Skip to main content
sharethis

 



 


เปิดตัวเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงโดยการหลีกเลี่ยงการปะทะกันทุกรูปแบบ ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กระทำหน้าที่ให้เต็มกำลังในการป้องกันมิให้มีการปะทะ โดยไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง เรียกร้องให้คู่กรณีในความขัดแย้งโดยเฉพาะรัฐบาล ฝ่ายค้าน พธม. นปช. ร่วมกันสานเสวนาเพื่อสันติธรรม ระบุจะไม่ประณามฝ่ายใดทั้งสิ้น และให้ทุกฝ่ายไม่ประณามซึ่งกันและกัน เรียกร้องสื่อเปิดพื้นที่ให้เสนอทางเลือกเท่าๆ กับการเสนอข่าวความขัดแย้ง


 


 


วันนี้ (26 ต.ค. 2551) เวลา 13.30 ที่หอประชุมใหญ่ กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันจัดงาน "ประชุมใหญ่เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม" เพื่อเปิดตัวเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรง แสวงหาสันติด้วยการเสวนา และร่วมลงนามในปฏิญญาสานเสวนาเพื่อสันติธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เต็มหอประชุมใหญ่และมีการจัดที่นั่งด้านนอกไว้รองรับ


 


ช่วงเริ่มต้นของการประชุม ศ.นพ.วันชัย ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า ได้แถลงกติกาของเครือข่าย "ไม่ประณามใคร ไม่กล่าวหาใคร" จากนั้นเป็นการปาฐกถาโดยนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และการอภิปรายเรื่อง "ยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการสานเสวนา"


 



 


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการสานเสวนา" ว่า ในชีวิตช่วงชีวิตกว่า 70 ปี ได้ผ่านเหตุการณ์และรับรู้เรื่องการใช้ความรุนแรงที่ฝังใจหลายครั้ง ทุกครั้งเป็นการเข่นฆ่ากันเองของคนที่ถือเป็นพี่น้องเชื้อชาติเดียวกันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยในช่วงที่เป็นนักเรียนทุนระดับไฮสคูล ที่ประเทศเวียดนาม มีการต่อสู้กันของเวียดนามฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ส่วนในประเทศตั้งแต่เหตุการณ์สมัยที่มีการปฏิวัติของกลุ่มกบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ.2514 และ 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535


 


 "ภาพต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ ผมไม่อยากเห็นอีกแล้ว" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าว พร้อมแสดงความเห็นว่าการใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ หากฝ่ายใดไปฆ่าคนของอีกฝ่ายก็ยิ่งเพิ่มความแค้นระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทำให้ความรุนแรงทวีคูณฆ่ากันไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน แต่ทางออกคือ การพูดคุยเจรจากันของฝ่ายต่างๆ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างกรณีประเทศเวียดนามที่มีการแบ่งเป็นฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ แล้วยังประเทศมหาอำนาจร่วมด้วย สุดท้ายก็จบลงที่โต๊ะการเจรจา


 


 "แผ่นดินจะแตก หรือไม่แตก อยู่ที่มือของเราเอง ไม่ใช่เพราะต่างชาติ และเราจะอยู่ได้ หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับมือของเรา" ดร.สุเมธ กล่าวและว่าการรักแผ่นดิน ต้องรักให้ฉลาด ใช้ปัญญารักษา จะใช้อารมณ์และความรุนแรงไม่ได้ ทั้งนี้ การดำเนินตามหลักนิติธรรมมีได้หลายรูปแบบ แต่ไม่ว่ารูปแบบใดสิ่งที่สำคัญคือธรรมาภิบาลที่จะมารองรับ โดยมีความซื่อสัตย์ สุจริต อยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องชอบธรรม และสุดท้ายประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นก็ตกถึงทุกคนในชาติด้วย


 


นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังได้กล่าวยกพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้หลังเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 บางส่วนที่ว่า


 


 "..ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็ จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ..."


 


ดร.สุเมธ กล่าวต่อมาว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก และไม่ได้ก่อประโยชน์ มีแต่ความเสียหาย อีกทั้งยังเคยทำให้คนหลายคนต้องไปอยู่แผ่นดินอื่น ที่ผ่านมาความรุนแรงได้สร้างบาดแผลให้ประเทศเรามาแล้ว แต่ยังโชคดีที่พยายามรักษาให้บาดแผลนั้นหายไป ดังนั้นอย่าสร้างบาดแผลขึ้นอีกเลย นอกจากนี้ การที่ในสังคมจะมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันไม่สำคัญ แต่จะต้องมีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ใช้กำลังเพื่อชัยชนะ


 



 


จากนั้น มีการอภิปราย "ยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการสานเสวนา" โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่ผู้ดำเนินการอภิปราย


 



 


นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงความรุนแรงครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาของประเทศไทยและกล่าวว่า สำหรับความรุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและต้องหาข้อเท็จจริง ซึ่งทางออกทางเดียวคือการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นผู้ค้นหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโดยส่วนตัวคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภามีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ตั้งคณะกรรมการดังกล่าว


 


นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อมาว่าความจริงความรุนแรง คนที่มีหน้าที่ป้องกันคือรัฐบาล ซึ่งแปลว่าผู้มีหน้าที่รักษารัฐ โดยรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การพัฒนา และการอยู่ดีกินดี แต่ว่ารัฐไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะคาบลูกคาบดอก ระหว่างการเป็นรับที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ กับการเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) โดยศูนย์วิจัยวิกฤติรัฐให้คำนิยามรัฐที่ล้มเหลวนี้ว่าเป็นรัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานให้ประชาชนและสังคมในรัฐได้ นั่นคือไม่สามารถรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยได้ ไม่สามารถนำไปส่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้


