Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยสหายโต้ง


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


 


วันที่ 21ตุลาคม 2551สมาคมเศรษฐศาสตร์ แห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมเชิงวิชาการขึ้นให้กับสมาชิกและคนทั่วไป โดยเชิญนักเศรษฐศาสตร์ ชั้นนำกระแสหลักมาให้ความคิดเห็น สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้


 


 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี (นายกสมาคม) "หลังวิกฤติการเงินโลกที่เริ่มที่อเมริกา ไทย ถูกจัดอันดับใหม่ให้เป็นประเทศที่น่าอยู่มากกว่า จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา เพราะในรอบแรก ผลกระทบต่อไทยมีน้อยมาก นี่น่าจะเป็นเพราะปัญหาทางการเมืองในไทยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ มีการลงทุนน้อย โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่รัฐบาลควบคุมเข้มงวด แต่ผลต่อภาคการผลิตที่แท้จริงกำลังจะตามมา และหลังจากนี้ ธนาคารเล็กจะลำบาก เพราะต้องตั้งสำรองเงินไว้มากตามกฎ ธนาคารชาติ การดำเนินการก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ การจัดอันดับ จากนี้จะปล่อยกู้กันอย่างไรต่อไป และหากการลงทุนในตลาดเป็นศูนย์ ทุกอย่างก็จะพัง การแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน"


 



ข้อสังเกต - ปลอบใจตนเองหรือเปล่า? ไม่มีข้อเสนอในการแก้ไข บรรยายผิวเผิน.....


 


ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ (บ.เมืองไทยภัทรหลักทรัพย์) "ปัญหาเกิดจาก การทำกิจกรรมของสถาบันการเงินต่างๆมีมากเกินไป เกินกว่าต้นทุนที่มีอยู่ เช่น ธนาคาร เลแมน มีทุน 1.8 พันล้าน แต่ลงทุนมากเกินไป 27 เท่า ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่ม ผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น เพราะเชื่อว่าสามารถควบคุมการกระจายความเสี่ยงได้แน่ ซึ่งขณะนี้พิสูจน์แล้วว่าผิด บริษัท เอไอจี ลงทุนเกินไป 9 เท่า และเมื่อไปค้ำประกันมากก็เสี่ยงมาก กว่าต่างคนจะมองเห็นปัญหาก็สายเกินไป บัญชีงบดุลด้านซ้ายของตารางแสดงมูลค่าทรัพย์สินสูงเกินจริง ในอเมริกาต้องลดการลงทุนลง 10 ล้านล้าน นั่นคือจะมีการปล่อยกู้น้อยลง นำเข้าสินค้าน้อยลง ในไทยอาจต้องขายหุ้นที่ต่างชาติมีอยู่ ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท"


 



ข้อสังเกต - ไม่อธิบายว่าทำไมเกิดฟองสบู่ Sub Prime แคบรรยายผิวเผิน....


 


ดร.สมชัย จิตสุชน (สถาบัน ทีดีอาร์ไอ TDRI) "สาเหตุมาจากความละโมบของนายทุนในธนาคารเพื่อการลงทุน การกำกับดูแลของ ผู้บริหารไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง แสดงความไม่สามารถดูแลกันเองได้ของตลาด และการอาศัยบริษัทนายหน้าที่จัดอันดับในการตัดสินใจ ซึ่งภาพรวมไม่ได้แสดงความเสี่ยง และไม่มีการเตือนล่วงหน้าภายในตลาดกันเอง ในที่สุดก็ต้องอาศัยเงินของประชาชนเข้าช่วย ในไทยก็ยังคงต้องพึ่งการส่งออกไปยังอเมริกาทั้งๆที่ความร่ำรวยลดลงมา 14%"


 



ข้อสังเกต - สูตรเดิมของ อ.อัมมาร์ สมัยวิกฤตไทยปี 40 คือการควบคุมตลาดโดย CEO และรัฐปกพร่อง แต่ตลาดไม่มีปัญหา ในสายตาพวกเสรีนิยมเหล่านี้ ไม่อธิบายว่าทำไมมีการปล่อยกู้ให้คนจน แค่ใช้เหตุผลว่า "โลภมาก"


 


ดร.รุ่ง มัลลิกะมาศ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) "ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้มีหนี้สินมหาศาล วิธีแก้ไขคือต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นให้กลับมาปล่อยกู้ได้อีก โดยธนาคารกลางทุ่มเงินลงไป การลดดอกเบี้ยให้ธนาคารต่างๆ การประกันเงินฝาก ในไทย ไม่ได้มีหนี้สินมากเหมือนเมื่อปี 2539 ดังนั้นจึงสามารถ ทำกิจกรรมการเงินได้อีกมาก การลดการให้กู้ในต่างประเทศทำให้หาเงินยาก ต้องหันมาใช้เงินภายใน ธนาคารอยากให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่กู้มากกว่า บริษัท เอสเอ็มอี แม้ดอกเบี้ยจะน้อย"


 



ข้อสังเกต - รัฐต้องเข้ามาอุ้ม ข้อเสนอเรื่องการลดดอกเบี้ย ขัดแย้งกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ประชาธิปัตย์ และกษัตริย์ เมื่อเดือนก่อน แสดงว่ารัฐมนตรีคลังถูกแต่แรก


 


ข้อสรุปของเลี้ยวซ้าย


วิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่อเมริกา ที่เป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยม เป็นการแสดงให้เห็นอีกครั้งถึงสิ่งที่ฝ่ายซ้ายพูดตลอดมาว่า ระบบทุนนิยมมีปัญหา และจะมีอยู่เสมอ เมื่อพิจารณาจากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่นิยมกลไกตลาดในการประชุมครั้งนี้ ก็ยิ่งเป็นการยืนยันให้เห็น ความล้มเหลวของมัน เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีดวงตาพร่ามัวเหล่านี้ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าสิ่งที่ตนยอมรับเชื่อมั่นตลอดมา แท้จริงแล้วผิดพลาด ไม่พูดถึงทางเลือกอื่นคือระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม


 


พวกเขาสรุปว่าสาเหตุมาจาก การบริหาร การจัดการขององค์กร ในตลาดขาดความรอบคอบ ไม่โปร่งไส เกิดจากความโลภ ต้องแก้ไขที่ตัวบุคคล พวกนี้เสนอต่อว่าต้องป้องกันความเสียหาย ด้วยการเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยใช้เงินจากงบประมาณของรัฐ เพราะเป็นทางเดียว รัฐเป็นที่พึ่งเดียว แต่ก่อนหน้านี้ เขาบอกว่ารัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงให้มากนัก ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปเองอย่างมีประสิทธิภาพ


 


เขาบอกว่านี่เป็นวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่ใดที่หนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องวิกฤติที่จะเกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป ทุกๆ ห้าหรือสิบปี ถ้าเพียงแต่บริหารตลาดให้ดี ปัญหาก็จะไม่มี


 


นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ไม่ได้ให้ความเห็นว่า ทำไมคนจนจะต้องมารับผลจากวิกฤตนี้ จากสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ คาดว่าคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีแนวโน้มว่าจะจนลงอีก จะตกงานมากขึ้นมาก


 


นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำผู้ชี้นำเหล่านี้ไม่สนใจพูดถึง ปัญหาสังคมและแรงงาน ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ไม่มีข้อเสนอว่าคนจนจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างไร มีแต่การพูดการถกกัน ถึงปัญหาของ นายทุน นายธนาคาร นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง และนักเล่นหุ้น ว่าจะเอาตัวรอดกันอย่างไร นายทุนและชนชั้นนำ จะต้องอยู่รอดปลอดภัยก่อน จากนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ ของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งหลายและเกษตรกร จึงอาจจะได้รับการพิจารณา


 


วิกฤติเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเกิดได้ทั่วไปเป็นระยะๆ ในระบบทุนนิยม จากการเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ นักมาร์คซิสต์มองว่า กลไกตลาดมีปัญหา การผลิตจำเป็นต้องได้รับการวางแผน และควบคุมจากรัฐ ด้วยวิธีประชาธิปไตย ไม่อาจปล่อยให้เอกชนบริหารเองโดยอิสระ แบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา ปล่อยการลงทุน (การเก็งกำไร) ไปอย่างไร้ขอบเขต และอย่างไม่รับผิดชอบ ได้อีกต่อไป


 


นายทุนทั้งชนชั้นคิด ทำ และจะแก้ไข ปัญหาต่างๆ เพื่อชนชั้นตนเองเท่านั้น และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาด แต่กลับจะให้สังคมทั้งหมดเข้ามาร่วมรับผิดชอบ โดยอาศัย รัฐบาลที่ชนชั้นของตน สร้างขึ้นมา


 


ชนชั้นกรรมาชีพจึงถึงเวลาที่จะต้องร่วมกันเคลื่อนไหวปกป้องคนจน และสร้างพรรคการเมือง ที่จะเข้ามาปกป้อง สิทธิแรงงานและเกษตรกร ไม่ให้ถูกกดขี่เอาเปรียบได้อีก วิกฤติการเงิน จะไม่เป็นวิกฤติได้อีก เพราะในระบบสังคมนิยม การหมุนเวียนของเงิน จะไม่เป็นไปเพื่อ มุ่งแสวงหากำไรของกลุ่มทุน แต่จะถูกวางแผนใช้ในที่ที่มีความจำเป็น เพื่อพัฒนาการผลิต เพื่อคนส่วนใหญ่


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net