Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


บทนำ


ในทางรัฐศาสตร์ มีศัพท์การเมืองการปกครองคำหนึ่งว่า "Gerontocracy" ซึ่งผมขอเเปลว่า การปกครองโดยผู้สูงวัย หรือ "ชราธิปไตย" ผมเห็นว่าการเมืองไทยระยะนี้มีผู้สูงวัยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไปซึ่งแนวคิดหรือความเห็นทางการเมืองที่แสดงออกมานั้นดูเป็นนามธรรม อุดมคติ ฟังแล้วดูดีแต่ปฎิบัติอย่างไรไม่รู้ หลายเรื่องเป็นเรื่องย้อนยุค ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงความหมายของคำว่า ชราธิปไตยและจะขอกล่าวถึงบทบาทของผู้สูงวัยหลายท่านที่มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยที่ผ่านมา


 


1. ความหมายของคำว่า "Gerontocracy"


ในพจนานุกรม ของ American Heritage New Dictionary of Cultural Literacy, Third Edition ได้ให้ความหมายของคำว่า gerontocracy ว่าหมายถึง สังคมที่ปกครองโดยผู้อาวุโส (A society ruled by elders) ในขณะที่เล่มอื่นๆให้ความหมายว่าเป็นระบบการปกครองโดยคนเเก่ (a political system governed by old men) ในต่างประเทศอย่างประเทศอิตาลีนั้นก็มักมีธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมที่ผู้สูงวัยยังมีอิทธิพลหรือบทบาททางการเมืองอยู่ ประเทศในเอเซียที่ยังให้ความสำคัญกับความอาวุโสนั้นที่เห็นได้ชัดคือญี่ปุ่น เเม้ว่าระยะหลังนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่มากเหมือนก่อนจะมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นก็ตาม


 


2. Gerontocracy กับการเมืองไทย


ด้วยวัฒนธรรมประเพณีเเบบไทยๆที่ให้ความเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ในด้านต่างๆ ทำให้สังคมไทยให้ความสำคัญเเก่ผู้ใหญ่ เนื่องจากสังคมไทยเห็นว่าผู้ใหญ่นั้นย่อมมีความรู้ มีวุฒิภาวะเเละประสบการณ์มามาก ดังจะเห็นได้จากประพเณีไทยๆที่หากมีการเเต่งานขอลูกสาวมักจะให้ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ติดต่อพูดคุยกันเอง การให้ความสำคัญของผู้ใหญ่นั้นไม่ยกเว้นเรื่องทางการเมืองด้วย  ตัวอย่างของการให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่นั้นเห็นได้จากมีการเรียกตำเเหน่ง "ราษฎรอาวุโส" (ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้อุปโลกน์) ดังจะเห็นได้จากบ่อยครั้งที่มีปัญหาความขัดเเย้งทางการเมือง มักมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่อันเป็นที่เคารพหรือยอมรับจากประชาชนได้เเสดงความคิดเห็น ติชม เสนอเเนะทางออกหรือวิธีการต่างๆ ซึ่งในอดีตก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เเต่เป็นที่น่าสังเกตว่าวิกฤตการณ์คราวนี้ มีผู้ใหญ่หลายท่านได้เเเสดงความเห็นทางการเมืองหลายเรื่องหลายคราวเเต่กระเเสสังคมกลับไม่ตอบรับยิ่งไปกว่านั้นก็ถูกเเรงต้านจากทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่ต่อต้านอำมาตยาธิปไตย ที่ผ่านมาผู้ใหญ่เหล่านี้ได้เสนอความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ นาๆ มากมายพอจับใจความสำคัญได้ดังนี้ (ผมคงรวบรวมได้ไม่สมบูรณ์พอ)


 


1 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พูดย้ำเรื่องคุณธรรม การเป็นคนดี (ทั้งๆ ที่ตนเองก็ถูกกล่าวหาหลายเรื่อง เช่น เรื่องการมีบทบาทกับโผทหาร รวมทั้งเรื่องการเมืองต่าง ๆ ทั้งที่ตนเองไม่มีตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจทางการเมืองแล้ว)


 


2.นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ที่เสนอให้คนไทยมีศีลห้า


 


3 นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เห็นว่า "การเลือกตั้งมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นของระบอบประชาธิปไตย"


 


4 นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวเรื่อง "อารยะประชาธิปไตย" ที่ดูเป็นนามธรรมเลื่อนลอย ฟุ้งอยู่ในอากาศ (แต่หลายคนคิดว่าเป็นความคิดลึกซึ้ง) รวมถึงทรรศนะคติการเมืองภาคประชาชนที่ท่านเคยกล่าวว่า "เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือที่ให้การศึกษาทางการเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เคยสามารถให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนได้ถึงขนาดนี้ จริงอยู่พันธมิตรอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ภาพใหญ่คือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง"[1] รวมถึงการสนับสนุนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กรณีมาตรา 7


 


5 อาจารย์ เสน่ห์ จามริกที่เคยกล่าวว่า "รัฐประหาร 19 กันยายนเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือกและอย่ามองว่ามันถอยหลัง"


 


6 อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ที่วนเวียนอยู่กับการให้ความสำคัญของชนชั้นนำ (Elite) หรือพวกอภิสิทธิ์ชน (Aristocrat) ทั้งหลาย   เเละเสนอว่าสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง


 


7 คุณสุเมธ ตันติเวชกุล ที่มักเสนอเรื่องความดี คุณธรรม รู้รักสามัคคี หรืออะไรที่ฟังดูเชยๆ


 


8 คุณปราโมทย์ นาครทรรพ ที่กล่าวหลังจากมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายนว่า "เราจะต้องประกาศให้โลกเข้าใจดังต่อไปนี้ว่า[2]


 


1. การปฏิรูปคราวนี้มิใช่การยึดอำนาจ แต่เป็นการใช้กำลังตามความจำเป็นเพื่อป้องกันการใช้กำลังของระบอบทักษิณที่เริ่มขึ้นก่อนโดยการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อจะเคลื่อนกำลังตำรวจทหารและกองกำลังท้องถิ่นสนับสนุนรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม


 


2. การปฏิวัติต้องแปลว่า coup เพราะไม่มีคำอื่น ฝรั่งจึงเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นการปฏิวัติเหมือนในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกาหรือประเทศโลกที่ 3 อื่นๆ แต่ของเราไม่เหมือนใคร การปฏิวัติครั้งนี้ไม่เสียเลือดแม้แต่หยดเดียว เป็นเพียงการแสดงพลังให้อีกฝ่ายยอมเสียดีๆ ซึ่งก็ได้ผล ควรจะเรียกว่า coup de grace หรือปฏิบัติการสายฟ้าแลบเพื่อพิชิตแม้วมากกว่า เป็นการแสดงบันเทิงแก่ชาวบ้าน เด็กๆ และนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ ไม่เชื่อก็ดูจากทีวี การปฏิบัติการสายฟ้าแลบซึ่งมิได้กระทบกระเทือนวิถีชีวิต ความเชื่อ และครรลองอื่นใดแบบประชาธิปไตยเลย…." เเละเคยกล่าวบนเวทีพันธมิตรว่า "การชุมนุมของพันธมิตรเป็นสิ่งที่สวยงามนานาประเทศกล่าวชื่นชม" อะไรทำนองนี้


 


สาระสำคัญของแนวคิดผู้สูงวัยที่เอ่ยมาข้างต้นอาจสรุปได้ดังนี้


(1) ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่คนเหล่านี้เห็นว่า ไม่มีความรู้ดีพอที่จะเลือกผู้แทนเข้าไปทำงานจึงต้องมีกลุ่มบุคคลหนึ่งทำหน้าที่ตรงนี้แทน


 


(2) หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหลักความเสมอภาคของคนต่อกฎหมาย


 


(3) นำเรื่องศีลธรรมจรรยา หลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในการเมืองไทย โดยเฉพาะความพยายามต้องการเห็นนักการเมืองเป็นคนดี มีศีลธรรม มีคุณธรรม (ข้อเสนอนี้มักจะมีการใช้ถ้อยคำหรือหลักการให้ฟังแล้วดูดี แต่เป็นนามธรรมมากไปจนขาดแผนปฎิบัติการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะทำอย่างไรจึงจะไปสู่เป้าหมายที่ทำให้นักการเมืองเป็นคนดีมีคุณธรรมได้)


