Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ..51 เวลา 9.30. มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ" คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์


นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และบอกถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศทั้งกลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มผู้หญิง เพื่อนำเสนอผลงานด้านเพศวิถีและการวิจัยทางวิชาการ และเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของนักวิชาการต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา


รายการถัดมาคือการอภิปรายเรื่อง "วิถีเพศ วิถีภาวะ" โดยแพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม นายจอน อึ๊งภากรณ์ และนางณัฐยา บุญภักดี ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ซึ่งแพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม เป็นผู้อภิปรายคนแรกในประเด็นเรื่อง "ภาระโรค" โดยกล่าวว่าเป็นการรักษาสุขภาพในระดับประเทศ ชุมชน ท้องถิ่น ภาระโรคไม่ได้จำกัดอยู่แค่อัตราการเกิดโรค ป่วย พิการ หรือตาย แต่ยังมีอย่างอื่นที่ไม่ได้รวมอยู่ในภาระโรค ซึ่งทุกคนจะมีระดับการเกิดโรคที่ไม่เท่ากัน ภาระโรคจะร่วมไปจนถึงปัญหาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจากการวัดสุขภาพแบบองค์รวมหรือรวบยอด (Summary Measures of Population Health หรือ SMPH) จะรวบรวมการเจ็บป่วยและการตายก่อนวัยอันควรมาไว้ด้วยกัน


จากการสำรวจการสูญเสียสุขภาวะของหญิง ชายในกลุ่มอายุ 15-29 ปี พ.. 2547 อันดับหนึ่งของผู้ชายจะเป็นในเรื่องของอุบัติเหตุ และอันดับสองคือ HIV ส่วนอันดับหนึ่งของผู้หญิงจะเกิดจากการติดเชื้อ HIV และอันดับสองคือ จิตเภท ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายในเรื่องการติดเชื้อเอดส์ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมความเสี่ยงในเรื่องเพศยังมีอยู่ค่อนข้างมากในสังคมเพราะมีการป้องกันต่ำ ส่วนมากแล้วความเสี่ยงนั้นจะเกิดกับผู้หญิง ความรู้ความเข้าใจในวิถีเพศจำเป็นจะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศ


นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวในประเด็นเรื่อง เซฟเซ็กส์ โดยแจกแจงออกเป็น 3ประเด็น ประเด็นแรกคือ "การมีเพศสัมพันธ์ที่คิดว่าเสี่ยงน้อยอันตรายกว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงสูง" การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงน้อยคือการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบสามีกับภรรยาเพราะมีความเชื่อใจแก่กัน แต่กลับเสี่ยงสูงในปัจจุบัน เพราะขาดการพูดคุย ประกอบกับผู้ชายไทยมักจะไม่มีเมียเดียวในสังคมปัจจุบัน หลายคนจึงคิดว่าเพศสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงสูงซึ่งพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้หญิงขายบริการ แต่การติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มขายบริการลดลงมากในปัจจุบันกลับกลายเป็นผู้หญิงที่ติดเชื้อจากสามีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ


ประเด็นต่อมา คือ "ความมอยุติธรรมทางสรีระ และความอยุติธรรมทางเทคโนโลยี" กล่าวคือ ผู้หญิงจะติดเชื้อง่ายกว่าผู้ชายเพราะเป็นฝ่ายรับ ถุงยางอนามัยมีประโยชน์กับผู้หญิงถ้าผู้ชายยอมใส่ ซึ่งผู้ชายหลายคนอาจไม่ชอบใส่ถุงยางฯ ส่วนในเรื่องการทำวิจัยที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถป้องกันตัวเองได้นั้นมีน้อย ทั้งที่สามารถที่จะทำได้แล้วในปัจจุบัน ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็ไม่มีการศึกษาซึ่งเป็นความอยุติธรรมทางเทคโนโลยีของสังคม


ประการสุดท้าย "การมีเพศสัมพันธ์ที่ลดความเสี่ยง" คือ ต้องตระหนักว่ามีความเสี่ยงอยู่จริง ต้องมีแรงจูงใจในการป้องกัน ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ที่ลดความเสี่ยง และปลอดภัยนั้น ถุงยางอนามัยปลอดภัย แต่ไม่ 100% การคุยกันตกลงกันเป็นการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สุด


นายจอน ทิ้งท้ายไว้ว่าการลดความเสี่ยงในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้นต้องไม่เอาเรื่องคุณค่าทางศีลธรรมจริยธรรมมากำหนด เพราะถ้าเอาศีลธรรมจริยธรรมมายัดเยียดก็จะผิดจรรยาบรรณการส่งเสริมความปลอดภัย และการที่คิดว่าเสี่ยงน้อยที่สุดจะกลายเป็นการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงมากที่สุด


ประเด็นต่อมาเป็นเรื่อง รื้อค่านิยมทางเพศในสังคมไทย โดย นางณัฐยา บุญภักดี ได้อธิบายถึงความคิดเรื่องการปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศในสังคมไทย ว่าเกิดจากกรอบความคิดแบบผิดๆ ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาเรื่องเพศในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาจะเป็นการสอนแบบทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องหน้ากลัว เป็นเรื่องต้องห้าม จนนำไปสู่การขาดความรู้ความเข้าใจของเด็กเพราะถูกปิดกั้นทางความคิด รวมถึง การนำเรื่องเพศไปเชื่อมโยงกับเซ็กส์ ทำให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศถูกบิดเบือน ไม่เข้าใจความรู้เรื่องเพศโดยแท้จริง


นางณัฐยา ยังได้ให้รูปแบบความคิดทางเพศของสังคมไทยในเชิงการตั้งคำถามว่า เพศ =ธรรมชาติ ? เพศ=เพศสัมพันธ์? ซึ่งเธอได้ให้คำอธิบายว่า การตั้งคำถามแบบนี้ทำให้เรื่องเพศน่ากลัว ทุกคนถูกปลูกฝังว่าเป็นการเรียนรู้ได้เองโดยธรรมชาติ แต่เมื่อศึกษาเข้าจริงการคิดแบบนั้นคือการปิดกั้น เพราะเรื่องเพศต้องเกิดจากการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เช่น 1.เรียนรู้เรื่องปัญหาสภาวะทางจิตใจ 2. ความรู้เรื่องข้อมูลต้องไม่บิดเบือน 3. ทักษะ 4. โอกาส ทั้งหมดนี้คือการลดความเสี่ยงทางเพศ และสิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดในเรื่องเพศคือ การที่เด็กหรือเยาวชนถูกสั่งสอนและถูกปิดตายทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ผิดๆ


ต่อมา เวลา 13.00 . มีการรายงานผลการวิจัย "ประวัติศาสตร์ของเพศวิถี" โดย รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และ "วิธีคิดเรื่องเพศวิถีของรัฐไทย" โดย ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ให้ความเห็นโดย นายฉลาดชาย รมิตานนท์ และสุพีชา เบาทิพย์ ดำเนินรายการโดย รศ.วิระดา สมสวัสดิ์


 รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อธิบายถึงงานที่ศึกษาว่า งานที่ออกมานั้นมีข้อจำกัดตรงไม่ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน เพราะต้องการที่จะสื่อให้เห็นถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มันแตกหัก เกิดจากประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ถูกชำระ เลือกว่าจะเอาส่วนไหนมาบ้าง งานจึงออกมาในลักษณะเป็นตอนๆ รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ยังได้ยกเรื่อง "เพศวิถีกระแสหลักกับความทรงจำร่วมเรื่องเพศ"มาเล่าให้ฟังว่า จากบันทึกของฝรั่ง มองว่าคนสยามไม่สวย และคนไทยในชนชั้นสูงชอบผู้หญิงขาว ส่วนผู้หญิงจะแต่งตัวไม่มิดชิดและการแยกในเรื่องเพศสภาพชายและเพศสภาพหญิงจะแยกไม่ค่อยได้เพราะมีการแต่การที่คล้ายคลึงกันกัน


ส่วนในเรื่องกฎกติกาเรื่องเพศ เป็นกฎกติกาของชนชั้นสูง คนชั้นล่างไม่ได้ถูกจำกัดในการเลือกคู่ คนชั้นล่างมีเสรีภาพในการเลือกคู่ แต่จะมีกฎหมายห้ามแต่งงานในสายโลหิตเดียวกัน ซึ่งจะห้ามเฉพาะในสามัญชน จะไม่มีในพระมหากษัตริย์ ส่วนการคลุมถุงชนก็เช่นเดียวกันจะมีในชนชั้นสูงของประเทศสยามในขณะนั้น


ในเรื่องการแต่งงานของคนสยาม สยามไม่เคยขังคนไว้ในสถาบันการการแต่งงาน แต่สำหรับชนชั้นสูงมีเหตุผลในทางเศรษฐกิจและการเมือง การแต่งงานเพื่อเป็นการสร้างพันธมิตรภายในรัฐและระหว่างรัฐ การแต่งงานของผู้หญิงชนชั้นสูงไม่มีเสรีภาพเหมือนคนชั้นล่าง ผู้หญิงชนชั้นสูงเป็นเครื่องมือทางการเมือง


ระบบรักเดียวหลายเมียและความสัมพันธ์ของผู้หญิงในศตวรรษที่ 20-21 ที่ว่าผู้หญิงต้องบริสุทธิ์ เป็นผู้หญิงพรหมจรรย์ ซึ่งในสยามไม่มีรากฐานความเชื่อว่าพรหมจรรย์เป็นเรื่องที่สำคัญ การคำนึงถึงความพรหมจรรย์จึงเป็นเรื่องของคนไทยในศตวรรษที่ 20-21 ในสมัยสยามนั้นไม่มีเรื่องนี้ ส่วนในเรื่องรักนวลสงวนในสมัยสยามนั้นหมายถึง การเลือกว่าใครจะมาเป็น "ผัว" และคนที่จะมีหลายเมียได้คือคนชั้นสูง มีฐานะทางเศรษฐกิจดี


รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้สนใจว่าอดีตของไทยเป็นอย่างไรแต่สำคัญที่ว่าทำไมเราต้องเถียงเรื่องนี้กันในปัจจุบัน


ต่อมา ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ได้อธิบายการวิจัยในเรื่อง"วิธีคิดเรื่องเพศวิถีของรัฐไทย"ซึ่งเป็นการศึกษาตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรจนถึงอดีตนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวถึงรัฐว่าหมายถึง นักการเมือง ข้าราชการประจำ ฉะนั้น วิธีคิดเรื่องเพศน่าจะมีความหลากหลาย แต่เอาเข้าจริงแล้วในภาคร่วม แนวคิดหลักของรัฐในเรื่องเพศจะมองในแง่ลบ นำไปสู่การควบคุม เน้นบรรทัดฐานที่อิงอยู่กับศีลธรรม ส่วนประเด็นเรื่องเพศที่รัฐให้ความสนใจ ก็คือ เรื่องของเด็กและเยาวชน ความหลากหลายทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งการลงข่าวตามสื่อมันได้สะท้อนวิธีคิดของรัฐในแง่อันตรายของเด็กและเยาวชน มันเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย ไม่รักนวลสงวนตัว ซึ่งรัฐจะคิดว่าเด็กและเยาวชนไม่ควรที่จะเกี่ยวข้องในเรื่องเพศ โดยที่รัฐพยายามที่จะแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต ส.ว.จัดอบรม สาวรักนวลสงวนตัว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรมได้ทำงานควบคู่กันไปในเรื่องสื่อ อย่างเช่น เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ หรือลอยกระทง รัฐและสื่อมวลชนจ้องที่จะจับผิดเด็ก และนี่คือวิธีคิดของรัฐที่มีต่อเด็กและเยาวชน


ส่วนในเรื่องนโยบายการทำงานของรัฐบาลทักษิณจะมีการสั่งกำจัดสื่อลามกให้หมดไปจากประเทศภายใน 1เดือน ในช่วงของสุรยุทธ์จะมีกฎหมายควบคุมสื่อออกมาซึ่งมันมีนัยยะในเรื่องเพศ


ดร. วราภรณ์ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ตราบใดที่มีเรื่องศีลธรรมกำกับอยู่รัฐก็ไม่สามารถผลักดันการทำแท้งถูกกฎหมายได้ เพราะรัฐต้องรักษาภาพพจน์ในเรื่องศีลธรรมที่กำกับสังคมไว้


ช่วงต่อมาเป็นช่วงให้ความเห็นโดย สุพีชา เบาทิพย์ ซึ่งได้กล่าวชื่นชมงานทั้งสองชิ้นว่าจะมีประโยชน์กับชนชั้นตกขอบอย่างมาก และฝากถึงอาจารย์ชลิดาภรณ์ ว่าอยากเห็นงานที่ไม่หาความหมายว่า ปัจจุบันเป็นอย่างไรแต่อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ส่วนนายฉลาดชาย รมิตานนท์ กล่าวว่า งานของ รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ได้มองไปที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้หวังว่าอดีตเป็นอย่างไร แต่ช่วยให้มองเห็นว่าสังคมปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร สังคมสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เนื่องจากสังคมมีความลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายจากงานของทั้งสองคน จะเห็นได้ว่า เราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยน แต่เราไม่ยอมเปลี่ยนจึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเรื่องของรัฐกับเพศวิถีสรุปได้อย่างเดียวก็คือเป็นเรื่องของอำนาจกับการควบคุม


ทั้งนี้งานสัมมนาในครั้งนี้จะจัดไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 255 ซึ่งจะมีการเปิดประเด็นเรื่องเพศในหลากหลายแง่มุมของนักวิชาการ มีหลายหลายประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายต่อสังคมที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เรื่องเพศก็ต้องปรับเปลี่ยนทางความคิดด้วยเช่นกันว่า ไม่ได้มีแค่หญิงกับชายในสังคมโลกาภิวัตน์แห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net