 


จากรายงานชิ้นหนึ่งของกองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund For Peace) และหนังสือพิมพ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำตัวชี้วัดรัฐที่ล้มเหลว เพื่อดูว่าประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติประเทศใดมีความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นพัฒนาไปสู่ความรุนแรงซึ่งจะก่อให้เกิดความล้มเหลวของรัฐและการสิ้นสูญของอำนาจรัฐได้ โดยศึกษาจาก 177 ประเทศ ในปีนี้พบว่าประเทศในกลุ่มที่อยู่ในภาวะอันตราย หรือกลุ่มประเทศสีแดง จำนวน 35 ประเทศ อาทิ ประเทศอัฟกานิสถาน อิรัก ศรีลังกา และกลุ่มประเทศสีส้ม คือกลุ่มระดับเตือนภัย มี 92 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 85 ที่อาจจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นในรัฐ


 


นายบวรศักดิ์ มองว่าเหตุการณ์ความความขัดแย้งและการใช้รุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณของความล้มเหลวของรัฐบาล โดยที่ตัวรัฐบาลเองมีปัญหาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้ง และมีข้อสงสัยกันว่ารัฐบาลเองนั้นอาจมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็กำลังยักคิ้วหลิ่วตาให้ประชาชนบางกลุ่มบางพวกมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงขึ้นได้ และเมื่อรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานในการรักษาความสงบ ความมั่นคงปลอดภัยได้ ความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทั้งหลายที่จะลุกขึ้นมาป้องกันปัญหาความรุนแรง


 


 "คนที่อยู่ในเมืองไทย 60 กว่าล้านคนนั้นจะนั่งเครียดกันอยู่อย่างนี้ จะทนกันอยู่อย่างนี้ หรือจะต้องออกมาบอกกันว่า เราไม่ต้องการความรุนแรง ไม่ว่าจะก่อขึ้นโดยฝ่ายไหน ฝ่ายใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะความรุนแรงซึ่งมาจากการยักคิ้วหลิ่วตาของผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบสุขเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ" นายบวรศักดิ์กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศออกมาแสดงเจตจำนงต้องการสันติสุข โดยเชื่อว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นเมื่อคนมาสานเสวนากัน


 


ทั้งนี้ ที่มาของการจัดกิจกรรมวันนี้ คือการเปิดประชุมใหญ่เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เพื่อคนที่อยากเห็นสันติเกิดขึ้นในประเทศได้สามารถเข้าร่วมกระบวนการและร่วมรณรงค์ได้ และจะต้องมีกิจกรรมต่อเนื่องไปทั่วประเทศ โดยสื่อมวลชนจะเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่เสียงของกลุ่มคนที่ต้องการให้ความขัดแย้งนี้ยุติลง โดยให้พื้นที่ในการแสดงออก



 



 


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจว่า ความขัดแย้งในเรื่องแนวความคิดซึ่งเป็นภัยภายในทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศประสบปัญหาในเรื่องของความไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นเอกภาพ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองไปข้างหน้าถึงเศรษฐกิจของโลกนั้นจะไม่ได้มีแค่ภัยในประเทศ ภัยจากต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และจะต้องมีการเตรียมตัวตั้งรับ กำลังใกล้เข้ามา หากคนในประเทศกันเองยังมีความขัดแย้งประเทศไทยก็จะไม่สามารถต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ได้เลย


 


ในช่วงสามปีเศษตั้งแต่ที่มีกี่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบันการบริหารของภาครัฐไม่มีความต่อเนื่อง เปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้า การพัฒนาเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ไม่ได้โตขึ้นอย่างที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนเพื่ออนาคต ความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบันพึ่งเศรษฐกิจโลก 70 เปอร์เซ็นต์ คือรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องการค้าภายใน ส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่าหากเกิดการกระทบภายนอกจะมีผลกระทบต่อภายในประเทศมากมาย


 


ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าพบว่าถ้าความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้มีความต่อเนื่องเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ดังนี้ การส่งออกของประเทศไทยจะมีผลกระทบอย่างน้อย 20,000 ล้านบาทต่อปี การท่องเที่ยว 50,000 ล้านบาทต่อปี เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างน้อย 80,000-100,000 ล้านบาทต่อปี เพราะเงินจากต่างประเทศไม่เข้าและไม่มีการใช้จ่ายในประเทศ กำลังการซื้อจึงหมดไป มีผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเดิมโต 5 เปอร์เซ็นต์ จะเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์


 


 "มันเหมือนว่าไฟที่กำลังไหม้บ้าน ไฟป่าที่เราควบคุมมันไม่ได้กำลังจะมาถึงบ้านเรา ถ้าเกิดเรายังมัวมาทะเลาะกันอยู่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารประเทศใครจะเป็นเจาของประเทศ ถึงตอนนั้นก็คงจะไม่มีบ้านเหลือแล้ว" นายประมนต์กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เป็นกำลังคืบคลานเข้ามาซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องรีบดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และประเทศต้องการการบริหารไม่ใช่ปล่อยตาลมตามแล้งเหมือนที่เป็นมา


 


