Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อัครพงษ์ ค่ำคูณ


วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


สำหรับผมแล้ว พรมแดนความรับรู้เกี่ยวกับ สนธิสัญญา พรมแดน และแผนที่ ไทย-กัมพูชา ค่อนข้างแตกต่างมาก จากสิ่งที่ปรากฏในการนำเสนอของบรรดาสื่อสารมวลชนไทยในปัจจุบัน รวมทั้งบรรดา "ผู้รู้อิสระ" ทั้งหลายที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอโอกาสนำเสนอ พรมแดนความไม่รับรู้ หรือ ไม่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับ สนธิสัญญา และแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา


 


 


ประการแรก สนธิสัญญา พ.ศ.2447/ค.ศ.1904 และ สนธิสัญญา พ.ศ.2450/ค.ศ.1907 และแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 กล่าวคือ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในสนธิสัญญาระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 กับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2447/ค.ศ.1904 นั้น มาตรา 1 กำหนดให้ "เส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ" ซึ่งคำว่า "เส้นสันปันน้ำ" นี่เอง ได้ถูกนำมาเป็นข้อถกเถียง เรื่องดินแดนและอธิปไตยของไทยเหนือเขาพระวิหารบนเทือกเขาพนมดงรัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ใน มาตรา 3 ของสนธิสัญญาฉบับเดียวกันนี้ ก็ได้ระบุเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า "ให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนที่ประกอบเป็นอินโดจีนฝรั่งเศส การปักปันนี้ให้กระทำโดยคณะกรรมการผสมประกอบด้วยพนักงานซึ่งประเทศภาคีทั้งสองแต่งตั้ง" หมายความว่า แม้สนธิสัญญาจะกำหนดให้ "เส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ" แต่ "แนวเขตแดนที่แน่นอนจะได้กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม" โดยมี พลเอก หม่อมชาติเดชอุดม เป็นประธานฝ่ายสยาม และ พันตรี แบร์นารด์ เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส


 


ต่อมา สนธิสัญญาครั้งหลังสุดในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2450/ค.ศ.1907 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปลงสัตยาบันกับฝรั่งเศสด้วยพระองค์เอง โดยตกลงยกพระตะบอง เสียมเรียบ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับด่านซ้ายและตราด รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ของอำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ และสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้เอง ทำให้เกิดแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชาขึ้น และพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรกใน 1 ปี ต่อมาคือ พ.ศ.2451/ค.ศ.1908 และหนึ่งในแผนที่จำนวน 11 ระวาง ที่ถูกพิมพ์ขึ้นในชุดเดียวกันนี้ ก็ปรากฏเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางชื่อ "Dangrek" มีสัญลักษณ์ระบุอย่างชัดเจนว่าที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร "Preas Vihear" อยู่ในเขตแดนของกัมพูชา [แผนที่ฉบับนี้หาได้จาก Google โดยพิมพ์คำว่า Dangrek แล้วเลือกรูปภาพขนาดใหญ่พิเศษ]



 


ประการที่สอง กรณี "ศาสตราจารย์" ผู้รู้ทางกฎหมายของไทยท่านหนึ่ง ให้ "คำอธิบาย" ว่า แผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา "เป็นการทำของฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานและสนธิสัญญา" แต่ "คำอธิบาย" ของผู้รู้ท่านนี้ ขัดแย้งต่อหลักฐานและข้อเท็จจริง กล่าวคือ แม้ว่า คณะกรรมการผสมสองฝ่ายไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการปักปันเขตแดนส่วนใหญ่กระทำขึ้น โดยฝ่ายฝรั่งเศส แต่ในที่สุดเมื่อตีพิมพ์แผนที่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2451/ค.ศ.1908 ฝ่ายสยามก็ยอมรับแผนที่ดังกล่าวไว้ และเอาเข้าจริงแล้ว แผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 ที่กัมพูชาใช้แนบคำฟ้องเพื่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก เมื่อปี พ.ศ.2502-2505/ค.ศ.1959-1962 ก็คือแผนที่แผ่นเดียวกันกับ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางชื่อ "Dangrek" หนึ่งในแผนที่ ทั้งหมด 11 ระวาง ระวางละ 50 แผ่น ได้แก่ 1.Maekhop and Chianglom 2.rivers in the north 3.Muang Nan  4.Paklai 5.Huang River 6.Pasak 7.Mekong 8.Dangrek 9.Phnom Kulen 10.Lake และ 11.Muang Trat


 


จากเอกสารราชการสถานทูตสยามในปารีส เลขที่ 89/525 ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2451/1908 หม่อมเจ้า จรูญศักดิ์ กฤษดากร อัครราชทูตสยามประจำฝรั่งเศส ทรงกล่าวถึง "คณะกรรมการผสม - Mixed Commission of Delimitation" ว่า "ได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว" และทรงรับแผนที่ชุดนี้มาจาก "Captain Tixier" เพื่อส่งมาถวาย สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ของสยามขณะนั้น ซึ่งส่งมายังประเทศสยามทั้งหมด 11 ระวาง ระวางละ 44 แผ่น โดย ทรงเก็บไว้ที่สถานทูตในฝรั่งเศสระวางละ 2 แผ่น และส่งไปยังสถานทูตสยามแห่งอื่นๆ ได้แก่ ลอนดอน เบอร์ลิน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แห่งละ 1 ชุด (ทั้ง 11 ระวางๆ ละ 1 แผ่น)


 


ดังนั้น แผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 จึงเป็นที่รับรู้ของฝ่ายสยามมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2451/ค.ศ.1908 หากจะมี "ผู้รู้อิสระ" บางท่านกล่าวว่า "เป็นแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสทำปลอมขึ้นทีหลัง เพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาเอาไปใช้สู้คดีในศาลโลก" จำต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในถ่อยคำดังกล่าว เพราะแผนที่นี้ ปัจจุบันก็มีอยู่ที่กระทรวงต่างประเทศของไทย พิมพ์โดย H.BARRÈRE, Edituer Geographe.21 Rue du Bac, PARIS.    


 


ประการที่สาม การรณรงค์ดินแดนที่เรียกว่า "มณฑลบูรพา" โดยอ้างอิง อนุสัญญาโตเกียว พ.ศ.2484 (ค.ศ.1941) ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยได้เข้าไปครอบครองดินแดนกัมพูชาที่ จังหวัดพระตะบอง และ เสียมเรียบที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "จังหวัดพิบูลสงคราม" รวมทั้งดินแดนลาวที่ "จังหวัดลานช้าง" และ "จังหวัดจำปาศักดิ์" แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาอีกหนึ่งฉบับคือ สนธิสัญญาวอชิงตัน พ.ศ.2489 (ค.ศ.1946) ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับรัฐบาลไทย ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายไทย ต้องถอนกำลังทหารออกจากดินแดนทั้งหมด ที่ไทยเคยบุกเข้าไปครอบครองในช่วงสงคราม เนื่องจากรัฐบาลไทยนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมือกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เพราะมีขบวนการเสรีไทยที่นำโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะประเทศแพ้สงครามในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น หากจะอ้างอิง อนุสัญญาโตเกียว พ.ศ.2484 (ค.ศ.1941) ก็จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับสาธารณะชนว่ายังมี สนธิสัญญาวอชิงตัน พ.ศ.2489 (ค.ศ.1946) ด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่า "รัฐบาลมิได้ขอสัตยาบันจากรัฐสภา" แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า รัฐบาลในขณะนั้น ก็คือ ขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศชาติของเรารอดพ้นจากสถานะ "ประเทศผู้แพ้สงคราม" สามารถดำรงความเป็นเอกราชและอธิปไตยมาได้จนถึงปัจจุบัน


 


ประการสุดท้าย  กรณีที่ "ผู้รู้อิสระ" ท่านหนึ่งออกมาโพนทะนาว่า "ค้นพบแผนที่ลับ" ของฝรั่งเศส นั้น แท้จริงแล้ว แผนที่ดังกล่าว เป็นเพียงแผนที่ประกอบบทความซึ่งปรากฏอยู่ใน "Les relations de la France et du Siam 1860-1907" ซึ่งตัดตอนมาจากบทความในวารสารแห่งกองทหารฝรั่งเศสในอาณานิคม เขียนโดย ร้อยเอกโซฟ (le capitaine SEAUVE) อดีตสมาชิกในคณะสำรวจปาวี (Mission Pavie) ซึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจทำแผนที่ในปี พ.ศ.2426 เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาและลาวอันเป็นดินแดนที่อยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส ปัจจุบันบทความดังกล่าว กรมศิลปากรได้ทำการแปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม พ.ศ.2223-2450" เมื่อปี พ.ศ.2544 โดยแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดย อาจารย์นันทพร บรรลือสินธุ์ [หาได้ตามศูนย์หนังสือทั่วไป เช่น ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ขาย 72 บาท]


 


แผนที่ดังกล่าว ปรากฏในหนังสือหน้าที่ 178 ซึ่งวาดขึ้นเพื่อประกอบบทความ ว่าด้วยอาณาบริเวณที่สยามกับฝรั่งเศสนำมาแลกกันตามสนธิสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2450/ค.ศ.1907 ระบุไว้ว่า "CONVENTION DU 23 MARS 1907" ซึ่งวาดขึ้นโดยไม่ระบุพิกัดองศาเส้นรุ้งและเส้นแวง รวมทั้งไม่ปรากฏสัญลักษณ์หรือระบุที่ตั้งของปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด และด้านล่างของแผนที่ มีภาษาฝรั่งเศสระบุว่า "Revue des troupes colonials n°65" โดยมี Henri CHARLES-LAVAUZELLE เป็น ผู้พิมพ์ [ในเอกสารใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า éditeur แต่ภาษาอังกฤษแปลว่า publisher แปลว่า ผู้พิมพ์]


 


ดังนั้น หากพิจารณาโดยหลักวิชาการพื้นฐาน "ประวัติศาสตร์" ว่าด้วย "ลำดับชั้นของหลักฐาน" ที่แบ่งเป็น หลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นรอง หรือ หลักฐานชั้นปลาย แล้ว จึงสรุปได้อย่างไม่มีข้อสงสัยว่า สถานะของการ "ค้นพบแผนที่ลับ" ของ "ผู้รู้อิสระ" รายนี้ เป็นเพียงหลักฐานชั้นปลายแถว ในการศึกษาเหตุการณ์เกี่ยวกับ สนธิสัญญา และแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา ซึ่งมีการลงนามและทำขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ช่วงปี พ.ศ.2447-2451/ค.ศ.1904-1908  


 


อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้รู้ นักวิชาการ ทั้งที่มีและไม่มีสังกัด อาจจะต้องทบทวนสิ่งที่ตนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น อย่างเป็น "อิสระ" โดยบางครั้ง ขาดความรับผิดชอบทางวิชาการ ต่อข้อเท็จจริงและข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น เพราะ บรรดา "ความอิสระ" ทั้งหลายนั้น อาจไม่ต้องคำนึงมากนักถึง ผลที่ตามมาต่อความรับรู้และความรู้สึกสาธารณะของประชาชน รวมทั้ง เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวที่กำลังทำงานกันอย่างสุดความสามารถ แต่สิ่งที่ "ผู้รู้อิสระ" ทั้งหลาย พูดออกไปนั้น บัดนี้ได้กลายเป็น "วาทะกรรม" ที่ถูกนำไปขยายผล "เล่าสู่กันฟัง" กลายเป็น "อาณาจักรแห่งความหวาดระแวง และ มืดบอดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน" ทั้งในมิติด้านกว้างและด้านลึก  


 


เท่าที่จำได้ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอุษาคเนย์ เคยกล่าวไว้ว่า "เรียนแล้วไม่คิด เสียเวลา แต่ถ้าคิดโดยไม่เรียน อันตราย!" และในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องเพิ่มเติมด้วยว่า "เรียนมาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี แต่กลับเอามาคิดเข้าข้างแต่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกันแล้ว ก็ยิ่งอันตราย"


 


ขอจบท้ายด้วยคำขวัญรณรงค์เพื่อ "สมานฉันท์อุษาคเนย์" ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ว่า "Make Love Not War"


 


[เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับกรณีปราสาทเขาพระวิหาร http://www.charnvitkasetsiri.com]


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net