Skip to main content
sharethis


 


 


 


วันที่ 26 ต.ค. เวลา 14.00 น. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณาจารย์และนักเคลื่อนไหวเครือข่ายสันติประชาธรรม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไทย 3 ข้อคือ 1 ขอให้แกนนำการเคลื่อนไหวทุกฝ่ายหยุดนำมวลชนมาปะทะกัน 2 เรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคม หยุดให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ 3 ขอเรียกร้องต่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ให้หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร


 


โดยหลังจากแถลงการณ์ดังกล่าว เครือข่ายสันติประชาธรรมจะได้ดำเนินการรณรงค์หยุดพฤติกรรมทั้งสามต่อไป โดยเริ่มจากแจกจ่ายโปสเตอร์รณรงค์จำนวน 3,000 แผ่น ไปตามสถานศึกษาและประชาสัมพันธ์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงจะจัดเสวนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย


 


โดยผู้ที่สนใจกิจกรรมของเครือข่ายสันติประชาธรรม รวมถึงผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสามารถติดตามกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารได้จาก http://ruleoflawthailand.wordpress.com/


 


นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า พันธมิตรฯ จะต้องตระหนักถึงประเด็นความชอบธรรมตามกฎหมายซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และการชุมนุมในสถานที่ราชการ รวมทั้งการขัดขวางการปฏิบัติงานของภาคราชการนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าขอบเขตการคุ้มครองของกฎหมาย และเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ดังกรณีจากการที่พันธมิตรฯ ถูกกลุ่มอาจารย์โรงเรียนราชวินิต ฟ้องต่อศาลแพ่ง


 


นายพรชัยกล่าวด้วยว่า ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องกฎหมายการชุมนุม ว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการพิจารณากฎหมายดังกล่าวในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่วาระตกไปเนื่องจากมีการพิจารณากันว่ากฎหมายเคร่งครัดเกินไป


 


นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารูปแบบการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มิใช่การเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลความรู้ หรือทำให้สังคมเข้าใจแก่นแท้ของกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ นายเกษมกล่าวว่าจากคำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร แต่การให้ข้อมูลข่าวสารนั้นต้องประกอบด้วยข้อเสนอและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม


 


ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อเสนอการเมืองใหม่ ซึ่งแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบรัฐสภา ซึ่งอยากขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาเชื่อมั่นต่อระบอบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. และส.ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองแบบรัฐสภา


 


นายเกษมกล่าวด้วยว่า ปัญหาของประเทศชาติขณะนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองหรือเรื่องพันธมิตรฯ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและแก้ปัญหาด้วยแต่ปัญหาของประเทศกลับถูกกลุ่มการเมืองต่างๆ เคลื่อนไหวแบบยื้อเวลา และเห็นว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นร่องรอยของความกลัวที่จะอยู่ภายใต้ระบอบกติกา ทั้งๆ ที่พันธมิตรฯ เองเป็นฝ่ายยื่นกติกามาโดยตลอด


 


นายอภิชาติ สถิตนิรมัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเรียกร้องขอให้สังคมหยุดการเมืองแห่งความรุนแรงและความเกลียดชัง และการเมืองไทยขณะนี้ถูกครอบงำโดยแกนนำการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่คน ทั้งๆ ที่มวลชนของแต่ละฝ่ายมีหลายเฉด และไม่ได้เห็นด้วยกับแกนนำไปทุกเรื่อง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่สังคมและประชาชนจะต้องแสดงพลัง เป็นกำลังหลัก และขอเรียกร้องต่อคนที่สังคมให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นราษฎรอาวุโส ผู้นำทางศาสนา และสื่อมวลชนต้องกลับมาต่อต้านและประณามความผิดพลาดของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม


 


