Skip to main content
sharethis

 


หมายเหตุ - รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ในรายการมองคนละมุม ทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน จ.เชียงใหม่ FM 100.00 MHz ประจำวันเสาร์ที่ 8 พ.ย. พ.ศ.2551 เปรียบเทียบวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กับปัจจุบัน และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับภาคเศรษฐกิจของประเทศไทย


 


0 0 0


 


 


วิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจ 2540


วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ส่งผลกระทบค่อนข้างแรง มีหนี้เสียที่ก่อขึ้นในภาคเอกชนที่ไปกู้เงินในต่างประเทศมาในดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำมาปล่อยกู้ภายในประเทศในสาขาธุรกิจที่มีการเก็งกำไร เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หุ้น พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น สถาบันการเงินเอกชนล้มลง 56 แห่ง แล้วจึงค่อยลามไปสู่อุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลาง ก่อให้เกิดปัญหาการจ้างงาน การว่างงาน โดยเฉพาะปี พ.ศ.2542-43 พุ่งสูงไปถึง 1,500,000 คน คิดเป็น 5.6% แต่แรงงานส่วนหนึ่งสามารถกลับไปในภาคชนบทได้ ชนบทจึงเป็นฐานที่รองรับคนที่ไปทำงานในกรุงเทพแล้วกลับมาบ้านส่วนหนึ่งได้


 


แต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2550 กำลังเริ่มขึ้นและจะรุนแรงขึ้นในปีหน้า ปัญหาที่จะเห็นได้ชัดๆ ก็คือคนตกงาน


 


 


กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มที่ใช้แรงงานหนาแน่น ค่าแรงถูก ทำงานนาน


ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกที่ใช้แรงงานหนาแน่น ใช้ทักษะต่ำ รับผลิตตามคำสั่งจากบรรษัทข้ามชาติ


 


ประเทศไทยเป็นฐานของแรงงานที่ค่าจ้างถูกใช้ทักษะต่ำ จึงทำให้แรงงานประเภทนี้มีชั่วโมงการทำงานที่ค่อนข้างสูง เศรษฐกิจไทยจึงพัฒนาโดยแรงงานราคาถูกตลอด แต่เมื่อเราพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งต้นทุนค่าแรงจึงสูงขึ้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนาแน่นได้รับผลกระทบก่อนเกิดวิกฤติแล้ว เพราะไม่สามารถปรับตัวไปสู่แรงงานที่ใช้ทักษะ อุสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างหนาแน่นอยู่แล้วได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า ตุ๊กตา เป็นต้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจึงเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังตกต่ำ อุตสาหกรรมพวกนี้พยายามปรับตัวโดยการย้ายฐานการผลิตไปในต่างจังหวัด ในพื้นที่ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก ไปใช้แรงงานข้ามชาติราคาถูก บางส่วนไปลงทุนในประเทศกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งตลาดส่งออกก็มีไม่กี่ตลาด ที่สำคัญได้แก่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเมื่อสหรัฐอเมริกาเผชิญกับเศรษฐกิจฟองสบู่ เงินสามารถไหลออกจากประเทศไทยได้เป็นแสนล้านและไม่สามารถพึ่งตลาดในการส่งออกได้ และนี่คือปัญหาที่กำลังเผชิญ เพราะอย่าลืมว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นจากการลงทุนของต่างชาติ


 


 


การพัฒนาของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในไทย


อุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า สิ่งทอ ต้องปรับตัว โดยย้ายฐานการผลิต ลดกำลังการผลิตลง เป็นต้น อุตสาหกรรมเครื่องประดับที่ต้องนำเข้าและพึ่งพาการส่งออกในตลาดต่างประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการเลิกจ้าง เท่าที่เห็นอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เริ่มตัดโบนัส ให้ค่าจ้างเท่าเดิม แต่ไม่ต้องมาทำงาน เป็นต้น


 


การเมืองไทยที่ขาดเสถียรภาพและไม่เป็นเอกภาพส่งผลต่อการลงทุน ที่ต้องการจะมาลงทุนในระยะยาวก็จะไม่มาลงทุน


