"จาตุรนต์" วิเคราะห์ ผบ.เหล่าทัพ ชี้"แค่พูดประเทศก็เสียหายแล้ว"

19 ต.ค.51  จาตุรนต์ ฉายแสง เปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 ว่าด้วยการวิเคราะห์ถ้อยแถลงของคณะ ผบ.เหล่าทัพ นำไปสู่การยึดอำนาจรัฐประหาร "แค่พูดประเทศก็เสียหายแล้ว"  


 

รายละเอียดมีดังนี้

 

 

จุดหักเหจากทางการเมืองหลังจากนี้ คือ  กรณีการยุบพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไม่มีแนวโน้มจะยุติลงได้ง่ายๆ  และประเด็นสำคัญที่กำลังจะเป็นตัวกำหนดการเมืองของประเทศไทย ทำให้การเมืองไทยมีทางออกน้อยลงไปอีก ก็คือ การออกมาพูดแสงดความเห็นทางการเมือง การปรากฏตัวของ ผบ.เหล่าทัพ

 

ขอวิจารณ์คำพูดของผู้นำเหล่าทัพ ก่อนหน้านี้ก็นึกถึงคำพูดดีๆ ที่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ยืนยันเรื่อยมาว่า จะไม่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร และเข้าใจด้วยว่า การปฏิวัติรัฐประหารจะยิ่งทำให้ประเทศเสียหายมากขึ้น

 

แต่จะเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือ รู้ เข้าใจ แต่ไม่มีวิธีการพูดที่ดีกว่านั้น แต่ขอสรุปว่าสิ่งที่ท่านพูดได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติไปแล้ว ทำให้ทางออกทางการเมือ การแก้วิกฤตทางการเมืองยิ่งยากขึ้น ทำให้แนวโน้มปัญหาทางการเมืองขยายตัว เป็นปัญหาที่หนักหนาขึ้นมาอีก เนื้อหาที่พูด สังเกตจากการวิจารณ์จากความเข้าใจของผู้คน การตีความคำพูดทั้งจากคนในวงการต่างๆ จากสื่อในประเทศและต่างประเทศ  รู้สึกตรงกันว่าท่านได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และท่านได้บอกว่าทุกเหล่าทัพเป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก

 

ท่านบอกว่า สังคมรับไม่ได้ ท่านบอกว่า ท่านกดดันหรือไม่ ท่านไม่ทราบ แต่จากปฏิกิริยาการตีความของสื่อทั้งในและต่างประเทศ นักวิเคราะห์ทั้งหลายสรุปตรงกันว่า  นี่คือการกดดันจากผู้นำเหล่าทัพที่อ้างว่า ทุกเหล่าทัพเป็นหนึ่งเดียว กดดันให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง "ลาออก"

 

ข้อความที่เป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือ การพูดว่า "ถ้าเกิดการนองเลือดจริงๆ เป็นกลียุคนะครับ ก็อาจจะมี แต่คงไม่ใช่การปฏิวัตินะ แต่เป็นการหยุดการใช้อำนาจ" ข้อความนี้ก็จะเป็นอีกข้อความหนึ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติอย่างมาก  

 

ข้อความทั้งสองส่วนนี้ ได้ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ความเสียหายประการแรก ก็คือ ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีลาออกไม่ได้แล้ว ยิ่ง พล.อ.อนุพงศ์ออกมาพูด ยิ่งลาออกไม่ได้  นายกรัฐมนตรีควรจะลาออกก็ต่อเมื่อมีข้อสรุปว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งให้มีการ "ฆ่า"คน ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่ไม่เหตุอะไรเลย นายกรัฐมนตรีไปสั่งฆ่าคนเล่น อย่างนี้นายกรัฐมนตรีก็ควรจะลาออก ควรจะออกไป ถ้าไม่ลาออกก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานะที่ฆ่าคนตาย ย่อมถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

 

