Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


ใครก็ตามที่สนใจปัญหาการเมืองโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับคดีที่ดินรัชดาฯ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างละเอียด เพราะว่าถึงแม้สื่อส่วนใหญ่จะได้เขียนชื่นชมว่าเป็นคำพิพากษาครั้ง "ประวัติศาสตร์" หรือคำพิพากษาครั้ง "สำคัญ" ผู้เขียนกลับพบว่าการเขียนเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นกลางนั้นค่อนข้างที่จะหายากยิ่ง


 


ผู้เขียนเห็นว่ามี 2 ประเด็นสำคัญที่อยากจะแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านดังต่อไปนี้ คือ


 


1.ว่าด้วยส่วนคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549


คำพิพากษาศาลต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐประหารในครั้งนั้นเพราะว่าฝ่ายทนายจำเลยตั้งคำถามถึงสภาพทางกฎหมายของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถูกฉีกโดยกลุ่มก่อรัฐประหาร และความชอบธรรมขององค์กรอย่าง คตส. ซึ่งชงคดีรัชดาฯ เข้าสู่ศาล ในขณะที่องค์กรนี้ถูกก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ก่อรัฐประหาร 19 ก.ย.


 


ศาลได้กล่าวในคำพิพากษาว่า กฎหมายและองค์กรนี้ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายเพราะผู้ก่อรัฐประหารมิได้เข้าไปยึดอำนาจทางตุลาการ หากแต่เพียงยึดอำนาจทางฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเท่านั้น


 


"ศาลเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการมารวมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคณะหนึ่งคณะใดใช้อำนาจนั้น แต่ไม่ได้เป็นการประสงค์ล้มล้างการใช้อำนาจแต่อย่างใด โดยเมื่อ คปค.ยึดอำนาจแล้วออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ที่ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่ศาลอื่นยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้ จึงแสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่ยังใช้อยู่ในขณะนั้นไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย


 


ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งตราขึ้นใช้โดยชอบแล้ว ดังนั้นย่อมมีสถานภาพเทียบเท่ากับกฎหมายทั่วไป ถือว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและยังสามารถใช้บังคับใช้ได้ โดยไม่เกี่ยวว่ารัฐธรรมนูญจะมีอยู่หรือไม่ ดังนั้นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงไม่มีผลทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงด้วยแต่อย่างใด"


 


คำถามที่ตามมากับการแสดงความเห็นในคำพิพากษาว่าด้วยเรื่องที่โยงกับรัฐประหารก็คือว่า ตรรกะของคำพิพากษาเช่นนี้จะมีส่วนเอื้อหรือปรามมิให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคตหรือไม่อย่างไร อีกคำถามคือศาลคิดเช่นไรกับการที่กลุ่มคนติดอาวุธถือวิสาสะยึดอำนาจจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ในแง่นี้แล้วเป็นธรรมาภิบาลที่ดีหรือไม่ ที่ผู้เขียนถามเรื่องธรรมาภิบาล เพราะว่าในคำพิพากษามีการพูดถึงธรรมาภิบาลในแง่ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มิได้รักษาไว้ซึ่งธรรมาภิบาลที่ดี


 


นอกจากนี้ คำพิพากษาก็มิได้พูดอะไรเกี่ยวกับรัฐประหาร ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่จริยธรรมทางการเมือง


 


นายทักษิืณถูกพิพากษาว่าผิดในฐานะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะภรรยาคือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ไปประมูลซื้อที่ดินรัชดาฯ มาจากกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีการตั้งคำถามในคำพิพากษาว่าทหารผู้ก่อรัฐประหารซึ่งเป็นศัตรูกับทักษิณนั้นจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ในเมื่อพวกเขาเป็นคนแต่งตั้งบรรดา คตส. ทุกคน ซึ่งรวมถึงคนอย่างนายแก้วสรร อติโพธิ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และต่อต้านทักษิณอย่างชัดเจน (นายแก้วสรรเคยให้การต่อศาลในคดีนี้ทำนองว่า ตนแยกแยะสองบทบาทนี้ได้ไม่มีปัญหา)


 


คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่มิได้สนับสนุนนายทักษิณ แต่รับไม่ได้กับรัฐประหารจะตั้งคำถามว่าด้วยทัศนะของผู้พิพากษาที่โยงกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. และนี่คือจุดอ่อนข้อแรกของคำพิพากษานี้


 


2.หลักฐานเอาผิดนายทักษิณมัดแน่นและพิสูจน์ชัดได้แค่ไหน


ปัญหาว่าด้วยหลักฐานก็คือการที่คำพิพากษาสรุปว่า "จำเลยที่ 2 (พจมาน) มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้น ยังอาจให้คุณให้โทษทางราชการได้" ในคำพิพากษายังกล่าวด้วยว่า ผู้ร่วมแข่งขันประมูลอีกสองบริษัท "รู้ว่าต้องแข่งขันกับภริยานายกรัฐมนตรี จึงไม่กล้าสู้ราคา..."


 


ทั้งหมดที่อ้างข้างต้น เป็นเรื่อง "ความเป็นไปได้" ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้สูงว่า เหตุการณ์อาจเกิดขึ้นอย่างที่ศาลตั้งข้อสังเกตคาดการณ์ แต่มันก็เป็นเพียง "ความเป็นไปได้" หาใช่หลักฐานที่มัดแน่นไม่


 


ผู้เขียนไม่เถียงในส่วนที่ศาลว่า ภรรยาหรือบุตรนายกรัฐมนตรี "ไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อ" ที่ดินของรัฐในขณะที่ตัวสามีหรือบิดาของผู้ประมูลยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ อยู่ ความโลภและไร้ซึ่งมารยาททางการเมืองจึงเป็นจุดอ่อนที่สุดในคดีที่ดินรัชดาฯ แต่ส่วนใดก็ตามที่ไม่มีหลักฐานและเป็นเพียงความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นไป ก็ควรปล่อยให้มันเป็นความเป็นไปได้ และไม่ควรเป็นเหตุในการลงโทษ มิฉะนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนนายทักษิณก็จะรู้สึกว่านายทักษิณนั้นถูกพิพากษาไปก่อนคดีจะจบแล้ว โดยการใช้หลักที่ว่า นายทักษิณผิดจนกว่าจะพิสูจน์เป็นอื่นได้ อย่างเช่นในส่วนที่ศาลบอกว่า ทักษิณ "ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นได้ว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย" (ประเด็นท้ายสุดนี้ จะว่ากันให้แฟร์ องค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นแตกกันเป็น 5 ต่อ 4 เสียง ว่าให้ทักษิณผิด ผู้เขียนคิดว่า น่าจะหาคำอธิบายให้เหตุผลทั้งเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนใหญ่ที่ก้ำ้กึ่งกันมากมาลองคิดเปรียบเทียบในพื้นที่สาธารณะ)


 


คำถามที่เกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นนี้ คงจะค้างคาไปอีกนานพอดู และมีแนวโน้มจะเป็นขอนสุมไฟการเมืองซึ่งร้อนอยู่แล้วให้ระอุยิ่งขึ้น


 


 


 


 


เกี่ยวข้อง


ติดตามเนื้อหาคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เปิดช่องให้อุทธรณ์ได้ใน30วัน


พิพากษาคดีที่ดินรัชดาทักษิณจำคุก 2 ปี พจมานไม่ผิด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net