Skip to main content
sharethis


นุศจี ทวีวงศ์

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


 


 


หากเราย้อนกลับไปในอดีต การทำประมงถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่ยากแก่การควบคุม เป็นแหล่งอาหารที่เราต่างกอบโกยจากทะเลไม่เคยพอและจะมากขึ้น จนวันนี้เหมือนว่าทะเลนั้นจะไม่เหลืออะไรมากมายให้มนุษย์ทุกภาคส่วนของโลกได้ผลาญทรัพยากรอีกต่อไป ...นี่คือเรื่องของอนาคตที่ต้องพูดถึง


วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง  อนาคตจะเป็นเช่นไร


การบริโภคอาหารทะเลบางประเภท....หลายประเทศมีการรณรงค์ส่งเสริมคนให้บริโภคแบบยั่งยืน และให้ยุติการบริโภคสัตว์น้ำบางชนิด อย่างที่เราเห็นตามข่าวสารบ่อยครั้งก็คือการล่าวาฬ มีการรณรงค์ให้ยุติการล่าวาฬและให้เลิกบริโภคมาอย่างต่อเนื่อง และต่อจากนี้ก็ยังมีสัตว์น้ำอีกหลายประเภทมากที่เริ่มมีการรณรงค์ให้ยุติการบริโภค


แต่ประเด็นปัญหาทะเลผืนใหญ่ก็ยังคงมีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น อนาคตชาวประมงทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก หรือจากสภาวะโลกร้อน


เมื่อโลกร้อน สิ่งที่ชุมชนประมงชายฝั่งต้องเผชิญในวันนี้ดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ผลกระทบหลักมาจากการทำประมงเกินขนาด ระบบนิเวศทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงอันเกิดมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอยู่รอดของชุมชนชายฝั่งและชาวประมงทั่วโลก พื้นที่ชายฝั่งที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเลในอนาคต การเผชิญกับปัญหาเช่นจะเป็นอย่างไรต่อไป ความมั่นคงทางอาหารที่จะลดน้อยลงจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล 


การจัดการทรัพยากรทางทะเล กำลังเป็นสิ่งที่จะต้องคิดและวางแผนร่วมกันในการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการจัดการเรื่องการทำประมงขนาดใหญ่นั้นจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อใดทุนได้เข้ามาใช้ทรัพยากร ก็มักจะฉกฉวยเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเสมอ ที่ผ่านมา ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน ผู้อาศัยอยู่ริมทะเลไม่เคยได้รับการแก้ไขจากการได้รับผลกระทบจากการทำประมงขนาดใหญ่ อีกทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำประมงขนาดใหญ่และประมงผิดกฏหมายอย่างจริงจังสักที


เมื่อกำลังจะมีการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่อง "ประมงขนาดเล็ก" เกิดขึ้น ในส่วนของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ได้จัดเวทีขึ้น งาน "การประชุมเชิงปฏิบัติการ  : ชาวประมงขนาดเล็กนานาชาติ" (Global Conference on Small-scale Fisheries : Civil Society Preparatory Meeting) ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม นี้ นับเป็นครั้งแรกของการมาร่วมกันประชุมจากผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม (World Forum of Fisher Peoples (WFFP), International Collective in Support of Fishworkers (ICSF), International NGO/CSO Planning Committee :IPC) , สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน )และจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเข้าร่วมจาก 29 ประเทศ  ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอเมริกากลางและหมู่เกาะแอตแลนติก  กลุ่มประเทศแคนนาดาและยุโรป กลุ่มประเทศเอเชียกลางและอินเดีย   และกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์  


ในการประชุมร่วมกันครั้งนี้เพื่อนำเสนอประเด็นสถานการณ์ปัญหาต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกันสู่เวทีระดับโลก โดยเฉพาะประเด็นในเรื่อง


·         ความมั่นคงของการใช้ทรัพยากรและการใช้สิทธิ


·         ความมั่นคงและผลประโยชน์หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว


·         การรับรองสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งในประเด็นมิติหญิงชาย


 


ทั้งหมดในการร่วมประชุมระหว่างชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทย กับชาวประมงพื้นบ้านจากต่างประเทศ ก็เพื่อจะนำเสนอถึงประเด็นปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านทั่วโลกต่อเวทีระดับโลก "ประมงขนาดเล็ก (Global Conference on Small-Scale Fisheries)  : เพื่อความมั่นคงในการทำประมงขนาดเล็กที่มีความยั่งยืน นำไปสู่การทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและมีพัฒนาการด้านสังคม"   ซึ่ง เอฟเอโอ หรือ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO)   ร่วมกับกรมประมงจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13-17 ต.ค. นี้ในประเทศไทย


สำหรับการประชุมประมงขนาดเล็กโลกที่จัดขึ้นครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และได้จัดขึ้นในประเทศไทย การประชุมที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ซึ่งจะได้บทสรุปเช่นไรต้องติดตามกันต่อไป ในเมื่อการประชุมครั้งนี้ก็รวบรวมเอาหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มาพบเจอกัน ก็น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของสังคมที่ได้รับรู้ถึงการจัดการทรัพยากรทางทะเลในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร


 


การมาประชุมของชาวประมงพื้นบ้านจากทั่วโลก


จะเป็น...เสียงเรียกร้องร่วมกันต่อความจริงที่แท้


เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิชุมชน สิทธิแห่งการดำรงชีพของตนเอง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net