ขณะนี้ถ้าเศรษฐกิจของเราขยายตัวลดต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน นักเรียนนักศึกษาที่จบมาใหม่จะไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปในตลาดแรงงาน หรือแม้แต่คนทำงานก็อาจจะถูกผลกะทบจากการเลิกจ้าง ซึ่งจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังนับว่าโชคดีที่ภาวะการเงินยังไม่ได้ผลกระทบมากนัก เนื่องจากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 สอนให้มีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรค่าภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะถูกกระทบแน่เพียงแต่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง


 


 "ภาวะเศรษฐกิจ ภัยเศรษฐกิจไม่รอเรา ถ้าเราไม่บริหารจัดการภายในของเราให้เรียบร้อยเอง เราก็จะประสบปัญหาแน่นอน ถึงแม้ว่าเราจะทำให้ดีที่สุดเท่าไหร่ก็ตามการถดถอยก็จะตามมา แต่ก็ยังดีกว่าการที่เราจะไม่ทำอะไร" นายประมนต์กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด


 


 


 


ด้านนายผดุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวเสริมว่า วิกฤตการทางการเงินที่ขณะนี้ได้ลามไปทั่วโลก และในหลายประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทย ในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP นั้นก็ถูกผลกระทบจากวิกฤตทางการเงิน ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าลดลง ซึ่งในส่วนนี้จะกระทบไปถึงการใช้กำลังผลิตในประเทศลดลง การจ้างงานลดลง ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหา


 


สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นกังวลนอกจากสถานการณ์ในประเทศที่ไม่รูว่าจะลงเอยอย่างไรแล้ว ก็ยังมีวิกฤตการเงินโลกซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แล้วก็จะซ้ำเติมปัญหาของประเทศไทยมากขึ้นไปอีก ทั้งในเรื่องกำลังซื้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายได้ที่จะเข้าประเทศ การจ้างงาน และผลกระทบที่จะตามมาคือด้านสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ยิ่งหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นปัญหาก็จะซ้ำเติมลงไปอีกหลายเท่าตัว


 



 


ต่อมานายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง และประธานองค์กรชุมชนขอนแก่น กล่าวถึงความเป็นชุมชนว่า เสาค้ำของชุมชนมีอยู่ 3 เสา ก็คือเสาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ เสาอยู่ดีกินดี นอนหลับ คือเสาการเมืองการปกครอง และเสาสุดท้ายวัฒนธรรมที่ต้องร้อยรับให้เกิดความสามัคคีในชุมชน ซึ่งเมื่อมอสถานการบ้านเมืองปัจจุบัน เสาทางการเมืองได้สูญเสียไปแล้ว ลามไปถึงทางสังคมที่กำลังมีปัญหาแตกแยก เสากำลังผุกร่อน เหลืออยู่เพียงเศรษฐกิจที่กำลังจะถูกวิกฤตการเงินโลกเล่นงาน ทำให้หวั่นเกรงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่มีทางแก้ไข และหากเป็นเช่นนั้นชุมชนก็จะพินาศ


 


 "ผมคิดว่า พวกเราต้องออกแรงช่วยกันให้มันพ้นวิกฤต ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะบุกเข้ามาอย่างขนานใหญ่" นายสนกล่าว


 


นายสนกล่าวต่อมาเกี่ยวกับความขัดแย่งที่เกิดขึ้นว่า สามารถมีได้ ทะเลาะกันได้ แต่จะผ่านไปโดยสันติวิธีได้หรือไม่ ในส่วนของชุมชนอีสานเอง ต่อความขัดแย้งนี้พวกเขาได้ถูกแบ่งฝ่ายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ท่าทีต่อความขัดแย้งครั้งนี้คิดว่าพี่น้องชาวอีสานจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่เชื่อว่าคนอีสานจะเข้ามาสมทบเพื่อสร้างความขัดแย้ง เพราะลึกๆ แล้วคนอีสานต้องการให้ผ่านความขัดแย่งครั้งนี้โดยเร็ว และโดยสันติวิธี ไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคอีสาน ในภาคอื่นๆ ทั้งเหนือ กลาง ใต้ ก็คงคิดไม่แตกต่างกัน



 


ในส่วนการแก้ไขปัญหา นายสนกล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากความขัดแย้งในชุมชน ความขัดแย้งในบ้าน ในครอบครัว ซึ่งสมารถแก้ไขได้ด้วยการสานเสวนาโดยมีพ่อเฒ่าแม่เฒ่า หรือผู้อาวุฒิโส ที่ชุมชนเคารพนับถือเข้ามาจัดการให้มีการพูดคุย ผสานความเขาใจให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือในครอบครัวเมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันลูกก็จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ ซึ่งเชื่อว่าสังคมจะแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้


 


 "ทำอย่างไรคนจะคุยกัน พ่อกับแม่จะคุยกัน คู่ความขัดแย้งจะคุยกัน สามฝ่าย สี่ฝ่าย ทำอย่าไรจะหันหน้าเข้าคุยกัน ในความเป็นจริงความขัดแย้งทีคงอยู่มาตั้งแต่ปี 48 ถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการคุยกันอย่างจริงจังเท่านั้นเอง แล้วใครจะไปบอกให้เค้าคุยกันได้ ผมว่าประชาชนครับ ลูกนี่แหละครับ ประชาชนนี่แหละครับ" นายสนกล่าวพร้อมย้ำว่าจุดเริ่มต้นน่าจะมาจากประชาชนทั้ง 60 กว่าล้านคนที่จะส่งเสียงให้มีการพูดคุย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเริ่มต้นกันอย่างจริงจังเพียงใด


 


