Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ตามที่คุณหมอได้เสนอทางออกจากวิกฤติของสถานการณ์ปัจจุบันเผยแพร่ตามหนังสือพิมพ์ต่างๆว่าทางออกเฉพาะหน้าอาจสรุปเหลือ ๒ เส้นทางคือ เส้นทางสันติวิธีกับเส้นทางนองเลือดนั้น


 


ในเส้นทางสันติวิธีที่คุณหมอเสนอมีอยู่ ๖ ข้อ คือ


๑)การประชาสัมพันธ์ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง


๒)การแสดงความรับผิดชอบโดยการกล่าวคำว่า ผมเสียใจ ผมขอโทษ ผมขอรับผิดชอบดังต่อไปนี้...


๓) ดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วทันใจ


๔) ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาหมดความสามารถในการแก้วิกฤติควรขอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อเปิดช่องว่างให้ทรงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้


๕) ถ้ายังทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ทะเลาะกัน กดดันกันต่อไป แต่อย่าใช้ความรุนแรง รัฐควรเปิดโอกาสให้ใช้การสื่อสารของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ให้แต่ละฝ่ายพิสูจน์ตัวเองต่อสาธารณะ


๖) การเจรจาหาข้อยุติร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ ความขัดแย้งทุกชนิดยุติด้วยการเจรจา ขัดแย้งรุนแรงเท่าใดๆก็สามารถยุติได้ด้วยการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน


 


ข้อเสนอในเส้นทางสันติวิธีของคุณหมอนั้นผมเห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่ที่ไม่อาจเห็นด้วยได้เลยคือข้อเสนอข้อที่ ๕ ที่ว่าด้วยการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อเปิดช่องว่างให้ทรงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะโดยรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำได้ เป็นการผิดกฎหมาย และอีกทั้งจะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทอีกด้วย


 


ส่วนทางรุนแรงนองเลือดนั้นคุณหมอได้เสนอไว้ว่าถ้าหากสันติวิธีดังกล่าวข้างบนไม่มีใครปฏิบัติหรือไม่ได้ผลแล้วหลุดเข้าไปสู่การปะทะนองเลือด กองทัพไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้ามาระงับยับยั้งความรุนแรง และยึดอำนาจรัฐอย่างสั้นที่สุดเพื่อสลายขั้ว แล้วนำความกราบบังคมทูลว่าบัดนี้ระบบการเมืองสุดความสามารถในการแก้วิกฤติแล้ว เกิดสุญญากาศทางอำนาจแล้ว ขอพึ่งพระบารมี ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางมีศักยภาพสูงในการยุติวิกฤติการณ์ และประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมสร้างระบบอารยะประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับและร่วมมือสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีความเป็นธรรม เมื่อมีความเป็นธรรม ความขัดแย้งลดลง ความร่วมมือก็จะมากขึ้น ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์เป็นไปได้


 


ข้อเสนอในทางรุนแรงนองเลือดที่คุณหมอเสนอให้ทหารเข้ามายึดอำนาจรัฐหรือรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจยอมรับได้โดยเด็ดขาด บทเรียนที่ผ่านมาในอดีตย่อมเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง มีแต่เพิ่มปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารครั้งล่าสุด ๑๙ กันยา ๔๙ นั้นได้สร้างปัญหาไว้อย่างมากมาย


                       


เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่ว่าจะเป็นมรดกบาปรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่เป็นชนวนความขัดแย้งในสังคม หรือองค์กรอิสระทั้งหลายที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหารที่ตามคอยเช็คบิลฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหารจนเกิดความวุ่นวายทุกหัวระแหง


 


แน่นอนว่าบทเรียนของการรัฐประหาร ๑๙ กันยาสำหรับทหารนั้นมีแน่นอนเพราะไม่เช่นนั้นแล้วทหารก็คงออกมายึดอำนาจตั้งวันที่มีการยึดทำเนียบรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีแล้วต่อเนื่องด้วยการปะทะจนคุณณรงค์ศักด์ กรอบไทยสงค์ต้องเสียชีวิต อย่างน่าสยดสยองหรือแม้กระทั่งการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก


บทเรียนของประชาชนก็ย่อมมีเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการคัดค้านรัฐประหารอย่างไม่เกรงกลัวต่อภัยที่จะตามมาของหลายกลุ่มซึ่งยังไม่สลายไป เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่ม บก.ลายจุด กลุ่มฟ้าเดียวกัน กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มของคนที่ศรัทธาในวีรกรรมของคุณนวมทอง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดก็คงไม่พ้นกลุ่มไทยรักไทยเก่าหรือ นปก.นั่นเองและเชื่อว่าการต่อต้านจะรุนแรงยิ่งกว่าการปะทะกันระหว่างพันธมิตรกับ นปก.หรือกลุ่มพันธมิตรกับตำรวจอย่างแน่นอน บ้านเมืองก็จะยิ่งวุ่นวายยิ่งกว่าปัจจุบันอีกหลายร้อยเท่าพันทวีหากมีการรัฐประหารหรือ "หยุดการใช้อำนาจ(ศัพท์ใหม่ล่าสุด)"โดย "คณะต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐโดยมิชอบ" หรือคณะอื่นใดเกิดขึ้นอีก


ผมเชื่อว่าประชาชนจะ "ไม่หงอ"ต่อการรัฐประหารอย่างแน่นอนและ การทำรัฐประหารในยุคต่อไปนี้ "ไม่หมู" แล้วสำหรับการนำรถถังเก่าๆ ออกมาวิ่งในถนน ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์พร้อมกับออกประกาศยึดอำนาจเพื่อปกครองผู้คนในยุคที่โลกมีการสื่อสารถึงกันทั่วโลกในพริบตาเดียวเช่นนี้ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยไม่หือไม่อือเหมือนในอดีตที่ผ่านมา


นอกจากความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศแล้ว ปัญหาระหว่างประเทศก็จะตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการรับรองความเป็นรัฐจากประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายแล้ว ภาวะเศรษฐกิจที่จะต้องเสียหายจากมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มีขึ้นต่อประเทศที่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็จะตามมา


 


ส่วนความหวังที่ว่าจะขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางมีศักยภาพสูงมายุติวิกฤติการณ์นั้น ผมขอถามว่าใครที่เป็นคนกลางที่ว่านั้น เพราะแม้แต่คุณหมอประเวศเองซึ่งในสายตาผมเห็นว่าก่อนหน้าวิกฤติการณ์พันธมิตรท่านน่าจะเป็นกลางที่สุดก็มิใช่คนกลางในสายตาของ นปก.แล้ว และปี ๔๙-๕๐ ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเป็นคนกลางหรือคนดีกับการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฝีมือนั้นคนละเรื่องกัน


 


การแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยอย่าใจร้อนครับ ทุกปัญหามีทางออก ถ้ามองไม่เห็นทางออกก็ต้องให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจ เมื่อประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจแล้วเกิดความเสียหายประชาชนก็จะต้องเป็นผู้รับผลแห่งความเสียหายนั้น มิใช่ให้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาบงการหรือตัดสินชะตาชีวิตของประเทศ แต่เพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว


 


แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยเรามีปัญหาในเรื่องของการคัดสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ก็แก้กติกาสิครับ กติกาที่ว่าก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง ถามประชาชนสิครับว่าเขาจะเอาอย่างไร อยากได้การปกครองแบบไหน ระบบการเลือกตั้งแบบใด มิใช่คอยแต่คิดว่าประชาชนยังโง่อยู่ ถูกซื้อขายเหมือนเป็นวัวเป็นควาย เสียงประชาชนส่วนนี้ไม่ต้องรับฟัง ซึ่งมันมิใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่มันเป็นระบอบอภิชนาธิปไตย(Aristocracy)หรืออัตตาธิปไตย(Autocracy)สำหรับกลุ่มอาการคลั่งลัทธิ(fanaticism)ไปแล้ว


 


เมื่อเริ่มต้นก็ไม่เชื่อในศักดิ์ศรีของความเท่าเทียมกันของมนุษย์แล้ว  จะไปหวังว่าจะสามารถประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมสร้างระบบอารยะประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมมือสร้างสรรค์สังคมไทยที่มีความเป็นธรรมได้อย่างไรกัน


 


-------------------------


                       


                       

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๑           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net