หนังสือ (อดีตต้องห้าม) ที่น่าอ่าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ช่วงนี้มีสัปดาห์หนังสือจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ผมได้ไปมาและพบหนังสือที่คนไทยควรอ่านหลายเล่ม ที่น่าสนใจก็คือมีการพิมพ์หนังสือที่อดีตกลายเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ปัจจุบันหนังสือที่ว่านี้ซึ่งอดีตถือเป็น "ของแสลงของผู้ปกครอง" นั้นกลับกลายเป็นหนังสือที่ทาง สกว.ได้ทำวิจัยและบรรจุให้เป็นหนังสือหนึ่งในร้อยที่คนไทยควรอ่าน หนังสือที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจสภาพสังคมไทยในอดีตรวมถึงสภาวการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันด้วย  

 

หนังสือที่น่าอ่านเล่มแรก พระเจ้ากรุงสยาม โดย ส. ธรรมยศ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ..๒๔๙๕ ครั้งที่สองเมื่อ พ.. ๒๕๔๗[1] และครั้งล่าสุด พ.. ๒๕๕๑ บทที่สำคัญที่สุด (.ธรรมยศเป็นผู้บอกเองและอาจจะเป็นบทที่ล่อแหลมและเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด) ในหนังสือเล่มนี้คือบทที่ ๗ หากใครต้องการทราบว่าบทที่ ๗ มีเนื้อหาว่าอย่างไรคงต้องไปหาอ่านกันเองอ่านแล้วจะรู้ว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเคยเป็นหนังสือต้องห้าม

 

หนังสือเล่มต่อมาคือ นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.. ๒๔๒๑ แต่ก็ถูกเผาเสียหลังจากพิมพ์ออกมาได้ไม่นาน และมีการพิมพ์อีกครั้งในปีพ.. ๒๔๙๘ โดยผู้แต่งก็ถูกลงโทษด้วยการถูกโบย ๕๐ ที และจำคุกอีก ๘ เดือน หนังสือเล่มนี้พิพม์ครั้งที่สามเมื่อปีพ.. ๒๕๔๔ หนังสือนิราศหนองคายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดีจัดเป็นหนังสือ ๑ใน ๑๐๐ ที่คนไทยควรอ่าน

 

หนังสือเล่มต่อมาคือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือเล่มนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงให้มากความเพราะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ปัญญาชนไทยมากที่สุดเล่มหนึ่ง มีการพิมพ์ซ้ำกันหลายครั้ง ระยะหลังมีการเผยแพร่เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ให้เป็นที่เผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับประชาชนคนทั่วไป และคงไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้วที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือต่อไป คือ เทียนวรรณ แต่งโดยคุณสงบ สุริยินทร์ แม้หนังสือเล่มนี้จะมิได้เป็นหนังสือต้องห้ามก็ตาม[2] แต่ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก เทียนวรรณนั้นเป็นนามปากกาของ ต... วรรณาโภ เป็นผู้ได้รับฉายาว่า "บุรุษรัตนของสามัญชน" ผู้เกิดในสมัยรัชกาลที่สามและมีชีวิตเรื่อยมาจนถึงสมัยของรัชกาลที่หก ในหนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงชีวประวัติและผลงานที่คัดสรรของเทียนวรรณซึ่งปัจจุบันหาอ่านได้ยากยิ่ง เทียนวรรณนั้นเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักกฎหมาย เทียนวรรณกล้าวิจารณ์สภาพสังคมในเวลานั้นอย่างตรงไปตรงมา เทียนวรรณเคยวิจารณ์ระบบทาส เจ้านาย ศาล ประเพณีที่คร่ำครึ ฯลฯ เทียนวรรณวิจารณ์หมด ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงไม่แปลกใจที่เทียนวรรณถูกจำคุกร่วมสิบแปดปี ที่น่าสนใจก็คือตอนเทียนวรรณออกจากคุกมีคนพูดเชิงสมน้ำหน้าเทียนวรรณว่า "แกมันชิงสุกก่อนห่าม"

 

ปัญญาชนสยามทั้งสามท่านคือ เทียนวรรณ ส.ธรรมยศ และ จิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนแล้วแต่ใช้สติปัญญาผ่านคมปากกาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองและสภาพสังคมไทยในขณะนั้น โดยบุคลิกที่คล้ายกันทั้งสามท่านคือการใช้ภาษาที่ดุดัน ตรงไปตรงมาแกมประชดเสียดสี ซึ่งย่อมสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ข้อสังเกตของวาทกรรมการชิงสุกก่อนห่าม

หลังจากที่เทียนวรรณออกมาจากเรือนจำก็มีคนตำหนิหรือด่าเทียนวรรณว่า ชิงสุกก่อนห่าม วาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) นั้นก็ถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามเนื่องจากรัชการที่ ๗ กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว ผมเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ทราบว่า หลังจากที่มีการก่อกบฎ ร.. ๑๐๓ ในสมัยรัชการที่ ๖ นั้น มีการอธิบายความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นด้วยการกล่าวว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่

 

จะเห็นว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านในอดีตจนถึงปัจจุบัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองไทยในด้านต่างๆ เช่นการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งรัฐมนตรี ปัญหาการทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ ชุดคำอธิบายหนึ่งก็คือความพยายามที่จะอธิบายหรือโน้มน้าวให้กับประชาชนว่า "ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก""ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ ประเพณี ประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนชาติใด ซึ่งมีนัยยะว่า เพราะฉะนั้น ไทยควรมีระบอบการปกครองแบบไทยๆ" หรือ "คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษา ดังนั้น จึงไม่มีวิจารณญาณพอที่จะเลือกผู้แทน ซึ่งมีนัยยะว่า สมควรให้กลุ่มบุคคลหนึ่งมาทำหน้าที่นี้แทน"[3] ฯลฯ

 

ชุดคำอธิบายทำนองนี้กำลังถูกนำเสนอตอกย้ำมากขึ้นทุกทีๆ หากจะสรุปสั้นๆ ก็คือว่าสังคมไทยอย่าเพิ่งชิงสุกก่อนห่ามที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบนานาอารยประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ตอนนี้เอา "การเมืองใหม่" ไปก่อน หากทวยราษฎรมีการศึกษา ความเป็นอยู่ดีขึ้นมากกว่านี้ ก็ค่อยมาพูดเรื่องปาลิเมนต์ (Parliament) และก่อนที่จะนำไปสู่การเมืองใหม่ น่าจะจัดให้มีการทดลองหรือจำลองให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตยโดยการสร้างเมืองคล้ายกับ "ดุสิตธานี" อย่างที่รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดให้มีการทดลองเกี่ยวกับการปกครองในระดับท้องถิ่น ในครั้งนี้น่าจะจัดให้มีเมือง "มัฆวาน" เพื่อให้ทวยราษฎรไทยมีความเข้าใจ "การเมืองใหม่" อย่างถ่องแท้เสียก่อน มิฉะนั้นการปฎิรูปการเมืองไทยคงล้มเหลวอีกเช่นเคย

 

บทส่งท้าย

ใครก็ตามที่เบื่อเรื่อง "การชุมนุมแบบนันสต๊อป" และ "การเมืองใหม่" จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการอ่านหนังสือที่แนะนำเป็นการลับสมองเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตก็จะดีไม่น้อย ยิ่งหากอ่านควบคู่ไปกับ "แถลงการณ์ของคณะราษฎร" ก็จะได้อรรถรสดีนักแล แล้วจะรู้ว่า หากเปรียบเทียบกับแนวคิดของเทียนวรรณก็ดี ข้อวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ดี แนวคิดเรื่องการเมืองใหม่นั้นกลายเป็นของคร่ำครึไปเลย หากเทียนวรรณยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ท่านคงนึกประหลาดอย่างยิ่งว่า เวลาผ่านไปร่วมร้อยปี แต่ความคิดหรืออุดมการณ์การเมืองไทยกำลังจะย้อนกลับไปสู่ยุคที่ท่านเทียนวรรณยังมีชีวิตอยู่ ผมไม่แน่ใจว่า กลุ่มพันธมิตร "เกิดช้าไป" (คือน่าจะเกิดในสมัยรัชกาลที่ห้าหรือรัชการที่หก) หรือพวกสนับสนุนประชาธิปไตย "เกิดเร็วไป" กันแน่ ถ้าคราวนี้เกิดรัฐประหารหรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลคุณสมชายและจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติสำเร็จโดยฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ และมีการยัดเยียดเรื่องการเมืองใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญสำเร็จ เห็นทีผมคงต้องพูดกับบรรดาผู้รักประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการว่า "พวกแกมันชิงสุกก่อนห่าม"

 


……………………………………………………….

[1] ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้โดยสำนักพิมพ์มติชนนี้ ปรากฎว่ามีการเก็บหนังสือมิให้มีการจำหน่ายอีกต่อไป ดังนั้นหากใครก็ตามอยากอ่านหนังสือเล่มนี้คงต้องรีบซื้อเก็บไว้

[2] ผมไม่แน่ใจว่าผลงานของเทียนวรรณเองเป็นหนังสือต้องห้ามในยุคหลังๆหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น "ศิริพจนภาคมีทั้งหมด 12 เล่ม เป็นการรวมผลงานของเทียนวรรณที่เขียนขึ้นก่อนถูกจำคุกและระหว่างถูกจำคุก และ "ตุลยวิภาค"

[3] การสรรหาหรือแต่งตั้งสว.ชุดปัจจุบันเป็นการสะท้อนแนวคิดนี้ที่ชัดเจนที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท