Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


ปัจจุบันการก้าวหน้าพัฒนาทางเทคโนโลยีและการกระจายสินค้าให้คนทุกภาคส่วนในสังคมทุนนิยม ทำให้เราแต่ละคนล้วนแล้วแต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภท IT ที่มีความทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตบนโลกที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นปัจจัยดำรงชีพอันใหม่ของมนุษย์


 


แต่ใครจะรู้บ้างว่ามือถือที่คุณใช้ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คู่ใจของแต่ละคนนั้น เบื้องหลังล้วนแล้วแต่ถูกผลิตออกมาจากสานพานการขูดรีดแรงงานทาสรุ่นใหม่เกือบทั้งสิ้น


 


ในรายงานชุด "ความยุติธรรมในอุตสาหกรรมสินค้าไอที" จะเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นทำแก่แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้บริโภคสินค้าไอที โดยเฉพาะชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ตระหนักถึงประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานและร่วมกันขับเคลื่อนรณรงค์ให้บรรษัทเจ้าของตราสินค้าปฏิบัติกับแรงงานอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น เพราะการกดดันจากผู้บริโภคถือว่าเป็นพลังสำคัญในโลกทุนนิยมที่ผู้บริโภคมีอำนาจเหลือล้นอย่างในปัจจุบัน..


 


 




แรงงานในโรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังคงมีความเสี่ยงจากอันตรายของ
สารเคมี
ที่มาภาพ: SACOM


 


 


ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการผลักฐานการผลิตสู่ประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น


 


หลายปีที่ผ่านมานี้ศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกย้ายฐานสู่ประเทศที่มีค่าแรงถูกรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ระหว่างปี 1995 - 2006 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งในการเป็นฐานการผลิตสินค้าสูงขึ้นจาก 20% เป็น 42% เมื่อเทียบกับผลผลิตจากยุโรปตะวันตก, อเมริกา และญี่ปุ่น ที่ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง


 


ทุกๆ วินาทีโทรศัพท์จะถูกผลิตออกมาจากสายพานของโรงงาน และครึ่งหนึ่งนั้นถูกผลิตออกมาจากโรงงานจากประเทศจีน ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่และโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ถูกผลิตโดยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 16 - 30 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง


 


ทั้งนี้บ่อยครั้งที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมักที่จะอวดอ้างถึงความสะอาดในกระบวนการผลิตและความปลอดภัยในโรงงาน แต่จากรายงาน Silenced to Deliver: Mobile phone manufacturing in China and the Philippines ของกลุ่มล๊อบบี้ทางสังคมอย่าง makeITfair ได้เปิดเผยถึงความอันตรายที่แรงงานหนุ่มสาวในโรงงานผลิตอุปกรณ์มือถือต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสารเคมีโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสนับสนุนการส่งออกที่โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตั้งอยู่ดาษดื่น พวกเขายังถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ต้องทำงานในระยะเวลาที่ยาวนาน และมักจะถูกตัดเงินหากทำงานผิดพลาด


 


จากรายงานได้ทำการเสาะหาข้อมูลสภาพการทำงานของแรงงานในโรงงาน 6 โรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือให้กับ Nokia, Samsung, Motorola, LG, Sony Ericsson และ Apple"s iPhone ในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ จากการสำรวจพบข้อมูลเบื้องต้นว่า ในช่วงที่มีการเร่งผลผลิตในอัตราที่สูง นายจ้างจะเรียกร้องให้แรงงานทำงานวันละ 10 - 12 ชั่วโมง ทำงานสัปดาห์ละ 6 - 7 วัน และได้ค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำในการทำงานแบบเต็มเวลาเท่านั้น


 


รวมทั้งในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ แรงงานภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงมากนัก ด้วยการใช้เทคนิคต่อต้าน ขัดขวาง และทำลายกิจการของสหภาพแรงงานของนายจ้างและรัฐ


 


โดย 6 โรงงานในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ถูกนำมาศึกษาในรายงานฉบับนี้ โดยพวกเขาได้ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ 5 ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ คือ Nokia, Samsung, Motorola, LG และ Sony Ericsson ซึ่ง 5 ยักษ์ใหญ่นี้มีส่วนแบ่งมากกว่า 80% ในตลาดโลก


 



 



โรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สนับสนุนการลงทุนเพื่อการส่งออกที่มีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ผู้ลงทุน แต่สำหรับแรงงานกลับได้รับในสิ่งตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นการขูดรีดและการป้องกันให้แรงงานทำกิจกรรมสหภาพแรงงาน ที่มาภาพ: SACOM


 


 


จากการสำรวจในรายงานฉบับนี้พบปัญหาเบื้องต้นของแรงงานดังนี้..