 "อย่าคิดว่าเราจะหันกลับไปพึ่งชุมชนได้นะ ทุกวันนี้ชุมชนพึ่งเมือง อย่าลืมนะครับชุมชนเดี๋ยวนี้พึ่งตัวเองน้อยเต็มทีแล้ว จากการศึกษาพบว่าชุมชนได้หายใจร่วมกับชุมชนเมืองจนเต็มปอดแล้ว ถ้าหากว่ากรุงเทพฯ ฆ่ากัน ภาคเมืองฆ่ากัน หรือถ้าเศรษฐกิจการเกินระดับโลกส่งผลกระทบเข้ามา อย่าคิดว่ามันกระทบไม่ถึงท้องไร่ท้องนา ผมคิดว่าเสียงส่วนใหญ่ที่กำลังหลับอยู่ในชุมชนชนบททั้ง 4 ภาคถ้าหากพร้อมใจกันลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาร้องขอ ลุกขึ้นมาให้ทางฝ่ายของความขัดแย้งหันหน้าเข้าหากัน ผมคิดว่าน่าจะมีโอกาสให้สังคมไทยดีขึ้นโดยเร็ว" นายสนกล่าว


 



 


นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมใครและแพ้ไม่ได้ ต้องยอมรับข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายที่อยู่ที่ลอนดอน ในฐานะมนุษย์ธรรมดา เขาต้องต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองให้หลุดจากคดีความต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องทรัพย์สิน 7 หมื่นล้านบาทซึ่งถูกอายัดอยู่ เพราะฉะนั้นพลังของการต่อสู้ต่างๆ ที่ยังคงเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในวันที่ 1 พ.ย. มาจากแรงผลักดันในส่วนนี้


 


ในรายละเอียด เครือข่ายที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้ ชัดขึ้นว่ามีการดึงกลุ่มศาสนา คือกลุ่มวัดพระธรรมกาย เข้ามา โดยคู่ต่อสู้อีกฝ่ายก็มีกลุ่มสันติอโเศรษฐกิจซึ่งกังวลว่า ความรุนแรงจะยิ่งขยายตัวออกไปหากมีเรื่องความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง


 


นายประสงค์กล่าวว่า ในระหว่างความขัดแย้ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามฉกฉวยหาผลประโยชน์จากความขัดแย้ง โดยการรับจ้างก่อความรุนแรง กลุ่มนั้นเป็นใครก็คงจะทราบกัน มีคนพูดกันว่าขณะนี้เงินไม่มาจึงยังไม่บุก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เราก็จะเห็นภาพว่าอยู่ดีๆ มีกลุ่มคนบางกลุ่มโผล่เข้ามาแทรกกลางระหว่างความขัดแย้งตรงนี้ ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง


 


การต่อสู้ของฝ่ายนี้ ถ้ามองอย่างผิวเผิน เหมือนการต่อสู้ของกลุ่มคนที่รักคุณทักษิณกับกลุ่มที่ไม่ชอบคุณทักษิณ แต่เมื่อดูสภาพของการเคลื่อนไหวต่างๆ แล้ว นักวิชาการและหลายๆ ท่านอาจจะคิดว่ามันมากกว่านั้น เป็นการต่อสู้ของกลุ่มคนที่ใช้ภูมิศาสตร์เป็นเส้นแบ่ง คือ ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท หรือระดับความมั่งคั่ง เป็นตัวแบ่ง ในแง่นี้หลายคนอาจเป็นห่วง แต่ถ้ามองในแง่บวก นี่เป็นสำนึกทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่อาจไม่อยู่ในจุดที่สมดุล ถ้าทำให้อยู่ในจุดที่สมดุลได้ก็อาจจะเป็นคุณ


 


หลายคนอาจมองว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤต แต่หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ อาจเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองก็ได้ ซึ่งในสภาพที่ขัดแย้งแบบนี้ไม่มีอะไรที่จะยุติได้โดยเร็ว ถ้าคิดว่าเราสามารถใช้กำลัง หรือหาอัศวินม้าขาวแบบในอดีต มันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป มันจะสร้างความรุนแรงมากขึ้น เพราะอัศวินจะกลบความรุนแรงไว้ และอาจระเบิดขึ้นมารุนแรงกว่าเก่า ดังนั้นเราต้องอาศัยความอดทน อนุญาตหรือปล่อยให้ขัดแย้งถกเถียงกันได้ โดยมีเงื่อนไขอยู่ 2-3 อย่างคือ


 


หนึ่ง ต้องไม่มีความรุนแรงจากฝ่่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจต้องพยายามรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดความรุนแรงอย่างเต็มที่


 


สอง ต้องมีการพูดจากัน เครือข่ายนี้จะเป็นแรงกดดัน ชักจูง จูงใจให้เกิดเวทีกลางขึ้นมาในอนาคต เราอาจจะไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรม ว่าต้องมี ส.ส.ร. 3 หรือมีอะไร ทุกๆ ฝ่ายต้องมานั่งคุยกัน เพราะใครจะมาชี้นำว่า ต้องยุบสภา-ลาออก คิดว่าไม่มีใครยอมรับ ต้องมานั่งคุยกัน โดยอยู่บนกติกาตามปฎิญญาว่า ไม่มีการประณามซึ่งกันและกัน


 


สาม ในการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเวทีนี้ ต้องยึดหลักนิติธรรม รวมถึงไม่ใช้กำลัง อาวุธล้มล้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่อยากเห็นการรัฐประหาร


 


ต่อคำถามเรื่องสื่อของผู้ดำเนินรายการว่า สื่อจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่เอาความรุนแรงได้หรือไม่ นายประสงค์ตอบว่า ค่อนข้างหนักใจ สภาพสังคมของเราเคยชินกับบา่งสิ่งบางอย่าง เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาประชาชนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เรทติ้งต่างๆ ในวันที่เกิดวิกฤต เช่น 7 ตุลา หรือวันที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ทีวีช่องต่างๆ เปิดรายการพิเศษ เว็บไซต์ต่างๆ มีคนเข้ามาดูข่าวในอัตราสูงมาก ดังนั้น การนำเสนอข่าวความขัดแย้งในลักษณะแบบนี้มันสนองตอบความต้องการของผู้ฟังผู้ดู พื้นที่ด้านนี้ก็มีสูง


 


ทัศนคติตรงนี้ต้องไปทั้งสองส่วน ในสื่อเองต้องเห็นว่าเราควรมีช่องทางรณรงค์ เป็นข่าวเชิงนโยบาย จะปล่อยให้มีการตัดสินใจตามคนอ่านคนฟังคนดูอย่างเดียวไม่ได้ ไม่เช่นนั้น พอเกิดวิกฤตจะเห็นตัวเลขเรทติ้งสูงมาก ทั้งวิทยุ ทีวี นสพ. เว็บไซต์ แต่เมื่อผ่านช่วงนั้น ยอดลดลงอย่างชัดเจน สถานการณ์ตรงนี้เจ้าของสื่อ ผู้ทำสื่อต้องเปลี่ยนทัศนคติ ทำใจ มีวิธีที่จะหาช่องทางให้พื้นที่ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายของการสานเสวนามีช่องทางให้มากขึ้น


 


โดยการเคลื่อนไหวพวกนี้ ควรต้องมีกิจกรรม 2 อย่าง หนึ่งคือกิจกรรมกลางที่จะทำร่วมกัน สอง เครือข่ายแต่ละกลุ่ม คิดกิจกรรมด้วยกันเอง เช่น ทำเสื้อ หมวก แจกกัน ไม่ต้องรอจากส่วนกลาง


 


สำหรับสื่อมวลชนเอง ก็มีการพูดคุยกันในบางระดับ เช่น พิธีกรโทรทัศน์ก็พร้อมใจใส่เสื้อ หรือสถานีทำให้พิธีกรใส่เป็นแบบ นี่เป็นจุดเริ่มง่ายๆ ที่ทำได้เลย การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นพลังที่จะแสดงให้เห็นว่า เราไม่ต้องการความรุนแรง


 



 


นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า หน้าที่หนึ่งของสื่อคือการรายงาน โดยที่ผ่านมา สื่อได้ทำหน้านี้ไม่ว่า วิทยุหรือโทรทัศน์ แต่สำหรับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ การทำหน้าที่แค่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ ก็ต้องใช้วิธีีการที่พิเศษ หรือไม่ปกติเช่นกัน


 


การที่สื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า รายงานแต่เรื่องความรุนแรงความขัดแย้ง มองได้สองด้าน ด้านหนึ่ง ทำให้เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและความขัดแย้ง โดยไม่มีผู้นำเสนอความเห็นให้กับสังคมว่าจะมีทางออกอย่างไร สอง มองในแง่บวก ข่าวที่มีอยู่เยอะทำให้ความรุนแรงที่คิดว่าน่าจะเกิดๆ ยังไม่เกิด เหตุการณ์เมื่อ 7 ตุลา คิดว่าจะไม่ยุติลง ณ วันนั้น คิิดว่าจะรุนแรงขึ้น แต่ไม่มี การเสนอข่าวที่ถูกวิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง อีกด้านทำให้ทุกคนคิดว่า "จะเอาถึงขนาดนั้นเชียวหรือ" ทำให้คนชะงัก หรือไม่มาทำให้เกิดความรุนแรง


 


 "ช่วงหนึ่งบอกว่า สื่อต้องเป็นกลาง รายงานแต่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว ไม่ต้องชี้นำ ผู้อ่านพิจารณาได้ว่าอะไรคืออะไร แต่พอถึงช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวาย แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร คำถามก็มาถามที่สื่ออีกว่า ตกลงเป็นยังไง สื่อบอกว่า สื่อทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงแล้ว ก็บอกว่าสื่อรู้แค่นี้เองเหรอ เอาสิ่งที่ฝ่ายที่หนึ่ง สอง สาม พูดมารายงาน แค่นั้นเหรอ พอสื่อทำหน้าที่หาข้อเท็จจริง แล้วชี้ไปว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด ชี้ในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ถูกใจคนที่รับฟังสื่อนั้นก็จะถูกมองว่า ไม่เป็นกลาง เลือกข้าง มีอคติทันที หลังๆ คำว่า เป็นกลาง ก็ไม่ค่อยมีการพูดถึง เพราะค่อนข้างชัดเจนว่ามีการเลือกข้างกัน" นายก่อเขต กล่าว


 


นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ความชัดเจนแบบนี้น่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะชัดเจนว่าสื่อนี้เลือกข้างแบบนี้ ก็รายงานแบบนี้ ผู้ที่รับฟังข่าวสารก็ต้องคิดตามว่าสิ่งที่เขารายงานจะเชื่อได้ขนาดไหน


 


สถานการณ์ที่วุ่นวายและสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง สื่อก็ถูกคาดหวังว่าจะช่วยผ่อนลงได้อย่างไร หรืออีกด้านคือไปกระตุ้นให้รุนแรงมากขึ้น


 


ความขัดแย้งหรือความรุนแรงนั้น ถ้าไม่เกิดขึ้นสื่อรายงานไม่ได้ แต่เมื่อมีแล้วก็ต้องรายงานให้ทราบ พอรายงานแล้ว แล้วยังไง ที่ผ่านมาเสียงของผู้ที่เรียกร้องให้เกิดการพูดคุยกันไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ ไม่ได้โทษว่าไม่มีคนพูดเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็โทษสื่อด้วยที่ไม่ค่อยได้รายงาน อาจเกาะติดสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงมากเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยต้องจับตามอง ก็ต้องรายงาน


 


อยากทำความเข้าใจเรื่องการเสพสื่อว่า หลายคนบอกว่า สื่อไม่เป็นกลาง สื่อชั่ว สื่อเลว สื่อเลือกข้าง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ผู้ที่เลือกเสพสื่อทุกวันนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นกลางไหม หลายกรณีก็เลือกข้างแล้ว ตัดสินแล้วว่าใครถูกใครผิด ถึงเสพสื่อนั้น พออ่านแล้วไม่ตรงกับที่ตัวเองคิดก็บอกว่าไม่ใช่ มันทำให้สถานการณ์เบลอไปหมด สื่อมีหลายบทบาท ข่าวอาจจะเป็นแบบนี้ บทวิเคราะห์อาจจะอีกแบบหนึ่ง คอลัมนิสต์แต่ละคนก็อาจจะเขียนไม่เหมือนกัน


 


"สถานการณ์ทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ แต่มันง่ายที่จะแสดงความคิดเห็น" นายก่อเขต กล่าวและว่า อ่านข่าวในเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ไม่กี่นาทีก็พิมพ์ความเห็นใส่เข้าไปได้แล้ว ไม่ยากเลย แต่หลายเรื่องสลับซับซ้อนกว่านั้น


 


นายก่อเขตกล่าวว่า เห็นด้วยกับหลายท่านบนเวทีที่บอกว่า เสียงของประชาชนที่เรียกร้องให้พูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งต้องดังขึ้น ไม่เช่นนั้นเสียงนี้จะค่อยจะเบากว่า เสียงที่เรียกร้องให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช่แค่เสียง มีกิจกรรม มีพฤติกรรมที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่า จะยุติปัญหา แต่เที่ยวนี้ไม่เหมือนกับทุกเที่ยว ซัดกันแล้วไม่จบ ฝ่ายหนึ่งจะหลบไป รอเอาคืนไม่เหมือนกับที่ผ่านมา


 


เพราะฉะนั้นต้องบอกกันต่อๆ ไปว่า ความรุนแรงยุติปัญหาขณะนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะปฎิวัติ ยึดอำนาจ หรือเอากำลังของประชาชนมาชนกัน จนถึงขณะนี้สถานการณ์น่าจะเป็นแนวโน้มในทางที่ดี เพราะสิ่งที่คาดว่าจะเกิดน่าจะเกิดนานแล้ว แต่ยังไม่เกิด ในฐานะของสมาคมสื่อก็จะทำทุกทางไม่ให้มันเกิด สถานการณ์หลังจากนี้ไป สื่อจะต้องมีพื้นที่ตามปฎิญญาที่เรียกร้องให้สื่อเพิ่มพื้นที่เวทีแสดงความเห็น เสนอทางออก โดยหวังว่า เมื่อมีการเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็น่าจะอ่อนท่าทีลงและเจรจากันในที่สุด


 


นายก่อเขตกล่าวว่า ตอนนี้เราบอกว่า เราไม่พูดถึงความขัดแย้งในการสานเสวนา ทุกอย่างเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ศาล อย่างไรก็ตาม พบว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ไม่จบ เขาไม่เคยเห็นการวิจารณ์สถาบันศาลอย่างรุนแรงแบบช่วง 2-3 ปีนี้เกิดขึ้นมาก่อน เมื่อศาลตัดสินแล้วก็ไม่จบ อ้างว่าที่มาของกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งยากจะจบ ดังนั้น กระบวนการสานเสวนาต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น พยายามอย่างต่อเนื่อง เหนือไปกว่านั้นคือ ต้องเชื่อจริงๆ ว่าไม่เอาความรุนแรง


 



 


นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวว่า เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โชคดีที่เราตกลงกันได้ทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจจึงทุเลาลง ปี 2552 ผู้รู้ทางศก บอกว่า เราจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจแน่นอน เหลือเพียงว่าเราจะช่วยลดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยหาทางให้ไม่มีวิกฤต-ความรุนแรงทางการเมืองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ เราจะโดนสองดอก คือทั้งเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงสังคม ดังนั้น ต้องทางแก้ ปัญหาคือความรุนแรง


 


นายโคทมวิเคราะห์ความรุนแรงว่ามีทั้งความรุนแรง ในระดับปัจเจก ที่คนมีความรู้สึกแตกต่าง เพราะเราร่วมรับรู้ เกิดอารมณ์ร่วมไปกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราเลือกรับข้อมูล บางคนดูแต่สื่อเดียว บอกว่าสื่อนี้ดีมาก ในระดับกลุ่ม เกิดการแยกขั้วแยกกลุ่ม กลุ่มเรากลุ่มเขา เมื่อคิดต่างก็ถูกกดดัน เมื่อกลุ่ม "เรา" ผิดพลาด ก็ไม่วิจารณ์แบบกัลยาณมิตร กลับให้เหตุผลว่า สถานการณ์บังคับ ไม่มีทางเลือก แต่ถ้ากลุ่ม "เขา" พลาด ก็บอกว่าเจตนา เป็นความชั่วร้าย


 