นายอภิชาติ ตอบคำถามที่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุจากความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ว่า ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชัง มองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ชุมนุมจะแสวงหาอาวุธมาปกป้องตัวเอง และสร้างบรรยากาศแห่งสงคราม และเมื่อพื้นฐานของการเคลื่อนไหวเป็นแบบนี้ ต่อให้ตำรวจมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 100 เท่าก็จัดการไม่ได้ 


 


พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่พันธมิตรฯ เรียกร้องให้ทหารออกมาปกป้องพันธมิตรฯ ก็คือการเปิดทางให้กับการรัฐประหาร ทั้งนี้ประสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านมาชัดเจนอยู่แล้วว่า ทหารไม่ได้ถูกฝึกมาให้จัดการกับมวลชนหรือการชุมนุมของประชาชน แต่ทหารถูกฝึกให้รบ หากทหารออกมาแสดงบทบาทก็จะต้องปะทะกับตำรวจและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น


 


พวงทองย้ำว่า การดูแลการชุมนุมนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจ แม้ว่าที่ผ่านมา ตำรวจจะต้องรู้สึกน้อยใจบ้าง เพราะได้พยายามอดทนมาโดยตลอด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. ทำให้ฝ่ายตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าตำรวจจะต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค


 


สำหรับประเด็นการให้ท้ายพันธมิตรฯ นั้น ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ ที่ทำการละเมิดหลักการประชาธิปไตย และนี่เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่ยอมลดท่าทีเพื่อเจรจาหรือต่อรองใดๆ


 


นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่าการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทางการเมืองอื่นๆ และโดยเฉพาะรัฐบาลนั้น สื่อและกลุ่มทางสังคมได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ไปมากแล้ว และที่จริงก็ไม่ควรจะวิจารณ์รัฐบาลมากเกินกว่าเหตุ แต่ปิดตาข้างเดียวไม่เห็นความผิดของพันธมิตรฯ เลย


 


และในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ ในเมื่อพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พันธมิตรฯ ก็อยู่ในฐานะที่จะคืนความสงบสุขให้กับสังคมได้ด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายพันธมิตรฯ เองเป็นฝ่ายรุกมาโดยตลอด ขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับ และพันธมิตรฯ รุกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดคำถามว่าประเด็นของพันธมิตรฯ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และหลายๆ กลุ่มก็พยายามหาทางลงให้กับพันธมิตรฯ เช่นกรณีของ 24 คณบดี แต่พันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธมาตลอด จนประชาชนเกิดคำถามว่าเป้าหมายปลายทางของพันธมิตรฯ อยู่ตรงไหน


 


ดังนั้นแล้ว เมื่อพันธมิตรฯ เองก็เสนอเรื่องการเมืองใหม่ ทำไมจึงไม่ถอยออกมาและเข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ทางสังคมร่วมกันปฏิรูปการเมืองใหม่


 


โดยนายประจักษ์เห็นว่าข้อเสนอเรื่อง ส.ส.ร. 3 นั้นไม่ได้เสียหายอะไร และควรใช้โอกาสนี้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางการเมืองร่วมกัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นเรื่องยอมรับได้มากขึ้น


 


นายประจักษ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้คือ แต่ละฝ่ายไม่ได้เชื่อมั่นในสันติวิธีอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นเพียงสันติวิธีแบบเลือกใช้ตามความพอใจ (Selective Non-violence) ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้สันติวิธีกลายเป็นเพียงวาทศิลป์ โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิเสธความรุนแรงในการแก้ปัญหา จึงอยากขอร้องต่อ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดงให้หยุดการฝึกนักรบพระเจ้าตากด้วย


 


นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้มองในแง่หนึ่งก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมืองในโลกที่สามอื่นๆ คือรัฐอ่อนแอลง และเกิดกรณีการท้าทายอำนาจรัฐเช่นนี้ทั่วโลก ยกเว้นในกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยแล้ว น่าสนใจว่ามีการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนจนกระทั่งยกระดับเป็นขบวนการกลุ่มประชาชน ต่างพยายามนำเสนอความชอบธรรมของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐไม่ได้แสดงบทบาทเป็นฝ่ายผลิตชุดความเชื่อใดๆ มาตอบโต้ ซึ่งเป็นภาพที่ต่างไปจากอดีต