แต่ถ้าไม่ได้สั่งให้ฆ่าคนเล่นอย่างนั้น วันนี้นายกรัฐมนตรีลาออกไม่ได้แล้ว ถ้าลาออกก็เป็นการ "ออก"เพราะถูกกดดันจากผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งก็จะทำให้ในสายตาชาวโลก เห็นว่านายกรัฐมนตรีลาออกเพราะการกดดันจากผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองภายใต้การกดดันจากทหาร ซึ่งเท่ากับเป็นระบอบเผด็จการนั่งเอง

 

ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียังไม่ลาออก ยังไม่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดก็ตาม คนก็จะตั้งคำถามทุกวันว่า เมื่อไหร่นายกรัฐมนตรีจะลาออก เพราะการที่ผู้นำเหล่าทัพมานั่งเรียงหน้ากระดานแล้วยืนยันว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วพูดว่า ถ้าเป็นตนเองก็ลาออกไปแล้ว อยู่ไม่ได้หรอก เพราะสังคมไม่รับ 

 

แน่นอนว่าในสายตาชาวโลก ก็จะสรุปว่าประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพเลย เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งท่านพูดว่า อาจจะ  "ทำให้หยุดการใช้อำนาจ" ก็ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปใหญ่ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่เสถียรภาพ ระบอบประชาธิปไตยไทยไม่มีเสถียรภาพ 

 

ก็มาสู่คำพูดส่วนที่สองที่ระบุว่า  "ถ้าเป็นการนองเลือดจริงๆ เป็นกลียุคนะครับ ก็อาจจะมี แต่ไม่ใช่การปฏิวัตินะ แต่เป็นการหยุดใช้อำนาจ" คำพูดนี้มีปัญหามาก ที่ว่า "นองเลือด" ท่านหมายถึงอะไร หมายถึงการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือไม่ กรณีที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปที่ทำเนียบฯ แล้วตายไป ๑ คน บาดเจ็บอีกประมาณ ๒๐ คน   , การใช้ปืนยิ่งใส่ตำรวจ , การใช้มีดปลายด้ามธงแทงใส่ตำรวจบาดเจ็บ  เหล่านี้เป็นการนองเลือดที่จะทำให้ไปสู่จุดที่จะหยุดการใช้อำนาจหรือไม่

 

การที่ตำรวจพยายามรักษากฎหมาย เป็นการนองเลือดตามความหมายนี้หรือไม่  เพราะฉะนั้นถ้ามีการนองเลือดเกิดขึ้น แล้วจะหยุดการใช้อำนาจ ไม่มีใครทราบว่า หมายถึงอะไร การที่มีคนทำผิดกฎหมายด้วยการยึดทำเนียบ ใช้อาวุธด้วย ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำร้ายประชาชนกลุ่มอื่นๆ เป็นการนองเลือดที่จะต้องหยุดการใช้อำนาจหรือไม่ 

 

สิ่งที่ควรจะทำคือ การแยกแยะว่า ถ้ามีการปะทะกัน มีความเสียหายเกิดขึ้น มีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น เกิดจากเหตุอะไร ไม่ใช่พูดหลวมๆ ว่า ถ้ามีการนองเลือดแล้วจะต้องหยุดใช้อำนาจ ต้องแยกแยะ ที่ผมพูดหมายความว่า ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯ ไปแทงตำรวจ ไปยิงตำรวจ แล้วจะมาอ้างเหตุเพื่อจะหยุดการใช้อำนาจได้อย่างไร

 

ที่พูดว่าจะมีการหยุดใช้อำนาจ ไม่ใช่ปฏิวัติ คำถามก็คือว่า แปลว่าอะไร หยุดการใช้อำนาจแปลว่าอะไร หมายถึงรัฐบาลหยุดใช้อำนาจ ถามว่า กองทัพใช้อำนาจอะไรไปทำให้รัฐบาลหยุดใช้อำนาจ ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับไหน หรือรัฐธรรมนูญมาตราไหน ถ้าพิจารณาจุดนี้ก็จะพบว่า ไม่มีอำนาจใดๆ ของกองทัพที่จะมาหยุดการใช้อำนาจของรัฐบาล หรือกลไกของรัฐ

 

ถ้าจะหยุดได้ก็ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการที่ออกมาระบุว่า จะต้องมีการหยุดใช้อำนาจ ก็ไม่ต่างไปจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจนั่นเอง แล้วประโยคที่ท่านพูดเมื่อเอามารวมกันแล้ว เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก สังคมรับไม่ได้ หากเป็นท่านท่านลาออกไปแล้ว กดดันหรือไม่กดดันไม่รู้ แต่สังคมทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการกดดัน

 

แล้วพอบอกว่า ถ้ามีการนองเลือด ซึ่งไม่มีการขยายความอะไรเลย แล้วบอกว่าต้องหยุดการใช้อำนาจ ก็หมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เกิดความเสียหายขึ้น ก็จะเกิดการปฏิบัติการที่เท่าๆ กับการรัฐประหารนั่นเอง

 

ข้อความที่ว่า ถ้านองเลือดจริง คงจะเป็นการหยุดการใช้อำนาจ ยังสร้างปัญหาต่อไปอีกมาก คือ การพูดอย่างนี้จะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มพันธมิตรฯ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้น เขามีการดำเนินการอยู่แล้ว พรุ่งนี้ (๒๐ ต.ค.) ก็จะดาวกระจายไปอีกหลายที่  ยกตัวอย่างว่า หากมีการไปล้อมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือจะเข้าไปยึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจจะทำอย่างไร

 

สิ่งที่เป็น "จุดอ่อน" ของ พล.อ.อนุพงศ์ ก็คือ ไม่เคยพูดเลยว่า การกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ผิดกฎหมาย การยึดทำเนียบฯ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การปิดล้อมรัฐสภาแล้วขู่ว่าจะบุกเข้าไปฆ่าคนนั้นผิดกฎหมาย ถ้าเกิดขึ้นอีก พล.อ.อนุพงศ์ไม่ได้บอกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐควรทำอย่างไร จะต้องทำอย่างไรถึงจะดี แต่พูดว่า ถ้านองเลือดก็จะหยุดการใช้อำนาจ ก็ไปสอดคล้องกับบางคนที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ถ้านองเลือดควรจะให้มีการรัฐประหารเสีย พูดอย่างนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มพันธมิตรฯ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้ทหารทำรัฐประหารอยู่แล้ว

 

พูดลักษณะอย่างนี้ นอกจากจะไม่แก้ปัญหาอย่างที่ท่านพูดว่า ต้องการแก้ปัญหาคนคิดต่างกัน ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ แต่การพูดอย่างนี้กลับกลายเป็นเงื่อนให้เกิดความรุนแรง และความรุนแรงในสังคมนี้ สุดท้ายจะแก้ไม่ได้ เนื่องจากท่านไม่ได้ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ ไม่ยึดหลักว่าทุกคนต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

 

ท่านเลือกพูดแต่เฉพาะที่ว่า มีการชุมนุม มีการยึดทำเนียบฯ และมีการทำอะไรก็ตาม ที่ผิดกฎหมาย ถ้ามีการจัดการในลักษณะที่ทำให้เป็นการเกิดความเสียหาย กองทัพก็จะเข้ามาหยุดการใช้อำนาจ การพูดอย่างนี้คือการส่งเสริมให้เรื่องบานปลายใหญ่โตขึ้นไปอีก การแก้ไขปัญหาก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

 

สุดท้ายก็คาดการณ์ได้ว่า การพูดในลักษณะนี้ เหตุการณ์จะบังคับให้เหล่าทัพคิดยึดอำนาจจริงๆ การยึดอำนาจนั้นก็จะยิ่งทำความเสียหายให้กับประเทศอย่างร้ายแรง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การยึดอำนาจนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือสำเร็จก็จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงต่อเนื่องไปอีกยาวนาน และเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงมากขึ้น

 

กรณีมีการรัฐประหาร หรือการออกมาหยุดการใช้อำนาจ มีข้อเสนอว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ หลักกฎหมาย หลักความชอบธรรม ไม่ใช่ไปโยงว่า เมื่อ ผบ.ทบ.ออกมาพูดอย่างนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ออกไปเถอะ เขาจะได้ไม่ยึดอำนาจ ไม่ใช่ว่าถ้ากลุ่มพันธมิตรฯ มาชุมนุมแล้วบอกว่าจะยึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ปล่อยให้เขายึดไปเลย แล้วไปทำงานที่อื่น อย่างนี้คงไม่ได้ และหากยอมไปตามนี้ บ้านเมืองก็ไม่สามารถอยู่กันได้อยู่ดี

 

ต้องกลัวว่า หากทำตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักกฎหมายถูกต้องชอบธรรมแล้ว กองทัพจะยึดอำนาจ และถ้ามีการยึดอำนาจรัฐประหาร ผมคิดว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกัน คัดค้านต่อต้าน และในการคัดค้านต่อต้านนั้น ผมขอเสนอให้คัดค้านต่อต้านโดยสันติวิธีอย่างเคร่งครัด คือไม่ใช้อาวุธเข้าต่อสู้ การคัดค้านรัฐประหารไม่ควรจะใช้อาวุธเข้าไปต่อสู้ เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายขึ้นไปอีก ผมไม่เห็นด้วยกับการเตรียมการใช้อาวุธ และไม่เห็นด้วยกับการเตรียมการชุมนุมคนที่จะตอบโต้ในลักษณะที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดความรุนแรง

 

 

-----------  คำถาม ----------

 

 

ผู้สื่อข่าว :  กรณีผลสอบออกมาว่าผิด  นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกหรือไม่

จาตุรนต์ : ต้องพิจารณาผิดในฐานอะไร ในข้อหาอะไร การสอบนั้นตั้งประเด็นอะไรบ้าง การพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม ต้องพิจารณาหลายเรื่องประกอบกัน ที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาที่ต้นเหตุของเรื่อง

 

ต้นเหตุของเรื่องคือ กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ยกกำลังไปปิดล้อม ใช้เครื่องไม้เครื่องมือไปปิดไม่ให้มีการประชุมสภาเพื่อไม่ให้แถลงนโยบายได้ นั่นเป็นการผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน นั่นคือขั้นตอนที่หนึ่ง เกิดขึ้นตอนเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ถามว่ารัฐบาลในโลกนี้ ไม่ใช่แค่รัฐบาลในประเทศไทย และใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม พึงทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจพึงทำอย่างไร ย้ายไปประชุมที่อื่น ถ้าเขาตามไปปิดอีก จะทำอย่างไร ไม่เปิดทางให้เข้าไปประชุมจะทำอย่างไร

 

ขั้นตอนที่สองคือ ในตอนบ่าย เขาจะออกจากสภา มีการปิดอีกรอบ ใช้กำลังติดอาวุธ ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประกาศให้จับตัว ส.ส.บางคนมาแขวนคอ ระบุชื่อชัดเจน บอกให้ไปแขวนคอ ถ้าเขาไม่เปิดทางให้คนออกจากสภาได้ แล้วกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดบุกเข้าไปในสภา เกิดการปะทะกัน แล้วจะไม่เป็นความเสียหายมากกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วหรืออย่างไร จะมีคนตายไปอีกหลายสิบคน ถ้ามีการสู้กัน อาจจะมีการตายเป็นร้อย เพราะฉะนั้นตำรวจจึงคิดว่าจะต้องเปิดให้คนออกจากสภาให้ได้ สิ่งเหล่านี้กรรมการตรวจสอบด้วยหรือเปล่า

 

และถ้าไม่พยายามเปิดทางให้คนออกจากสภาได้ จะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาประกอบกัน และกรณีตำรวจหาทางให้คนเข้าไปประชุม ตอนบ่ายให้คนออกจากที่ประชุมสภา เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องกระทำ

 

ถ้าพิจารณากรณีการใช้แก๊สน้ำตาที่เป็นวิธีการที่เป็นสากล คือ หลีกเลี่ยงการปะทะ หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้มาก ปัญหามีว่าแก๊สน้ำตาที่ใช้นั้น รุนแรงเกินไป มีความบกพร่องทางเทคนิคหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ถ้าลำดับดูทั้งหมดก็ต้องมาดูว่า ถ้านายกรัฐมนตรีผิด ผิดในขั้นตอนไหน เรื่องอะไร หากกล่าวว่าผิดที่ไปประชุมสภา จะผิดได้อย่างไร ตำรวจเปิดทางให้คนเข้าและออก ก็ไม่ผิดอีก แต่ถ้าเครื่องมือที่รุนแรงเกินไปก็ต้องว่ากัน แต่จะลำดับอย่างไรว่า เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีให้เลือกใช้แก๊สน้ำตาที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างนั้นหรือ ถึงได้กล่าวแต่ต้นว่า ถ้าจะผิดคือ นายกรัฐมนตรีตั้งใจไปสั่งให้ฆ่าประชาชน โดยไม่มีสาเหตุ อย่างนี้ไม่แค่ควรให้ออกเท่านั้น จะต้องติดคุก หรือถึงขั้นผิดโทษประหารชีวิตด้วย

 

แต่จะลำบากถ้าเรื่องทั้งหมด ถ้าพิจารณากันแบบตัดตอน มีการเสนอความเห็น ข้อมูลที่ตัดตอนว่า เกิดการใช้แก๊สน้ำตา มีความเสียหาย มีคนได้รับบาดเจ็บและมีคนตายเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ลำดับว่า ทั้งหมดเกิดจากอะไร และเหตุมาจากอะไร

 

ผู้สื่อข่าว : ผู้นำการชุมนุมต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

จาตุรนต์ : ผู้นำการชุมนุมจะต้องรับผิดชอบเหตุที่เกิดขึ้น การยึดทำเนียบในปัจจุบันเป็นการทำผิดกฎหมาย เป็นความผิดชัดแจ้งอยู่แล้ว  และเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้น 

 

เมื่อมีกลุ่มคนจะไปชุมนุมที่ทำเนียบ ตีเขาตายไป ทำให้มีคนบาดเจ็บไปประมาณ ๒๐ คน นั่นก็เป็นความผิดที่ต้องรับผิดชอบ และเมื่อปิดล้อมรัฐสภา มีการประกาศบนเวทีที่ทำเนียบให้จับตัวส.ส.ในสภาไปแขวนคอ อย่างนี้ใครรับผิดชอบ   

 

ผู้สื่อข่าว : คิดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไหม ?

จาตุรนต์ : ผมคิดว่า การตัดสินใจของรัฐบาล ต้องไม่ขึ้นต่อความเห็นของ ผบ.เหล่าทัพ และต้องไม่กลัวผบ.เหล่าทัพ รัฐบาลจำเป็นจะต้องออกด้วยเหตุผลจากฝ่ายสภา เหตุผลของการยุบพรรค ก็ลาออก  ไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องออก ไม่ต้องไปคำนึงว่า ผบ.ทบ.ได้พูดไว้ ถ้าไปตกลงในลักษณะจำยอม  กลัว หรือ จำยอม ก็เท่ากับทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

 

ก็คือ ประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย  นายกรัฐมนตรีจะออกหรือจะอยู่ ขึ้นกับความเห็นของผู้บัญชาการทหารบก นี่คือระบอบเผด็จการ ล้าหลังอย่างพม่าหรือแอฟริกา สิ่งที่ผมพูดภาพพจน์เสียหายเหมือนแอฟริกามาก ไม่ใช่จะเกิดเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออก  ความเสียหายนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว นับตั้งแต่วินาทีที่ พล.อ.อนุพงศ์ พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพบอกว่า ทุกเหล่าทัพเป็นหนึ่งเดียว และนายกรัฐมนตรีควรจะลาออก

 

พอพูดแล้วก็เกิดความเสียหายว่า ประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ปกครองโดยทหารซึ่งกำหนดได้ว่านายกรัฐมนตรีจะอยู่หรือจะไป   

 

นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะไปตกลงกับผู้นำเหล่าทัพว่า จะอยู่กี่ปีกี่เดือนไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท