Skip to main content
sharethis


10 ต.ค.51  เมื่อเวลา 11.00. ที่สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ, เสงี่ยม บุญจันทร์ เลขาธิการสภาทนายความ,  นายนคร ชมพูชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ, นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการและคณะกรรมการสภาทนายความ ร่วมกันแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์ เรื่อง "อำนาจพนักงานสอบสวนที่ขัดธรรมนูญและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง"

ก่อนการแถลงการณ์ ได้มีชายคนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อได้ชูป้ายประณามสภาทนายความว่าหมดความชอบธรรมที่ออกมาประณามเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาล และขอแสดงกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เชื่อว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ ถึงแม้ในวันนี้สิ่งที่ถูกกลายเป็นผิด สิ่งที่ผิดกลายเป็นถูก ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด "กฎหมายต้องอยู่เหนือกฎหมู่"


หลังจากนั้น เลขาธิการสภาทนายความได้อ่านคำแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ความว่า จากการที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีที่กล่าวหาแกนนำพันธมิตรฯ เป็นกบฏและข้อหาอื่นๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรมกับประชาชนที่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความได้คัดค้านให้ความเห็นแย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการใช้อำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่พนักงานสอบสวนมักอ้างเสนอว่าจะขออำนาจศาลให้คุมตัวผู้ต้องหา เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดกับหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง


นายเดชอุดม กล่าวว่า ทางสภาทนายความจะให้ความช่วยเหลือในการฟ้องร้องของประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจะให้บ้านเมืองมีความยุติธรรมให้ได้  ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองไม่สนใจในข้อกฎหมายตรงนี้


จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามว่า หลังจากการสลายการชุมนุมที่ผ่านมามีประชาชนเข้ามาขอความช่วยเหลือกับทางสภาฯ บ้างแล้วหรือยัง และในเรื่องของพยานหลักฐานจะหาได้จากที่ใด มีข้อหาใดบ้างที่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่กระทำผิดได้


นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการสภาทนายความ ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า ในเรื่องหลักฐานนั้น สามารถที่จะใช้รูปภาพที่สื่อได้นำเสนอเป็นพยานหลักฐานได้ หรือแม้กระทั่งแพทย์ของทางโรงพยาบาลที่ได้เก็บข้อมูลคนไข้ทั้งบาดแผลและข้อมูลอื่นๆไว้นั้นก็สามารถใช้เป็นหลักฐานได้เช่นกัน ส่วนในเรื่องของการตั้งข้อหา จะเป็นข้อหา "การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"


นายเดชอุดม กล่าวทิ้งทายว่า เราต้องการให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากการสลายการชุมนุมมาขอความช่วยเหลือ สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องทางสภาฯ มีเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว


 


0000






 


แถลงการณ์ของสภาทนายความ


เรื่อง อำนาจพนักงานสอบสวนที่ขัดรัฐธรรมนูญและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง


จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีที่กล่าวหาแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกบฏและข้อหาอื่นๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรมกับประชาชนที่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความได้คัดค้านให้เห็นแย้งมาโดยตลอดว่ากระบวนการใช้อำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่พนักงานสอบสวนมักอ้างเสมอว่าจะขออำนาจศาลให้คุมตัวผู้ต้องหา เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดกับหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง สภาทนายความจึงขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาไตร่ตรองและดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้สมจริงตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลทั่วโลก ดังนี้


1.สภาทนายความขอขอบคุณศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและการตั้งข้อหาในคดีอาญา รวมทั้งการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ไม่ชอบยุติลงได้ในระดับหนึ่ง และขอขอบคุณและชื่นชมทนายความอาสาทุกท่าน โดยเฉพาะนายนิติธร ล้ำเหลือ ที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน รวมถึงผู้เสียหายและญาติที่ได้ช่วยผลักดันทำให้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีมีความกระจ่างชัดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาล


2.กรณีดังกล่าวตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองนั้นได้ให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนว่าบทบัญญัติแห่งการประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66,86,87,90 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 26,28,39 วรรค 2,3 และมาตรา 40(4) ที่ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวนที่ยังไม่เสร็จสิ้นนั้น เป็นเรื่องบที่ทำให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมตัวเสียเปรียบ เพราะพนักงานสอบสวนมีอำนาจหาพยานหลักฐานมากล่าวอ้างผู้ถูกควบคุมตัวได้เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสที่จะออกไปหาหลักฐานหรือรวบรวมหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี เป็นการเขียนกฎหมายที่เกิดขึ้นในสมัยยุคทรราชทางการทหารตั้งแต่ปี พ.. 2500 และเป็นกฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรมต่อประชาชน จนมีคำกล่าวกันว่า "เกิดเป็นคนไทยมีสิทธิติดคุกฟรี 84 วัน"เพราะหลังจากที่ปล่อยให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถจะหาพยานหลักฐานได้แล้ว ก็ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปล่อยตัวไปโดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งที่มีกฎหมายอย่างนี้อยู่ในประเทศไทย


3.การมีกฎหมายตามข้อ 2 ข้างต้น ทำให้พนักงานสอบสวนลุแก่อำนาจและใช้กฎหมายนี้บีบบังคับผู้ต้องหาในความควบคุมของตนเอง มีการทรมานกลั่นแกล้งและข่มขู่ผู้ต้องหาทุกกระบวนการ ทุกวิธีการ เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อต่อรองข้อหาใหญ่เป็นข้อหาเล็ก เพื่อต่อรองให้ตัวเองทำสำนวนได้ทันเวลาที่ขอฝากขังไว้และกลัวว่าผู้ต้องหาจะฟ้องกลับ นี่คือสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่สภาทนายความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและหยิบยกให้มีการแก้ไขและยกเลิกโดยรีบด่วน อย่าปล่อยให้เป็นไฟไหม้ฟางเหมือนเรื่องที่ประเทศไทยไม่เคยดูแลสิทธิของเด็ก โดยกว่าจะมีศาลเยาวชนที่คุ้มครองเด็กได้ก็ประมาณ 50 ปี เกือบครึ่งศตวรรษที่เด็กต้องติดคุกเดียวกับผู้ใหญ่ กว่าประชาชนจะมีสิทธิหาหลักฐานมาต่อสู้กับพนักงานสอบสวนเวลาผ่านไปประมาณ 50 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้กฎหมายนั้นได้แต่อย่างไร


4.ความรู้ทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอีกเรื่องหนึ่งคือการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนในประเทศไทยก็ขัดกับหลักปฏิบัติสากลที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เฉพาะในที่ที่เป็นสถานที่ที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาเท่านั้น ไม่อาจจะไปควบคุมตัวในเรือนจำซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วได้ โดยอ้างว่ามีการแยกแดนขังระหว่างผู้ต้องหา แต่ในทางปฏิบัติผู้ต้องหากับนักโทษก็อยู่ในเรือนขจำเดียวกัน เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรามักจะอ้างอยู่เสมอว่าไม่มีงบประมาณแต่ 70 กว่าปีนับตั้งแต่ประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตย สิ่งเหล่านั้นก็ยังมีให้เห็นและสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนตลอดมา


5.สภาทนายความขอเสนอให้ทนายความผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทุกท่านเมื่อมีโอกาสยื่นคำร้องต่อศาลให้เสนอประเด็นข้อกฎหมายข้างต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนให้ต่อสู้ด้วยความเป็นธรรมไม่ใช่ถูกควบคุมตัว แล้วให้โอกาสแต่เพียงฝ่ายเดียวหาหลักฐานมากล่าวหาใส่ตน และใคร่ขอให้ศาลทุกศาลที่ได้รับคำร้องได้ส่งประเด็นนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยด่วนเพื่อขอให้พิจารณา สภาทนายความเชื่อว่าหากได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายตามหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายที่ถือปฏิบัติเป็นหลักสากล โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกก็จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและการให้โอกาสประชาชนสู้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่การผูกขาดที่เป็นผลทำให้เกิดการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมากมาย รวมทั้งการปั้นและการจ้างพยานเท็จของพนักงานในชั้นสอบสวนที่ยังมีอยู่อย่างเป็นประจำในปัจจุบัน


6.สภาทนายความอยากเห็นความกล้าหาญขององค์กรกระบวนการยุติธรรมที่จะคืนสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พนักงานสอบสวนมีโอกาสสืบสวนผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่การที่มีบทบัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีโอกาสควบคุมตัวทำให้ขี้เกียจทำงานและเกิดความมักง่ายในการสรุปสำนวน ทำให้เกิดโอกาสที่จะใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบให้มีการดำเนินการแก้ไขกฎหมาย สภาทนายความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลและแก้กฎหมายเพื่อประชาชนตลอดเวลา ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมทั้งสมาชิกพรรคการเมืองร่วมกันพิจารณาแก้ไขความไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนให้ทันภายในปี 2552 โดยพร้อมเพรียงกัน


7.กรณีที่ประชาชนถูกรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องทำร้ายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายร้อยรายนั้น สภาทนายความขอแจ้งว่าสภาทนายความได้จัดคณะทำงานเตรียมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคดีเพ่งคดีอาญาให้กับผู้ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมในครั้งนี้ ขอให้บรรดาญาติและผู้ได้รับความเสียหายติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ เลขที่ 7/89 อาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ 0-2629-1430 ต่อ 112,113 โทรสาร  0-2281-7611 อีเมล์ Legalaid@lawyerscouncil.or.th ได้ตลอดเวลา หากมีข้อขัดข้องอย่างใดให้ติดต่อนายกสภาทนายความทราบได้ ที่หมายเลข 02-282-7722 สภาทนายความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ต้องมาประสบเคราะห์กรรมในครั้งนี้จากเงื้อมมือของรัฐบาล


 


จึงขอแถลงมาเพื่อขอได้โปรดดำเนินการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในตกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย


 


                      นายเดชอุดม  ไกรฤทธิ์


                      นายกสภาทนายความ


ประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย


             สภาทนายความ


10 ตุลาคม 2551


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net