้หญิงในพื้นทีที่มีการสู้รบ หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นเกือบทุกแห่งในโลก หากมีเพียงไม่กี่เรื่องราวที่ได้รับการบันทึกไว้ หรือกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เช่น


The Rape of Nanking


Licence to Rape


 


000


ปี 2549 - ??? ...ประเทศไทย
ความรุนแรงทางการเมืองที่ยังไม่ถูกบันทึก


แม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยนั้นยังไม่ลุกลามไปถึงขั้นการทำสงคราม ที่นำไปสู่การใช้ กักขัง การข่มขืน หรือการทำทารุณกรรมทางเพศรูปแบบต่างๆ ที่เป็นเสมือน "อาวุธสงคราม" เหมือนที่เกิดขึ้นในติมอร์ตะวันออก นากาแลนด์ พม่า ฯลฯ


แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ก็นำไปสู่ความรุนแรงหลากชนิดที่กระทำต่อผู้หญิงหลายคน เป็นความรุนแรงที่กระทำขึ้นเพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายทางการเมืองของคู่ความขัดแย้ง


นักการเมืองหญิงหลายคนตกเป็นเป้าของความรุนแรงทางการเมืองทีล้วนแล้วแต่สะท้อนทัศนคติด้านลบต่อสตรีเพศ  ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงมิได้จบลงแค่ผู้หญิงบนเส้นทางทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปสู่ผู้หญิงคนอื่นๆ ในแวดวงอื่นที่เพียงเข้ามาเกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือแม้แต่ผู้หญิงที่แสดงทัศนะทางการเมืองในที่สาธารณะ


 


ตัวอย่าง เช่น


กรณี ของ นางสาว ณ หทัย ทิวไผ่งาม (ขณะนั้นเป็น สส. กทม. พรรคไทยรักไทย) ที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปล่อย/ข่าวลือที่มีเป้าหมายทางการเมืองว่า "มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวจนถึงขั้นท้อง" กับผู้นำทางการเมืองในขณะนั้น


 


กรณีของหมวดเจี๊ยบ-ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต อดีตนักข่าวที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง เพียงเพราะเธอไปสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี และเขียนหนังสือ "ทักษิณ Where Are You?"


 


กรณีของลิเดีย - นางสาว ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา นักร้องวัยรุ่นที่ทั้งตัวเธอและครอบครัวของเธอมีความสนิทสนมกับครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรี และนำมาเขียนไว้ในหนังสือ "Lydia… Here I Am!"


 


ทั้งลิเดีย และหมวดเจี๊ยบ ถูกกระหน่ำด้วยข่าวลือ ข่าวปล่อยในประเด็นชู้สาวโดยทันทีจากฝ่ายต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร 


 


กรณีของนางสาว นรากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวที่ถูกวิจารณ์ว่า


"คิดเป็นอยู่อย่างเดียวคือ ใส่เสื้อเหลืองไม่เป็นกลาง ถ้าสมองคิดได้เพียงแค่นี้ แสดงว่าปัญญามันลงมาอยู่ที่หน้าอกหมดแล้ว"


           


กรณีของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีนำผู้ติดตามเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภาระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551


แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ในรัฐสภาระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งในระหว่างการประชุมของสมาชิกรัฐสภาซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่เสมอไม่เลือกเพศ และการหยาบหยามกันทางวาจาเกิดขึ้นกับสมาชิกฯทั้งหญิงชายจนเกือบเป็นปรากฏการณ์ปกติของการประชุมสภาฯ บางครั้งถึงขั้นลุกขึ้นมาชกต่อยกันเลย


            แต่ตัวอย่างความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้หญิงที่สะท้อนผ่านกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว กลับปรากฏชัดอยู่ในการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวที่เกี่ยวข้องการเสนอถอดถอนนางสาวรสนา


[http://www.prachatai.com/05web/th/home/14328]


ผู้แสดงความเห็นจำนวนมากไม่ได้แสดงความเห็นในประเด็นที่เป็นข่าว หรือต่อบทบาททางการเมืองของเธอ แต่กลับใช้ถ้อยคำ ภาษาส่อเสียด ด้วยทัศนคติด้านลบต่อสตรีเพศ ผู้แสดงความเห็นหลายคนรุกล้ำเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องส่วนตัว เพียงเพราะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน  เช่น "...นางรสนา ได้กระทำและประพฤติในสิ่งที่น่ารังเกียจหลายอย่าง นั่นคือ ไม่จดทะเบียนเมื่อแต่งงาน นั่นย่อมแสดงว่า มีพฤติกรรมที่ส่อแววในการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พาสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนเข้าไปในรัฐสภา ทั้งๆที่ไม่มีหน้าที่..." "...ถอดรสนาออกไปได้เมื่อไหร่ ช่วยแจ้งข่าวทันทีเลยนะคะ เอ๊ะ เป็นสาวเป็นนางมีสามี ตลกจังนะ..."