 


สำหรับสถานการณ์จากนี้ไป เป็นเรื่องยากที่จะตอบเพราะความขัดแย้งนี้จะไม่มีวันจบ จะยืดเยื้อและที่สุดแล้วอำนาจรัฐจะต้องลงมาจัดการความขัดแย้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจรัฐจะอยู่ฝ่ายไหน ส่วนคำถามที่สังคมต้องการมากขณะนี้คือ เมื่อไหร่ความขัดแย้งจะยุตินั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนี้ไป โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แต่คำถามคือสังคมไทยจะรับได้มากน้อยแค่ไหน


 


 





 


หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน!


 


หยุดให้ท้ายพันธมิตร!


 


หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร!


 

 


ในขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง อันเป็นผลจากการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่าสังคมไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะ-นองเลือดระหว่างประชาชนสองขั้วได้ พวกเราในฐานะกลุ่มทางสังคมที่ห่วงใยต่อชีวิตของประชาชนจึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


 


1. หยุดนำมวลชนมาปะทะกัน


เราขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ยุติการเคลื่อนไหว ด้วยวิธียั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและโกรธแค้นซึ่งกันและกัน และยุติการเคลื่อนมวลชนของตนออกจากที่ตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับอีกฝ่ายหนึ่ง


 


เราขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตร, นปช. และพล.ต.อ.สล้างตระหนักว่าสังคมไทยไม่จำเป็นต้องสร้างวีรบุรุษ-วีรสตรีในลักษณะเช่นนี้ พวกท่านไม่ควรเห็นมวลชนของตนเองเป็นเพียงหมากทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น  ต่อจากนี้ไป หากเกิดความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชน ผู้นำของกลุ่มเหล่านี้ จักต้องรับผิดชอบ


 


2. หยุดให้ท้ายพันธมิตร


สาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤติการเมืองในขณะนี้เดินมาสู่ "ทางตัน" ก็คือ ผู้นำฝ่ายพันธมิตรฯ ปฏิเสธไม่ยอมเจรจาประนีประนอมทางการเมือง แต่ยืนยันที่จะใช้วิธีแตกหักเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ระบอบ "การเมืองใหม่" ของตนซึ่งเป็นระบอบเผด็จการคนส่วนน้อยและสวนทางกับหลักการประชาธิปไตย ประการสำคัญ ในขณะที่ผู้นำพันธมิตรอ้างว่าตนทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อเสนอที่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยตรง เช่น มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตรง เท่ากับต้องการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะที่เป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองของสถาบันฯ ในระยะยาว


 


นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ราษฎรอาวุโส องค์กรสิทธิมนุษยชน วุฒิสมาชิก และสื่อมวลชน ต่างไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และยุทธวิธียั่วยุให้เกิดความรุนแรงของฝ่ายพันธมิตร จึงกล่าวได้ว่าในขณะนี้เราไม่มีบุคคลหรือสถาบันใดในสังคมที่ได้รับความยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นกลางอย่างแท้จริง ทำให้โอกาสของการเจรจาเพื่อหาทางออกกับคู่ขัดแย้งริบหรี่ลงจนแทบเป็นไปไม่ได้


 


กระนั้น เราเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะยุติการอุปถัมภ์ค้ำจุนกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างผิดๆ และเริ่มต้นวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร นปช. รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ ตลอดจนระบบตุลาการอย่างเที่ยงตรงและเท่าเทียมกัน เราเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการสานเสวนาที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง


 