 


(4) มีแนวคิดยึดติดกับ "ตัวบุคคล" มากกว่า "การสร้างระบบหรือองค์กร"


 


(5) คิดว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษแปลกกว่าประเทศอื่นๆ เป็นประเทศที่มีความสุขสงบแล้วจึงไม่ต้องเลียนแบบหรือเดินตามประเทศอื่นๆ (ดังสะท้อนให้เห็นจากในทางการเมืองได้ปฎิเสธแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือในทางเศรษฐกิจได้ปฎิเสธทุนนิยมหรือโลกาภิวัฒน์ โดยโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นว่า ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก ไทยจึงควรมีระบอบการปกครองเป็นของตนเอง โดยปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยๆ โดยลืมบอกกับประชาชนไทยว่า ระบบที่ตนเองเสนอนั้นมีผลทำให้ระบบชนชั้นอำมาตยดำรงอยู่ต่อไป)


 


(6) ส่งเสริมหรือเห็นว่าพระราชอำนาจอำนาจของสถาบันว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเมืองไทย และ


 


(7) ลึกๆ ผู้สูงวัยเหล่านี้โหยหารัฐประหาร หากการเมืองยุ่งยากจริงๆ ก็พร้อมที่จะเห็นด้วยกับการทำ "รัฐประหาร" เพื่อเป็นทางออก[3]


 


บทส่งท้าย


บ่อยครั้งที่ผมฟังทรรศนะหรือเเนวคิดทางการเมืองของผู้สูงวัยข้างต้นเเล้วรู้สึกเหมือนว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้กำลังชวนเชิญให้คนไทยกลับไป "นั่งเกวียนเเละใช้เครื่องพิมพ์ดีด" โดยหารู้ไม่ว่า ปัจจุบัน มนุษย์กำลังใช้รถไฮบริดจ์เเละใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คไร้สายเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั่วโลกกันเเล้ว ที่น่าเศร้าก็คือผู้สูงวัยเหล่านี้ยังวนเวียนเวียนวนกับการเสนอแนวคิดและการให้ความเห็นกำหนดทิศทางทางการเมืองอยู่เนืองๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่รู้หรือว่าประชาชาชนที่ต่อต้านอำมาตยธิปไตยเขารู้ทันความคิดความอ่านของพวกท่านหมดเเล้ว เขารู้ว่าพวกท่านเป็น "ตัวเเทน" ของกลุ่มอำมาตยธิปไตย ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่เคยตำหนิการชุมนุมที่ผิดกฎหมายอย่างการยึดทำเนียบ การปิดสนามบิน การปิดท่าเรือคลองเตย การปิดล้อมรัฐสภา รวมทั้งข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรที่เลยเถิดไปจากระบอบประชาธิปไตยเเล้ว จึงไม่เเปลกใจที่ข้อเสนอหรือความคิดเห็นต่างๆ ของพวกท่านถูกปฎิเสธ (กึ่งหัวเราะเยาะ) หรือถูกมองข้ามจากกลุ่มต่อต้านอำมาตยาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง






[1] ประเวศ วะสี, การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล,หนังสือพิมพ์คมชัดลึกวันที่ 21 ก.ค. 51



[2] โปรดดู ปราโมทย์ นาครทรรพ, ระวังปฏิรูปหลงทาง



[3] เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล (ANFREL) เคยออกแถลงการณ์ทักท้วงหมอประเวศ ขอให้ยุติการชี้นำให้ทหารยึดอำนาจหรือรัฐประหาร หรืออาจารย์อมรเคยกล่าวว่า"ผมคิดว่า ก่อนที่จะทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ผู้ที่ทำการรัฐประหาร ควรจะต้องกำหนด "ภารกิจ"ของตนเองเสียก่อน "[3]หรืออาจารย์ เสน่ห์ เคยกล่าวว่า "รัฐประหาร 19 กันยายนเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือกและอย่ามองว่ามันถอยหลัง 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net