 


มีการวิเคราะห์กันว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง ตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกแล้ว แม้ว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง แต่สิ่งที่ประเทศไทยรับมาผลิตเป็นแค่ชิ้นส่วนที่จะนำไปประกอบ จึงยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนาแน่น เพราะฉะนั้นอย่างไรเสียจึงมีความเสี่ยง รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เสี่ยงเหมือนกัน เนื่องจาก้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นกำลังซื้อจึงมีน้อยลง


 


 


ภาระวิกฤติเศรษฐกิจตกอยู่กับภาคชนบท


ผลกระทบกับตำแหน่งงานน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,500,000-2,000,000 คน โดยเฉพาะปี พ.ศ.2552 เพราะวิกฤตเมื่อปี 40 ประมาณ 1,500,000 คน เกือบทุกอุตสาหกรรมถูกผลกระทบเพราะการลงทุนไม่เข้ามา โครงสร้างของประชากรไทยก็มีส่วนเข้ามาช่วยด้วย กำลังแรงงานน้อย ผู้สูงอายุมีมาก ก็ลองคิดดูว่าปัญหาจะรุนแรงมากขนาดไหน ไทยยังโชคดี เพราะเวลามีปัญหาเราก็ผลักภาระให้กับภาคชนบท ลูกหลานที่ตกงานก็กลับมาที่บ้าน


 


แต่ต้องไม่ลืมว่าฐานทรัพยากรมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ คนที่กลับมาไม่ได้กลับมาเพื่อประกอบอาชีพอะไรเป็นหลัก กลับไปเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนทางด้านจิตใจ งานในชนบทมีรองรับหรือไม่ ที่สำคัญภาคชนบทเองยังขาดปัจจัยของที่ดินทำกิน


 


อาจจะต้องรื้อแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจเสียใหม่ จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาคชนบท อย่าง เช่น การปฏิรูปที่ดินให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ภาคชนบทจะต้องไม่เป็นที่พักพิงทางจิตใจอย่างเดียว จะต้องทำให้ภาคชนบทเป็นฐานเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สร้างงานด้วยตนเองได้ เอาประสบการณ์ที่ตนเองเคยทำงานในโรงงานไปปรับใช้ในเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง


 


นโยบายประชานิยมเริ่มขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่แนวคิดในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนถูกผลักดันมาจากธนาคารโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการตั้งกองทุนต่างๆ ขึ้นมา หรือกองทุนที่ตั้งให้ชาวบ้านเข้ามากู้ แต่คุณทักษิณก็มาพัฒนาแนวคิดต่อมาเป็นนโยบายประชานิยม การทำโครงการอย่างโอท็อปต้องทำให้เป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่การทำเพื่อฐานเสียงเท่านั้น โดยหลักการก็เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างน่าสนใจ


 


 


ปัญหาและทางแก้ฐานทรัพยากรฐานการผลิตโครงสร้างการกระจายรายได้


สังคมไทยพัฒนาไปแต่การกระจายรายได้ไม่กระจายตัว มีแต่การกระจายความยากจน ส่วนความร่ำรวยกระจุกตัว จะเห็นได้จากคนรวยที่มี 20% ของประชากรทั้งประเทศ มีรายได้เกือบ 55% ของรายได้ทั้งประเทศ หมายถึงใน 100 บาท คนที่ร่ำรวย 20% เค้ากุมรายได้ไป 55 บาท ส่วนคนจน 20% ที่อยู่ข้างล่าง อาจจะได้แค่ 3-4 บาทเท่านั้นเอง ช่องว่างดังกล่าวมากเกินไป เป็นปัญหาที่ทำให้ภาคชนบทอ่อนแอ


 


การพัฒนาทุกอย่างจบลงที่กรุงเทพฯ การแก้ปัญหาโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปโดยแนวคิดถูกต้องแล้ว แต่ต้องลงไปที่ชนบท ไม่ใช่ไปลงที่โครงสร้างขนาดใหญ่ที่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ คล้ายกับเป็นหลุมดำทุ่มอะไรเข้าไปก็กินหมด แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรในชนบท


 


การกระจายปัจจัยการผลิตต้องอาศัยรัฐที่ออกนโยบายจากส่วนกลาง ต้องพูดถึงเรื่อง ภาษีอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีมรดก การเก็บภาษีการถือครองที่ดินแบบเอาจริงเอาจัง เพื่อให้คนที่ไม่ได้ใช้ที่ดินบีบให้เขาต้องขาย ดีที่สุดคือการจำกัดการถือครองที่ดิน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในสังคมไทย ต้องทำให้ที่ดินไปถึงมือชาวบ้าน ทำให้เกิดการสร้างรายได้ การส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเงินภาคประชาชน เช่น ธนาคารคนงาน ธนาคารเกษตรกรที่จะนำเงินมาสนับสนุนการจ้างงาน


 


เริ่มต้นด้วยการรวมกลุ่มกันเองสร้างสถาบันการเงิน ช่วยกันคิด สถาบันการเงินที่จะสร้าง ก็ไม่ใช่ว่าแค่นำเงินไปให้อย่างเดียว ต้องนำแนวคิดในเรื่องของการจัดการเข้าไปเสริม ขณะเดียวกันก็ช่วยในแง่ของการหาตลาดด้วย คนจนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจสูงอย่างในบังคลาเทศเป็นผู้หญิง การที่ผู้หญิงทำงานในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นกระบวนการที่มีมิติของชายหญิงอยู่ ต้องทำกระบวนการให้เกิดในภาคประชาชน แต่ไม่ใช่รัฐนำเงินไปให้แล้วไปสังเคราะห์เขา อย่างกองทุนหมู่บ้านก็ยังมีส่วนที่รัฐเข้าไปกำหนดผ่านในคณะกรรมการ


 


ธกส. คนที่จนจริงยังเข้าไม่ถึง เพราะบ้างที่ ธกส. จะพิจารณาจากหลักประกัน ขาดแนวคิด ซึ่งในการทำให้ชนบทเข้มแข็งขึ้นมาได้ ต้องมองว่าทุกคนมีศักยภาพอยู่แล้ว ยิ่งเขารวมกลุ่มกันด้วยยิ่งเพิ่มศักยภาพ แต่เราจะอาศัยเงื่อนไขอย่างไรที่เอาเงินเข้าไปสนับสนุนโดยที่เขาเป็นคนทำแล้วก่อเกิดกระบวนการที่เข้มแข็งในตนเอง อยู่กันเองได้ โดยที่รัฐไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปทำทุกอย่างเพียงแต่คอยเป็นผู้สนับสนุน


 


เราต้องปรับโครงสร้าง เพราะต่อให้เราหลุดออกจากวิกฤตินี้ได้ คิดหรือว่าการจ้างงานจะเพิ่มสูงขึ้น อย่าลืมว่า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ธนาคารของเราถูกเทคโอเวอร์โดยธนาคารต่างชาติ เขาก็เปลี่ยนระบบบริหาร ลองดูว่ามีการจ้างคนงานสูงขึ้นหรือไม่ คำตอบคือเปล่าเลย กลับปลดออกแล้วนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา เพราะฉะนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างไร คนงานที่ตกงานก็ยังตกงานต่อไป การลงทุนในปัจจุบันจึงไม่ได้ขยายการจ้างงานแต่กลับมีการจ้างงานที่น้อยลง


 


 


นโยบายเศรษฐกิจอเมริกาย้อนมองประเทศไทย


ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่า คนต้องการการเปลี่ยนแปลงเพราะที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นการรัฐบาลพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีเบื้องหลังแนวคิดให้คนที่ร่ำรวยเป็นหัวจักรของการลงทุน จึงลดภาษีและใช้นโยบายการค้าเสรี ในขณะที่ นายบารัค โอบามา เขาจะเปลี่ยนมุมมองลดค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม นำเงินมาจัดสรรในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น ลดช่องว่างของคนจนกับคนรวยในสหรัฐลง เข้าไปควบคุ้มกลไกตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้แนวโน้มเป็นอย่างนี้ ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคของเสรีนิยมแบบเก่าอีกแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net