แม้ไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพ แต่การประณาม หยามเหยียดด้วยทัศนคติด้านลบต่อเพศสภาพที่เป็นหญิงนั้น ถือเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้


ปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเลย


000


 






In the Time of the Butterflies


 


วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 ที่สาธารณรัฐโดมินิกัน พี่น้องหญิง 3 คนในครอบครัว "มิราเบล" ถูกสังหารอย่างทารุณโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ พวกเธอเป็นพี่น้องกันและเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ช่วงนั้นสาธารณรัฐโดมินิกันอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร


พี่สาวคนโตของตระกูลมิราเบล เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เรียนกฎหมาย


"แต่สาเหตุที่เธอได้เรียนนิติฯนั้น ไม่ใช่เพราะโอกาสมันเปิด แต่เธอใช้ยุทธศาสตร์ในการเจรจากับจอมพลคนหนึ่ง ขณะนั้นเธอยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ พ่อแม่ของเธอถูกคุกคามให้เอาลูกสาวไปเป็นนางบำเรอ เธอจึงขอเจรจาว่าขอเรียนกฎหมายก่อน เมื่อเรียนจบแล้วจะเอาเธอไปทำอะไรก็ได้ จอมพลคนนั้นยินยอมเพราะเขายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่เป็นนางบำเรอ


เมื่อได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เธอเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อสู้เผด็จการ ซึ่งในยุคนั้นต้องทำกันเป็นกิจกรรมใต้ดิน  เธอยังชักชวนให้พ่อแม่และน้องสาวอีก 2 คนเข้าร่วมกิจกรรมด้วย


เธอและน้องสาวทั้งสองถูกจับ...ได้รับการปล่อยตัว ...และถูกฆ่าตายในที่สุด..."


"ความรุนแรงต่อผู้หญิง เริ่มจากความรุนแรงทางการเมือง


แต่กว่าที่สังคม และประชาคมโลกจะยอมรับนั้น เป็นเวลาอีก 30-40 ปีหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวมิราเบล"


พ.ศ.2537 เรื่องราวของพี่น้องตระกูล "มิราเบล"ถูกถ่ายทอดในหนังสือชื่อ "In the Time of the Butterflies" โดยนักเขียนชาวโดมินิกัน


"ผีเสื้อ" เป็นชื่อรหัสของพวกเธอในการทำกิจกรรมทางการเมืองแบบใต้ดิน


In the Time of the Butterflies ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2544


"นักกิจกรรมสิทธิสตรีได้นำเรื่องนี้เป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวให้มีจังหวะและสามัคคีต่อสู้เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง


ในปี ค.ศ.1999 [2542] องค์การสหประชาชาติได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 25 พฤศจิกายนเป็นวันยุติความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงทั่วโลก"


 


-------------------------------------


 


เรียบเรียงจากการนำเสนอของ รองศาสตราจารย์ วิระดา สมสวัสดิ์


ประธานมูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท


ในเวทีสาธารณะเนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง


เรื่อง "เปิดโลกทรรศน์ความรุนแรงต่อผู้หญิง"


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2551


ณ ห้องประชุม ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


จัดโดย มูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท (FORWARD) ร่วมกับ


ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สนับสนุนโดย สมาคมนักกฎหมายหญิง NKJF/NORAD ประเทศนอร์เว


 


 


 


 


เชิงอรรถ


หมายเหตุ - บทความชิ้นนี้จัดเตรียมขึ้นและนำเสนอครั้งแรกในเวทีสาธารณะ เรื่อง "เปิดโลกทรรศน์ความรุนแรงต่อผู้หญิง" วันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 ณ ห้องประชุม ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย มูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท (FORWARD) ร่วมกับศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดย สมาคมนักกฎหมายหญิง NKJF/NORAD ประเทศนอร์เว


 


[1] บทความตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 372 (วันที่ 22 -28 กรกฎาคม 2542) และฉบับที่ 373 (วันที่ 29 ก.ค. - 4 ส.ค. 2542)


 


[2] บทความตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 406 (วันที่ 13-19 มีนาคม 2543), ฉบับที่ 407 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2543), ฉบับที่ 408 (วันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2543), ฉบับที่ 409 (วันที่ 3-9 เมษายน 2543), ฉบับที่ 410 (วันที่ 10-16 เมษายน 2543)


 


[3] จัดทำโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน และ เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ จัดพิมพ์โดยสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่มเอเชีย) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)


 


[4] บทความตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 577 (23 มิ.ย.46), ฉบับที่ 578 (30 มิ.ย.46), ฉบับที่ 579 (7 ก.ค.46), ฉบับที่580 (14 ก.ค.46) และเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนhttp://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95270.html


 


[5] จัดทำโดยองค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยง จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 60 ปี ออง ซาน ซูจี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net