Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พฤกษ์ เถาถวิล


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำบ้านกุ่ม[1] เมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่าหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท  ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง บนพรมแดนไทย-ลาว ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี  กำลังเดินหน้าไปอย่างเงียบๆ ที่ผ่านมามีผู้เปิดเผยถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้มามากพอสมควร ทั้งในด้านความไม่คุ้มทุนของโครงการ การดำเนินการที่รวบรัดเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเครือข่ายผลประโยชน์ของนักสร้างเขื่อนที่หนุนหลังโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง[2]


 


ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่ตั้งข้อสังเกตต่อเครื่องมือสำคัญในการผลักดันโครงการ นั้นคือ "ความรู้" ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งความรู้ส่วนหนึ่งปรากฏให้เห็นในเอกสารรายงานการประเมินความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น  ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา รายงานการประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นฯ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันโครงการ รวมทั้งได้นำมาเรียบเรียงเป็นเอกสารเผยแพร่ในการจัดเวทีประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ของโครงการหลายครั้ง[3] ดังนั้นจะได้นำเอกสารการประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นฯ และเอกสารฯ เผยแพร่มาเป็นหลักฐานสำคัญในการวิเคราะห์ของบทความนี้   


 


การสำรวจความเหมาะสม ถือเป็นเรื่องปกติในการดำเนินโครงการใดๆก็ตาม  แต่ที่น่าสนใจก็คือสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือเรื่อง "รายงานทางสิ่งแวดล้อม" ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นผลมาจากกระแส "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable  Development) ที่กลายเป็นกระแสสากล นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในแวดวงการพัฒนามีความเห็นร่วมๆกันว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมกลายประเด็นหัวใจของการพัฒนาในยุคใหม่  จนบางครั้งถึงกับเรียกว่า "การพัฒนาแบบสีเขียว" (green development)  อย่างไรก็ตามการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็มีหลายกระแส ตั้งแต่แนวสุดโต่งที่เสนอให้หันมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รวมทั้งแนวที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่เอาด้วยถ้าจะต้องควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ดูเหมือนแนวหลังนี้จะเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน[4]


 


ในสังคมไทยอาจกล่าวได้ว่า อิทธิพลของการพัฒนาแบบสีเขียว ปรากฏให้เห็นเป็นหลักเป็นฐาน ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.  2535 นับจากนั้นเราจึงคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า  มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ISO….) การควบคุมมลพิษ ภาษีสิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งเป็นที่มาของ "การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม" ที่เป็นมาตรการสำคัญของการดำเนินโครงการใหญ่ในปัจจุบัน


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงคาดคิดว่ากฎหมายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดทำการศึกษาทางสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เราพ้นภัยสิ่งแวดล้อม  แต่เราอาจจะหวังอะไรได้ไม่มากนัก เพราะเมื่อพิจารณากฎหมายสิ่งแวดล้อม และการศึกษาทางสิ่งแวดล้อมกรณีบ้านกุ่ม  จะพบว่าเป็นไปตามเกณฑ์สิ่งแวดล้อมนิยมประเภท "เทคโนโลยีนิยม" อย่างเด่นชัด


 


เทคโนโลยีนิยม (technocentism)  เป็นแนวคิดในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อหรืออุดมการณ์ ที่เห็นว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ธรรมชาติคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอก มีไว้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบความรู้ที่มีเหตุผล (rationality) และเป็นไปอย่างปราศจากอคติเอนเอียง (value-free) จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเข้าใจธรรมชาติดังที่มันเป็นอยู่อย่างเป็นภววิสัย (objective) เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าแทรกแซงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์ ในกรณีที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็จะนำพาเราไปสู่ทางออกได้[5] สำหรับเทคโนโลยีที่ว่านี้อาจหมายถึง เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีทางสังคมก็ได้ เช่น ระบบตลาด หรือ กฎหมาย (ซึ่งเป็นผลิตผลทางวิทยาการของมนุษย์ในอีกลักษณะหนึ่ง) 


 


เทคโนโลยีนิยม แม้จะไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนกระแสหลัก  แต่โดยทั่วไปเราก็จะเห็นว่ามันทำงานสนับสนุนกัน การพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรเราจะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เทคโนโลยีนิยมก็ตอบว่า ทำได้โดยใช้เทคโนโลยี (ทางวิทยาศาสตร์และสังคม) ที่มีประสิทธิภาพสิ


 


