Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เอ็ด ครอพลีย์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทยเรื่อง "เมืองไทยนองเลือดแตกแยกมองไม่เห็นจุดจบของวิกฤติ" โดยระบุว่า การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกุมบังเหียนประเทศไทยกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังจากฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสู้มานาน 3 ปีจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมองไม่ออกว่าฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด


 


การต่อสู้ซึ่งวนเวียนจากการประท้วงบนท้องถนนเมื่อปลายปี 2548 สู่การรัฐประหารและการเลือกตั้ง ได้หวนกลับมาสู่การประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง สถานการณ์จะวกวนอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายเดือน หรืออีกหลายปี และจะไม่จบลงอย่างสวยงาม เพราะโครงสร้างพื้นฐานของความขัดแย้งยังไม่เปลี่ยน เพราะฝ่ายหนึ่งคือ พ.ต.ท.ทักษิณ มหาเศรษฐีผู้ใช้นโยบายเอาใจคนชนบท จนได้รับคะแนนเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และได้ใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้นี้แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ รวมทั้งธุรกิจของตัวเอง


 


ส่วนอีกฝ่ายคือ ชนชั้นนำตามจารีตดั้งเดิมซึ่งถูกคุกคามด้วยการทะยานขึ้นสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ  อันประกอบด้วย กองทัพ ฝ่ายนิยมเจ้า และระบบราชการ รวมทั้งบรรดาสหภาพแรงงาน และนักวิชาการ ซึ่งเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คอรัปชั่น และชนชั้นกลางในเขตเมืองซึ่งไม่พอใจที่ พ.ต.ท.ทักษิณนำเงินภาษีไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง บรรดากลุ่มพลังในฝ่ายหลังได้ประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มุ่งสร้างการเมืองใหม่ที่จะลดน้ำหนักของเสียงเลือกตั้งจากเขตชนบท


 


"คนกลุ่มนี้ไม่ได้คัดค้านแค่เรื่องตัวบุคคล พวกเขาต่อต้านระบบหนึ่งคน หนึ่งเสียง นี่เป็นการช่วงชิงอำนาจที่ซับซ้อนและยืดเยื้อ" นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิ์รักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว


 


บทวิเคราะห์ชี้ว่า ต้องคอยดูต่อไปว่า พันธมิตรฯ จะบรรลุเป้าหมายนี้หรือไม่ แต่ประเด็นก็คือ ต่อให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งไป และพรรคพลังประชาชนถูกยุบด้วยความผิดฐานซื้อเสียง บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบทก็จะโหวตให้พรรคที่นิยมทักษิณกลับมาครองอำนาจอีก


 


"ตราบเท่าที่พันธมิตรฯ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายตนไม่ชอบ หีบเลือกตั้งก็มีความหมายแค่ยืดวิกฤตการณ์ให้ยาวนานต่อไปเท่านั้น วิกฤตินี้จะแก้ไม่ตกในเร็ววัน เพราะพันธมิตรฯ จะไม่มีวันประนีประนอม ขณะที่รัฐบาลก็ยอมไม่ได้ พวกเขารู้สึกว่าประชาชนเลือกเขาเข้ามาแล้ว นับเป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาด ตำรวจ หน่วยข่าวกรองทหาร ทุกฝ่ายนั่นแหละ ล้วนคิดไม่ออกว่าควรจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้นำ" นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ


 


สำนักข่าวรอยเตอร์ยังนำเสนอบทรายงานคาดการณ์ถึงฉากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ  ความเป็นไปได้แบบแรกคือ วิกฤติจะยืดเยื้อต่อไป และความรุนแรงขยายวงกว้าง โดยกลุ่มพันธมิตรฯ อาจอาศัยเหตุรุนแรงเมื่อวันอังคารหว่านล้อมให้บรรดาพนักงานรัฐวิสาหกิจในกลุ่มสาธารณูปโภคต่างๆ นัดหยุดงาน งดให้บริการ เพื่อกดดันรัฐบาล แต่นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า รัฐบาลสมชายจะอยู่ไม่ได้ แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็คงตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และพยายามรับมือกับการโจมตีของพันธมิตรฯ ต่อไป


 


ความเป็นไปได้แบบที่สอง คือ การรัฐประหาร แม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำหลายครั้งว่า จะไม่ยึดอำนาจ แต่หากเกิดการนองเลือดอย่างขนานใหญ่ก็เป็นไปได้ว่าทหารจะเข้าแทรกแซง "เพื่อสร้างความสามัคคีของชนในชาติ"


 


ความเป็นไปได้แบบที่สามคือ  รัฐบาลอาจสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุม ซึ่งทางเลือกนี้มีความเป็นไปได้น้อยลง หลังจากการใช้กำลังของตำรวจเมื่อวันอังคารได้เรียกเสียงประท้วงอย่างกว้างขวาง การส่งกำลังบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้หญิงวัยกลางคนจำนวนมากนั่งปะปนอยู่กับวัยรุ่นที่มีท่อนไม้ เหล็กแป๊บ และไม้กอล์ฟ จะทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เป็นการจุดชนวนความไม่พอใจของประชาชน


ความเป็นไปได้แบบที่สี่  ศาลฎีกาสั่งยุบพรรคพลังประชาชน แต่ ส.ส.ส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ตราบที่พรรคร่วมรัฐบาลยังจับขั้วกันเหนียวแน่น ก็ไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งใหม่  และหากมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยก็จะกลับเข้าสู่สภาได้อีก เพราะคนชนบทยังคงสนับสนุนทักษิณ  


 


ความเป็นไปได้แบบที่ห้า พันธมิตรฯ หมดแรงไปเอง ไม่มีใครรู้ว่าใครให้การสนับสนุนพันธมิตรฯ ซึ่งต้องใช้เงินวันละ 1 ล้านบาท แต่เชื่อกันว่าพันธมิตรฯ มีทุนหนาและมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง พันธมิตรฯ ประกาศจะล้างระบอบทักษิณให้หมดจากระบบการเมือง แต่พันธมิตรฯ ก็ถูกคัดค้านต่อการเรียกร้องการเมืองใหม่ซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย


 


นอกจากนี้  รอยเตอร์ยังนำเสนอบทรายงานในรูปแบบของคำถาม-คำตอบต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยด้วย ซึ่งรายงานชี้ว่า เป็นเรื่องสลับซับซ้อน และสามารถมองได้ในหลายแง่มุม บ้างอธิบายว่าเป็นสงครามระหว่างชนชั้น บ้างว่าเป็นปัญหา "สองนคราประชาธิปไตย" ซึ่งคนชนบทกับคนเมืองมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการเมือง บ้างว่าเป็นการปะทะระหว่างพลังจารีตนิยมกับพลังสมัยใหม่ และบ้างว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ


 


ส่วนคำถามที่ว่า การเลือกตั้งใหม่จะแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ในระยะสั้นอาจแก้ได้  แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ในระยะยาว หากความรุนแรงตามท้องถนนบานปลายออกไป และมีประชาชนเสียชีวิตเพิ่มขั้น นายกรัฐมนตรีสมชายอาจพยายามถอดชนวนด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นการสมประสงค์ของพันธมิตรฯ ซึ่งมุ่งขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นหุ่นเชิดของทักษิณ แต่คนชนบทก็จะส่งรัฐบาลที่นิยมทักษิณกลับมาครองอำนาจอีก ทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นประท้วงอีก ทุกฝ่ายจะกลับไปตั้งต้นวิกฤติรอบใหม่อีกครั้ง นี่เป็นสาเหตุที่พันธมิตรฯ เรียกร้องการเมืองใหม่


 


ด้านสำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ ระบุว่า เป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 16 ปี ซึ่งนับย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังคงเป็นความเจ็บปวดของประชาชนไทยเรื่อยมา


 


บีบีซียังได้รับความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ แต่ได้ประกาศเตือนผู้เข้าชมว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรทำให้ตนเองหรือผู้อื่นอยู่ในความเสี่ยง รวมทั้งไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมายด้วย ซึ่งภาพความสูญเสียนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเสนอภาพความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน หรือตำรวจ แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏภาพเหตุการณ์เช่นนี้ในไทย แต่เป็นภาพที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเอง หรือแม้กระทั่งต่างชาติ


 


"นอกจากจะสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยสูญเสีย ก็คือภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประเทศแห่งรอยยิ้มผู้รักความสงบ ภาพลักษณ์ของประเทศที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม สูญเสียสภาพคล่องของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เกิดความชะงักงันกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญ" บีบีซีระบุ


 


นายสุรพล  เศวตเศรณี รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ถึงเหตุการณ์การใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมว่า ประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศ ได้ออกคำเตือนในการเดินทางท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เตือนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน  24 ประเทศ โดยมีการให้ระดับความรุนแรงระดับสูงสุด 1 ประเทศ คือ ไอร์แลนด์ ระดับสูง 2 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ส่วนที่เหลือเป็นการเตือนระดับปกติ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร


 


"ททท.มีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นการนำสมมติฐานความเสียหายจากความรุนแรงด้านการเมืองเข้ามาวัดระดับความเสียหายด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้ง  โดยเป็นการสมมติฐานใหม่ เพื่อหาแนวทางการรับมือความเสี่ยงดังกล่าวต่อไป" นายสุรพลกล่าว


 


นายกฤษ ศรีฟ้า นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ระบุว่า อัตราการจองยอดช่วงไฮซีซั่นใน จ.พังงา เพิ่มขึ้นสูงถึง 90% หลังจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เริ่มกังวลใจ เพราะฤดูกาลท่องเที่ยวจะเป็นรายได้หลักที่ประคองธุรกิจในระยะยาวทั้งปี


 


"นักท่องเที่ยวยังไม่มีการยกเลิกการเข้าพัก  เพราะเข้าใจต่อสถานการณ์ว่าเป็นเพียงความขัดแย้งของคน  2 ฝ่าย ที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว หรือมีการทำร้ายชาวต่างชาติ" นายกฤษกล่าว


 


นายประกิจ  ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกการจองโรงแรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเข้ามา รวมถึงการขอออกก่อนกำหนด เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต่างชาติยังจับตาดูสถานการณ์ต่อไปมากกว่า


 


"หากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อเกิน 1 สัปดาห์ คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเข้ามาในช่วงไฮซีซั่น หรือที่จองเข้ามาแล้วอาจยกเลิกการเข้ามาได้ แต่หากรัฐบาลสามารถจัดการได้ภายใน 3-4 วัน เชื่อว่าช่วงไฮซีซั่นจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก" นายประกิจกล่าว


 


ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "นักธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างชาติคิดอย่างไรต่อประเทศไทย" ในฐานะหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ซึ่งมีการสำรวจทั้งสิ้น 550 ตัวอย่าง ทั้งชาวเอเซีย ยุโรป อเมริกัน โดยสำรวจระหว่าง วันที่ 15 กันยายน - 8 ตุลาคม 2551



ผลสำรวจออกมาเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเมื่อถามถึงความรุนแรงทางการเมือง พบว่า ประเทศไทยขณะนี้ได้อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 40.4 เหนือกว่าประเทศพม่า ที่ได้ร้อยละ 38.8 ในเรื่องความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศและที่น่าเศร้าอย่างยิ่งคือ ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมากในลำดับต้นๆ รองจากประเทศอินโดนีเซีย และจีน คือร้อยละ 37.8 ร้อยละ 32.5 และประเทศไทยได้ร้อยละ 31.9 ตามลำดับ



 


ส่วนทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทย นักธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ มองว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 48.7 ระบุ ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยเลือกตั้งใหม่ อันดับที่สอง คือร้อยละ 24.5 ระบุปฏิรูปการเมืองใหม่ ทำให้ได้รัฐบาลที่ดีและฟังเสียงประชาชน นอกจากนั้นเป็นข้อแนะนำอื่นๆ เช่น เจรจาประนีประนอม ไม่รุนแรง และแก้คอรัปชั่น เป็นต้น



 


กระนั้นก็ตามผลสำรวจออกมา ยังเป็นสิ่งที่น่ายินดีอยู่บ้าง โดยพบว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 ในเรื่องดี ๆ หลายด้านที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ดังนี้



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่สองหรือร้อยละ 56.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เมื่อถามถึงความเป็นเลิศด้านระบบสาธารณูปโภค รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ร้อยละ 69.6



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 43.7 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านวัตถุดิบที่เพียงพอ เป็นรองจากประเทศจีนที่ได้ร้อยละ 60.8



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 46.1 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านแรงงานท้องถิ่นที่เพียงพอ เป็นรองจากประเทศจีนที่ได้ร้อยละ 59.9



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่หนึ่ง หรือร้อยละ 52.4 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านคุณภาพของแรงงาน ตามมาด้วย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศจีน ได้ร้อยละ 50.2 และร้อยละ 40.1 ตามลำดับ



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่ สอง หรือร้อยละ 48.3 เมื่อกล่าวถึงวามเป็นเลิศด้านความสามารถในการจัดการธุรกิจ รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ร้อยละ 65.2



 


ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 42.7 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านโอกาสการเติบโตทางการตลาด เป็นรองจากประเทศจีน ที่ได้ร้อยละ53.2 ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 51.0 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ร้อยละ 68.7 ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 50.0 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมการลงทุน เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ร้อยละ 54.0 ประเทศไทย ได้อันดับที่สอง หรือร้อยละ 42.0 เมื่อกล่าวถึงความเป็นเลิศด้านผลตอบแทนในการลงทุน เป็นรองจากประเทศจีน ที่ได้ร้อยละ 53.0 ส่วนอันดับที่สาม เป็นประเทศสิงคโปร์ ที่ได้ร้อยละ 38.5



 

 


ที่มา : ไทยโพสต์และแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net