Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


การที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พยายามดื้อดึงที่จะอยู่ในอำนาจต่อหลังจากที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปผลการสอบสวนชี้ชัดว่า รัฐบาล-รัฐตำรวจ สุมหัวกันวางแผนใช้อาวุธสลายการชุมนุมเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ใช้สิทธิในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภาเพื่อสร้างความชอบธรรมบนคราบเลือดของประชาชนในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่ผ่านมาว่าจะต้องทำงานสำคัญ ๆ ของชาติที่รออยู่เร่งด่วน 3 ประการ คือ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ งานประชุมสุดยอดอาเซียนที่มีไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้ในฐานะที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยการผลักดันให้มี "ส.ส.ร.3" ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวเสียก่อน


 


โดยให้เหตุผลในการแก้ไขว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองของไทยประสบปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจนถึงใช้กำลังเข้าปะทะ ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อได้นับเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบ เศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยในสังคมและความมั่นคงของประเทศ       


 


นอกจากนี้ยังกล่าวหาอีกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังมีหลักการหลายประการที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงสมควรจัดให้มีวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร. ประกอบด้วยภาคประชาชน จากหลากหลายอาชีพเป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นมาใหม่ และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงประชามติด้วย ทั้งนี้ โดยยังรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดไป จึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เสียใหม่


 


ด้วยข้ออ้างดังกล่าวรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล สส.และ สว.บางส่วนที่เห็นชอบด้วย จึงมีความพยายามอย่างลุกลี้ลุกลนที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้จงได้ เพราะต่างมองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นตัวปัญหา ในขณะที่ไม่เคยมองดูพฤติกรรมของตนเองเลยว่า "คือตัวปัญหา" ที่แท้จริง หาใช่รัฐธรรมนูญไม่


 


เหตุผลข้างต้นจึงต้องย้อนกลับไปถามรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่เห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวว่า "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผิดอะไร" หรือว่ารัฐธรรมนูญ...


 


-ผิดเพราะ ให้สิทธิประชาชนชุมนุมกันได้โดยสงบและปราศจากอาวุธ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครอง และนโยบายแห่งรัฐ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปห้ามนักการเมืองซื้อเสียง จนหัวคะแนนทำงานลำบาก ใช้เงินซื้อเสียงยาก มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้ยุบพรรคการเมืองที่ซื้อเสียงเข้าสภา จนพรรคตนเองต้องถูกยุบ ง่ายเกินไป


-ผิดเพราะ หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มากเกินไป


-ผิดเพราะ ให้อำนาจองค์การอิสระมากเกินไป จนไม่สามารถครอบงำได้


-ผิดเพราะ ไปให้อำนาจสถาบันตุลาการในการคัดเลือกคนดี ๆ เข้ามาทำหน้าที่ในองค์การอิสระ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ให้สิทธิประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอน นักการเมืองเขี้ยวลากดินที่ทำผิดกฎหมาย หรือคอรัปชั่น มากเกินไป


-ผิดเพราะ ให้สิทธิประชาชนเสนอกฎหมายได้ โดยข้ามหัวผู้แทนประชาชน มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดห้ามเครือญาตในครอบครัวนักการเมือง เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกันไม่ได้ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นกลาง และเมื่อสิ้นสุดสภาพจะไปเป็นรัฐมนตรีต่อไม่ได้ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเพราะต้องคำพิพากษา แม้คดีนั้นจะไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้มีศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกา เพื่อซื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อได้ มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้มีการห้ามการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง มากเกินไป


-ผิดเพราะ ไปกำหนดให้การกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ถูกกฎหมาย มากเกินไป


-ผิดเพราะ ให้สิทธิประชาชนปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของตนเอง จากโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน มากเกินไป


-ผิดเพราะ  ฯลฯ (อีกเยอะแยะมากมายเกินสาธยาย...)


 


ความผิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เหล่านี้นี่เอง คงเป็นเหตุให้นักการเมืองทั้งหลายไม่ชอบ จึงพาลหาเรื่องที่จะแก้ไข โดยอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยข้างต้น โดยหวังเพียงเพื่อให้ตนเองเข้าสู่อำนาจ และใช้อำนาจได้ทุกวิถีทางโดยไม่ต้องให้ใครมาจับผิด จะโยกย้ายถ่ายเทงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชนอย่างไรก็ได้ จะเอาพรรคพวกเพื่อนฝูง พวกพ้อง บริวารว่านเครือ เข้ามาประมูลงาน รับงานจากรัฐไปทำอย่างไรก็ได้ จะคอรัปชั่น โกงบ้านกินเมืองอย่างไรก็ได้ จะซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียงเข้ามาในสภา แล้วอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างไรก็ได้ จะโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ประจบ สอพลอ อย่างไรก็ได้ จะตั้งงบประมาณถ่ายเทเข้าไปเฉพาะจังหวัดของตน แล้วให้เครือญาติประมูลรับงานฝ่ายเดียวอย่างไรก็ได้  จะอยู่ในอำนาจทางการเมืองเพื่อทำธุรกิจ ทำมาหากินกับตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่รุ่นทวด รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลานเหลนโหลน ทั้ง 9 ชั่วโคตร เพราะเชื่อว่าคนอื่นๆ ตระกูลอื่นๆ ไม่มีใคร เสียสละเข้ามาทำงานทางการเมือง ปกป้องชาติ รักชาติ รักแผ่นดินได้ดีเท่าตระกูลและเครือญาติของตน


 


เพราะตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นที่จะทำให้ผู้แทนจนๆ นักธุรกิจจนๆ ที่วันแรกที่เข้าสภาได้ที่เคยต้องนั่งแท็กซี่ ขึ้นรถเมล์ หรือยืมรถคนอื่นมาขับเข้าสภาฯ จากคนที่มีเงิน มีทรัพย์สินไม่กี่บาท กลายเป็นผู้แทนผู้ทรงเกียรติ มีทรัพย์สินบ้าน คฤหาสน์ รถยนต์คันโต เงินร้อยล้าน พันล้าน ได้ภายในไม่กี่ปี (แต่ต้องอ้างว่าเสียสละเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ประเทศชาติและประชาชน) แต่สิ่งเหล่านี้จะมีไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังคงใช้ได้อยู่ เพราะมันเป็นขวากหนามและอุปสรรคสำคัญต่อการใช้อำนาจของเหล่ารัฐบาล รัฐมนตรี สส. และ สว.บางส่วนไป ดังนั้นต้องเร่งรีบแก้ไข โดยหาข้ออ้างที่พูดออกไปแล้วประชาชนคนไทยที่ฉลาดน้อยๆ (ที่เคลิบเคลิ้มไปกับนโยบายซื้อเสียงล่วงหน้า) จะได้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นปัญหาจริงๆ จึงต้องเสียสละมารีบแก้ไขให้


 


รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แม้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลกหรือในประเทศไทย แต่การบัญญัติมาตราต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไว้แทบจะทุกอย่าง เพื่อป้องกันนักการเมืองที่นำการเมืองมาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ จะได้ถูกตรวจสอบและถูกลงโทษได้อย่างรวดเร็ว อย่างเป็นธรรม และเสมอภาค บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศนี้อย่างแท้จริง และการที่พยายามกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นปัญหา ก็น่าที่จะเป็นปัญหาก็เฉพาะในฝ่ายตัวนักการเมืองด้วยกันเองต่างหาก หาใช่ปัญหาหรือประโยชน์โดยภาพรวมของประเทศไม่ เพราะผู้จัดทำที่เป็น ส.ส.ร.2 นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นครูบาอาจารย์ ผู้รู้จากแวดวงการเมือง นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ ผู้แทนอาชีพต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับ ส.ส.ร.1 (ถ้าไม่ยึดติดกับการได้มา) หรือ ส.ส.ร.3 ที่พยายามจะผลักดันให้มีกันนี้  ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกไม่เกิน 120 คน จากจังหวัดละ 1 คน รวมทั้งหมด 76 คน จากการเลือกตั้งกันเองของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 24 คน จำแนก คือ ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวน 8 คน ด้านผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 8 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านบริหาร จำนวน 8 คน และ มาจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล อีก 20 คน


 


คงไม่มีใครในโลกไม่ปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญเมื่อมีแล้ว ปฏิบัติใช้แล้ว เมื่อพบปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ แต่การที่รัฐบาลและพวกพ้องบริวาร พยายามหาเหตุอ้างเชิงลบมาเพื่อขอแก้ไขโดยใช้หนังหน้าไฟ ส.ส.ร. 3 นั้น ไม่น่าที่จะชอบด้วยเหตุผล เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาได้แค่ปีกว่าๆ และสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้นักการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมหลายคน ต้องถูกจับผิด ถูกจับได้ไล่ทัน และถูกลงโทษได้ ก็น่าจะเป็นคุณูปการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่จะสร้างกรอบทางการเมืองใหม่ให้สังคมไทยได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อสร้างความผาสุก ความเจริญมั่นคงของชาติต่อไปได้ ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวกันของนักการเมืองและพวกพ้อง หาใช่เป็นปัญหาที่มาจากรัฐธรรมนูญไม่...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net