Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิน สันป่ายาง


 


ประมาณ 2 เดือนผ่านมาท่านผู้สนใจติดตามข่าวค(ร)าวเกี่ยวกับแวดวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็คงจะพบเรื่องราวอันงาม(หน้า)ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่ไอเดียอันบรรเจิดเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้สัมปทานแก่กลุ่มธุรกิจเอกชน ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับงบประมาณการสร้างฝายแม้ว ตลอดจนเรื่องราววุ่นๆ เกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านได้ติดตามและลองวิเคราะห์ดูก็คงจะทราบว่า ประเด็นปัญหาทั้งสามเรื่องล้วนมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมองค์กรของคนในกระทรวงเองที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนา แต่ครั้งนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะประเด็นฝายแม้วเท่านั้น


 


ฝายแม้วหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "ฝายชะลอความชุ่มชื้น" หรือ "Check dam" นั้น เราไม่สามารถสืบค้นได้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงมีมาได้อย่างไร อาจจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ที่มีมาแต่โบราณกาล ที่แน่นอน คือ องค์ความรู้นี้ได้ถูกพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ผ่านพระอัจฉริยภาพอันไร้ขีดจำกัดขององค์พระบาทสมเด็จของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานในพื้นที่สูงมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน โดยมีพระราชดำริเห็นควรให้มีการสร้างฝายเพื่อเก็บกักความชื้น รวมถึงดักตะกอนและชะลอความรุนแรงของน้ำในลำธารบนพื้นที่สูงไปพร้อมกัน เมื่อน้ำในลำธารลดความเร็วลง ความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นก็จะแผ่กระจายไปรอบๆ ร่องน้ำเหล่านั้น ทำให้เหล่าพืชพันธุ์ ต้นไม้ได้เจริญเติบโต เป็นแนวกันไฟและเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมหรือความจะเป็นในการสร้างฝายแตกต่างกัน


 


ฝายชะลอความชุ่มชื้นมี 3 ประเภทตามรูปแบบการก่อสร้างและอายุการใช้งาน คือ ฝายชั่วคราว ฝายกี่งถาวร และฝายแบบถาวร ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้


 


- ฝายชั่วคราว ใช้วัสดุที่หาได้ใกล้ๆ กับจุดที่จะทำฝาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไผ่ ท่อนไม้ ตอก หินและทรายในท้องน้ำ โดยใช้ถุงปุ๋ยเป็นภาชนะบรรจุทรายและหิน ซึ่งจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างต่ำมาก (ไม่ถึงแห่งละ 300 บาท)


 


- ฝายกึ่งถาวร วัสดุส่วนใหญ่จะคล้ายกับฝายชั่วคราว แต่จะมีการเสริมความแข็งแรงของฝาย ซึ่งอาจจะใช้แท่งคอนกรีตและลวดตาข่าย ทำให้มีความคงทนถาวรกว่าฝายประเภทแรก แต่ก็ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นเช่นกัน


 


- ฝายแบบถาวร วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นหิน กรวด ทราย และปูนซีเมนต์ ซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างมากที่สุด


 


ความเหมาะสมของการก่อสร้างฝายแต่ละประเภท ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิประเทศ การเข้าถึง และความจำเป็นในการก่อสร้าง สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ไม่เอื้ออำนวยให้สร้างฝายแบบถาวรได้มากนัก ส่วนมากที่สุดจะเป็นฝายแบบชั่วคราว และมีฝายแบบกึ่งชั่วคราวอีกบ้างเล็กน้อย แต่ฝายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุดจะเป็นฝายแบบชั่วคราว ซึ่งแม้จะไม่ทนทานเป็นสิบปีแต่การก่อสร้างก็เป็นการสร้างความร่วมมือของกลุ่มคนในท้องถิ่น ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย


 


พระราชดำริเรื่องฝายแม้วได้ถูกหลายกลุ่มองค์กรนำไปขยายผลและทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่หน่วยงานหรือกลุ่มระดับท้องถิ่นไปจนถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ที่พบบ่อย คือ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งต่อมาได้แบ่งภารกิจไปอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานหลักก็คือกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบจริงๆ ก็คือ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ โดยมีหน่วยงานย่อยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำ เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและฟื้นฟูสภาพนิเวศต้นน้ำ ในขณะที่ข่าวคราวความไม่โปร่งใสที่เราทราบผ่านสื่อ กลับมาจากหน่วยงานย่อยอีกแห่งหนึ่ง คือ สำนักอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมิได้มีภารกิจโดยตรงในการก่อสร้างฝาย แต่จะเป็นการให้การร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่นเพื่อการก่อสร้างฝายมากกว่า หากแต่แหล่งข่าวในพื้นที่กลับบอกว่า การก่อสร้างฝายมิได้เป็นไปตามข้อตกลงและนโยบายในการดำเนินการก่อสร้างฝาย เพราะมีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว


 


งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างฝายแต่ละแห่ง ไม่มีทางที่จะถึง 5,000 บาทอย่างแน่นอน เพราะเป็นการก่อสร้างฝายแบบชั่วคราวโดยใช้ไม้ไผ่ หินและทรายในร่องน้ำ โดยมีการเทปูนซิเมนต์ทับด้านบนฝายให้ดูดีเท่านั้น หากคำนวณค่าแรงก่อสร้าง (ซึ่งที่จริงไม่ต้องจ่ายเพราะใช้แรงงานของลุกจ้างอุทยานซึ่งกินเงินเดือนจากกรมอุทยานฯ อยู่แล้ว) บวกค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องซื้อแล้วก็ยังไม่ถึง 1,000 บาทต่อแห่งอยู่ดี


 


หากต้องการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมจริงๆ แล้ว งบประมาณที่จะใช้ก็ยิ่งต่ำลงมาก เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านมีการสร้างฝายกันเป็นประจำอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างฝายแต่ละแห่งจึงแทบจะไม่มี หากคิดค่าก่อสร้างแห่งละ 500 บาท แล้วหักออกไปเป็นค่าอาหารของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมมือกันทำ ก็ยังมีเงินส่วนที่เหลือเพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาทรัพยากรของอุทยานฯ ได้อีก เป็นต้นว่านำไปเป็นกองทุนคุ้มครองอุทยานร่วมกับชุมชน การตรวจพื้นที่ป่าร่วมกัน การทำแนวกันไฟร่วมกันระหว่างพื้นที่ ฯลฯ


 


ฉะนั้น งบการก่อสร้างฝายกว่า 700 ล้านบาทนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจริงไปเกือบ 20 เท่า เพราะมิได้มีการก่อสร้างตามต้นทุนที่แท้จริง มิได้มีการจ่ายค่าแรงในการก่อสร้าง มิได้ก่อสร้างให้ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้จริง ที่สำคัญมิได้เปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการใดๆ เป็นเพียงแค่การชงเรื่องของข้าราชการในกระทรวงฯ ร่วมกับนักการเมืองบางพวก แล้วอ้างว่าดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการนำงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของคนทั้งประเทศไปงุบงิบให้เพียงแก่ข้าราชการและนักการเมืองบางจำพวก สร้างความร่ำรวยแก่เครือข่ายและพวกพ้องของพวกเขา ซึ่งดูจะเป็นวัฒนธรรมของนักการเมืองและข้าราชการกลุ่มนี้ไปแล้ว โดยผู้เสียหายที่แท้จริงก็คือ ประชาชนและประเทศชาติ


 


หากกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมอุทยานฯ ต้องการดำเนินนโยบายให้สัมฤทธิ์ผลและโปร่งใสอย่างแท้จริง จะต้องมอบหมายภาระหน้าที่ให้หน่วยงานย่อยอย่างถูกต้อง ซึ่งในกรณีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นนี้ อาจจะมอบหมายให้หน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง แล้วดำเนินการ่วมกับชาวบ้าน กลุ่มและองค์กรในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการฝ่ายอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน พ่อค้า องค์กรธุรกิจ สถานศึกษา ฯลฯ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง


 


ท้ายที่สุดนี้ขอฝากไว้ว่า ในขณะที่บ้านเมืองกำลังทุกข์ระทมและแตกแยก ประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อสู้เรียกร้องเพื่ออำนาจรัฐที่เป็นธรรม ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งต่อสู่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ยากไร้ แต่ข้าราชการและนักการเมืองพันธุ์ดังกล่าวยังคงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมปรับตัว กลับอาศัยโอกาสนี้ทำโครงการและใช้งบประมาณเพื่อพวกพ้องของตนเองอย่างไร้จิตสำนึก โดยไม่ใส่ต่อทุกข์ของสังคมไทยใดๆ ทั้งสิ้น หวังเพียงแต่ว่า หากประชาชนทั้งสองกลุ่มกลับมารวมเป็นกลุ่มที่สามัคคีดังเดิมได้เมื่อใด เหล่าข้าราชการและนักการเมืองพันธุ์เหล่านี้จะต้องพบกับคำว่า "ระวังจะไม่มีแผ่นดินอยู่"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net