Skip to main content
sharethis

วันที่ 4 ต.ค. เวลา 10.00. ศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศ (Thai Queer Resource Center- TQRC) สนับสนุนโดยมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์, มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดการสัมมนาเรื่อง "สื่อของเกย์และกะเทยในสังคมไทย" ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดของผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อของเกย์และกะเทยในสังคมไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาสื่อของเกย์และกะเทยให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและบุคคลที่เป็นเกย์และกะเทยต่อไป


ในการเสวนาเรื่อง "มุมมองและประสบการณ์ของผู้ผลิตนิตยสารเพื่อชุมชนเกย์-กะเทย" ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกลาง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการสื่อสารเรื่องเพศในเมืองไทยมีเพียงไม่กี่บริบท ที่สามารถให้พูดในที่สาธารณะได้ ซึ่งเรื่องแรกก็คือ การพูดหรือสอนเรื่องเพศ ตามบริบทของกระแสจารีต ซึ่งเป็นกระแสที่คนในสังคมคิดว่า ถูกต้อง มีศีลธรรม เรื่องที่สอง คือ เรื่องเพศด้านสาธารณสุข เรื่องที่สาม เป็นเรื่องเพศใต้สะดือ เป็นเรื่องตลก ที่สามารถพูดได้ทุกวงเสวนาแล้วสนุกสนาน แต่ทั้งหมดนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกควบคุมโดยกระแสจารีต ไม่ว่าจะในด้านสาธารณสุข เช่น เรื่องเอชไอวี ในช่วงแรกของการรณรงค์ เกย์ถูกตราบาปว่าคนที่แพร่เชื้อ หรือ คนที่รักเพศเดียวกันหรือเป็นพนักงานบริการทางเพศ ก็จะถูกตีตราโดยกระแสจารีตเช่นกัน เรื่องตลกใต้สะดือ การมีเพสสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกใต้สะดือ ซึ่งเรื่องทั้งหมดก็จะถูกมองเป็นเรื่องของการให้คุณค่าด้วย เช่น การทำตัวเป็นผู้หญิงที่ดี ก็จะได้รับการยอมรับจากทางสังคมมากขึ้น การทำตัวเป็นผู้ชายใกล้เคียงอุดมคติ ก็ทำให้ได้รับคุณค่าทางสังคมมากขึ้น


ดนัย กล่าวต่อว่า ขณะที่กระแสจารีตมองข้ามเพศอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือกระแสจารีต ทำให้เพศที่อยู่นอกกระแสจารีตไม่ถูกพูดถึง เพราะฉะนั้นความรู้ด้านนี้ก็จะน้อยมาก เพราะว่าความรู้เรื่องเพศในเมืองไทยก็จะมีชุดความหมาย ชุดการอธิบายความหมายเดียว คือ "มีจู๋" ต้องพยายามทำตัวเป็นสุภาพบุรุษให้ใกล้เคียงกับอุดมคติที่สุด "มีจิ๋ม" ก็ต้องพยายามเป็นผู้หญิงในอุดมคติให้ใกล้อุดมคติมากที่สุด แล้วชุดความหมายมันแข็งขึ้น มันค่อนข้างตายตัวคือดูว่ามันมีเครื่องเพศแบบไหนคุณก็มีเพศนั้นเลย พอคุณมีเพศนั้นคุณต้องทำตัว 1,2,3,4 ถ้าคุณทำตัวแตกแถวออก 1,2,3,4 คุณก็จะเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นผู้ชายไม่ดี


ผู้อำนวยการสำนักงานกลาง สมาคมฟ้าสีรุ้ง กล่าวว่า ดังนั้นแล้ว การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงน้อยมาก ทางเลือกก็คือต้องรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนกัน ฟ้าสีรุ้งก็เป็นองค์กรที่เกิดจากการร่วมตัวกัน เป็นองค์กรชุมชน เรามาร่วมตัวกันแล้วรู้สึกว่าการแลกเปลี่ยนสื่อสารมีความสำคัญมากในการกำหนดสถานะ บทบาทตัวเองในสังคม ซึ่งเริ่มแรกก็จะทำในลักษณะจดหมายข่าว จนต่อมาเปลี่ยนเป็นวารสาร "สายฝนต้นรุ้ง" ในกลางปี 48 โดยคนในชุมชนเป็นผู้ผลิตทั้งเนื้อหาและรูปแบบ


เหตุผลที่ชื่อ "สายฝนต้นรุ้ง" ดนัย เล่าว่า ต้องการให้เพื่อนๆ นึกถึงความสวยงามหลังฝนตก โดยระหว่างที่ฝนยังตกอยู่ ก็ให้เราอดทนรอ และมีความสุขในการใช้ชีวิตขณะนั้น เพื่อที่จะได้เห็นความสวยงามหลังฝนตก สายฝนต้นรุ้งจึงเหมือนสื่อที่พูดคุยกับเพื่อนๆ ระหว่างฝนตก โดยทำหน้าที่เป็นสื่อของชุมชนความหลากหลายทางเพศ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ และให้สังคมยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เป็นช่องทางเพื่อให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเรื่องเพศในสังคม และสร้างความเข้าใจกับสื่อกระแสหลักด้วยว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศ ชายรักชาย หญิงรักหญิง กะเทยและการอยู่ร่วมในสังคมมันมีจริงในโลกใบนี้


เชวงศักดิ์ สารานพคุณ ผู้ก่อตั้งนิตยสารไทยเพื่อน เล่าถึงที่มาที่ไปของนิตยสารว่า เริ่มจากการที่เขาเป็นช่างเสริมสวย และมีหนังสือเกย์ไว้บริการลูกค้าในร้าน แต่เนื่องจากหนังสือเกย์สมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นภาพนู้ด ซึ่งลูกค้าและตำรวจบอกว่าไม่สมควรนำมาไว้ในที่สาธารณะ ประกอบกับเมื่อปี 48 น้องๆ ที่ต่างจังหวัดหลายคนบอกว่า ไม่สามารถซื้อหาหนังสือเกย์ได้ เขาจึงได้จัดทำนิตยสารไทยเพื่อนขึ้นแจกฟรี โดยนอกจากเรื่องเพศแล้ว ก็จะมีคอลัมน์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ ซึ่งข้อมูลข่าวสารจะได้มาจากกลุ่ม สมาคมต่างๆ อาทิ ฟ้าสีรุ้ง เอ็มพลัส อัญชลี รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย


สำหรับแนวคิดของหนังสือ เชวงศักดิ์ กล่าวว่า จะไม่ใช้ภาพโป๊ ภาพนู้ดเป็นปก แต่จะใช้ภาพสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญๆ แต่กลุ่มเกย์ไม่ค่อยจะหยิบอ่านกัน เพราะเขาจะสนใจรูปที่หวือหวามากกว่า แต่ถ้าทำเป็นรูปโป๊ ทางโรงแรมหรือสถานที่ต่างๆ ก็จะตำหนิ และไม่ยอมรับให้จัดวาง จึงได้ออกแบบเป็นรูปศิลปะแทน ซึ่งในอนาคตจะมีสาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ศิลปะมากขึ้น


พงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ จากนิตยสาร More Than Man กล่าวว่า เป้าหมายของการทำนิตยสาร More Than Man เพื่อต้องการเปลี่ยนวิธีคิดกรอบของสังคมที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นรอง ให้หันมามองความหลากหลายที่มากกว่าความเป็นหญิงชาย


พงศ์ภีระ เล่าว่า กลุ่มเป้าหมายของหนังสือจะเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มพนักงานบริการชาย นักศึกษา คนรักเพศเดียวกันทั่วไป โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ โรคเอดส์ เซ็กส์ที่ปลอดภัย การดูแลตัวเอง รวมถึงคอลัมน์บันเทิง


จิมมี่ บรรณาธิการนิตยสาร MaX กล่าวถึงที่มาของการทำนิตยสารว่า ตอนแรก จะทำหนังสือนู้ดโดยตรง แต่มาคิดในภายหลังว่าไม่ต้องการให้เด็กๆ ที่มาถ่ายภาพมีตราบาปจึงเลิกความคิดนี้ และหันมาทำหนังสือที่ไม่โป๊ และไม่อนาจารมาก โดย MaX นับเป็นนิตยสารเกย์ภาษาไทยเล่มแรก ที่แจกฟรี


เขากล่าวว่า MaX ต้องการเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาสาระในเล่มจะมีทั้ง วาไรตี้ แฟชั่น ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคมและธุรกิจ


"อยากให้มองแค่ว่าเกย์ไม่ใช่คนพิเศษ ไม่ต้องให้ความสำคัญอะไรกับเกย์ ขอให้คิดว่าเกย์เป็นพลเมืองคนไทยคนหนึ่ง และให้สิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นก็พอแล้ว" จิมมี่ ทิ้งท้าย


ในช่วงการแลกเปลี่ยน ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกย์ไทย จาก TQRC ถามว่า ในการทำนิตยสารเกย์-กะเทย เคยมีปัญหาทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ วิทยากรทั้งสี่ ตอบไปในทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากมีการศึกษาถึงสิ่งที่จะทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายก่อน


ผู้ร่วมสัมมนาคนหนึ่ง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตำรวจและเป็นเกย์ การเป็นตำรวจและเป็นเกย์เป็นเรื่องยากเพราะเป็นสองสิ่งที่สังคมกำลังจับตามอง อย่างไรก็ตาม การทำสื่อแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี นอกจากได้ชี้แจงว่า การนำเอกสาร นิตยสารไปวางแจกนั้นเป็นการครอบครองเพื่อเผยแพร่ โดยหากเอกสารนั้นไม่โชว์อวัยวะเพศอย่างชัดแจ้ง หรือส่อให้เห็นถึงการร่วมเพศ ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ได้ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน เกย์ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศมากขึ้น และไม่กล้าไปแจ้งความ จึงอยากให้ผู้ทำสื่อประเภทนี้เพิ่มความรู้ในเรื่องการป้องกันอาชญากรรมจากการมีวิถีทางเพศ การหาคู่ และการป้องกันตัว ลงไปด้วย เพื่อให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อน้อยลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net