ดังนั้นในบริบทการพัฒนาของไทย ที่ยังมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้ในบางโอกาสมีการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานหรือลดมลพิษ เช่น ใช้เครื่องไฟฟ้าเบอร์ 5 น้ำมันไร้สารตะกั่ว แม้กระทั่งถุงผ้าในกรณีล่าสุด เราจะไม่พบการเชิญชวนให้ประหยัดอย่างจริงจัง บริโภคให้น้อยลง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือทบทวนแนวทางการพัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความห่วงใยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ งกว่าอื่นใด พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ 2535 ซึ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยี และใช้แรงจูงใจทางกฎหมาย จึงมีค่าเท่ากับเครื่องมือรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพเท่านั้น


 


สำหรับการสำรวจความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นกรณีเขื่อนบ้านกุ่ม นั้นก็เห็นได้ชัดว่า จัดทำด้วยความรู้ทางวิศวกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดเทคโนโลยีนิยม ดังนั้นการศึกษาจึงมีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้วว่าการสร้างเขื่อนเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ความเชื่อนี้จึงกำหนดเป้าหมายการศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้ว ยังไม่นับความชอบมาพากลทางการเมืองของการจัดทำการสำรวจ การสำรวจจึงเป็นไปเพื่อให้เกิดการก่อสร้าง มากกว่าจะพิจารณาว่าควรหรือไม่ควรสร้าง


 


ดังนั้น ผู้เขียนเสนอว่า การสำรวจนี้จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ควรเชื่อถือ แต่เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการผลักดันโครงการภายใต้กรอบกติกามารยาทของยุคการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ดังนั้น หากจะมีการพิจารณารายงานการศึกษานี้ เราก็ควรพิจารณาว่า มันได้กลบเกลื่อน บิดเบือน ทำลาย  ความจริงและความรู้ชุดอื่นๆ ที่จะเป็นทางเลือกในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไร  


 


มีนักวิชาการเสนอว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (sciences) หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (apply sciences) เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ป่าไม้  - เชื่อว่า-  หรือไม่ก็ -ประกาศว่า - ความรู้ของตนเป็นกลางปราศจากอคติ แต่แท้จริงแล้วไม่เคยมีความรู้ใดเป็นเช่นนั้น หากแต่ดำเนินไปอย่างเป็นการเมืองทั้งสิ้น หมายความว่าถูกใช้โดยแอบอิงหรือรับใช้ผลประโยชน์อันใดอันหนึ่งเสมอ[6] วิธีการหนึ่งก็คือ มันจะสถาปนาตนเองเป็นศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐ (technocratization)[7]  ในกรณีของเขื่อนเราจะพบว่า มันเป็นความรู้ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐในวงการพลังงาน เป็นคนกลุ่มเล็กๆผู้มีผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงาน ที่มีอำนาจผูกขาดรวมศูนย์จัดการพลังงานมาโดยตลอด  


 


กล่าวเฉพาะกรณีเขื่อนบ้านกุ่มนี้ แรงผลักดันของโครงการก็มีส่วนสำคัญมาจาก แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan - PDP2007) ซึ่งถูกจัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพลังงาน แผนนี้ได้คาดการความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งบอกว่าประเทศไทยจะต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นทวีคูณ จึงต้องมีการจัดหาพลังงานสำรองไว้ให้เพียงพอ[8] แผนได้ระบุเอาไว้แล้วด้วยว่า จะมีทั้งการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจะได้ไฟฟ้าจากสร้างเขื่อนพลังน้ำแบบเขื่อนบ้านกุ่มอีกหลายเขื่อน กระบวนการกำหนดแผน และการกำหนดทางเลือกในการจัดหาพลังงาน ล้วนแล้วแต่มีข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง แต่ทั้งหมดก็เกิดขึ้นได้โดยอาศัยสถานภาพของความรู้และการเป็นผู้รู้หรือเชี่ยวชาญของรัฐ  


 


ในเอกสารการประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นฯฉบับเผยแพร่ ในส่วนหลักการและเหตุผลได้แถลงไว้แต่เบื้องต้นในทำนองที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศจำต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ ในขณะที่แม่น้ำโขงก็มีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นจึงควรสร้างเขื่อนแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลลงทะเลเปล่าๆ และยังได้ยกเอาข้อมูลการสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำโขงเขตประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นตัวอย่าง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม หลักการและเหตุผลนี้ที่อ้างมานี้เป็นเรื่องที่ควรถกเถียงกันแต่ต้น ? แต่ในเอกสารมันกลับกลายเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องสงสัย เป็นข้อสรุปที่ปิดทางของการถกเถียงเพื่อหาทางออกอื่นๆ ซึ่งเกิดจากเป็นอานุภาพของความรู้ที่ดูเหมือนเป็นกลาง บริสุทธิ์ปราศจากผลประโยชน์ และมาจากผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงความรู้ของรัฐ


 


เอกสารฯยังสะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานของวิศวกรรมศาสตร์เพื่อยัดเยียดความหมายต่อธรรมชาติในแบบที่พวกเขาต้องการ ดังที่มีผู้เสนอว่า การทำงานของวิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์ประยุกต์ต่อธรรมชาติ แม้จะดูซับซ้อนเต็มไปด้วยสูตรสมการมากมาย แต่เป้าหมายสำคัญก็คือการลดทอนความซับซ้อนและแยกส่วนธรรมชาติ เพื่อให้สามารถคิดคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ง่าย หรือควบคุมได้ดังต้องการ[9]  


 


ในเอกสารฯ เครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความหมายแก่ธรรมชาติเพื่อการควบคุมได้แก่ แผนที่และแผนภาพ ดังที่ปรากฏแผนที่/แผนภาพเป็นส่วนสำคัญของเอกสาร ซึ่งประกอบได้ด้วยแผนที่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในเขตไทยและเพื่อนบ้าน ภาพตัดขวางแม่น้ำโขงตอนบน และแม่น้ำโขงตอนล่างเพื่อ แผนภาพนี้มุ่งแสดงความชัน (slop) และที่ตั้งเขื่อนแบบขั้นบันใดในเขตประเทศจีน และในเขตประเทศไทย-ลาวตามลำดับ


 


แผนที่ได้ทำให้พื้นที่ตลอดแนวฝั่งโขงถูกมองแบบรวมๆ  แต่ละแห่งกลายเป็นจุดเล็กๆบนพื้นที่ แต่ละพื้นที่ที่มีระบบนิเวศและผู้คนที่หลากหลายเลือนหายและถูกลืมทิ้งไป แม่น้ำโขงกลายเป็นเส้นสีดำทึบบนแผนที่ ที่ทำกินอยู่ที่อาศัยของคนนับล้านๆ ถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์แสดงแนวเทือกเขา แล้วภาพทั้งก็หมดถูกยึดโยงไว้ด้วยกันด้วยหมุดแสดงชื่อ/ที่ตั้งเขื่อนเรียงรายมาตลอดลำน้ำโขง แม่น้ำทั้งหมดได้กลายเป็นคลองสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ภาพตัดขวางได้จับผืนโลกออกมาผ่า ความคดเคี้ยวของลำน้ำก่งหิน ร่องน้ำลึก ปูปลาอาหาร ถูกลบทิ้งกลายเป็นเส้นแสดงความชั้น และสันเขื่อนที่เรียงกันเป็นขั้นบันได 


 


     


ภาพที่ 1 ที่ตั้งเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง


ที่มา เอกสารรายงานการประเมินความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เผยแพร่ในการประชุมระดับพื้นที่โครงการครั้งที่ 1 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนกระทรวงพลังงาน


 


 



ภาพที่ 2 ภาพตัดขวางแม่น้ำโขงแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนแม่น้ำโขง


ที่มา ที่มา เอกสารรายงานการประเมินความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เผยแพร่ในการประชุมระดับพื้นที่โครงการครั้งที่ 1 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนกระทรวงพลังงาน


 


จากนั้นเราจะพบตารางแสดงข้อมูลทางวิศวกรรมของเขื่อนขั้นบันได ทั้งที่สร้างแล้วและจะสร้างในเขตประเทศจีน และในเขตไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลที่ปรากฏเป็นตัวเลขโดยละเอียดที่แสดงถึง ระดับเก็บกับน้ำของเขื่อน ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย ความจุอ่างใช้งาน กำลังผลิตติดตั้ง พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย และอัตราผลตอบแทนการลงทุนเศรษฐกิจ สำหรับข้อมูลของเขื่อนบ้านกุ่มโดยเฉพาะ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านโครงสร้างทางวิศวกรรมของเขื่อน ชนิดเครื่องกังหันน้ำผลิตไฟฟ้า แรงดัน กำลังการผลิต และมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 


ไม่แปลกถ้าคนทั่วไปจะไม่เข้าใจความหมายของตัวเลขและข้อมูลนี้ แต่นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะหน้าที่ของมันคือแสดงให้เห็นว่า โครงการได้มีการคิดคำนวณมาแล้วอย่างถูกต้องรอบคอบตามหลักวิชาการ อำนาจของตัวเลขและข้อมูลเหล่านี้ก็คือ การเปลี่ยนธรรมชาติ - ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เปล่าประโยชน์- ให้กลายเป็นตัวเลขผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหัศจรรย์


 


 สุดท้ายเมื่อ ควบคุมธรรมชาติและคิดคำนวณผลประโยชน์ออกมาได้แล้ว ก็คือข้อสรุปยืนยัน ผลประโยชน์ของโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้คิดเป็นเงิน 13,508.6 ล้านบาท/ปี  ด้านการเกษตรจะมีผลพลอยได้คือมีน้ำใช้ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน การเดินเรือขนส่งสินค้าจะสะดวกขึ้น การประมงจะมีปลามากขึ้นจากการยกระดับน้ำของเขื่อน และยังส่งเสริมรายได้จากการท่องเที่ยว ส่วนผลกระทบด้านลบมีไม่มากนัก  คือมีน้ำท่วมหมู่บ้านฝั่งไทยและลาว (เพียง) 4 หมู่บ้าน คิดเป็น 239 หลังคาเรือน น้ำที่ท่วมหน้าเขื่อนจะทำให้ท่วมริมตลิ่งแม่น้ำโขง เป็นเนื้อที่ 13,855 ไร่ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจ่ายค่าชดเชยได้ไม่ยากนัก !!


 


แต่สำหรับผู้คนริมน้ำโขง ความหมายของธรรมชาติมีนัยที่แตกต่างออกไป ล่าสุดมีการวิจัยที่หมู่บ้านริมแม่น้ำโขงแห่งหนึ่ง[10] ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม  ข้อมูลเบื้องต้นจากการวิจัยพบว่า แม่น้ำโขงที่วิศวกรมองเห็นว่าจะเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนนั้น ที่หมู่บ้านแห่งนี้ลำน้ำโขงเป็นระบบนิเวศแบบแก่งหินในแม่น้ำ การขึ้นลงของน้ำโขงตามฤดูกาลผ่านแก่งหินน้อยใหญ่จะก่อให้เกิดสภาพที่แปรเปลี่ยนไปตามจังหวะเวลา นักพัฒนาอาจเรียกว่าหินโสโครก แต่ชาวบ้านมีชื่อเรียกแก่งหินตามลักษณะเฉพาะ แก่งหินแต่ละประเภทเป็นที่พึ่งพาอาศัยสัตว์น้ำ ชาวบ้านรู้จักปลานับร้อยชนิด แต่ละชนิดมีนิสัยต่างกัน แวะเวียนมาวางไข่หรือพำนักที่แก่งหินตามจังหวะเวลา ความเข้าใจในธรรมชาติของล้ำน้ำและสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดการคิดค้นเครื่องมือหาปลานับสิบๆชนิด และพัฒนาเทคนิคและวิธีการหาปูปลาอาหารตามลักษณะเฉพาะถิ่น


 


การที่ผู้คนมาหาปลารวมกัน ก่อให้เกิดการสร้างกติการ่วมกันในการหาปลา กติกาตกผลึกเป็นระบบสิทธิในการใช้และเข้าถึงทำเลหาปลาที่เรียกว่า "ลวงปลา" ในหมู่บ้านนี้งานวิจัยพบลวงปลาหลากหลายประเภท จำแนกตามการถือครองของตระกูล ครอบครัว ปัจเจก ยังมีลวงปลาสาธารณะ และลวงปลาที่ผันแปรตามระบบนิเวศ และเครื่องมือหาปลา      


 


ส่วนพื้นที่ริมตลิ่งโขงที่ถูกตีค่าจากวิศวกรว่า จะเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม สำหรับชาวบ้านในหน้าน้ำลดพื้นที่นี้เป็นทำเลการเกษตรชั้นยอด ดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ที่น้ำพัดพามา ทำให้เป็นแหล่งผลิตพืชอาหารนานาชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพาเคมีภัณฑ์ หมู่บ้านนี้มีถั่วลิสงและมันแกวชั้นยอด ในขณะที่หมู่บ้านไม่ห่างกันนักปลูกฝ้ายได้คุณภาพสูง ยังไม่รวมพืชผักและสมุนไพร่อีกสิบๆชนิด


 


สำหรับชาวบ้าน ลำน้ำโขงจึงมีความสำคัญต่อพวกเขาหลายๆด้าน ในทางเศรษฐกิจการวิจัยพบว่า ชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่า และมีหนี้สินน้อยกว่าหมู่บ้านอื่นๆในภาคอีสานอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความพอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเอง ปูปลาอาหารที่อุดมสมบูรณ์ปลอดสารพิษยังทำให้พวกเขามีสุขภาวะดีกว่าหมู่บ้านอื่นๆ  บ้านแห่งนี้ยังไม่เพียงเลี้ยงตัวเองทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำโขง รวมทั้งพืชผลเกษตรคุณภาพเยี่ยมป้อนตลาดซึ่งขยายออกไปในวงกว้าง พ้นไปจากมิติเศรษฐกิจ ลำน้ำโขงได้กลายเป็นจุดก่อกำเนิด "ความรู้" ที่แสดงออกผ่านการรู้จักพันธุ์ปลาและลักษณะนิสัยปลา รวมทั้งเครื่องมือและวิธีหาปลา อีกทั้งเกิดการสร้างสรรค์สถาบันในการจัดการทรัพยากรเช่นกรณีของลวงปลา ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้อาจไม่มีค่าในสายตาของคนภายนอก แต่มันคือความภาคภูมิใจ เป็นที่มาของความรู้สึกว่ามีความสำคัญ มีคุณค่า  มีตัวตน มีเอกลักษณ์ ซึ่งอาจเรียกรวมๆกันว่า  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่คงไม่อาจตีค่าเป็นเงิน หรือทดแทนด้วยสิ่งอื่นๆ  


 



 


ภาพที่ 3 เกษตรริมโขง


ภาพโดย พัฒนา เหมือนมาศ


 



 


ภาพที่ 4 นิเวศแก่งหินในแม่น้ำโขง


 ภาพโดย เรืองประทิน เขียวสด


 

 


เมื่อเข้าใจความหมายธรรมชาติในมุมของชาวบ้าน เปรียบเทียบกับนักสร้างเขื่อน เราจะเห็นได้ถึงการให้คุณค่าที่สวนทางกัน ในสภาวะที่ฝ่ายหลังได้เปรียบทางสถานภาพ ประกอบกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพลานุภาพ เพื่อที่จะอ้างความเป็นเจ้าของ ครอบงำ ควบคุมธรรมชาติมาใช้เพื่อประโยชน์ตามแนวทางของตน โดยไม่ใยดีต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พึ่งพาธรรมชาติในฐานะฐานอ้างอิงของความเป็นมนุษย์ สังคมเราจึงอยู่ในยุคสมัยแห่งความรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม[11]ที่ต้องการความเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สิ้นสุด นักล่าเงินยุคใหม่ข้ามดินแดนออกไปรุกรานทรัพยากร ใช้อำนาจในนามของรัฐ ข้ออ้างเพื่อส่วนรวม และความรู้  พร่าผลาญทรัพยากรของคนกลุ่มอื่นๆอย่างเลือดเย็น ดังที่เกิดขึ้นที่เขื่อนบ้านกุ่ม และยังมีเขื่อนอีกมากมายที่รอสร้างบนลำน้ำโขง เป็นลำดับ


 


บทความนี้วิจารณ์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์สำหรับการสร้างเขื่อน ในฐานะแขนงวิชาหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นฐานะการเป็นเครื่องมือก่อวินาศกรรมทางสิ่งแวดล้อม และความไม่เป็นธรรมทางสังคม ผู้เขียนกล่าวถึงความรู้อีกแบบหนึ่งของชาวบ้านที่ถูกมองข้ามไป  แต่ก็ไม่ได้ต้องการเสนอให้ความรู้แบบชาวบ้านกลายเป็นขั้วตรงกันข้ามที่เราจะต้องเลือกอย่างไม่พิจารณา สิ่งที่เราควรตระหนักก็คือการปล่อยให้ความรู้แบบใดแบบหนึ่งครอบงำการตัดสินใจในการพัฒนา ก็เท่ากับเราปิดทางเลือกที่ดีอื่นๆ และจำนนต่อผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม ดังนั้นเราจึงควรเปิดให้ธรรมชาติเป็นพื้นที่ของการดำรงชีวิตและความรู้ที่หลากหลาย เพื่อปลดปล่อยธรรมชาติจากการถูกจองจำของการถูกขูดรีดทำลาย.


 


 


 


...................................


[1] เขื่อนบ้านกุ่มเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีแผนจะสร้างทั้งหมด 10 เขื่อน ดู เว็บไซต์ของโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า  http://www.terraper.org


 


[2] เดชรัตน์ สุขกำเนิด ในการบรรยาย เรื่อง "เขื่อนบ้านกุ่ม:จำเป็นจริงหรือ?"  ในการอบรมเรื่อง "เขื่อนแม่น้ำโขงและสถานการณ์พลังงานในประเทศไทยวันที่ 1-2 สิงหาคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโดยศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แสดงให้เห็นความไม่คุ้มทุนของเขื่อนบ้านกุ่มด้วยข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ และทางเลือกผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ต้นทุนการผลิตต่ำกกว่าเขื่อนบ้านกุ่ม ในลักษณะหน่วยการผลิตย่อยๆที่เปิดโอกาสของการกระจายการผลิตแทนที่การผูกขาดจัดการพลังงานอย่างที่เป็นอยู่ แต่เป็นทางเลือกที่ไม่ถูกเลือก ส่วน มนตรี จันทวงศ์  ได้เสนอบทความในอบรมครั้งนี้คือ "แนวคิดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและสถานะของเขื่อนในปัจจุบัน"  แสดงให้เห็นเครือข่าย ผลประโยชน์ข้ามชาติที่ผลักดันโครงการพลังงานในอินโดจีนอย่างน่าสนใจ  สำหรับการเคลื่อนไหวคัดค้านการผลักดันโครงการเขื่อนบ้านกุ่มที่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถติดตามข่าวได้จากสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาในปี 2551 นี้


 


[3] ปี 2548 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาศักยภาพการสร้างฝายขั้นบันไดบนแม่น้ำโขง ในปี 2550 ได้มีการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยว่าจ้างบริษัทปัญญาคอลซัลแตนท์จำกัด และบริษัทแมคโครคอลซัลแตนท์จำกัด ศึกษาและจัดทำ "รายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม การศึกษานี้มุ่งหมายเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเจรจาเรื่องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงกับประเทศเพื่อนบ้าน (เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมาธิการตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่มจังหวัดอุบลราชธานี 21 สิงหาคม 2552 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) และรายงานฉบับนี้ ได้ถูกจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ในเวทีการประชุมประชาสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โดยมีการจัดทั้งหมด 5 เวทีในอำเภอเขตริมแม่น้ำโขงเขตจังหวัดอุบลราชธานี 


 


[4] Adams, W.M. 2001, Green Development: Environment and Sustainability in the Third Word, Routledge:London and New York(2nd edition) .


 


[5] O"Riordan, T. 1981, Environmentalism, Pion Limited: London(second revised edition)


 


[6] Forsyth, Tim 2003, Critical Political Ecology, Routledge: London and New York.


 


[7] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2548, "ความจริง วัฒนธรรม และความเชื่อการเมืองและการผลิตความรู้ป่าไม้เมืองไทยใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรความรู้กับการเมืองเรื่องทรัพยากร,  กรุงเทพฯศูนย์ฯ.


 


[8] สัมภาษณ์ "ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น": ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทย จากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ (1) ในเว็บไซต์ประชาไท http://www.prachatai.com/  สืบค้นตุลาคม 2551


 


[9] ปิ่นแก้ว อ้างแล้ว ; Scott, James C. 1998, Seeing Like a State, Yale University Press: New Haven and London(ch.1)  


 


[10] รายงานการวิจัย "วิถีชีวิตการหาปลาลุ่มน้ำโขงของชาวบ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี"  โดยกรรณิกา เกษพรรณ์ ขนิษฐา จันทัย ดวงมณี นารีนุช มัสญา สาระพันธ์ และ อังศุมารินทร์ อังสนันท์  และ รายงานการวิจัย  "เกษตรริมโขงของชาวบ้านปากกะหลาง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานีโดย พัฒนา เหมือนมาศ ศิริพร เชิดดอด ประยูรศรี บัวดก และนิตยา บุญมาก ทั้งสองชิ้นเป็นรายงานของนักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในรายวิชาการวิจัยทางสังคมศาสตร์เชิงคุณภาพ ซึ่งมี อ.สุรสม กฤษณะจูฑะ อ.กนกวรรณ มโนรมย์ อ.ธวัช มณีผ่อง และ ผู้เขียน เป็นที่ปรึกษาการวิจัย รายงานการวิจัยนี้กำลังเตรียมการจัดพิมพ์


 


[11] Peluso, Nancy Lee and Michael Watts 2001. "Violent Environments" in Peluso, Nancy Lee and Michael Watts (eds.),Violent EnvironmentsCornell University Press: Ithaca and London.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net