Skip to main content
sharethis

28 ต.ค. 51 - เมื่อความตรึงเครียดในพื้นที่ชายแดนลดลง ทหารกัมพูชาจึงได้ทำกิจกรรมนอกเหนือการเฝ้าระวังทหารไทยเพียงอย่างเดียว


 


หนังสือพิมพ์ Phnom Pehn Post ได้รายงานสถานการณ์ในเขตชายแดนบริเวณปราสาทตา เมือน ธม  และตา กระบือ เริ่มผ่อนคลายความตรึงเครียดลง ทำให้ทหารกัมพูชามีเวลานอกเหนือจากการลาดตระเวนไปทำกิจกรรมอื่น เช่น การตกปลา


 


"ตั้งแต่ความขัดแย้งบรรเทาลงไป ทหารของพวกเราก็มีเวลาที่จะไปจับปลาในแม่น้ำเล็กๆ แถวเทือกเขาดงรักได้" โฮ บุนที (Ho Bunthy) รองผู้บังคับบัญชากองกำลังรักษาชายแดนที่ 402 กล่าวกับ Phnom Pehn Post เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา


 


"พวกเราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถืออาวุธอยู่ตลอดทั้งวันเช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ เราวางปืนลงและก็ไปหาปลามาเพื่อเป็นอาหาร" รองผู้บังคับบัญชากองกำลังรักษาชายแดนที่ 402 กล่าวเสริม


 


เนี๊ยก วง (Neak Vong) รองผู้บังคับบัญชากองพลน้อยที่ 42 ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่บริเวณปราสาทตา เมือน ธม กล่าวว่าปัญหาหลักที่ท้าทายกองทหารท้องถิ่นในขณะนี้กลับเป็นฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง


 


"ความขัดแย้งมีทีท่าผ่อนคลายลงไปมากจากก่อนหน้านั้น แต่ทหารในแนวหน้าของเราต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนัก เราไม่ได้เผชิญหน้ากับทหารไทยเหมือนแต่ก่อน" เขากล่าว ทั้งนี้สืบเนื่องจากฝนที่ตกหนักทำให้น้ำหลากมีปลามากขึ้น ทหารกัมพูชาจึงได้มีโอกาสวางปืนเพื่อไปหาปลาเป็นอาหาร


 


ยิม พิม (Yim Phim) ผู้บังคับบัญชากองพลน้อยที่ 43 ที่ประจำการอยู่ที่เขตปราสาทเขาพระวิหาร กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าขณะนี้สถานการณ์ชายแดนเป็นปกติ แต่ทหารของกัมพูชายังคงตื่นตัวเสมอเพื่อป้องกันประเทศ และพวกเขายังไม่พบทหารไทยที่ Veal Antri ตั้งแต่วันที่ทั้งสองประเทศปะทะกันมา


 


สภาอนุมัติกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา


 


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยกับกัมพูชาได้บรรลุข้อตกลงขั้นต้นในการแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดน 4 ข้อคือ


 


1.จะทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการปะทะ หรือการเผชิญหน้าระหว่างกันอีก


2.จะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน


3.จะส่งเสริมความร่วมมือที่มีอยู่แล้วระหว่างสองประเทศต่อไปและพัฒนาความร่วมมือด้านใหม่ๆพร้อมกันไป


4.จะร่วมสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค กรอบภูมิภาคต่าง ๆเห็นพ้องเลี่ยงใช้กำลังห้ำหั่น


 


ซึ่งนอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า การหารือในกรอบคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-กัมพูชา (RBC) ระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี หากผลการประชุม RBC ได้ข้อยุติที่ดีในการแก้ปัญหาระหว่างกันในพื้นที่ ก็อาจนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาพิพาทในพื้นที่อื่น ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการใช้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จะเป็นกลไกทวิภาคีที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเขตแดน ซึ่งในวันที่ 28 ตุลาคม รัฐสภาของไทยจะพิจารณากรอบการหารือที่ฝ่ายไทยจะนำไปใช้เจรจากับฝ่ายกัมพูชา หากผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ไทยจะเสนอให้จัดประชุมเจบีซีวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้


 


โดยการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ในวันนี้ (28 ต.ค. 51) เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจง ความจำเป็นในการขออนุมัติความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากต้องนำไปเจรจากับกัมพูชา ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งหลังจากนั้น ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายอย่างต่อเนื่อง อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ตั้งข้อสังเกต การเร่งรีบการขออนุมัติที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา



นอกจากนี้ได้มีการสอบถามสถานะแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา ที่รับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่ายังมีผลบังคับใช้หรือไม่ ซึ่งนายสมพงษ์ยืนยันว่า ได้ยกเลิกแถลงการณ์ไปแล้ว และย้ำว่าการปักปันเขตแดนจะยึดแนวทางเจรจาในปี 2543 และแผนที่ตามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยจะไม่เสียดินแดน ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาหลายคนเสนอเลื่อนออกไปก่อนเพื่อศึกษารายละเอียดก่อนการลงมติ


 


ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมร่วมกันทั้งสองสภา มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาได้ หลังรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ให้การรับรอง


 


 


 


……..


ที่มา:


Cambodian front line soldiers exchange guns for fishing lines (Thet Sambath, The Phnom Penh Post, 28-10-2008)


 


……………….


ข้อมูลประกอบ


สภาอนุมัติกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา (เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 28 ตุลาคม 2551)


 


………………


ข่าวเกี่ยวข้อง:


จากความขัดแย้งชายแดน รัฐบาลกัมพูชาเตรียมเพิ่มงบทหาร (21 ตุลาคม 2551)


เมื่อคน "กัมพูชา" ออกมาปกป้อง "ดินแดน" ของเขา (17 ตุลาคม 2551)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net