 


ค่าแรงต่ำ: จากการสำรวจพบว่าแรงงานในจีนและฟิลิปปินส์ได้รับค่าแรงต่ำในการทำงานเต็มเวลา ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในระดับมาตรฐานที่ดี ค่าแรงขั้นต่ำในฟิลิปปินส์นั้นไม่เพียงพอที่จะให้แรงงานจุนเจือครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง จากการสำรวจพบว่าค่าแรงขั้นต่ำในเขตอุตสาหกรรมส่งเสริมการส่งออกแห่งหนึ่งจ่ายให้แรงงานประมาณ 120 ยูโรต่อเดือน (ในเดือนพฤษภาคม 2008) ซึ่งค่าครองชีพของแรงงานที่ใช้จุนเจือครอบครัวให้มีระดับมาตรฐานที่ดีจะต้องใช้กว่า 320 ยูโรต่อเดือน


 


ค่าแรงขั้นต่ำของจีนเพิ่มขึ้นในปี 2008 ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากการเพิ่มขึ้นของการประท้วงของแรงงานในประเทศสืบเนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ แต่ทั้งนี้แรงงานจีนเองกลับยังคงพบกับความยากลำบากในการครองชีพ การจุนเจือครอบครัว รวมถึงแรงงานอพยพจากถิ่นทุรกันดารที่จะต้องส่งเงินกลับไปให้กับครอบครัว แรงงานส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตในหอพักและอาศัยอาหารจากโรงอาหารของโรงงานในการดำรงชีพ


 


ในโรงงานแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ที่ผลิตอุปกรณ์ภาคจ่ายไฟ (power supplies) ให้กับบรรษัท Motorola และ LG มักจะรับแรงงานฝึกงานเพื่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน โดยพวกเขาได้รับเงินเพียง 75% ของค่าแรงขั้นต่ำไม่มีโบนัส


 


ทั้งนี้ในจีนและฟิลิปปินส์กำลังประสบกับปัญหาข้าวของมีราคาสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากสภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นแต่ค่าอาหารก็เพิ่มขึ้นตาม รวมถึงคุณภาพของอาหารและน้ำในโรงอาหารของโรงงานก็มีคุณภาพที่ไม่ดี


 


ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน: จากการสำรวจพบว่าแรงงานในจีนและฟิลิปปินส์ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ทั้งนี้พนักงานต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแลกกับค่าล่วงเวลา ในโรงงานแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ที่ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์โทรศัพท์มือถือ ไม่มีวันหยุดให้แรงงานเลยตลอดสัปดาห์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดตามหลักการขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)


 


ในบางกรณีแรงงานจะไม่ได้กลับบ้านในช่วงที่โรงงานเร่งทำการผลิตตามออเดอร์ - เช่นตัวอย่างเมื่อช่วงสิ้นปี 2007 แรงงานในโรงงานแห่งหนึ่งในเสินเจิ้น ที่ผลิตอุปกรณ์ชาร์จให้กับ Nokia, Samsung, Motorola และ LG ต้องทำงานแบบอาสาสมัครให้กับโรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลาเลย


 


จากการสำรวจพบว่าแรงงานในจีนและฟิลิปปินส์ ใช้เวลาการในการทำงานเกินมาตรฐานชั่วโมงการทำงานที่ ILO ระบุไว้รวมถึงข้อกฎหมายชั่วโมงการทำงานของรัฐ เช่นในจีน ตามกฎหมายแรงงานมีการกำหนดให้ทุกโรงงานสามารถให้พนักงานทำงานล่วงเวลาได้เพียง 36 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น แต่ในโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Nokia, Samsung, Motorola และ LG บังคับให้พนักงานทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงที่มีออเดอร์สูง


 


ในโรงงานแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Motorola และ LG แรงงานจะต้องทำงานอย่างต่อเนื่องกันถึงสัปดาห์ละ 64 - 67 ชั่วโมง โดยเข้ากะกลางคืน 25 วัน และกะกลางวันอีก 25 วัน บ่อยครั้งที่แรงงานจะต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง


 


การลงโทษแรงงาน: ค่าแรงของแรงงานจะถูกตัดหากทำงานผิดพลาด จากการสำรวจในสี่โรงงานในประเทศจีน แม้ว่าการลงโทษแรงงานด้วยการตัดเงินจะไม่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และการลงโทษนั้นไม่ได้เป็นการคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน แต่กลับเป็นการห่วงต่อผลผลิตของโรงงานหรือไม่ก็เป็นภาพลักษณ์ของบริษัท


 


ในโรงงานที่ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ Nokia, Motorola, Samsung และ LG แรงงานต้องทำงานวันละ 12 - 13 ชั่วโมง ตลอด 6 วันต่อสัปดาห์ในช่วงที่มีออเดอร์สูง พวกเขามักถูกทำโทษด้วยการปรับเงินหากพบว่าหลับในเวลาทำงาน


 


ตัวอย่างการลงโทษพนักงานของโรงงานแห่งหนึ่งในจีน


 


































การกระทำความผิด


 


หักเงิน


(หยวน)


เล่นการพนันในที่สาธารณะโดยสวมยูนิฟอร์มพนักงาน


50


ทำทรัพย์สินเสียหาย


50


นำบุคคลภายนอกเข้าไปยังหอพัก


50


หลับในเวลาทำงาน


150


เปิดเผยข้อมูลเงินเดือนให้คนอื่นรู้


150


สูบบุหรี่หรือดื่มสุราในร้านค้าของหอพัก


150


เล่นการพนันในหอพัก


ไล่ออก


สร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงานในโรงงาน


ไล่ออก


สร้างความเสื่อมเสียให้กับบริษัท


ไล่ออก


 


ที่มา: Silenced to Deliver: Mobile phone manufacturing in China and the Philippines


 


ขาดความเคารพต่อกิจกรรมสหภาพแรงงาน: เมื่อย้อนมองไปดูในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เราจะพบว่ามีความพยายามเป็นอย่างสูงในการกีดกัน ขัดขวาง และทำลายสหภาพแรงงานเสมอมา จากการสำรวจทั้งในจีนและฟิลิปปินส์ โรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักที่จะตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเพื่อการส่งออก มีคุณลักษณะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ "ไม่มีสหภาพแรงงาน - ไม่มีการนัดหยุดงาน" (no-union - no-strike) รวมทั้งมีการข่มขู่แรงงานอยู่เสมอ


 


ในประเทศจีน สิทธิแรงงานดูเหมือนจะถูกยกระดับขึ้นภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ขณะเดียวกันสหพันธ์แรงงานจีน (All China Federation of Trade Unions: ACFTU) ยังคงผูกขาดการควบคุมกิจกรรมสหภาพแรงงานในจีน โดย ACFTU นั้นขึ้นตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และบ่อยครั้งมักที่จะเข้าข้างรัฐบาลและผู้ประกอบการแทนที่จะเป็นชนชั้นกรรมาชีพในจีน - ทั้งนี้ ACFTU มีเป้าประสงค์ที่จะให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการเอกชนทั้งหมดภายในปี 2010


 


ทั้งนี้การชุมนุมประท้วงของแรงงานจีนมีบ่อยครั้ง เช่นในปี 2007 แรงงานนับพันในโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งผลิตอุปกรณ์ชาร์จให้กับ Nokia, Samsung, Motorola และ LG ได้ทำการประท้วงเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงเรียกร้องสิทธิและส่วนร่วมของแรงงานในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐปราบปรามอย่างหนักหน่วง


 


 


ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัย: จากการสัมภาษณ์แรงงานพบว่านอกจากอุบัติเหตุทั่วไปในโรงงานแล้ว แรงงานส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับการปวดหลัง ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เนื่องจากการทำงานหนักต่อเนื่อง ปัญหาสายตาจากการเพ่งมองในการทำงาน


 


ในโรงงานแห่งหนึ่งในเสินเจิ้นที่ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ Nokia, Samsung, Motorola และ LG ทางโรงงานไม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีอันตรายให้อย่างเพียงพอ ในการทำงานกับสารเคมีไม่มีหน้ากากป้องกัน หรือไม่ก็มีการเรียกร้องให้พนักงานจ่ายเงินสำหรับอุปกรณ์ป้องกันด้วยตนเอง


 


ในโรงงานแห่งหนึ่งที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple"s iPhone แรงงานบางคนได้ให้ข้อมูลว่าพวกเขาไม่มีการประกันในการรักษาพยาบาล, ไม่มีประกันอุบัติเหตุในโรงงาน รวมถึงไม่มีเงินบำนาญเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุทำงาน


 


ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้น สารเคมีเป็นส่วนสำคัญสำหรับกระบวนการผลิต


 


"การรักษาสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่อุปกรณ์ป้องกันที่ถูกต้องเท่านั้น แต่หากต้องมีการให้พนักงานมีความตื่นตัวทีจะใช้มันทุกเมื่อในการปฏิบัติงาน จากรายงานฉบับนี้พบว่าพนักงานในโรงงานยังคงปฏิบัติตนในการทำงานกับสารเคมีอย่างไม่ถูกต้องอยู่ ทั้งนี้การให้การศึกษาและจัดงานตามความเหมาะสมจะต้องถูกทำโดยเร่งด่วน เพราะว่าการคุ้มครองสุขภาพของพนักงานเป็นเรื่องที่สำคัญ" เจนนี ชาน (Jenny Chan) จาก SACOM องค์กรผู้ร่วมทำการวิจัยฉบับนี้กล่าว


 


 


การกดขี่ทางเพศ: แรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มักจะเป็นหญิงสาววัยรุ่น ในประเทศจีนพวกเธอเป็นแรงงานที่อพยพมาจากเขตทุรกันดารเพื่อหาเงินช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้พวกเธอยังต้องหาเงินช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวอื่นๆ ทั้งในด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ด้วยเงินจำนวนมาก ทั้งนี้ในเขตชนบทของประเทศจีนคนรุ่นใหม่มักได้รับการศึกษาในระดับที่ต่ำทำให้การก้าวสู่โรงงานเป็นทางเลือกที่มักจะเลี่ยงไม่ได้


 


ในฟิลิปปินส์ก็เช่นเดียวกับจีน ที่แรงงานวัยรุ่นหญิงกลายเป็นกำลังหลักในการหาเงินจุนเจือครอบครัว ชีวิตในโรงงานนอกจากที่จะต้องผจญกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่แล้ว พวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ รวมถึงการกีดกันอย่างไม่เป็นธรรม เพราะส่วนใหญ่แล้วโรงงานต่างๆ มักจะรับหญิงสาวโสดเข้ามาเป็นพนักงาน แต่สำหรับคนที่แต่งงานแล้วหรือเคยแต่งมาก่อนมักจะถูกมองข้าม จากการสำรวจพบว่าแรงงานหญิงเหล่านี้มักจะได้ทำหน้าที่ในไลน์การผลิต ส่วนเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิคหรือวิศวกรมักจะเป็นผู้ชายเสียมากกว่า


 


 






 


หญิงวัยรุ่นกับความหวังของครอบครัว


 



 


"ลูซี่" หญิงสาวฟิลิปปินส์วัย 24 ปี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเธอว่า เธอเป็น "ความหวังเดียวของครอบครัว" เธอกล่าวว่าเธอก้าวเข้ามาในโรงงานในเขตส่งเสริมการส่งออกในเมืองลากูนา ก็เพราะต้องการหาเงินไปช่วยจุนเจือครอบครัว ปัจจุบันเธอทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งซึ่งเธอทำอยู่ที่นี่มาหลายปีแล้ว เธอมีพี่น้องหลายคนและแม่ที่ป่วยที่เธอจะต้องส่งเงินไปดูแลรักษา และถ้าหากเดือนใดที่เธอทำเงินไม่ได้มากพอ เธอจำเป็นจะต้องยืมเงินคนอื่นเพื่อส่งกลับไปให้กับครอบครัว ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง


 


ทั้งนี้เธอหวังเสมอมาว่านายจ้างจะขึ้นเงินเดือนและจัดหาอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีให้ เธอมีความฝันว่าจะได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพื่อที่จะทำเงินได้มากขึ้น โดยก่อนหน้าที่เธอจะมาทำงานในโรงงานนี้ เธอก็เคยทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาก่อนเช่นกัน โดยเป็นลูกจ้างเหมาช่วงผ่านบริษัทนายหน้า แต่โรงงานได้ปิดตัวลงไปทำให้เธอต้องก้าวมาที่นี่พร้อมกับน้องสาวของเธอ


 


ที่มา: Silenced to Deliver: Mobile phone manufacturing in China and the Philippines


 


 


 


……….


ในตอนต่อไปจะขอกล่าวถึงการย้ายฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่ประเทศที่มีค่าแรงถูก


 


 


ที่มา:


Silenced to Deliver: Mobile phone manufacturing in China and the Philippines (SOMO and SwedWatch - September, 2008)


Violations of Workers' Rights Reported in Asian Mobile Phone Factories (Cellular News, 05-10-2008)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net