ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 3 ต.ค. 51


การเมือง

ศาลอาญาเตรียมส่งสำนวนอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับ 9 พธม.ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว

เว็บไซต์แนวหน้า - ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตรฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาในข้อหากบฏ และข้อหาอื่นรวม 5 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113,114 ,116,215 และ 216 ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณานั้น

 

ล่าสุดวันนี้ (2 ต.ค.) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ 9 ผู้ต้องหาส่งต่อศาลอาญาแล้วตามที่จะครบกำหนดในวันที่ 4 ต.ค.นี้ ซึ่งศาลอาญาเตรียมรวบรวมเอกสารคำร้องอุทธรณ์ของ 9 ผู้ต้องหา คำแก้อุทธรณ์ของพนักงานสอบสวน และสำนวนที่ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับ ส่งต่อศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำวินิจฉัยต่อไปว่าจะเพิกถอนหมายจับหรือไม่

 

 

ศาลให้ประกันกลุ่มนักรบศรีวิชัยผู้ต้องหาบุก NBT เพิ่มอีก 8 ราย ตีราคา 2 แสน เตรียมยื่นอีกพรุ่งนี้ 3 ต.ค.

เว็บไซต์แนวหน้า -ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางรัศมี ไวยเนตร ทนายความ จากสภาทนายความ เดินทางยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์และกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ บริษัท วิริยะ ประกันภัย จำกัด ขอประกันตัวกลุ่มนักรบศรีวิชัยการ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพิ่มเติมอีก 12 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังบุกรุกเข้าไปยึดอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เมื่อเช้ามืดวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยใช้กำลังและมีอาวุธและความผิดอื่นรวม 6 ข้อหาซึ่งความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุดคือ ฐานบุกรุกซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบด้วย นายสัญญา สุขเกื้อ ที่ 4 ,นายปัญญาเดช เอกภาณุพัตร์ ที่ 6 , นายสมเกียรติ รัตนพันธ์ ที่ 26 , นายบุญฤทธิ เชิญทอง ที่ 29 , นายพิเชษฐ์ ด้วงช่วย ที่ 32 , นายอำนวย เพชรเส้ง ที่ 40 , นายธัชชัย ทองจิตร ที่57 , นายสุนทร รักษายศ ที่ 61 , นายพรชัย บรรจงช่วย ที่ 63 , นายไพศาล สุขแก้ว ที่ 79 ซึ่งยื่นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ บริษัท วิริยะ ฯ มูลค่าคนละ 200,000 บาท ส่วนนายธนพล แก้วเชิด ที่ 80 และ นายสมเกียรติ หนูใหญ่ ที่ 82 ยื่นเงินสดคนละ 200,000 บาท

 

โดยศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว ต่อมาเวลา 18.00 น. จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหารวม 8 รายประกอบด้วย นายปัญญาเดช เอกภาณุพัตร์ ที่ 6 , นายพิเชษฐ์ ด้วงช่วย ที่ 32 , นายอำนวย เพชรเส้ง ที่ 40 ,นายธัชชัย ทองจิตร ที่ 57 , นายสุนทร รักษายศ ที่ 61 , นายพรชัย บรรจงช่วย ที่ 63 , นายไพศาล สุขแก้ว ที่ 79 และ นายธนพล แก้วเชิด ที่ 80 โดยศาลตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท และมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ไปก่อเหตุอันตรายประการใดในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกัน

 

ส่วนนายสัญญา สุขเกื้อ ที่ 4 , นายสมเกียรติ รัตนพันธ์ ที่ 26 , นายบุญฤทธิ เชิญทอง ที่ 29 และนายสมเกียรติ หนูใหญ่ ที่ 82 เนื่องจากเอกสารยังไม่เรียบร้อย ทนายความจึงรับคำร้องกลับมาแก้ไขเพื่อยื่นคำร้องใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (3 ต.ค.)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สำหรับผู้ต้องหาคดีทั้ง 82 คน ทนายความได้ทยอยยื่นคำร้องขอประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจนถึงวันนี้รวมทั้งสิ้น 33 คน ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักศึกษา ผู้หญิง ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มชายฉกรรจ์ โดยศาลตีราคามูลค่าคนละ 200,000 บาท อย่างไรก็ดีสำหรับการดำเนินคดีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน สน.สุทธิสารเพื่อสรุปสำนวนและความเห็นส่งให้พนักงานอัยการสั่งคดีต่อไป โดยเวลานี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นฝากขังผู้ต้องหาไว้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 12 ต.ค.

 

 

"พัลลภ" เชื่อการชุมนุมไม่จบง่ายๆ แม้ "จิ๋ว" เป็นโซ่ข้อกลาง

เว็บไซต์แนวหน้า - พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น จปร. 7 กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงแนวทางในการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชน เพราะไม่ได้เข้าไปยุ่งเลย เพราะแนวความคิดของตน และ พล.ต.จำลอง ไม่เหมือนกัน แนวทางของตนคือต้องการรบ ส่วน ของ พล.ต.จำลอง คือแนวอหิงสา

    

"ผมว่าเรื่องคงจบลงไม่ได้ง่าย ๆ เพราะข้อเรียกร้องที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอไปให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี คงทำไม่ได้ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยึดพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เงื่อนไขที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องทางรัฐบาลรับไม่ได้หรอก แม้ว่ารัฐบาลจะส่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี มาเคลียร์ปัญหาก็ตาม" พล.อ.พัลลภ กล่าว

 

 

4ฝ่ายถกปฏิรูปการเมืองปธ.สภานัดนายกฯ-วุฒิสภา-ฝ่ายค้านหารือวันนี้

ผู้จัดการรายวัน- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว วานนี้ (2 ต.ค.) ว่า ในวันนี้ (3 คซึซ) จะมีการหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้าน เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง โดยจะทำความเข้าใจกันว่า ถ้าจะสนับสนันใครจะทำอะไร ทำอย่างไร ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการปฎิรูปการเมืองค่อยมาคุยกันหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามการปฎิรูปการเมืองต้องเป็นกระบวนการของประชาชนที่มีส่วนร่วม และต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่มีส่วนร่วม

    

ส่วนคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองที่ 24 อธิการบดีเสนอนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องมีการคุยกันด้วย เพราะขณะนี้ไม่มีใครมาสามารถผูกขาด ความคิดว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือจะแก้ไขด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี สนนท. รัฐบาล ฝ่ายค้าน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นปก. หรือใครก็ตาม แต่จะต้องแสวงจุดร่วมและทำงานอย่าง ตรงไปตรงมา ด้วยความจริงใจ ไม่ควรปฏิเสธแนวทางใดทั้งสิ้น แต่เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากความขัดแย้งและการเมืองดีขึ้น

    

การตั้งส.ส.ร. 3 จะต้องช่วยกันดูอย่างรัดกุมว่า ที่มามาอย่างไร และกระบวนการจะโปร่งใสหรือไม่ เพราะข้อเสนอทั้งหมดที่จะให้มีการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือเพื่อปฏิรูปไม่มีการมาแก้ไขเพื่อตัวเอง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าไปไกลแล้ว เพราะรายละเอียดมีมากถ้าเราหยิบมา เป็นสาระสำคัญ แล้วคิดว่ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะแก้ไขมันไม่ใช่ และอยากตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า ระบบนี้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาหลายอย่างที่เป็นที่มาของความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาของระบบ เท่ากับปัญหาพฤติกรรม ฉะนั้น ถ้าเราแก้แต่ระบบ แต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยน ก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

    

สมมุติบอกว่า เลือกนายกฯโดยตรง แล้วเกิดได้นายกฯที่ลุแก่อำนาจ เราจะทำอย่างไร ถ้าระบบเลือกตั้งบอกเปลี่ยน แต่คนที่ชนะการเลือกตั้ง มาโดยวิธีการ ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้แก้อะไร จะแยกฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าฝ่ายบริหาร ไม่ยอมรับผิดชอบต่อประชาชนเลยไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็ไม่ได้แก้ปัญหาอีก ดังนั้นระบบจึงยังเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ผมยังมองไม่เห็นว่ามีการแก้ที่ระบบจุดไหน แล้วเราจะสามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่จะไม่เกิดขึ้นอีก ปัญหาพฤติกรรมก็ยังต้องแก้ต่อเนื่อง

    

ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรที่นายกฯ ออกมาระบุว่าการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นความคาดหวังของคนจำนวนไม่น้อย แต่เรื่องเร่งด่วนสุดคือการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้ง ทางการเมืองหากการปฏิรูปการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าคิดว่าสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ได้โดยไม่ต้องปฏิรูปการเมือง ก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นรูปธรรม กับการที่จะหาจุดร่วมในการปฏิรูปการเมืองมาเป็นตัวเริ่มต้นในการคลี่คลายวิกฤต

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกฯเข้าพบกับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีว่า การเข้าหารือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถือเป็นสิ่งที่ดีและเชื่อว่าพล.อ.เปรม น่าจะมีคำแนะนำดีๆ ที่นายกฯพูด แต่สำคัญอยู่ที่ว่าทำตามที่พล.อ.เปรมแนะนำหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า เกรงหรือไม่ว่าอาจจะเป็นแค่การสร้างภาพเท่านั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากไปตัดสินอะไรล่วงหน้า แต่อย่างที่ได้เตือนนายกฯไว้ว่า ความยอมรับในตัวนายกฯในเรื่องของบุคลิกความอ่อนน้อมในภายนอกหรือการไปพบปะบุคคลต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา และนับวันตอนนี้ จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ

    

ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่ ในขณะที่บุคลิกการแสดงออกเป็นเรื่องของการสมานฉันท์ แต่การกระทำที่จะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ยังไม่มีสัญญาณ ก็คงจะต้องพิสูจน์ จากเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงว่าจะเอา ส.ส.ร.หรือจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อหวังลดมาตรา 237 มาตรา 309 เรื่องสื่อของรัฐจะว่าอย่างไร ยังปล่อยให้เป็นที่ ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อยู่หรือเปล่า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้

    

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ จะเปิดโต๊ะเจรจากับพันธมิตร คิดว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พูดคุยกันดีกว่าเผชิญหน้ากัน และจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อยู่ทีสาเหตุของการชุมนุมมากว่า

 

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.20 น. คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) นำโดยน.พ.เหวง โตจิราการ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นายสุนัย จุลพงษ์ศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... เป็นวาระเร่งด่วน

    

นายชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นหนังสือดังกล่าวแล้ว เพราะขณะนี้ตนได้บรรจ เรื่องดังกล่าว โดยใช้ร่างของคปพร.เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว โดยคาดว่า หลังจากที่สภารับทราบการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 6 ต.ค.แล้ว ในสัปดาห์ต่อไป สภาจะสามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามวาระเร่งด่วนได้ สำหรับตนถือว่าได้ทำตามหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่ประชุมสภาจะรับร่างหรือไม่

    

เพราะบางทีก็ขึ้นกับลมฟ้าอากาศ ซึ่งอาจจะมีฝนตกแดดออก หรืออยู่ที่ดวงเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ผมก็รู้สึกไม่สบายใจกับปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ เพราะมันหนักและรุนแรงมาก บางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับของคปพร..อาจจะต้องชลอไปบ้าง ก็ต้องเข้าใจ แต่ใครจะมาดึงไว้ไม่ได้ ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ยุบสภาซึ่งจะทำให้ร่างนี้ตกไป นายชัย กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามถึงข่าวการเป็น แกนนำ นัดประชุม 4 ฝ่าย แต่นายชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยพูดเพียงว่า เป็นเรื่องของนายชัย ชิดชอบ

    

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นัดประชุม 4 ฝ่าย โดยคาดว่าจะเป็นการหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และท่าทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ

    

อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่า ในสมัยประชุมนี้สภาไม่น่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน เพราะมีวาระอื่นที่ต้องพิจารณาอีกหลายวาระ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางส.ส.พรรคพลังประชาชนได้เคยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภาพิจารณา แต่ได้ระงับไปแล้วหลังจากที่สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายกมล ทองธรรมชาติ เป็นประธานอยู่ โดยส.ส.ที่ยื่นร่าง เห็นว่าต้องการให้เป็นเรื่องของสภา จึงต้องระงับไปโดยปริยาย ทั้งนี้ตนอยากให้การ พิจารณาของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ไม่มีอคติ ซึ่งถ้าจะขยายเวลาออกไปอีกตนก็เห็นด้วยเพื่อความรอบคอบ

 

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมร่วม 2 สภา เพื่ออภิปรายนโยบายของรัฐบาลว่า ตนได้คุยกับนายชัย ชิดชอบ ประธานฯ แล้ว โดยมีความเห็นให้เปิดประชุมร่วมระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค. โดยคาดว่าจะเริ่มประชุมเพื่อฟังคำแถลงนโยบายในวันที่ 7 ต.ค. นี้

    

สำหรับวุฒิสภาได้กำหนดแนวทางในการอภิปรายไว้แล้วโดยจะอภิปราย เป็นรายกระทรวง มีผู้อภิปรายประมาณ 30 คน คนละ 15 นาที โดยเป็นตัวแทนของ กรรมาธิการแต่ละคณะ อย่างไรก็ดีกรอบเวลาที่ชัดเจนจะมีการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่ายในช่วงบ่ายวันนี้

    

นายประสพสุข กล่าวว่า ส่วนการกำหนดนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น ตนเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. เพราะจะเป็นแนวทางในการแก้ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้เชื่อว่า การตั้งส.ส.ร.ไม่น่าจะมีวาระซ่อนเร้น เพราะการตั้งสสร.จะต้องมีระยะเวลาและกระบวนการซึ่งประชาชนจะสามารถติดตามและตรวจสอบได้

    

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้นจะมีการอภิปราย 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 -9 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น.ของวันที่ 7 ต.ค. โดยให้ส.ส.แต่ละพรรค อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะให้แต่ละพรรคไปจัดสรรเวลาและพิจารณาจากจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ของแต่ละพรรค เพื่อเน้นถึงความเสมอภาค

    

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่รัฐบาลกำหนดในคำแถลงนโยบายว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นประเด็นที่มี ผู้อภิปรายจำนวนมากหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า การอภิปรายคงเป็นการแสดงความ คิดเห็นในนโยบายแต่ละเรื่อง โดยยึดบรรทัดฐานของการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลตามที่เคยทำกันมา ส่วนจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ทั้งนี้หากมีการแสดงความคิดเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญซ้ำกันมากประธานคงไม่อนุญาตให้พูดดทั้งหมด ซึ่งวันเดียวกันนี้ ส.ส.แต่ละคนได้รับเอกสารคำแถลงนโยบายแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 7-9 ต.ค.นี้นั้น มีเนื้อหาสำคัญที่ระบุในคำแถลงนโยบายว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 5.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ราคาสินค้าเกษตร ที่สูงเป็นประวัติการณ์และนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา

    

สำหรับเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยด้านลบภายนอกประเทศที่สำคัญสองประการ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนแรก ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสร้างความเดือดร้องให้กับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย 2.ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความเสียหายรุนแรงครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

     

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์ในประเทศยังมีความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้กระบวนการบริหารประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่าง เต็มศักยภาพ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุน ซึ่งรัฐบาล ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมโดยยึดทางสายกลาง จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ ในการแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อลดความเห็นที่แตกต่าง และสร้างความเห็นร่วมกันในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา

 

สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรกมีกำหนดไว้ 16 ข้อคือ 1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย 2. การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การส่งเสริมความร่วมมือ ในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาค 4.สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการเงินของโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

    

5.เร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและนอกประเทศ 6.เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ 7. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคา น้ำมัน 8.จัดตั้งสภาเกษตรกรและสร้างระบบประกันความเสี่ยง 9.สนับสนุนการเข้าถึง แหล่งทุนของชุมชน 10.สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนต่อผู้มีรายได้น้อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

    

11.เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 12 .เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน 13 .เร่งรัดปรับปรุงระบบสาธารณสุข 14.เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบรวมทั้งการปรับตัวเพื่อพร้อมรับวิกฤตโลกร้อน 16.จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลกและการผันผวนของราคาพลังงานและวิกฤตอาหารของโลก

 

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยังระบุว่า รัฐบาลนี้จะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการบริหารประเทศ ให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของชนในชาติ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและมีข้อเรียกร้องจาก หลายฝ่ายให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้มีความ เหมาะสมและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลตะหนักดีว่ารัฐธรรมนูญ สมควรเกิดขึ้นจากบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่งประเทศที่จะกำหนด แนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน

    

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลนี้จึงสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเลือกตัวแทนของประชาชนในรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ทำ หน้าที่อิสระในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศและนำมาพิจารณา เสนอเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน และเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงต่อไป

 

 

"อภิสิทธิ์" แนะหาจุดร่วมก่อนการตั้งส.ส.ร.3

เว็บไซต์คมชัดลึก - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ระบุว่า ส.ส.ควรมี 400 คน และให้มีศาลเลือกตั้งว่า อย่าเพิ่งลงลึกรายละเอียดเพราะจะมีความเห็นหลากหลาย ข้อห่วงใยหลักของการเมือง ยังเป็นเรื่องที่ต้องมาแสดงจุดร่วมของสังคมก่อน หากรีบไปคุยในเรื่องที่มีความเห็นที่แตกต่างกันจะทำให้บ้านเมืองหยุดอยู่กับที่ เดินไปข้างหน้าไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หารือ 4 ฝ่าย ระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ เวลา 14.00 น.ก็ควรต้องหารือกัน

    

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ตนเห็นว่าจุดหลักที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการปฏิรูปการเมือง น่าจะเป็นจุดที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าถ้าจะสนับสนุนแล้วใครจะทำอะไร ทำอย่างไร รายละเอียดค่อยไปคุยหลังจากนั้น และต้องเป็นกระบวนการประชาชนมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายไม่ใช่แค่นักการเมืองที่มีส่วนร่วม และก่อนไปตั้งส.ส.ร. 3 ก็คงต้องช่วยกันดูอย่างรัดกุมว่าที่มามาอย่างไรและกระบวนการจะโปร่งใสหรือไม่ เพราะข้อเสนอทั้งหมดที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือเพื่อปฏิรูปไม่มีการมาแก้ไขเพื่อตัวเอง

    

"จะต้องมีการคุยกันด้วยเพราะขณะนี้ไม่มีใครมาสามารถผูกขาดความคิดว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือจะแก้ไขด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดีสนนท.รัฐบาลฝ่ายค้าน พันธมิตร นปก. หรือใครก็ตาม ไม่ควรมีใครผูกขาดควรจะมาแสวงขุดร่วมและทำงานอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความจริงใจ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ตนไม่ปฏิเสธแนวทางใดทั้งสิ้นแต่เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากความขัดแย้งและการเมืองดีขึ้น"นายอภิสิทธิ์

    

สำหรับกรณีที่มีข้อเสนอให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าไปไกลแล้ว เพราะรายละเอียดมีมากถ้าเราหยิบมาเป็นสาระสำคัญ แล้วคิดว่ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก้ไข มันไม่ใช่ และอยากตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า ระบบนี้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาหลายอย่างที่เป็นที่มาของความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาระบบ เท่ากับปัญหาพฤติกรรม ฉะนั้น ถ้าเราแก้แต่ระบบ แต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยน ตนก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

    

"สมมุติบอกว่า เลือกนายกฯโดยตรง แล้วเกิดได้นายกฯที่ลุแก่อำนาจ เราจะทำอย่างไร ถ้าระบบเลือกตั้งบอกเปลี่ยน แต่คนที่ชนะการเลือกตั้ง มาโดยวิธีการไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้แก้อะไร จะแยกฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าฝ่ายบริหารไม่ยอมรับผิดชอบต่อประชาชนเลยไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็ไม่ได้แก้ปัญหาอีก ดังนั้นระบบจึงเป็นยังส่วนหนึ่งเท่านั้น ผมยังมองไม่เห็นว่ามีการแก้ที่ระบบจุดไหน แล้วเราจะสามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาต่างๆที่เราเผชิญอยู่จะไม่เกิดขึ้นอีก ปัญหาพฤติกรรมก็ยังต้องแก้ต่อเนื่อง" นายอภิสิทธิ์กล่าว

    

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการปฏิรูปการเมืองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นความคาดหวังของคนจำนวนไม่น้อย หากถามว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เสร็จเร็วหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าอย่างไรก็ไม่เร็ว แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การปฏิรูปการเมืองจะมองว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับว่า ต้องคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนแน่นอน แต่ถ้าคิดว่าสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องปฏิรูปการเมือง ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ตนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นรูปธรรมกับการที่จะหาจุดร่วมในการปฏิรูปการเมืองมาเป็นตัวเริ่มต้นในการคลี่คลายวิกฤต

    

สำหรับกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จะถือเป็นนิมิตหมายในการคลี่คลายปัญหาการเมืองหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า การเข้าหารือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถือเป็นสิ่งที่ดีและเชื่อว่า พล.อ.เปรมน่าจะมีคำแนะนำดี ๆ ที่นายกฯพูด แต่สำคัญอยู่ที่ว่าทำตามที่พล.อ.เปรมแนะนำหรือไม่ และสิ่งที่อยากเตือนนายกรัฐมนตรีไว้คือ ความยอมรับในตัวนายกรัฐมนตรีในเรื่องของบุคลิกความอ่อนน้อมภายนอกก็ดี หรือการไปพบปะบุคคลต่าง ๆ ก็ดี ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา และนับวันตอนนี้ จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ

    

"ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่ ในขณะที่บุคลิกการแสดงออกเป็นเรื่องของการสมานฉันท์ แต่การกระทำที่จะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ยังไม่มีสัญญาณ ก็คงจะต้องพิสูจน์จากเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงว่าจะเอาส.ส.ร.หรือจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหวังลดมาตรา 237 มาตรา 309 เรื่องสื่อของรัฐจะว่าอย่างไร ยังปล่อยให้เป็นที่ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอยู่หรือเปล่า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

    

ส่วนที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี จะเปิดโต๊ะเจรจากับพันธมิตร คิดว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พูดคุยกันดีกว่าเผชิญหน้ากันและจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อยู่ที่สาเหตุของการชุมนุมมากกว่า

 

 

ผลการประชุม คณะรัฐมนตรีเงา ครั้งที่ 29/2551 วันที่ 2 ตุลาคม 2551

พรรคประชาธิปัตย์- นายศิริโชค โสภา โฆษกคณะรัฐมนตรีเงา และ ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกคณะรัฐมนตรีเงา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเงาว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่นายชัย ชิดชอบได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ เป็นการนัดประชุมสี่ฝาย ได้แก่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา โดยนัดประชุมวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2551 เวลาบ่ายสองโมงที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมฯเห็นด้วยว่าควรไป

    

ที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับวาระการประชุมรัฐสภา โดยมีวาระอยู่สี่เรื่อง ได้แก่

    

1.) เรื่องรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น 2.)เรื่องที่ครม.สมัคร เสนอกรอบเจรจามาตรการชั่วคราวลดความตรึงเครียดระหว่างการเจรจาคณะกรรมการร่วมจัดทำเขตแดนไทย-กัมพูชา 3.)เรื่องคำแถลงนโยบายของรัฐบาลและ 4.) เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยหมอเหวงและพวกฯ โดยที่ประชุมฯมีความเห็นว่า เรื่องกรอบเจรจามาตรการชั่วคราวของรัฐบาลเก่านั้นควรถอนออกไป แล้วควรรอให้รัฐบาลใหม่แถลงนโยบายเสร็จเสียก่อน อีกทั้งควรรับฟังความคิดเห็นของกรรมาธิการฯและฝ่ายต่างๆในสังคมก่อน

    

สำหรับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญของหมอเหวงและพวกฯนั้น ที่ประชุมฯมีความเห็นว่าเป็นฉบับที่มีปัญหาจนเป็นเหตุให้มีการต่อต้านอย่างกว้างขวางและทำให้มีการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเหตุให้เชื่อว่ารัฐบาลและนปช.อยู่เบื้องหลัง แต่รัฐบาลคงปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของประชาชนที่ใช้สิทธิเสนอชื่อตามรัฐธรรมนูญ มากไปกว่านั้นการบรรจุเรื่องนี้เข้าสภา จะเป็นการขัดแย้งต่อเสียงเรียกร้องจากประชาชนและนักวิชาการหรือไม่ที่ต้องการให้มี สสร.3 หรือคณะกรรมการอิสระเข้ามาศึกษาการปรับแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าจะรับแนวทาง สสร.3 ตามที่รัฐบาลได้ระบุในคำแถลงนโยบาย ก็สมควรไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของหมอเหวงและพวกฯ

 

 

สมชาย การันตี "ทักษิณ"คนดี

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ - ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ว่าวันนี้นายสมชายจะเดินทางไปสำรวจการบูรณปฎิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จากนั้นจะไปสักการะอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และเดินทางไปยังวัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง เพื่อทำความเคารพอัฐิบรรพบุรุษของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ภรรยา

ทั้งนี้ นายสมชายพร้อมด้วยภริยา และคณะ เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อคืนของวานนี้ ตั้งแต่เมื่อเวลา 22.45 น.โดยมีน.ส.ชินนิฌา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว ส.ส.พรรคพลังประชาชน จ.เชียงใหม่ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และข้าราชการรอให้การต้อนรับ ขณะที่ด้านหน้าทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 300 คน สวมเสื้อแดงพร้อมชูป้ายผ้าข้อความให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี พร้อมร้องตะโกนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีตลอดเวลา

    

ทั้งนี้ บรรยากาศที่หมู่บ้านกรีนวัลเลย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บ้านพักของนายสมชาย นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยา ได้ลงมาทักทายสื่อมวลชน และรอต้อนรับแขกที่จะเข้าพบนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานราชการคนสำคัญ อาทิพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานขนส่ง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

    

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีมวลชนและประชาชนชาวเชียงใหม่รอต้อนรับจำนวนมาก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้ากราบนมัสการพระประธาน และเจ้าอาวาส ก่อนที่พระสงฆ์จะอาราธนาศีล ให้พร ซึ่งระหว่างทำพิธีมีหญิงไม่ทราบชื่อ สวมเสื้อสีฟ้า ถือมือตบขึ้นมาบริเวณพระวิหารที่นายกรัฐมนตรีทำพิธี ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกันตัวออกไปและยึดมือตบไว้ โดยหญิงคนดังกล่าว เปิดเผยว่า หากเป็นคนไม่ดีจะใช้มือตบ ขณะที่ผู้ที่มารอต้อนรับนายกรัฐมนตรีต่างเข้าไปตำหนิว่า คนเชียงใหม่ไม่ควรทำแบบนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่เป็นคนกรุงเทพฯ

    

ขณะที่บรรยากาศโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงรักษาความปลอดภัยให้กับนายกรัฐมนตรีอย่างเข้มงวด

    

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.45 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางมาที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง เพื่อทำบุญอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร และพบปะกับประชาชนที่มารอรับเป็นจำนวนมาก

    

โดยนายกฯ กล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับว่า ไม่เคยลืมว่าคนที่สนับสนุนตนตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่เป็นคนดีของเรา

    

"ผมก็มั่นใจว่าท่านเป็นคนดี ส่วนเรื่องที่ผ่านก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ถือว่าชีวิตครั้งที่ 2 ที่ได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งก็เกิดขึ้นที่สันกำแพง และจะตั้งใจทำงานดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เกิดความเป็นธรรม"นายกรัฐมนตรี กล่าว

 

 

นักการเมืองรุมทึ้งประมูลงานไอซีที มั่นเข็นพรบ.คลื่นความถี่

เว็บไซต์ไทยโพสต์ - นายมั่น พัธโนทัย รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จากกรณีมีกระแสข่าวมีนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับคนในพรรคเพื่อแผ่นดินส่งรายชื่อบริษัทต่างๆ เข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.โทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดไอซีทีนั้น ตนยอมรับว่าเป็นความจริง ซึ่งที่ผ่านมาตนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือบริษัทที่ถูกเสนอชื่อมา แต่ปล่อยให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนการประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีอ็อคชั่น ที่มั่นใจว่ามีความโปร่งใส

    

ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่า โครงการที่ดูว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ การที่ทีโอทีจะไม่ต่อสัญญากับบริษัท คอม-ลิงค์ ผู้ได้รับสัมปทานโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) ตามเส้นทางรถไฟมีระยะทางกว่า 3,000 กม. แต่ต้องมีการเจรจากันหลายรอบ และให้คอม-ลิงค์เป็นผู้ได้รับสัมปทานต่อในที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

    

"นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานบอร์ดได้โทร.มาแสดงความยินดีและทำความเข้าใจถึงสาเหตุบอร์ดมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการทำผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ฮั้วกันและได้ขอโทษที่ทำให้มีข่าวบอร์ดทะเลาะกัน" นายมั่นกล่าว

    

อย่างไรก็ดีไอซีทีได้เข้าใจและยังจะไม่มีการปรับเปลี่ยนทั้งบอร์ดทีโอที และกสทฯ รวมไปถึงปลัดกระทรวงไอซีทีด้วย ส่วนการรวมทีโอทีและกสทฯ นั้นต้องรอเสนอให้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะการควบรวมทั้งสององค์กรจะทำให้ทีโอทีและกสทฯ เข้มแข็งและแข่งขันกับทุนต่างชาติได้ มากกว่าการแยกกันทำธุรกิจและไม่เกิดผลดี

    

นายมั่นกล่าวอีกว่า ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ นายสุพล ฟองงาม รมว.สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา นายสาธิต วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน และตนจะร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ว่ายังมีจุดใดที่ต้องแก้ไขเพื่อจะนำเข้าสู่วาระสภาผู้แทนราษฎรเพื่อที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการธิการวิสามัญให้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ความถี่ต่อไป

    

รายงานข่าวแจ้งว่า รมว.ไอซีทีได้ตั้งเป้าหมายให้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อมากำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีชื่อย่อว่า กสช.นั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่สำคัญมาก เพราะควบคุมธุรกิจที่มีมูลค่าถึงหลักแสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องดำเนินการให้ดีและเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

    

และจากการประชาพิจารณ์ที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ คือ 1.กระบวนการสรรหาที่ต้องแต่งตั้งโดยรัฐบาล ซึ่งหลายคนเห็นว่าไม่เหมาะสมกับการเป็นองค์กรอิสระ 2.การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน คือ เรื่องสัดส่วนคลื่นของภาคประชาชนที่หายไป เป็นต้น

 

 

คุณภาพชีวิต

ปตท.เลิกอุ้มLPGรอกพช.คิดราคา

สยามรัฐ - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.จะใช้เงินสนับสนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ได้เพียง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น และคาดว่าจะช่วยสนับสนุนได้แค่เพียงสิ้นปีนี้ เนื่องจากปตท.เห็นว่าได้ใช้เงินไปซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ในราคาตลาดโลกประมาณกว่า 900เหรียญสหรัฐฯต่อตันและมาจำหน่ายในประเทศราคาต่ำประมาณกว่า 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตันมากแล้ว ขณะที่ ปตท.ยังมีภาระการเงินอีกหลายอย่างที่ต้องดูแล ทั้งนี้คาดว่าภายหลังจากรัฐบาลแบ่งงานกันเสร็จแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ขึ้นมาพิจารณาความเหมาะสมของราคาแอลพีจีต่อไป ขณะที่ในช่วงสัปดาห์อาจปรับลดราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลและเบนซินอีก 50-60 สตางค์ต่อลิตร

 

 

กรมชลฯเผย 5 เขื่อนใหญ่น้ำยังน้อย

เว็บไซต์เดลินิวส์- นายธีระ วงศ์สมุทร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ แต่เขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งยังมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำแค่ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 25% จากปริมาณความจุเต็มที่ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 36% จากปริมาณความจุเต็มที่ 121 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 35% จากปริมาณความจุเต็มที่ 117 ล้านลูกบาศก์เมตร

    

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยอีกว่า ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกือบครึ่งอ่างฯ เช่น เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 78 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 47% จากปริมาณความจุเต็มที่ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 1,073 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 47% จากปริมาณความจุเต็มที่ 2,264 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ที่มีปริมาณการกักเก็บน้ำค่อนข้างดี ระดับ 51-80% ของความจุซึ่งมีทั้งหมด 20 แห่ง เนื่องจากสภาพฝนตกในปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยสูงกว่าปีที่แล้ว 8 % และฤดูฝนมาเร็วกว่าทุกปี ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการทำการเกษตรในปีหน้า

    

นายธีระ เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า "จากการติดตามและคาดการณ์ปริมาณฝนตลอดทั้งปี หลังสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคม 2551 คาดว่า เขื่อนใหญ่สำคัญ ๆ หลายแห่งปริมาณน้ำจะไม่เต็มอ่างฯ เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก จะมีปริมาณเก็บกักน้ำได้ 9,400 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็น 71% ของความจุ โดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้แล้วประมาณ 7,350 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จะมีปริมาณน้ำ 8,500 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือประมาณ 90% ของความจุโดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้แล้วประมาณ 7,600 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ได้สั่งการให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด แต่ไม่ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ" นายธีระ กล่าว

 

 

เศรษฐกิจ

จี้ธปท.ผ่อนคลาย"ดอกเบี้ย" นายแบงก์ลุ้นปีหน้าแตะ3%

เว็บไซต์ไทยโพสต์ - น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินจากตึงตัวมาเป็นผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการลงทุนและบริโภคในประเทศ ในภาวะที่ไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ขณะที่ความกังวลต่อแรงกดดันการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในระยะจากนี้ถึงปีหน้าได้ผ่อนคลายลงมาก

    

"น่าจะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยในปีหน้าได้ถึง 0.75% จาก 3.75% ขณะนี้เหลือ 3.00% และการลดดอกเบี้ยจะเริ่มเห็นช่วงต้นไตรมาส 2 แต่หากเศรษฐกิจแย่มาก อาจเห็นตั้งแต่ไตรมาสแรก" น.ส.อุสราระบุ

    

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าการประชุม กนง.วันที่ 8 ต.ค.นี้น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3.75% หลัง กนง.มีทางเลือกเพิ่มขึ้นเมื่อเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ลดลงมาอยู่ที่ 6% จากที่เคยสูงสุด 9.2%

    

ส่วนแนวโน้มของธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50% หลังแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐไตรมาส 3 อาจติดลบ

 

 

เร่งคลอดกองทุนสาธาณูปโภค

สยามรัฐ- นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เร่งรัดผลักดันการออกกองทุนรวมสาธารณูปโภค(Infrastructure Fund) เพื่อรองรับการระดมทุนภายในประเทศ หลังจากตลาดต่างประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ โดยคาดว่ากองทุนฯ กองแรกจะออกมาได้ในครึ่งแรกของปี 52

    

ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวว่า ก.ล.ต.จะเริ่มรับฟังความเห็นเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมสาธารณูปโภคในวันที่15 ต.ค.นี้ จากนั้นจึงจะเข้ากระบวนการกลั่นกรอง ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็น่าจะประมาณกลางปีหน้า

    

ในเบื้องต้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) จะเป็นผู้จัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค มูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ลงทุนขั้นต่ำ 250 รายโดยลงทุนในทรัพย์สินโครงการสาธารณูปโภคโดยตรง หรือ ลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินสาธารณูปโภค ซึ่งลงทุนเท่ากับหรือมากกว่า ร้อยละ 90 ของทรัพย์สินรวม

    

ขณะที่นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักบริหารหนี้ เพื่อวางหลักเกณฑ์เข้มงวดการเข้ามาระดมทุนบาทบอนด์ขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาจากปี 47 ถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติให้องค์กรต่าง ๆ 15 แห่ง ออกพันธบัตร รวม 40,000 ล้านบาท จากที่ขอมา 42 องค์กร รวม 230,000 ล้าน แต่มีการออกจริงเพียง 7,000 ล้านบาท จาก 2 องค์กร เชื่อมั่นว่าองค์กรที่ยังไม่ระดมทุน จะชะลอการระดมทุนออกไปก่อน เมื่อรัฐส่งสัญญาณออกมา

 

 

ต่างประเทศ

สภาสูงโอเค นิวเคลียร์โรตี

เว็บไซต์ไทยโพสต์ -วุฒิสภาสหรัฐอนุมัติข้อตกลงนิวเคลียร์ประวัติศาสตร์กับอินเดียแล้วเมื่อวันพุธ  ปิดฉากมาตรการคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์นิวเคลียร์แก่อินเดียที่สหรัฐยึดถือมานานกว่า 3 ทศวรรษ

    

และนับเป็นชัยชนะอย่างงดงามของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

    

สภาสูงสหรัฐโหวตผ่านข้อตกลงนี้ซึ่งถือเป็นนโยบายต่างประเทศลำดับต้นๆ ที่ผู้นำสหรัฐพยายามผลักดัน ด้วยคะแนน 86 ต่อ 13 เสียง หลังจากสภาล่างให้การเห็นชอบด้วยคะแนน 298 ต่อ 117 เสียง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และหลังจากนี้จะส่งให้ประธานาธิบดีบุชลงนามรับรองต่อไป

    

รัฐบาลสหรัฐหวังให้ข้อตกลงนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์กับอินเดีย ชาติที่มีประชากรมากเป็นอันดับ  2 ของโลก เพื่อเปิดตลาดการค้าระหว่างกันที่มีมูลค่ามหาศาล หลังสหรัฐคว่ำบาตรความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับอินเดียหลังแดนภารตะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 2517 ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยอินเดียในการแสวงหาพลังงานรองรับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ

    

ดีลนี้เปิดทางให้อินเดียสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ได้โดยไม่ต้องลงนามสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นพีที) เหมือนเช่นที่ชาติอื่นๆ ต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ อินเดียยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐได้เพื่อแลกกับการที่อินเดียต้องยอมให้สหรัฐตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของตน แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับดีลนี้ เพราะมองว่าชาติอื่นๆ จะยกดีลนี้เป็นข้ออ้างพัฒนาหาเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยไม่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

    

อินเดียมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ 14 โรง และกำลังก่อสร้างอีก 9 โรง คาดว่าภายในปี 2593 แดนโรตีจะสามารถพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ราว 25% จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 3%

 

 

ฮอลลีวู้ดจ่อสไตรค์

ไทยโพสต์ - ฮอลลีวู้ดอาจเผชิญการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ เมื่อการเจรจาระหว่างสตูดิโอกับสหภาพนักแสดง (Screen Actors Guild) มาถึงจุดแตกหัก ทีมผู้เจรจาของ SAG ลงมติ 11-2 เสนอบอร์ด SAG ตัดสินใจนัดหยุดงาน เพราะเชื่อว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง

    

บอร์ด SAG มี 71 คนจะประชุมกันวันที่ 18 ต.ค. ถ้าตัดสินใจสไตรค์ ก็ต้องให้สมาชิก 120,000 คนลงประชามติ โดยมีคะแนนเสียงรับรอง 75% ของผู้ลงคะแนน

    

ถ้า SAG สไตรค์ จะก่อความเสียหายมหาศาล เพราะเมื่อครั้งที่สหภาพนักเขียน (WGA) สไตรค์ 100 กว่าวัน ช่วงปลายปีที่แล้วต่อต้นปีนี้ ประเมินกันว่าฮอลลีวู้ดสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2.5-3 พันล้านดอลลาร์

    

สัญญาระหว่างสตูดิโอกับ SAG สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. SAG เรียกร้องส่วนแบ่งให้นักแสดงเพิ่มขึ้นจากรายได้ทางอินเตอร์เน็ตและ DVD แต่เจรจากันไม่บรรลุผล สตูดิโอต้องการให้ส่วนแบ่งปีแรก 3.5% ปีที่สอง 3% และปีที่สาม 3.5% ใช้มาตรฐานเดียวกับ WGA, DGA (สหภาพผู้กำกับ) และ American Federation of Television and  Radio Artists สหภาพนักแสดงทีวีวิทยุ ที่ตกลงกันได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ SAG จะเอามากกว่า

    

"DGA,  WGA และ AFTRA บรรลุข้อตกลงในมาตรฐานเดียวกันเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนที่เศรษฐกิจยังดีกว่านี้เยอะ มันไม่สอดคล้องความเป็นจริงเลยที่ผู้เจรจาของ SAG หวังจะได้ข้อตกลงที่ดีกว่าในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่" สมาพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์และทีวี ตัวแทนของสตูดิโอกล่าว

    

สตูดิโอระบุว่าสัญญาใหม่ที่เสนอให้มีมูลค่าเพิ่ม 250 ล้านดอลลาร์ ตลอด 3 ปี และการที่ SAG ไม่ยอมรับ ทำให้ฝ่ายนักแสดงเสียผลประโยชน์ไปแล้ว 21 ล้านดอลลาร์ นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม

    

อย่างไรก็ดี  เมื่อเดือนที่แล้วมีการสำรวจความเห็นโดย SAG พบว่านักแสดง 87% จาก 10,300 คนที่สำรวจ หนุนสุดตัวให้สไตรค์

     

นักแสดงฮอลลีวู้ดเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่มจากที่ได้เยอะอยู่แล้ว แต่ที่อินเดียช่างเทคนิคและคนงานในกองถ่ายนัดหยุดงานแล้ว เพื่อเรียกร้องค่าจ้างน้อยนิดที่ค้างจ่าย

    

สหภาพแรงงาน 22 แห่ง ที่เป็นตัวแทนของคนทำงานในกองถ่ายสาขาต่างๆ 147,000 คน ในบอมเบย์ หยุดงานโดยสิ้นเชิงเมื่อวันพุธ

    

"บางครั้งพวกเราต้องทำงานติดต่อกัน 30 ชั่วโมง มีปัญหาสุขภาพมากมาย รวมทั้งอุบัติเหตุเราเรียกร้องกับผู้อำนวยการสร้าง แต่ไม่เคยได้อะไรตอบแทน" ธิเนศ จตุรเวที แห่งสมาพันธ์ลูกจ้างกองถ่ายอินเดียตะวันตก กล่าวว่าความอดทนของพวกเขาสิ้นสุดลงเมื่อไม่ได้ค่าจ้างมานานหลายเดือน ผู้สร้างหนังไม่ยอมทำตามสัญญา บางคนไม่ได้ค่าจ้างนานถึง 6 เดือน

    

ธิเนศกล่าวว่าสมาคมนักแสดงอาวุโสร่วมประท้วงด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีดาราดังร่วมหรือไม่

    

เปรมสิงห์ ฐากูร ประธานสหภาพช่างเทคนิคด้านแสง ที่มีสมาชิก 35,000 คน กล่าวว่าพวกเขาหยุดงานทั้งหมด "เราไม่ได้ต้องการโบนัส เราแค่ต้องการค่าจ้าง ถ้าไม่แก้ปัญหาเราก็จะไม่ทำงาน"

    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการหยุดงานยังไม่กระทบกับหนังจอใหญ่  แต่ที่กระทบมากคือหนังทีวี โดยเฉพาะรายการเรียลลิตี้ ซึ่งต้องเลื่อนไปหลายรายการ

    

สุสมา ศิโรมณี แห่งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ กล่าวว่าผู้สร้างพร้อมจะรับมือการประท้วงถ้าจำเป็นต้องนานหลายเดือน "ไม่มีใครตกใจ  ปัญหาใหญ่อยู่ที่พวกสร้างหนังทีวี เราไม่กระทบ แต่คนงานรายวันได้รับผลกระทบ พวกเขาควรจะนั่งลงคุยกันดีๆ เรารอได้ถึง 6 เดือนถ้าจำเป็น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท