Skip to main content
sharethis

อ่านย้อนหลัง


บันทึกจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ: เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลา 2551, ประชาไท, 11 ต.ค. 51 http://www.prachatai.com/05web/th/home/14049


 


 


ตามที่ Nick Nostitz เผยแพร่รายงาน What happened on 7/10/2008? เผยแพร่ในเว็บไซต์นวมณฑล (New Mandala) [http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2008/10/11/what-happened-on-7102008] และได้มีการแปลลงในเว็บไซต์ประชาไท บันทึกจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ: เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลา 2551 นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเว็บไซต์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้


 



Note from Nick Nostitz:


 


ดูเหมือนว่าขณะนี้งานเขียนของผมจะอยู่ใจกลางของสงครามโฆษณาชวนเชื่อ ผมสามารถบอกซ้ำเพียงว่า มีการประกาศเตือนผ่านรถติดเครื่องขยายเสียงของตำรวจ ชัดเจนว่าไม่มีการเจรจา ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ได้สร้างแนวกีดขวางเอาไว้ และไม่มีเจตนาที่จะล่าถอยออกไป หลังจากที่มีการเตือน ตำรวจจึงเคลื่อนเข้าหา


 


แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งตำรวจต้องถูกตำหนิ ตำรวจในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการควบคุมการจลาจลอย่างตำรวจในบางประเทศ เช่น เยอรมนี ที่การจลาจลเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ และต้องบันทึกไว้ด้วยว่าที่เยอรมนีผู้ก่อจลาจลไม่ได้พกเอาปืนผาหน้าไม้ออกไปด้วย แน่นอนด้วยว่าอุปกรณ์และเครื่องมือของตำรวจในโลกตะวันตกก็เตรียมการดีกว่ามาก


 


ผมยังคงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดตามเงื่อนไขที่จะอำนวยให้ ไม่มีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ รายไหนถูกยิงด้วยอาวุธปืน ซึ่งจากข้อมูลของผมสิ่งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ในปี 2535, 2519 และ 2516


 


ผมหวังว่าผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 7 ตุลา จะไม่ถูกนำมาขยายความเกินจริงเพื่อเปรียบเทียบกับสามเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนหน้านี้ เพราะการทำแบบนี้จะไม่ช่วยอะไรและจะเป็นเหตุก่อให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น เกิดการนองเลือดมากขึ้น


 


พันธมิตรฯ พกพาอาวุธอย่างท่อนไม้ และหนังสติ๊กด้วย เรื่องนี้ไม่เป็นที่ต้องสงสัย และมีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ อย่างน้อยรายหนึ่งที่ถูกบันทึกภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ด้วยว่ามีปืนพก มีตำรวจสามรายได้รับบาดเจ็บจากการถูกอาวุธปืนยิง การอ้างว่า สมาชิกพันธมิตรฯ ไม่ได้พกอาวุธจึงเป็นเรื่องน่าขัน เช่นเดียวกับเรื่องสุดขั้วจากฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรฯ ที่บอกว่าผู้ที่เสียแขนเสียขาเป็นผู้พิการอยู่แล้ว


 


การสืบสวนของคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ดูเหมือนจะยืนยันว่าแก๊สน้ำตาชนิดขว้างจะต้องรับผิดชอบสำหรับการบาดเจ็บอันน่าสยดสยองนี้แต่โดยดี


 


และความรับผิดชอบใหญ่ควรจะอยู่บนบ่าของกรุงเทพมหานครด้วย เพราะได้ปฏิเสธคำขอรถดับเพลิงของตำรวจเพื่อใช้เป็นปืนฉีดน้ำ (water cannon) โดยให้เหตุว่าน้ำที่ไม่สะอาดในถังบรรจุอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ชุมนุม เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นเพิ่มเติม


 


ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจล้วนได้รับคำตำหนิ ผมได้รับรายงานว่าในภาคกลางของไทยมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 7 ตุลา คือเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกทำร้ายหรือถูกรุมตีจนได้รับบาดเจ็บ ผมสงสัยว่า ผู้บงการที่ต้องการให้สถานการณ์อยู่ในภาวะสุดโต่งโดยหวังจะบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาสั้น ตระหนักถึงผลเสียในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น หากกองกำลังตำรวจของไทยถูกรื้อออกในทิศทางที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือไม่ ทุกความพยายามในการปรับปรุงกองกำลังตำรวจกำลังจะถูกทำลาย


 


ผมขอบคุณผู้คนที่รู้สึกว่ารายงานของผมพยายามที่มีความเป็นกลางและเที่ยงตรง เท่าที่ผมจะสามารถทำได้ และผมตั้งความหวังด้วยว่าผู้คนที่กำลังโกรธการรายงานของผมจะไม่เป็นความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของผมหรือครอบครัว


 


นี่คือสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างมากต่อการทำงานในฐานะผู้สื่อข่าว ความเที่ยงตรงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากในห้วงยามนี้ ขณะที่มีหลายแง่มุมของสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องพิจารณาและตีความด้วยการใช้แนวทางประวัติศาสตร์ สังคม และใช้แง่มุมที่หลากหลายผสมปนเปกัน สิ่งที่จะเกิดต่อไปนั้นไม่มีใครหยั่งรู้ไปเสียทั้งหมด และสำหรับทุกคน นี่คือเส้นทางของการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่


 


ขณะนี้ การทำงานมีความเสี่ยงอันตรายมากยิ่งขึ้น ความอันตรายที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือเหตุความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผมกลัวยิ่งกว่าว่าจะทำผิดพลาดอยู่ในสงครามโฆษณาชวนเชื่อนี้ ไม่มีคนหนึ่งคนจะทำให้ถูกต้องได้สำหรับทุกคน และคนฝ่ายหนึ่งมักจะไม่พอใจสิ่งพิมพ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net