อย่างไรก็ตาม นายโคทม กล่าวว่า แต่สาเหตุลึกๆ ลงไปกว่านั้น เป็นความขัดแย้งเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง เรามีปัญหาในระบบการเมือง เพราะอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน ขาดธรรมาภิบาล ขาดความลงตัว ขาดความสมดุล ไม่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของสังคม และอีกเรื่องคือ ปัจจัยทางวัฒนธรรม บางคนยังคิดแบบต้องเอาชนะให้เด็ดขาด เผด็จศึก เลือกข้าง บางคนเชื่อว่าไม่มีหนทางแล้ว ต้องเชิญผู้มีอำนาจมาแก้ปัญหา นี่เป็นระบบคิดเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่กำลังต่อสู้กับระบบคิดเชิงสันติ ที่ต้องการใช้สติ ปัญญาแก้ไขปัญหา ใช้ความเมตตาลดอคติ


 


นายโคทม กล่าวถึงทางแก้ว่า เราต้องเปลี่ยนทิศ โดยมองไปข้างหน้าว่ามีความรุนแรง มีความเสี่ยง เราต้องตั้งสติและคิดทำในเรื่องที่ต่างไปจากเดิม โดยใช้หลักถ้อยทีถ้อยปฎิบัติ อยากให้เขาทำอย่างไรกับเราก็ทำกับเขาอย่างนั้น ซึ่งผู้จัดงานเสนอวิธีการที่ค่อนข้างชัดเจน คือ การสานเสวนา นั่นคือการคุยกัน พูดอย่างเปิดใจ มีสติ ต้องฟังอย่างเปิดกว้างตั้งใจ อย่าด่วนตัดสินเขาว่าเขาถูกผิดชั่วดี นำมาไตร่ตรองแล้วจึงพูด จึงทำต่อไป ถ้าคุยกันแบบนี้น่าจะลดความรุนแรงได้


 


ทั้งนี้ นายโคทมเสนอให้สานเสวนากันในความคิดเรื่องระบบ เรื่องเชิงโครงสร้าง โดยเริ่มที่องค์ความรู้ ซึ่งคำตอบไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว แต่คำตอบหรือความรู้เราต้องร่วมกันแสวงหา สังคมไทยออกแบบระบบมาเยอะ ไปศึกษาของต่างประเทศ แต่เราไม่รู้จักตัวเราเอง รู้จักตัวเองน้อยไป ไม่เพียงพอ ผิวเผิน เรามาคุยกันเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคม รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่ให้ สสร. คณะกรรมการใดมาจัดการ ถ้าสังคมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ผ่านการสานเสวนา สังคมจะเป็นพลัง ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องมาพูดกันใหม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 19-20 และไม่รู้จักตัวเองเสียทีว่าต้องการอะไร


 


โดยการคุยกันจะลดความรุนแรง ลดอคติ ลดการเลือกรับรู้ เพราะเราจะตั้งใจฟังคนอื่นมากขึ้น ลดความเป็นกลุ่ม คุยข้ามขีดแบ่งของความเป็นกลุ่ม เราจะหาระบบโครงสร้างใหม่ที่สมดุล พอเพียงและเที่ยงธรรม ร่วมกันพูดคุยว่าเราจะออกแบบระบบสังคม ระบบการเมืองต่างๆ อย่างไร ซึ่งถ้าทำได้ จะไปเสริมสันติวัฒนธรรม อย่างที่ว่าไป คือใช้สติปัญญาแก้ปัญหา ใช้ความเมตตาลดอคติและลดความรุนแรง ผ่านการสานเสวนา


 


ทั้งนี้ การสานเสวนาต้องเริ่มคุยกันเองก่อน เปลี่ยนตัวเองก่อน แล้วถ้าคนอื่นจะเปลี่ยนเขาจะเปลี่ยนเอง ทั้งนี้ โดยอาศัยความร่วมมือจากสื่อมวลชนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นด้วย ถ้าทำได้ ปีหน้าเราจะร่วมกันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ และร่วมกันสร้างระบบการเมืองที่มีความสมดุล พอเพียง และเที่ยงธรรม


 


นายบวรศักดิ์ กล่าวปิดท้ายว่า รัฐบาลคือผู้รักษารัฐ มีหน้าที่ต้องสร้างความมั่นคงสงบเรียบร้อย อยู่ดีกินดีให้กับสังคม และประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายไม่ว่ากับใคร และไม่มีสิทธิหรี่ตาให้ประชาชนบางกลุ่มมาสร้างความรุนแรงกับบางกลุ่ม นี่เป็นหลักการสากล


 


สอง ความสำเร็จหรือล้มเหลวของเครือข่ายในการใช้สันติวิธี ขึ้นกับคน 64 ล้านคน อ.ประเวศยกพระไตรปิฎกบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาอยู่ พระสองกลุ่มทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าไปห้ามก็ไม่ฟัง จึงเสด็จออกไปอยู่ในป่า ผลสุดท้ายชาวเมืองไม่ใส่บาตร แปลว่า สังคมไม่เอาด้วย พระจึงกลับมาคืนดีกัน ช่วงปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2540 ฝ่ายการเมืองไม่อยากได้ เพราะห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี แต่สังคมทั้งสังคมมีกระแสธงเขียว ตอนลงมติ ก็เห็นชัด ส.ส.บางท่านบอก "เห็นชอบ แต่ไม่เห็นด้วย" แปลว่าสังคมเป็นผู้ชี้ขาด เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของเครือข่าย จึงขึ้นกับพลเมือง 60 ล้านคน ซึ่งหลายคนบอกว่า พวกเขามีสำนึกแล้ว เป็นสำนึกทางการเมือง แต่ยังไม่ได้ยินสำนึกทางสันติวิธีชัดเจน จึงอยากฟังเสียงคนหกสิบล้านคนว่ามีสำนึกเรื่องสันติวิธีอย่างไร


 


แต่กติกาเบื้องต้นที่จะเกิดกระแสนี้ขึ้นได้ คือ หนึ่ง เราไม่เน้้นอดีต ถ้าพูดเรื่องอดีตกันเมื่อไหร่ แปลว่าไม่จบ เพราะจะหาคนผิดและลงมือทำลายกัน สอง ไม่โจมตีกัน จะไม่ชี้นิ้วไปที่ใคร เราจะพูดถึงอนาคต และจะสังเกตได้ว่า เครือข่ายนี้ต่างจากกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เสนอให้ยุบสภา ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แม้กระทั่งให้นายกฯ ลาออก ไม่มีเพราะเราเชื่อว่า ข้อเสนอเหล่านั้น ถ้าคู่กรณีที่ขัดแย้งกันเขาไม่รับก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการสานเสวนาโดยกติกาแบบนี้ จึงน่าจะเป็นทางออกสุดท้าย จะสำเร็จไหมขึ้นกับ 700-800 คนที่เป็นเครือข่ายอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่คนทั้งประเทศว่าจะเอายังไง ถ้าอยากเห็นความรุนแรงเกิดก็อยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันก็เกิดเอง ถ้าไม่อยากเห็น ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ และทำสิ่งที่ตัวเองจะทำได้


 


ทั้งนี้ เครือข่ายนี้เปิดกว้าง แม้ว่าสภาพัฒนาการเมืองจะเป็นผู้เริ่ม แต่ไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำ โดย สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นเลขานุการเท่านั้น เครือข่ายนี้ไม่ต้องการใครมาเป็นประธานหรือผู้นำ เพราะพลเมืองเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้ใครมานำ


 


ภายหลังการอภิปรายมีการคัดเลือกผู้ประสานงาน "สานเสวนาเพื่อสันติธรรม" 8 คน เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อตานเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยมี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และสถาบันพระปกเกล้าทุกหลักสูตรทุกรุ่น ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ


 


สิ้นสุดกิจกรรมการประชุมใหญ่เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม ด้วยการอ่านปฏิญญาสานเสวนาเพื่อสันติธรรมโดยนายสน รูปสูง และร่วมลงนามในปฏิญญาสานเสวนาเพื่อสันติธรรม โดยองค์กรเครือข่ายและผู้เข้าร่วมการประชุมที่เห็นด้วยในทิศทางการดำเนินงาน


 



 


 


ปฏิญญาสานเสวนาเพื่อสันติธรรม


 


ด้วยความเชื่อมั่นว่าความรุนแรงที่จะก่อความเสียหายแก่ชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยผู้บริสุทธิ์มหาศาล ไม่ใช่ทางแก้ของปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงในเวลานี้


 


ด้วยความมั่นใจว่า การสานเสวนาระหว่างผู้ขัดแย้งเท่านั้น ที่จะป้องกันการเสียชีวิตและเลือดเนื้อ และเป็นทางออกเพียงทางเดียวของความขัดแย้ง


 


ด้วยความตระหนักว่า สันติธรรมเท่านั้นที่จะนำพาประเทศชาติ และประชาชนออกจากวิกฤตใหญ่หลวงที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ


 


เราบรรดาองค์กรและหน่วยงานผู้มีรายนามข้างท้ายนี้จึงได้ให้ผู้แทนมาร่วมลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ และขอประกาศให้คนไทยทั้งชาติทราบ ดังนี้


 


1. เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ยุติความรุนแรงโดยการหลีกเลี่ยงการปะทะกันทุกรูปแบบ และเราเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กระทำหน้าที่ให้เต็มกำลังในการป้องกันมิให้มีการปะทะกัน ทั้งนี้ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง หากเกิดความรุนแรงขึ้น เราถือว่ารัฐบาล และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ต้องรับผิดต่อสังคมทั้งทางศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย


 


2. เราเรียกร้องให้คู่กรณีในความขัดแย้งโดยเฉพาะรัฐบาล ฝ่ายค้าน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการชาติ ร่วมกันสานเสวนาเพื่อสันติธรรม


 


3. เราจะไม่ประณามฝ่ายใดทั้งสิ้น และเราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ประณามซึ่งกันและกันในการสานเสวนา แต่มุ่งไปที่อนาคตของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ


 


4. เราจะร่วมกันรณรงค์ โดยจะดำเนินการโดยแต่ละองค์กรและเข้าร่วมการรณรงค์ของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสันติธรรมและสันติสุขจะกลับคืนสู่สังคมไทย


 


5. เราเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกประเภททุกแขนงให้เปิดพื้นที่สื่อ เสนอทางเลือกของเครือข่ายให้สังคมให้เท่าเทียมกับการเสนอข่าวความขัดแย้งเราเชื่อว่า หากคนไทยส่วนใหญ่ เข้าร่วมรณรงค์กับเครือข่ายด้วยการจัดทำกิจกรรมของท่านเองและเข้าร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ก็จะแสดงพลังของการเมืองภาคพลเมือง ผู้เป็นเจ้าของประเทศและสังคมไทยอย่างแท้จริง สันติธรรมและสันติสุขก็จะกลับคืนสู่สังคมไทยในท้ายที่สุด


 


ด้วยความเชื่อมั่นในสันติธรรม


 


ลงนาม............................................................


(.............................................................)


ผู้แทนองค์กร..............................................................


................/................../.................


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net