3. หยุดนำประเทศไปสู่อนาธิปไตยและการรัฐประหาร


เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักการว่า "การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องอยู่ในกฎกติกา ไม่ใช่ด้วยอาวุธและความรุนแรง" การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ซ้ำยังทำให้ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองขยายตัวสูงขึ้น ประการสำคัญ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ ชวนให้เชื่อได้ว่าหากเกิดการรัฐประหารหรือยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดการจลาจล และนองเลือดของประชาชนครั้งใหญ่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง บรรดาผู้ก่อการรัฐประหารจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและหายนะที่ท่านมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น


 


 


                เครือข่ายสันติประชาธรรม


                สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)


 


 


 


 


รายชื่อผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์ (ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2551)


1.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ                                อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


2.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ                               คณบดีคณะศิลปศาสตร์


3. ธิตินันท์ พงษ์สิทธิรักษ์                           คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


4. พวงทอง ภวัครพันธุ์                               คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


5. นฤมล ทับจุมพล                                   คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


6. เวียงรัฐ เนติโพธิ์                                    คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


7. ธงชัย วินิจจะกูล                                    มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน


8. เกษียร เตชะพีระ                                   คณรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


9. ประจักษ์ ก้องกีรติ                                 คณะรัฐศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


10. อภิชาต สถิตนิรมัย                               คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


11. อัครพงศ์  ค่ำคูณ                                 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


12. เกษม เพ็ญพินันท์                                คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


13. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์                            คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


14. ยุกติ มุกดาวิจิตร                                 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา


                                                            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


15. สุรัสวดี หุ่นพยนต์                                สำนักบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


16. นภาพร อติวานิชยพงศ์                          สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ธรรมศาสตร์


17. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว                                 สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม


มหาวิทยาลัยมหิดล


18. ศรีประภา เพชรมีศรี                             สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม


                                                            มหาวิทยาลัยมหิดล


19. ภวิดา ปานะนนท์                                 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี


                                                            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


20. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย                       คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


21. สมเกียรติ ตั้งนโม                                มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


22. อรณิชา ตั้งนโม                                   มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


23. ชำนาญ จันทร์เรือง                              นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


24. จักเรศ อิฐรัตน์                                    มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


25. ชาญชัย ชัยสุขโกศล                            ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี   มหาวิทยาลัยมหิดล


26. ฆัสรา มุกดาวิจิตร                                นักวิชาการอิสระ


27. จักเรศ อิฐรัตน์                                    มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


28. คมลักษณ์  ไชยยะ                              นักศึกษาปริญญาโทมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร


29. ภาคภูมิ  ลบถม                                   นักศึกษาปริญญาโทมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร


30. ประพันธ์  ภราดรพานิชกุล                     นักศึกษาปริญญาโทมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร


31. สมพร  เปินสมุทร                                นักศึกษาปริญญาโทมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร


32. สมาภรณ์  แก้วเกลี้ยง                           นักศึกษาปริญญาโทสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา


                                                            มหาวิทยาลัยมหิดล


33. ปรีชา  งามดี                                       นักศึกษาปริญญาโท การพัฒนาสังคม


                                                            มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


34. กานต์ ทัศนภักดิ์                                  Asian Public Intellectuals Program


35. ไม้หนึ่ง ก. กุนที                                  กวี


36. เต็กตี่ แซ่ตั้ง                                       บรรณาธิการสำนักพิมพ์วลี


37. ธนาพล อิ๋วสกุล                                   สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


38. ณภัทร สาเศียร                                   ประชาชน


39. สายสัมพันธ์ รัตนปรีดากร                      นักออกแบบอิสระ


40. ศุษม อรรถวิภาคไพศาลย์                      พนักงานบริษัทการบินไทย


41. ศิริภาส ยมจินดา                                 ประชาชน


42. สลิสา ยุกตะนันทน์                              ประชาชน


 


 


ผู้สนใจกิจกรรมของเครือข่ายสันติประชาธรรม รวมถึงผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสามารถติดตามกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารได้จาก http://ruleoflawthailand.wordpress.com/


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net