Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แปลและเรียบเรียงโดย ไท จาก http://arayachon.org/sansab/20081012/744


 


เดือนที่แล้ว เมื่อกระทรวงการคลังของสหรัฐ ยอมให้เลห์แมน บราเธอร์ล้ม ผมบอกว่า นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเล่นเกมรัสเซี่ยนรูเล็ตทางการเงิน แน่นอนว่า มีลูกกระสุน อยู่ในลำกล้องปืนจริงๆ


 


การล้มของเลห์แมน ส่งผลให้เกิดวิกฤติการเงินของโลกที่รุนแรงอยู่แล้ว ย่ำแย่ทรุดหนักลงอย่างมากๆ ผลกระทบจากการล้มของเลห์แมน เห็นได้อย่างชัดเจนในอีกไม่กี่วันถัดมา ผู้กำหนดนโยบายคนสำคัญ เสียเวลาไปโดยไม่มีประโยชน์ถึง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา


 


บัดนี้ พวกเขาได้มาถึง ห้วงยามแห่งสัจจะ แล้วว่า พวกเขาควรจะทำอะไรให้เร็วกว่านี้


 


ความจริง พวกเขาควรจะประกาศโครงการช่วยเหลือร่วมกันให้ได้ภายในสุดสัปดาห์นี้ หรือมิฉะนั้น เศรษฐกิจโลก ก็จะประสบกับภาวะตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (the Great Depression)


 


มาดูกันว่า ปัจจุบันเรายืนอยู่ตรงไหน ?


 


วิกฤติในปัจจุบัน เริ่มจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้จำนองบ้านอย่างกว้างขวาง จากนั้น ก็นำไปสู่การขาดทุนอย่างมหาศาลของสถาบันการเงินจำนวนมาก


 


ภาวะตื่นตระหนกสุดขีดตามข้อแรก เมื่อรวมกับผลกระทบจากข้อสองคือ เงินกองทุนที่ไม่เพียงพอ บังคับให้ธนาคารระงับการให้สินเชื่อ นำไปสู่การที่ราคาทรัพย์สินลดลง นำไปสู่การขาดทุนเพิ่มขึ้น นำไปสู่การขาดทุนมากขึ้น ซึ่งกลายเป็น วัฏจักรชั่วร้ายของการลดหนี้สิน (vicious circle of "de-leveraging")


 


ความไม่เชื่อมั่นที่แพร่ไปทั่วสังคมต่อธนาคาร รวมทั้งระหว่างธนาคารด้วยกัน ยิ่งซ้ำเติมให้วัฏจักรชั่วร้ายรุนแรงขึ้น


 


หลังจากกรณีเลห์แมน ภาวะตกต่ำถดถอย(downward spiral) ก็เร่งความเร็วขึ้น ตลาดการเงินที่มีปัญหาอยู่แล้ว ได้ปิดตัวลง สินทรัพย์ที่คนอยากซื้อในปัจจุบัน คงเหลือเพียง ตั๋วเงินคลังและน้ำดื่ม


 


การจัดการกับภาวะตกต่ำถดถอย ที่เกิดขึ้นกับมหาอำนาจทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ของโลกทั้ง 2 แห่ง คือสหรัฐและกลุ่ม 15 ประเทศที่ใช้เงินยูโร ไม่เพียงพออย่างยิ่งในการยับยั้งแก้ไขปัญหา


 


ยุโรปซึ่งขาดรัฐบาลกลางที่เป็นเอกภาพ ไม่อาจร่วมมือกันได้อย่างแท้จริง แต่ละประเทศ กำหนดนโยบายของตนเองซึ่งร่วมมือกันน้อยมาก และข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง


 


สหรัฐอเมริกา อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งกว่ามาก ทั้งหลังจากนายพอลสันได้ประกาศโครงการช่วยเหลือขนาดใหญ่แก่สถาบันการเงิน ทำให้ตลาดตอบสนองอย่างมีความหวังขึ้นมาชั่วคราว


 


แต่ในไม่ช้า มันก็ชัดเจนว่า โครงการช่วยเหลือฯ ขาดรายละเอียดที่มีเหตุผลให้เชื่อถือได้ว่าสามารถแก้ไขวิกฤติได้สำเร็จ


 


พอลสันเสนอให้ใช้งบประมาณ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา ซึ่งก็คือ ตราสารหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกันจากธนาคาร แต่เขาไม่สามารถอธิบายได้ว่า มาตรการนี้ สามารถแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างไร


 


นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากเห็นร่วมกันว่า มาตรการที่เขาควรเสนอ คือ การใช้งบประมาณดังกล่าว เพิ่มทุนโดยตรงเข้าไปในสถาบันการเงิน


 


รัฐบาลสหรัฐควรจะใช้งบประมาณดังกล่าว เพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินที่กำลังต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการทำธุรกิจแลก กับการได้หุ้นบางส่วน ด้วยเหตุนี้ จึงจะสามารถยับยั้งภาวะตกต่ำถดถอยได้


 


ตอนที่สภาคองเกรสแก้ไขโครงการช่วยเหลือสถาบันการเงินของนายพอลสัน ได้มีการระบุมาตรการเพิ่มทุนไว้ด้วย แต่ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ จนกระทั่งเมื่อ 2- 3 วันที่ผ่านมา นายพอลสันยังยืนกรานที่จะไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง


 


แต่เมื่อวันพุธที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้แสดงแนวคิดที่ชัดเจน ซึ่งกลัวกันมากเกินไปในอเมริกา โดยการประกาศโครงการใช้งบประมาณห้าหมื่นล้านปอนน์สเตอริง เพื่อเพิ่มทุนใหม่แก่ธนาคาร ซึ่งเทียบเท่ากับงบประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคำนวณตามขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมทั้งการประกันการกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันอย่างครอบคลุม


 


ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า กำลังวางแผนจะดำเนินการเช่นเดียวกับอังกฤษ โดยใช้อำนาจที่ตอนแรกพวกเขาไม่ต้องการ แต่สภาคองเกรสได้มอบให้


 


คำถามในปัจจุบัน คือ การดำเนินการดังกล่าว น้อยเกินไปหรือช้าเกินไป หรือไม่ ?


 


ผมไม่คิดเช่นนั้น แต่มันจะเป็นสัญญาณที่อันตรายมาก ถ้าสุดสัปดาห์นี้ผ่านไป โดยไม่มีคำประกาศที่เชื่อถือได้ เรื่องโครงการช่วยเหลือสถาบันการเงินใหม่ ไม่เพียงแต่สำหรับสหรัฐอเมริกา แต่รวมถึงประเทศขนาดใหญ่อื่นๆด้วย


 


ทำไม เราจึงต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศ ?


 


เพราะว่า ระบบการเงินปัจจุบัน เชื่อมโยงถึงกันทั่วทั้งโลก เช่น วิกฤติที่เริ่มต้นจากฟองสบู่แตกที่ฟลอริด้าและแคลิฟอร์เนีย ได้ส่งผลให้เกิดความหายนะทางการเงินที่ประเทศไอซ์แลนด์


 


เราทั้งหลาย อยู่ด้วยกันในโลกทางการเงินที่เชื่อมโยงถึงกันเช่นนี้ และจำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน


 


ทำไม จึงต้องเป็นสุดสัปดาห์นี้ ?


 


ก็เพราะว่า กำลังจะมีการประชุมที่ใหญ่มาก 2 ครั้ง ในกรุงวอชิงตัน ครั้งแรก การประชุมผู้นำสูงสุดทางการเงิน จากประเทศยักษ์ใหญ่ทางการเงินในวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคมนี้


 


หลังจากนั้นคือ การประชุมใหญ่ประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( International Monetary Fund)และธนาคารโลก(World Bank)ในวันเสาร์-วันอาทิตย์ที่ 11-12 ตุลาคมนี้


 


ถ้าการประชุมเหล่านี้ ยุติลงโดยไม่มีข้อตกลงในหลักการ เกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือสถาบันการเงินระดับโลกเป็นอย่างน้อย ถ้าทุกคนกลับบ้านโดยไม่มีอะไรมากกว่า คำประกาศรับรองที่คลุมเครือว่า พวกเขาตั้งใจดูสถานการณ์ไปก่อน


 


โอกาสทองในการแก้ไขวิกฤติ ก็จะผ่านเลยไป และวิกฤติตกต่ำก็จะลุกลามย่ำแย่ลง


 


เราควรจะทำอะไรดี ?


 


สหรัฐอเมริกาและยุโรป ควรจะพูดว่า " ใช่แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรี "


 


โครงการช่วยเหลือสถาบันการเงินของอังกฤษ ไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มันเป็นแม่แบบโครงการฯที่ดีที่สุด สำหรับการช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างครอบคลุม


 


และเวลาที่ควรลงมือทำ คือ เดี๋ยวนี้


 


คุณอาจคิดว่า สถานการณ์ไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ แต่ความจริงคือ มันสามารถแย่ลงไปได้อีก และถ้าไม่มีการทำอะไรในเร็ววันนี้ มันก็จะแย่ลงจริงๆ


 


-------------------------------------


 


หมายเหตุ : แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง Paul Krugman: Moment of truth



ใน นสพ.อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net