Skip to main content
sharethis

วันนี้ (3 ต.ค.) พันธมิตรเชียงใหม่และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การจัดเวทีวิชาการข้อเสนอต่อสังคมการเมืองใหม่ในยุคปัจจุบัน" โดยมีเนื้อหาระบุว่า นับจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลที่ฉ้อฉลทำผิดกฎหมาย และทำลายหลักการประชาธิปไตย เพื่อเสนอให้ประชาสังคมทุกภาคส่วนร่วมกันใช้สิทธิเสรีภาพในการระดมความคิดเห็นต่อการสร้างการเมืองใหม่ เพื่อทำให้การเมืองมีความโปร่งใส สร้างอำนาจถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ดังปรากฏต่อสังคมนั้น พันธมิตรเชียงใหม่ขอแถลงท่าทีและกิจกรรมดังนี้


 


1.เราเห็นว่า ข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 ของอธิการบดี 24 สถาบัน นั้น เป็นผลจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อสร้างการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ซึ่งถูกต้องแล้วที่พันธมิตรฯ ได้ประกาศว่าจะไม่ร่วมกระบวนการ ส.ส.ร.3 แต่ก็ไม่ปฏิเสธแนวทางของกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในความปรารถนาดีต่อการแก้ไขปัญหาสังคมที่วิกฤตอยู่ แต่กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงการถ่วงเวลาให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปเท่านั้น


 


2.เราเห็นว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร.3 ในสถานการณ์ขณะนี้นั้นไม่ได้ตอบสนองต่อกระบวนการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ฉ้อฉลทำผิดจริยธรรมนักการเมืองหรือสร้างจิตสำนึกให้นักการเมืองมีความรักชาติทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองได้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายครั้งที่ผ่านมา แม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนหลายมาตราก็ตาม แต่การตรวจสอบนักการเมืองหรือรัฐที่ฉ้อฉลก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นแม้จะมีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาก็ไม่สามารถป้องกันนักการเมืองประพฤติชั่วทำผิดกฎหมายได้


 


3.เราเห็นว่าข้อเสนอที่ว่า "การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง" ก็ต้องให้ประชาชนทุกคนลุกขึ้นมาจัดการเอง ด้วยการต่อต้านหรือปฏิเสธรัฐบาลที่ฉ้อฉลไม่เป็นประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนนักการเมืองด้วยกันเองเพื่อชาติบ้านเมืองได้ แม้นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลจะขัดแย้งกันเพียงใดก็ยอมกันเพื่อผลประโยชน์ของพวกตนไว้ก่อน พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ว่า จะทำอะไรเพื่อประชาชนมากกว่าขอเป็นรัฐบาลบ้าง


 


4.ดังนั้น เพื่อให้การสร้างการเมืองใหม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในระดมความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนพันธมิตรเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับสถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ จัดเวทีวิชาการครั้งที่ 3 เรื่อง "ข้อเสนอต่อสังคมการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน" ขึ้นในวันที่ 5 ต.ค.2551 ที่โรงละครหอศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาและจัดการทางสังคมร่วมกัน


 


ทั้งนี้ ยืนยันว่า การใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในการจัดเวทีวิชาการครั้งนี้ ทุกส่วนแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ก็ต้องยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน ขณะที่หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการใช้สิทธิของประชาชนก็จะต้องดูแลให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


 


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด แกนนำพันธมิตรเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การจัดเวทีดังกล่าวเป้าหมายหลักเพื่อต้องการระดมความเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนองค์กรเอกชน เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายชนเผ่าต่างๆ เครือข่ายแรงงานและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเวทีดังกล่าวจะเปิดให้มีการลงทะเบียนในเวลา 11.00 น. เริ่มด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง "การเมืองภาคประชาชนกับข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองไทย" มีวิทยากรร่วมบรรยาย คืออาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มช.


 


จากนั้นในเวลา 14.00 น.จะมีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ "ข้อเสนอต่อสังคมการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน" พร้อมเปิดรับข้อเสนอทางการเมืองใหม่จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นนักคิดในพื้นที่หลายคน ได้แก่ ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล นักวิชาการอาวุโส นายสวิง ตันอุด ผอ.สถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ นายสมควร ยาวิชัย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนผลิตแห่งประเทศไทยและนายบัณรส บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.ผู้จัดการ เชื่อว่าในวันดังกล่าวจะมีประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิรูปการเมืองใหม่ในส่วนของภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 300 คน


           


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ยังกล่าวว่า กิจกรรมที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 ต.ค.2551 นี้ เป็นเวทีวิชาการ ตามแนวทางสันติวิธีและสงบ ทั้งนี้ ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยนั้น เบื้องต้นได้มีการประสานกับทางสหภาพรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยไว้แล้ว พร้อมทั้งจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามาดูแลด้วยโดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด หากไม่ปลอดภัยก็พร้อมที่จะยกเลิก


 


ส่วนความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการก่อเหตุวุ่นวายจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ นั้น ผู้ประสานงานพันธมิตรเชียงใหม่ กล่าวว่า หากเชียงใหม่ไม่สามารถเปิดกว้างให้มีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ก็ย่อมหมายความว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่ไม่สามารถแสดงความเป็นประชาธิปไตยได้ ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยหากจะมีผู้เข้ามาก่อเหตุวุ่นวาย รวมทั้งพยายามขัดขวางหรือล้มเลิกการจัดเวทีในครั้งนี้ โดยทางพันธมิตรเชียงใหม่มีความยินดีและพร้อมเปิดกว้างให้ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมครั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ แทนที่จะทำให้เกิดเหตุวุ่นวายรุนแรง


 


นายบัณรส บัวคลี่ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่นางเบญจมาศ ยุทธวิริยะ ชาว จ.เชียงใหม่ นำมือตบไปตบต่อหน้านายกรัฐมนตรีแล้ว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกันตัวออกมาจากคณะนายกรัฐมนตรี จากนั้นตำรวจได้พาตัวนางเบญมาศ ให้ไปลงบันทึกประจำวันว่าต่อไปจะไม่กระทำการก่อเหตุวุ่นวายเช่นนี้อีก รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ริบมือตบจากกลุ่มแม่ค้าตลาดวโรรส ที่เตรียมมือตบรอต้อนรับนายกรับมนตรีที่ตลาดวโรรสนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมองว่า ตำรวจทำเกินกว่าเหตุและเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมือตบไม่ได้เป็นอาวุธรวมทั้งเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ ที่จะบังคับให้ลงบันทึกประจำวันดังกล่าว


 


ด้าน นายมนตรี วงศ์เกษม รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ต.ค.) ตนเอง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) สภ.ภูพิงค์ มาหลายสมัย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ตำรวจ สภ.ภูพิงค์ กระทำกับ นางเบญ เนื่องจากรู้สึกอับอายกับการกระทำของตำรวจ


 


และเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นางกัลยกรณ์ เจียมกิจวัฒนา นักจัดรายการวิทยุชุมชนวิหคเรดิโอ และสมาชิกกลุ่มทหารเสือพระราชาร่วม 10 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผบช.ภาค5 โดยมี พล.ต.ต.บรรฑป สุคนธมาน รอง ผบช.ภาค 5 รับเรื่องแทน โดยระบุว่า กรณีของนางเบญมาศที่นำมือตบออกมาตบใส่นายกรัฐมนตรี ภายในวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ และถูกตำรวจเชิญตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ต.ภูพิงค์ รวมถึงการที่ตำรวจริบมือตบจากประชาชนที่หน้าตลาดวโรรส ก่อนที่จะเตรียมนำไปตบใส่นายกรัฐมนตรี นั้นเข้าข่ายตำรวจรังแกประชาชน


 


กลุ่มทหารเสือได้เรียกร้องให้ ผบช.ภาค 5 ดำเนินการตรวจสอบชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังรับเรื่องร้องเรียน พล.ต.ต.บรรฑป สุคนธมาน รอง ผบช.ภาค 5 ที่รับเรื่องแทน ผบช.ภาค 5ได้แจ้งกับกลุ่มทหารเสือที่มาร้องเรียนว่าจะตรวจสอบและแจ้งให้กลุ่ม


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์และคมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net